ThaiPublica > คอลัมน์ > Is Midlife Crisis Real? หลักฐานของมรสุมชีวิตช่วงวัยกลางคน

Is Midlife Crisis Real? หลักฐานของมรสุมชีวิตช่วงวัยกลางคน

12 กุมภาพันธ์ 2015


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

คุณผู้อ่านว่าคนเราน่าจะมีความสุขกับชีวิตมากที่สุดตอนที่เรามีอายุสักประมาณเท่าไหร่ ตอนที่เรายังเป็นเด็กหรือวัยรุ่นอยู่ หรือว่าตอนช่วงวัยกำลังทำงานและมีครอบครัวแล้ว หรือว่าช่วงที่เรากำลังแก่ตัวลงและอายุได้สักประมาณหกสิบถึงเจ็ดสิบปีขึ้นไป

สำหรับตัวผมเอง ผมเคยคิดอยู่เสมอมาว่าคนเราน่าจะมีความสุขกับชีวิตมากที่สุดตอนช่วงที่เรายังเป็นวัยรุ่นอยู่ (อายุสักประมาณ 17-25 ปี) ซึ่งช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงที่คนเรามีความรับผิดชอบกับหน้าที่และชีวิตในหลายๆ ด้านน้อยที่สุด หลังจากนั้น ค่าเฉลี่ยความสุขของคนเราก็น่าจะตกลงมาในช่วงวัยทำงาน (คือตอนที่มีอายุระหว่าง 26-50 ปี) และน่าจะมีค่าที่ตำ่ที่สุดตอนคนเราอายุได้สักประมาณ 40 ปีต้นๆ ซึ่งอายุของคนในช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงที่คนเรามีความรับผิดชอบกับการทำงานหาเงินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวมากที่สุด หลังจากนั้นค่าเฉลี่ยความสุขก็น่าจะกระเตื้องขึ้นมาหน่อยตอนอายุเลย 50 ปีขึ้นไป (แต่ก็ยังไม่สุขเท่าตอนที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่) เพราะช่วงเวลาของชีวิตในช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่คนเราหมดหรือใกล้จะหมดภาระหน้าที่ต่างๆ ของชีวิตไปเรียบร้อยแล้ว และถึงแม้ว่าสังขารของคนเราในช่วงนี้อาจจะไม่ได้ดีเท่าแต่ก่อน แต่คนเราน่าจะมีความสุขมากกว่าช่วงเวลาที่ยังต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำอยู่

แต่ผมก็ไม่ใช่คนแรกและคนเดียวที่คิดว่าความสุขของคนเราน่าจะมีจุดสูงสุดอยู่สองจุด นั่นก็คือช่วงที่เรายังเป็นเด็กวัยรุ่นอยู่และช่วงที่เราเริ่มจะแก่ตัวลงแล้ว และมีจุดที่ตำ่สุดตอนที่เราอายุได้สักประมาณ 40 ปี นักจิตวิทยาชาวแคนาดา เอลเลียต ฌาคส์ (Elliot Jaques) เป็นคนแรกที่ตั้งข้อสังเกตขึ้นมาว่าคนเรามักจะประสบกับมรสุมชีวิตหลายๆ อย่างตอนที่เราอายุได้สักประมาณ 40-50 ปี (ยกตัวอย่างเช่นเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตของคนที่เรารัก อย่างเช่นพ่อหรือแม่ของเรา น่าจะสูงที่สุดก็ตอนที่เรามีอายุได้สักประมาณเท่านี้เป็นต้น) ซึ่งก็น่าจะส่งผลให้เรามีความทุกข์หรือสุขน้อยที่สุดตอนในชีวิตประมาณช่วงนี้ของชีวิต เอลเลียต ฌาคส์ จึงได้ทำการเรียกประสบการณ์ของคนส่วนใหญ่ในวัยนี้ว่า “midlife crisis” อย่างที่คนเราส่วนใหญ่รู้จักกันนั่นเอง

มรสุมชีวิตช่วงวัยกลางคน

ส่วนใหญ่เวลาที่คนเรานึกถึงคำว่า midlife crisis เรามักจะนึกถึงภาพของผู้ชายวัยกลางคนกำลังขับรถสปอร์ตที่ดูแล้วไม่ค่อยจะสมกับอายุของคนขับสักเท่าไหร่ พร้อมกับมีผู้หญิงสวยๆ รุ่นราวคราวเดียวกับลูกของเขาแต่ไม่ใช่ลูกของเขานั่งอยู่ข้างๆ แต่ในความเป็นจริงทางสถิติแล้วนั้น นักวิชาการส่วนใหญ่ที่ศึกษาวงจรชีวิตของคนกลับไม่สามารถพิสูจน์ให้พวกเราเห็นกันได้ชัดๆ เลยว่า midlife crisis นั้นเป็นประสบการณ์จริงๆ ที่คนเราจะต้องเจอกันเกือบทุกๆ คน โดยเฉพาะสมัยนี้ที่เหตุการณ์ไม่ดีๆ ทั้งหลายในชีวิต อย่างเช่นการสูญเสียคนที่เรารักหรือการตกงาน แทบไม่ได้มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับการมีอายุสักประมาณ 40-50 เลย

Happiness is Smile Shaped

แต่เมื่อไม่นานมานี้เอง แอนดรูว์ ออสวัลด์ (Andrew Oswald) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษจากมหาวิทยาลัยวอร์วิก (Warwick University) และเพื่อนร่วมงานหลายๆ คนรวมไปจนถึงตัวผมด้วยได้ทำการนำข้อมูลความพอใจของชีวิต (life satisfaction) มาดูว่าคนเรามีความสุขน้อยที่สุดอยู่ตรงช่วงครึ่งหนึ่งของชีวิตจริงหรือไม่ ปรากฏว่าเป็นความจริง โดยเฉลี่ยแล้วความพอใจของชีวิตนั้นจะเริ่มจากค่าที่สูงก่อนตอนที่เรายังเป็นวัยรุ่นอยู่ หลังจากนั้นความสุขก็จะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นและมีจุดที่ตำ่ที่สุดตอนเราอายุได้สักประมาณ 40 ต้นๆ หลังจากนั้นความสุขก็จะเพิ่มขึ้นตามอายุไปเรื่อยๆ แถมความสุขของเราตอนที่เราอายุได้สักประมาณ 70 ปี ยังสูงกว่าตอนที่เรายังเป็นวัยรุ่นเสียอีก (ซึ่งกลับกันกับที่ผมเคยคิดเอาไว้)

และยิ่งไปกว่านั้น แอนดรูว์และเพื่อนร่วมงานของเขายังสามารถพิสูจน์ให้พวกเราได้เห็นอีกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความสุขและอายุของคนเราที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายๆ กับรอยยิ้มนั้นสามารถพบได้กับประชากรจากเกือบทุกประเทศทั่วโลก เพียงแต่ว่าจุดความสุขตำ่ หรือ minimum point of happiness นั้นไม่ได้อยู่ที่จุดเดียวกันทุกประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย อเมริกา และอีกหลายๆ ประเทศทางตะวันตกส่วนใหญ่จะมีจุดความสุขตำ่อยู่ที่ประมาณ 40 ต้นๆ (ยกเว้นฝรั่งเศสที่จุดความสุขตำ่อยู่ที่อายุสักประมาณ 61) สำหรับประเทศทางทวีปเอเชีย จุดความสุขตำ่ของประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณอายุ 50 ประเทศจีน 46 เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์อยู่ที่ประมาณอายุ 40 ปี

รูปที่ 1: ความพอใจของชีวิตและอายุของคน
รูปที่ 1: ความพอใจของชีวิตและอายุของคน

แอนดรูว์ ออสวัลด์ ยังพิสูจน์ออกมาให้เห็นอีกด้วยว่า คนเรามักจะเครียดที่สุดประมาณช่วงวัยกลางคน แถมเปอร์เซ็นต์ที่คนเราจะเริ่มกินยาลดความเครียดหรือ anti-depression นั้นก็สูงที่สุดตอนเราอยู่ในช่วงวัยกลางคน

รูปที่ 2: สัดส่วนของคนที่กินยาลดความเครียดและอายุของคน
รูปที่ 2: สัดส่วนของคนที่กินยาลดความเครียดและอายุของคน

งานวิจัยของแอนดรูว์ ออสวัลด์ ทำให้เรามีหลักฐานสำคัญว่า midlife crisis นั้นมีจริง แต่ว่ากลไกอะไรล่ะที่จะสามารถนำมาอธิบายการขึ้นลงของความความสุขตลอดวงจรชีวิตของคนเราได้ สำหรับตัวแอนดรูว์แล้ว เขาคิดว่ามันมีกลไกใหญ่ๆ อยู่สี่อย่างด้วยกันนั่นก็คือ

อย่างที่เอลเลียต ฌาคส์ เคยบอกเอาไว้ว่า คนเรามักจะประสบกับเหตุที่ทำให้เครียดและเสียใจมากที่สุดตอนช่วงวัยกลางคน

คนเรามักพบว่าสิ่งที่เคยคาดหวังเอาไว้ตอนที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่ตอนปัจจุบันนั้นมันช่างห่างไกลกันเหลือเกินตอนที่อายุสักประมาณ 40-50 ปี แต่หลังจากนั้นแล้วคนเรามักจะสามารถ “ทำใจ” และปรับตัวรับสภาพความเป็นจริงได้ก็ตอนที่เมื่อยิ่งแก่ตัวลง ซึ่งก็ส่งผลให้คนเรามีความสุขมากขึ้นในตอนแก่

คนที่มีความสุขมีอายุยืนกว่าคนที่มีความทุกข์ เพราะฉะนั้น เราจึงมักจะไม่ค่อยเห็นคนแก่ที่สุขน้อยในข้อมูลของเราเมื่อเทียบกับคนแก่ที่มีความสุขเยอะถึงเยอะมาก

คนที่เริ่มมีอายุมากขึ้นอาจจะทำการเปรียบเทียบกับคนอื่นน้อยลง และยิ่งถ้ามีคนที่อายุพอๆ กันได้ตายจากไปแล้วเพิ่มเยอะขึ้นตามอายุ คนที่มีอายุมากก็อาจจะยิ่งรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่อายุยืนกว่าคนอื่นๆ ในวัยเดียวกันก็เป็นได้

ลิงก็มี midlife crisis เหมือนกัน

และเมื่อไม่นานมานี้เองแอนดรูยว์์ ออสวัลด์ กับเพื่อนร่วมทีมวิจัยหลายคนของเขาก็ได้ทำการพิสูจน์ให้พวกเราได้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยความสุขของลิงชิมแปนซีและลิงอุรังอุตังก็มีจุดที่ตำ่ที่สุดตอนช่วงวัยกลาง (ลิง) เหมือนกับคน โดยในการทำวิจัยชิ้นนี้แอนดรูว์ได้ให้พนักงานดูแลสวนสัตว์และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับลิงทั้งหลายประเมินความสุขของลิงที่อาศัยอยู่ในสวนสัตว์ที่ประเทศญี่ปุ่นและที่ประเทศสหรัฐอเมริกากว่าห้าร้อยตัว โดยการวัดความสุขของลิงนั้น แอนดรูว์ได้ให้พนักงานดูแลสวนสัตว์และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับลิงทั้งหลายเหล่านี้ตอบคำถามที่เกี่ยวกับอารมณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบ (positive and negative moods) ของลิงแต่ละตัว รวมไปจนถึงคำถามที่ว่าถ้าคุณสามารถเป็นลิงตัวที่พวกเรากำลังพูดถึงอยู่นั้นสักอาทิตย์หนึ่งคุณว่าคุณจะมีความสุขแค่ไหน โดยที่พวกเขาไม่รู้เลยว่าแอนดรูว์กำลังเก็บข้อมูลเหล่านี้ไปทำไม

รูปที่ 3: ความพอใจของชีวิตและอายุของลิง
รูปที่ 3: ความพอใจของชีวิตและอายุของลิง

และเพราะปรากฏการณ์ที่ลิงเองก็มี minimum point of happiness ที่ครึ่งชีวิตเหมือนกับคนทำให้แอนดรูย์สามารถสรุปได้ว่า midlife crisis อาจไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่มักเกิดขึ้นกับคนตอนที่คนเราอายุได้สักประมาณ 40 ปีเลย (เพราะว่าตัวลิงในสวนสัตว์เองไม่ต้องทำงานหามรุ่งหามคำ่เพื่อการเลี้ยงดูครอบครัวเหมือนกับคน) แต่อาจจะเป็นประสบการณ์ที่ฝังลึกอยู่ใน DNA ของเราทุกคนก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณไม่ค่อยมีความสุขเลยตอนที่คุณอายุประมาณ 40-50 ปี คุณไม่ต้องเป็นห่วง เพราะว่าเดี๋ยวคุณแก่ตัวขึ้นอีกสักหน่อยความสุขก็จะกลับคืนมาหาคุณเอง

อ่านเพิ่มเติม
Blanchflower, D. G., & Oswald, A. J. (2008). Is well-being U-shaped over the life cycle?. Social science & medicine, 66(8), 1733-1749.
Blanchflower, D. G., & Oswald, A. J. (2012). Antidepressants and age in 27 European countries: Evidence of a U-shape in human well-being through life. Unpublished paper, Dartmouth College.
Cheng, T. C., Powdthavee, N., & Oswald, A. J. (2014). Longitudinal evidence for a midlife nadir in human well-being: results from four data sets.
Weiss, A., King, J. E., Inoue-Murayama, M., Matsuzawa, T., & Oswald, A. J. (2012). Evidence for a midlife crisis in great apes consistent with the U-shape in human well-being. Proceedings of the National Academy of Sciences, 109(49), 19949-19952.