ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รร.กวดวิชาโตไร้ขีดจำกัด 9 อันดับแรกมีสาขารวมกันเกือบ 300 แห่งทั่วประเทศ ช่วง 7 ปีที่ผ่านมาขยายปีละ 200- 300 แห่ง

รร.กวดวิชาโตไร้ขีดจำกัด 9 อันดับแรกมีสาขารวมกันเกือบ 300 แห่งทั่วประเทศ ช่วง 7 ปีที่ผ่านมาขยายปีละ 200- 300 แห่ง

5 กุมภาพันธ์ 2015


จากนโยบายกรมสรรพากรที่จะจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา เนื่องจากโรงเรียนกวดวิชาได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากปัญหาการศึกษาในระบบของไทยที่ใช้คะแนนสอบเป็นตัวชี้วัด สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สำรวจโรงเรียนกวดวิชาทั่วประเทศไทย พบว่า หลักๆ แล้วโรงเรียนกวดวิชามี 2 ลักษณะ คือ โรงเรียนที่สอนเฉพาะรายวิชา เช่น ฟิสิกส์ เคมี ภาษาอังกฤษ ฯลฯ และโรงเรียนที่สอนครบทุกรายวิชาโดยแบ่งตามระดับชั้นการเรียน อีกทั้งจำนวนโรงเรียนกวดวิชายังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ไทยพับลิก้าเคยสำรวจไว้

นอกจากนี้ยังพบว่า โรงเรียนกวดวิชาที่สอนเพื่อเพิ่มคะแนนสอบที่ได้รับความนิยมและมีมากกว่า 20 สาขาทั่วประเทศมีทั้งหมด 9 แห่ง คือ นวศึกษาหรือ JIA 43 สาขา, Enconcept 35 สาขา, ดาวองก์ 34 สาขา, เดอะเบรน 33 สาขา, รัชดาวิทยา (RAC) 30 สาขา, วรรณสรณ์ (เคมี อ.อุ๊) 27 สาขา, เดอะติวเตอร์ (พลัส) 26 สาขา, แอพพลายด์ฟิสิกส์ 26 สาขา และครูสมศรี 21 สาขา รวมแล้วโรงเรียนกวดวิชากลุ่มนี้มีสาขารวมกัน 275 สาขาคิดเป็นร้อยละ 12 ของโรงเรียนกวดวิชาทั้งหมด และนักเรียนไทยส่วนใหญ่เคยผ่านการเรียนพิเศษกับโรงเรียนกวดวิชากลุ่มนี้แห่งใดแห่งหนึ่งหรือมากกว่า หากผู้ปกครองสนับสนุนและมีรายได้มากพอ(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

โรงเรียนกวดวิชาที่มีสาขามากที่สุดของไทย

โรงเรียนกวดวิชาทั้ง 9 แห่ง แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่สอนเฉพาะรายวิชา ได้แก่ Enconcept และครูสมศรี สอนภาษาอังกฤษ ดาวองก์สอนภาษาไทยและสังคม วรรณสรณ์สอนวิชาเคมี และแอพพลายด์ฟิสิกส์สอนวิชาฟิสิกส์ ซึ่งโรงเรียนกวดวิชากลุ่มนี้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาโดยเฉพาะมัธยมศึกษาตอนปลายในหลักสูตรเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ส่วนนวศึกษา เดอะเบรน รัชดาวิทยา และเดอะติวเตอร์ (พลัส) นั้นจะสอนพิเศษขนานไปกับการเรียนในชั้นเรียน เป็นการเรียนเพื่อเพิ่มระดับผลการเรียนหรือเกรดในวิชาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย สังคม วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนครบทุกวิชาหรือว่าจะเรียนเฉพาะบางรายวิชาตามตารางเรียนที่โรงเรียนกวดวิชาเป็นผู้กำหนด

สำหรับแหล่งโรงเรียนกวดวิชาในกรุงเทพฯ มักอยู่รวมกับแหล่งท่องเที่ยวของคนเมืองที่เดินทางสะดวกและมีห้างสรรพสินค้า เช่น สยามสแควร์ บางกะปิ พญาไท ปิ่นเกล้า ฯลฯ ส่วนเขตปริมณฑลที่เป็นแหล่งกวดวิชา เช่น ย่านเดอะมอลล์งามวงศ์วาน และฟิวเจอร์พาร์ครังสิต สำหรับในต่างจังหวัดแหล่งโรงเรียนกวดวิชาจะอยู่ในเมืองของจังหวัดใหญ่ๆ ในภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ นครสวรรค์ สระบุรี ชลบุรี หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช ฯลฯ

ทั้งนี้โรงเรียนกวดวิชาจัดเป็นการศึกษาเอกชนนอกระบบรูปแบบหนึ่งในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่แบ่งการศึกษานอกระบบไว้ 6 ประเภท คือ โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนศิลปะและกีฬา โรงเรียนวิชาชีพ โรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนเสริมสร้างทักษะชีวิต ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในขณะที่โรงเรียนกวดวิชามีรายได้มหาศาลในเชิงพาณิชย์

จากสถิติของ สช. พบว่า ในช่วงปี 2549-2556 โรงเรียนกวดวิชามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นปีละประมาณ 200-300 แห่งทั่วประเทศ โดยปี 2549 มีโรงเรียนกวดวิชา 964 แห่ง แต่ปี 2556 มี 2,343 แห่ง โดยส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ มีจำนวน 565 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 24.1 ของโรงเรียนกวดวิชาทั้งหมด

จำนวนโรงเรียนกวดวิชา จำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชา และจำนวนครูของโรงเรียนกวดวิชา

นอกจากจำนวนโรงเรียนกวดวิชาที่เพิ่มขึ้นแล้ว จำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาและจำนวนครูที่สอนกวดวิชาก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งข้อมูลจาก สช. ระบุว่าปี 2556 มีจำนวนนักเรียนกวดวิชา 535,695 คน โดยอยู่ในกรุงเทพฯ 209,350 คน คิดเป็นร้อยละ 39 ของนักเรียนทั้งหมดที่เรียนกวดวิชา ส่วนครูมีจำนวน 14,009 คน โดยอยู่ในกรุงเทพฯ 4,499 คน คิดเป็นร้อยละ 32.1 ของครูทั้งหมดที่สอนกวดวิชา

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ปี 2556 ทั้งประเทศมีจำนวนนักเรียนรวม 13,606,743 คน แต่หากคิดเฉพาะระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าจะเรียนพิเศษพบว่ามีจำนวน 9,440,968 คน นั่นคือสัดส่วนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาคิดเป็นร้อยละ 3.9 ของนักเรียนทั้งหมด และร้อยละ 5.67 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ส่วนครูพบว่า ปี 2556 มีจำนวนทั้งหมด 692,843 คน โดยเป็นครูในสังกัดของ สช. จำนวน 154,631 คน นั่นคือ มีสัดส่วนครูที่สอนกวดวิชาร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับครูทั้งหมด และร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับครูในสังกัดของ สช.

ทั้งนี้ จากสถิติต่างๆ ข้างต้น ยังไม่นับรวมกับการกวดวิชาที่ไม่มีบันทึกในระบบ เช่น การสอนตัวต่อตัวที่บ้านหรือการจับกลุ่มสอนหนังสือโดยผ่านนายหน้าจัดหาครูสอนพิเศษผ่านออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ ซึ่งการสอนพิเศษประเภทนี้ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะผู้เรียนสามารถเลือกวิชา วัน เวลา และสถานที่เรียนได้เอง รวมถึงการสอนพิเศษหลังเลิกเรียนของครูในโรงเรียนทั้งการสอนพิเศษที่โรงเรียนจัดขึ้นและการสอนพิเศษที่ครูเป็นผู้จัดเอง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าในปี 2556 ตลาดกวดวิชามีมูลค่าประมาณ 7,160 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,189 ล้านบาทในปี 2558 ซึ่งมีเงินสะพัดอย่างมหาศาลและไม่ต้องเสียภาษี