ThaiPublica > เกาะกระแส > นักวิชาการ TDRI ให้คะแนนมาตรการต้านคอร์รัปชัน รัฐบาล “ประยุทธ์” แค่ 30%-หวังผลักดันเพิ่ม

นักวิชาการ TDRI ให้คะแนนมาตรการต้านคอร์รัปชัน รัฐบาล “ประยุทธ์” แค่ 30%-หวังผลักดันเพิ่ม

20 มีนาคม 2015


นับเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงเป็นนโยบายเร่งด่วนต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 โดยหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่ได้แถลงไว้ต่อ สนช.คือนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงานเสวนา “เกาะติดมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาลประยุทธ์” โดยนายปธิปไตย แสละวงศ์ นักวิจัยสถาบันทีดีอาร์ไอ ได้ทำการ “ตรวจการบ้าน” รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องของการออกมาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน และมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด(มหาชน) และกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ และธนกร จ๋วงพานิช อนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ

นายธิปไตย แสละวงศ์ นักวิชาการจาก TDRI ได้ทำการตรวจการบ้านนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงเป็นนโยบายเร่งด่วนต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 แต่ถึงเวลานี้ ผลงานของรัฐบาลด้านการออกมาตรการควบคุมคอร์รัปชัน มีคืบหน้าโดยเฉลี่ยเพียง 30% เท่านั้น

โดยในส่วนการออกมาตรการเพื่อ “ควบคุมดุลยพินิจ” คืบหน้า 33% “ควบคุมการใช้เงินแผ่นดิน” คืบหน้า 30% “ควบคุมอำนาจผูกขาด” คืบหน้า 25% และ “เพิ่มต้นทุนและความเสี่ยงต่อพฤติกรรมคอร์รัปชัน” คืบหน้า 35%

นายธิปไตยอธิบายวิธีการตรวจการบ้านว่า ได้แบ่งมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ออกมาบังคับใช้ เป็น 4 ส่วน พร้อมแบ่งเกณฑ์การใช้คะแนนจาก 0-4 โดย 0 คะแนน หมายถึงยังเงียบอยู่ 1 คะแนน คือผลักดันแต่ยังไม่เป็นรูปธรรม 2 คะแนนคืออยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 คะแนน คือมีการบังคับใช้เป็นการชั่วคราวหรือเป็นโครงการนำร่อง และ 4 คะแนน คือออกกฎหมายมาบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว

เสวนาเกาะติดมาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน

ส่วนที่ 1 มาตรการจำกัดหรือควบคุมการใช้ดุลยพินิจของรัฐ องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน เคยยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาส่วนนี้ใน 3 มาตรการย่อย ทั้งให้ประเมินผลกระทบทางกฎหมายก่อนที่จะนำไปบังคับใช้ (Regulatory Impact Assessment:RIA) ให้ยุบเลิกกฎหมายเก่าที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และให้ออกกฎหมายเกี่ยวการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาติของทางราชการ ซึ่งท้ายสุดมีการทำตามเพียงมาตรการเดียว คือออก พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 มาบังคับใช้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ส่วนที่ 2 มาตรการกำกับดูแลการใช้เงินของแผ่นดินซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในช่วงที่รัฐบาลกำลังจะลงทุนด้วยงบมหาศาล เพื่อปรับปรุงโครงข่ายโทรคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เคยยื่นเป็นข้อเสนอ 6 มาตรการย่อย ทั้งให้จัดตั้งสำนักงบประมาณประจำรัฐสภา, ให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันในโครงการต่างๆ, ให้แก้ไขกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นราคากลาง วิธีได้มาซึ่งราคากลาง ความคืบหน้าของการประมูล รายชื่อผู้ชนะประมูล ฯลฯ, ให้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม, ให้จัดทำโครงการเพื่อความโปร่งใสในภาคอุตสาหกรรม และให้นำโครงการ CoST (Construction Sector Transparency Initiative) มาใช้กับประเทศไทย

แต่เบื้องต้นมีการดำเนินการเพียง 2 มาตรการย่อย คือ ข้อตกลงคุณธรรม ที่นำร่องใช้กับโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีและโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กับมีการนำโครงการ CoST มาใช้กับการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟสสอง ซึ่งทั้ง 2 มาตรการย่อยนี้จะช่วยลดการใช้ดุลยพินิจลงได้

ส่วนที่ 3 มาตรการควบคุมการใช้อำนาจผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ ทั้งอำนาจผูกขาดของรัฐผ่านการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ และอำนาจผูกขาดของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้รายได้ส่วนใหญ่กระจุกตัว โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันได้เสนอวิธีแก้ปัญหานี้ใน 2 มาตรการย่อย คือ ให้ออก พ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 เพื่ออุดช่องว่างและแก้ปัญหาเกี่ยวกับผูกขาดตลาด รวมถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น แต่ถึงปัจจุบันร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ยังรอการพิจารณาจากที่ประชุม ครม.

