ThaiPublica > คอลัมน์ > ถอยสู่ยุคอนาล็อก : ร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ถอยสู่ยุคอนาล็อก : ร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

22 มิถุนายน 2015


สฤณี อาชวานันทกุล

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2558 ผู้เขียนเขียนเรื่อง “ประชามติที่แท้จริง” พูดถึงบทเรียนจากประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เราควรสำเหนียกก่อนทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2558

กลิ่นหมึกยังไม่ทันจาง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือ สปช. จากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารบางท่านก็ออกมาเสนอให้ผู้นำเผด็จการทำประชามติ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” แถมหลวงปู่พุทธะอิสระ ผู้สนับสนุนคณะรัฐประหารคนสำคัญ ยังไปยื่นหนังสือต่อ คสช. พร้อมรายชื่อผู้สนับสนุนแนวทางนี้อีกห้าหมื่นชื่อ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา

พุทธะอิสระยื่นหนังสือขอทำประชามตินายกฯ อยู่ต่อ ที่มาภาพ: http://news.sanook.com/1809254/
พุทธะอิสระยื่นหนังสือขอทำประชามตินายกฯ อยู่ต่อ ที่มาภาพ: http://news.sanook.com/1809254/

ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงธรรมเนียมในอาณาจักรโรมันโบราณ ซึ่งให้คนดูในโคลิเซียมทำประชามติ ยกนิ้วโป้ง “ให้” หรือ “ไม่ให้” – ใช้เสียงข้างมากตัดสินว่า จะให้ผู้ชนะลงดาบปลิดชีพผู้แพ้ในสนามประลองหรือไม่

ประชามติแบบนี้นับว่าป่าเถื่อน ไม่ควรทำตั้งแต่ต้น เพราะหัวข้อประชามติไม่ชอบธรรม นั่นคือ ใช้เสียงข้างมากมาตัดสินชีวิตคน

1,700 ปีต่อมา หลังจากที่การประลองในโคลิเซียมถูกยกเลิก คนจำนวนไม่น้อยในเมืองไทยกลับเสนอให้ทำประชามติที่ไม่ชอบธรรมเช่นกัน นั่นคือ ใช้เสียงข้างมากมาตัดสินการต่ออายุคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจประชาชนอย่างผิดกฎหมาย

แทนที่จะสนับสนุนให้ผู้นำเผด็จการเตรียมตั้งพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้ง ภายหลังจากที่ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตกลงกันเรื่องกติกาสูงสุดของประเทศก่อน

ความ ‘เพี้ยน’ ของสังคมยุคเผด็จการครองเมืองยังคงปรากฏให้เราเห็นเป็นระยะๆ ในแทบทุกมิติของชีวิตสังคม-การเมือง-เศรษฐกิจ ตัวอย่างหนึ่งซึ่งผู้เขียนติดตามมานานหลายเดือน คือ ความพยายามของรัฐบาลในการออกชุดกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล”

ล่าสุด วันที่ 16 มิถุนายน 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ…. (“ร่างกฎหมายพัฒนาดิจิทัลฯ”) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ (ซึ่งร่างนี้ก็ไม่เผยแพร่ต่อสาธารณะเช่นเคย ดาวน์โหลดร่างกฎหมายและบันทึกประกอบได้ที่นี่)

หลายท่านที่อ่านคอลัมน์นี้คงจำได้ว่า หลังจากที่ประชาชนโชคดี บังเอิญได้เห็นเนื้อหาร่างแรกของชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลที่ส่งเข้า ครม. อย่างเร่งด่วนและปิดลับตอนต้นปี ชุดกฎหมายนี้ก็ถูกโจมตีจากหลายภาคส่วนว่า จะไม่ได้ช่วยสร้าง “เศรษฐกิจดิจิทัล” อีกทั้งยังละเมิดสิทธิและความเป็นส่วนตัวของประชาชนอย่างไร้เหตุผล ไม่ได้ส่วนกับระดับความเสี่ยงด้านความมั่นคง

ร่างกฎหมายพัฒนาดิจิทัลฯ เป็นการรวมร่างสามฉบับก่อนหน้าของ ครม. ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัล เข้าด้วยกันเป็นฉบับเดียว และมีการแก้ไขเนื้อหาหลายส่วน

ส่วนเวอร์ชั่นใหม่ของร่างกฎหมายซึ่งถูกโจมตีอย่างกว้างขวาง ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายแก้ไขกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) และกฎหมายแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกา รอจ่อคิวเข้า ครม.

ผู้เขียนได้อ่านร่างกฎหมายพัฒนาดิจิทัลฯ แล้วเห็นว่า เนื้อหาของฉบับนี้บางประเด็นดีกว่ากฎหมายร่างเดิมสามฉบับ แต่ก็ยังไม่ดีพอ แถมส่วนที่แก้ไขบางส่วนกลับแย่กว่าเดิม

ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ…. by Sarinee Achavanuntakul

ตัวอย่างเนื้อหาที่ดีกว่าเดิมเป็นเรื่องของการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนบางมิติ เช่น ห้ามไม่ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประกอบอาชีพหรือเป็นลูกจ้างองค์กรเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงหรือทางอ้อม นอกจากนี้ยังตัดโควตากรรมการจากทีโอที กสทฯ และไปรษณีย์ไทย ซึ่งอยู่ในร่างเดิมออก

ตัวอย่างเนื้อหาที่แย่มากอยู่แล้ว และไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ ซ้ำร้ายยังแย่ลง คือ “กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ร่างเดิมให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญทางการเงินและการบริหาร มาเป็นกรรมการบริหารกองทุน ร่างใหม่ให้บอร์ดดิจิทัลเป็นกรรมการบริหารกองทุน มีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธาน

ที่มาของเงินกองทุนปรับให้ชัดเจนกว่าร่างเดิม แต่ยังคงมีที่มาจาก กสทช. ทั้งส่วนหนึ่งของรายได้จากการจัดสรรคลื่นความถี่ และรายได้ของสำนักงาน กสทช. ซึ่งส่วนใหญ่คือค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมเลขหมายที่เก็บจากผู้ประกอบการ (ซึ่งสุดท้ายก็คือเงินของผู้บริโภคอย่างเราๆ นี่เอง) ร่างใหม่เพียงแต่ลดสัดส่วนรายได้ กสทช. ที่ต้องนำส่งเข้ากองทุน จากเดิม 50% เป็น 25%

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เขียนบทความวิพากษ์เรื่อง “กองทุนเศรษฐกิจดิจิทัล : ไม่จำเป็น เปิดช่องทางหากิน และสร้างบรรทัดฐานที่ผิด” เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยทั้งหมด โดยเฉพาะข้อความดังนี้

“ปัญหาคือ การใช้จ่ายเงินของกองทุนเศรษฐกิจดิจิทัลมีขอบเขตกว้างขวางมาก …แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ การสนับสนุนหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการพัฒนาดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเงินให้เปล่า หรือให้กู้ยืม ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลกำหนดขึ้น …โดยไม่มีการตรวจสอบจากรัฐสภา เพราะเป็นการใช้เงินโดยไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณตามปรกติ

“จริงอยู่ ที่ผ่านมามีกฎหมายบางฉบับที่อนุญาตให้องค์กรของรัฐบางแห่ง เช่น กสทช. หรือ ไทยพีบีเอส มีรายได้จากภาษีหรือค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการงบประมาณ เพื่อให้องค์กรดังกล่าวมีความเป็นอิสระจากการเมือง แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็จะกำหนดขอบเขตในการใช้เงินที่จำกัดและชัดเจนกว่าร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งให้เงินมากกว่าแก่หน่วยงานที่ไม่มีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง

“โดยสรุป การตั้ง “กองทุนเศรษฐกิจดิจิทัล” ขึ้นมาตามร่างกฎหมายนี้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น ไม่มีประสิทธิภาพ และเปิดช่องให้มีการใช้จ่ายเงินอย่างไม่โปร่งใส โดยไม่มีการตรวจสอบที่รัดกุม เสมือนเป็นการให้ “เช็คเปล่า” แก่รัฐบาล

“นอกจากรัฐบาลนี้จะไม่ได้แก้ไขข้อบกพร่องเรื่องการใช้เงินของ กสทช. แล้ว ยังกลับทำในลักษณะเดียวกันแต่ยิ่งหละหลวมขึ้นไปอีก ที่สำคัญที่สุด การทำเช่นนี้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้รัฐบาลอื่นๆ ในอนาคต ในการออกกฎหมายตั้งกองทุนลักษณะเดียวกันให้แก่กระทรวงต่างๆ ที่อยู่ในอาณัติของตน โดยอ้างว่า เอาอย่างรัฐบาลประยุทธ์”

เนื้อหาในร่างกฎหมายพัฒนาดิจิทัลฯ ฉบับที่ ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. นั้น นอกจากจะมิได้แก้ไขใดๆ ตามข้อท้วงติงข้างต้นแล้ว ยังมิได้แก้ไขประเด็นสำคัญๆ ตามข้อสังเกตที่น่ารับฟังจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ทั้งที่ข้อสังเกตเหล่านี้ก็ถูกสรุปไว้ในบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบร่างกฎหมาย

ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เขียนมองว่า ร่างกฎหมายพัฒนาดิจิทัลฯ ดูมีแนวโน้มว่าจะเป็นก้าวแรกของการถอยหลังเข้าสู่ยุคอนาล็อก กล่าวให้ชัดขึ้นอีกคือ “ยุครัฐราชการอนาล็อก” มิใช่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลแต่อย่างใด

พื้นที่หมดเสียแล้ว โปรดติดตามรายละเอียดในตอนต่อไป.