ส่วนที่ 4 มาตรการเพิ่มต้นทุนและความเสี่ยงให้กับพฤติกรรมคอร์รัปชัน เพื่อเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ต้องการคอร์รัปชันต้องแบกรับ โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันได้ยื่นข้อเสนอในเรื่องนี้ไป 6 มาตรการย่อย ได้แก่ เพิ่มความเป็นอิสระในการทำงานของหน่วยงานที่มีหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชัน เช่น ป.ป.ช. สตง. ฯลฯ, ให้รัฐวิสาหกิจต้องเปิดเผยข้อมูลไม่น้อยกว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์, ห้ามบุคคลในกระบวนการยุติธรรมเข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ, แก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานราชการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น, ให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของอนุสัญญาต่อต้านคอร์รัปชัน และแก้ไขกฎหมายให้ครบตามข้อกฎหมายของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ.2546

นอกจากนี้ ยังมีอีก 6 มาตรการย่อยที่อยากเสนอเพิ่มเติม ได้แก่ การแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาท เพื่อช่วยให้ประชาชนที่แจ้งเบาะแสการทุจริตพ้นจากการฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท, ปรับปรุงให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเป็นไปอย่างโปร่งใส, ให้ความคุ้มครองข้าราชการที่สุจริต ผู้รายงานการประพฤติมิชอบของข้าราชการชั้นสูง ไม่ให้ถูกกดดันหรือกลั่นแกล้ง, ให้เพิ่มบทลงโทษสำหรับการรับสินบนของเจ้าพนักงาน, ให้มีการตรวจสอบภาษีของนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงย้อนหลังได้ และปฏิรูปความเป็นอิสระของสื่อมวลชน เพราะปัจจุบันยังพบว่าสื่อขนาดเล็กถูกแทรกแซงได้ ผ่านการให้เงินโฆษณา

อย่างไรก็ตาม พบว่าทั้ง 12 มาตรการย่อยในส่วนนี้ ส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การเพิ่มความเป็นอิสระของหน่วยงานที่มีหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชั่น ก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สปช. หรือการให้ตรวจสอบภาษีของนักการเมืองหรือข้าราชการย้อนหลังได้ ล่าสุด สตง.ก็เพิ่มมีหนังสือถึงกรมสรรพากรและกระทรวงการคลังให้ดำเนินการเรื่องนี้

นายธิปไตย กล่าวสรุปว่า “ผลการดำเนินงานของรัฐบาลในการออกมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นช่วงเวลาที่ผ่านมา จากที่มีการเสนอไป 23 มาตรการย่อน พบว่ามีเพียง 1 มาตรการที่จัดทำเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้แล้ว 2 มาตรการยังเป็นโครงการนำร่อง 7 มาตรการอยู่ระหว่างดำเนินการ รอการผลักดัน อีก 9 มาตรการมีทิศทางว่าน่าจะออกมาเป็นรูปธรรมได้ และมี 4 มาตรการยังไม่มีทิศทางการดำเนินการใดๆ”

(จากซ้ายไปขวา) ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย TDRI, นายธนกร จ๋วงพานิช อนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ, นายธิปไตย แสละวงศ์ นักวิชาการ TDRI, ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และนายบรรยง พงษ์พานิช กรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ
(จากซ้ายไปขวา) ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย TDRI, นายธนกร จ๋วงพานิช อนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ, นายธิปไตย แสละวงศ์ นักวิชาการ TDRI, ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และนายบรรยง พงษ์พานิช กรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยของ TDRI กล่าวว่า แม้ผลงานด้านมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันของรัฐบาลชุดนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 30% แต่ไม่ใช่ทิศทางที่เลวร้าย เนื่องจากมาตรการต่างๆ ที่มีการเสนอกันมาข้างต้น หลายมาตรการเคยเสนอมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งนี้ เชื่อว่า ภายใน 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้า จะเริ่มเห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะเท่าที่ดู หลายมาตรการอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาหรืออนุมัติเท่านั้น

ขณะที่ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวถึงผลการประเมินในครั้งนี้ว่า หากดูตัวเลขการประเมินแล้วจะถือว่ารัฐบาลสอบตกหรือเปล่านั้น ในความเห็นของตนโดยสรุปแล้วเมื่อดูจากรายงานวิจัยของรัฐสภาถึงผลงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันใน 6 รัฐบาลที่ผ่านมา สำหรับสิ่งที่รัฐบาลนี้ได้ทำไปแล้ว และกำลังทำอยู่ในระหว่างนี้ ถือเป็นผลงานด้านมาตรการป้องกันคอร์รัปชันที่ดี เพราะมาตรการเหล่านี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระบบรัฐบาลในระบบการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ได้อีกในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเห็นในลักษณะนี้ ก็เป็นกำลังใจให้ทำต่อไป

นอกจากนี้ ดร.มานะ กล่าวถึงการแก้ปัญหาคอร์รัปชันด้วยการจำกัดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ว่า ที่ผ่านมารัฐมักอ้างเรื่องการแก้ปัญหา มาขยายอำนาจในการใช้ดุลยพินิจของตัวเอง เป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการเรียกรับสินบนเพื่อให้ผ่านระเบียบของทางราชการต่างๆ ที่ยุ่งยากซับซ้อนไปได้ การมี พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 จึงสำคัญ เพราะเป็นการปฏิรูปการให้บริการของภาครัฐต่อประชาชน เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทบทวนกฎระเบียบที่ล้าหลังหรือซ้ำซ้อนได้

ขณะที่ นายธนกร จ๋วงพานิช อนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ได้กล่าวถึงความสำคัญในการนำโครงการ CoST มาปรับใช้กับประเทศไทยว่า โครงการนี้จะเข้ามาช่วยพัฒนาระบบความโปร่งใสในการก่อสร้าง เป็นความร่วมมือจาก 3 ภาคส่วน คือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ส่งเสริมให้ภาครัฐทำการเปิดเผยข้อมูลตามหลักสากล โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูล ทำหน้าที่แปรรูปข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจ

เช่นเดียวกับการดำเนินมาตรการข้อตกลงคุณธรรม ที่ให้กลุ่มที่มีความเป็นกลางเข้ามาตรวจสอบข้อมูลโครงการลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน ทำให้ประชาชนมีข้อมูลอยู่ในมือสามารถที่จะตรวจสอบ และเรียกร้องจากภาครัฐได้ ซึ่งถือเป็นทางออกของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน

ข้อมูล/ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม