ThaiPublica > คอลัมน์ > สิ่งที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับรายการ “Sesame Street”

สิ่งที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับรายการ “Sesame Street”

3 มกราคม 2015


ที่มาภาพ :http://www.settakid.com/?attachment_id=2986
ที่มาภาพ :http://www.settakid.com/?attachment_id=2986

ใครที่สมัยเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่เคยให้ดูรายการทีวีภาษาอังกฤษที่ประเทืองปัญญาจะต้องจำรายการ Sesame Street ได้ไม่ลืมเลือน คุณคงจำนกยักษ์สีเหลืองที่ชื่อ Big Bird พร้อมกับเพื่อนๆ สัตว์ประหลาดสีน้ำเงินสดใสที่ชอบกินคุ้กกี้ชื่อ Cookie Monster และ Elmo ในร่างสีแดงสดได้เป็นอย่างดี แต่คุณคงไม่ทราบถึงที่มาว่าทำไมตัวอักษรภาษาอังกฤษถึงต้องสั่นหรือเคลื่อนไหวบนจอ ทำไมถึงมีการสอนคอนเซ็ปต์คณิตศาสตร์สำคัญ เช่น “one-to-one correspondence” ให้กับผู้ชมอายุแค่ 3 ขวบ ทำไมต้องมีเพลงที่ร้องซ้ำๆ อยู่เรื่อยไป และ ทำไมรายการนี้ถึงคอยแฝงคอนเซ็ปต์ผู้ใหญ่ๆ เช่น ความตาย การไม่เหยียดผิว การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การใช้ชีวิตเมื่อเด็กติดเชื้อ HIV และ การยอมรับเมื่อบิดาหรือมารดาถูกจำคุก ให้กับเด็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ

ตั้งแต่วันแรกที่รายการทีวี Sesame Street ออกฉายในปี 1969 นั้นได้มีงานวิจัยกว่า 1000 ชิ้น ออกมาชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทางบวกต่อความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียนและการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในกลุ่มเด็กๆ ที่ดูรายการนี้ บทความนี้จะเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของการถ่ายทำที่น่าประทับใจของ Sesame Workshopที่ทำการโพรดิวซ์รายการนี้และคัดผลวิจัยคุณภาพมาเพื่อชี้ให้ผู้อ่านได้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่การผลิตรายการทีวีสำหรับเด็กจะทำให้เกิดผลลัพธ์ดีๆ เหล่านี้ได้ แต่กลับต้องใช้แรงกาย แรงใจ ความคิดสร้างสรรค์ ทีมนักวิจัย และความใส่ใจกับอนาคตเด็กอย่างมหาศาล เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีเหล่านี้

จุดมุ่งหมายและความสำเร็จของ Sesame Street

ที่มาภาพ :  http://www.settakid.com/wp-content/uploads/2014/12/sesame11.jpg
ที่มาภาพ : http://www.settakid.com/wp-content/uploads/2014/12/sesame11.jpg

จุดหมายดั้งเดิมของรายการนี้คือการช่วยเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆ ก่อนไปโรงเรียน โดยมีโฟกัสหลักคือเพื่อช่วยเด็กๆ ที่มาจากครอบครัวที่ลำบาก

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ Sesame Street เป็นรายการทีวีที่ประสบความสำเร็จทั้งในการเป็นรายการทีวียอดนิยมไปทั่วโลก และในขณะเดียวกันก็ยังเป็นรายการทีวีที่มีงานวิจัยจำนวนมหาศาลออกมารับรองความมีประสิทธิภาพในการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆ ก่อนไปโรงเรียน

หลังจากที่ซีซันแรกออกฉายในปี 1969 ก็ได้เกิดงานวิจัยครั้งแรกขึ้นที่ทำการสำรวจเด็กๆ ชาวอเมริกันกว่า 1000 คน ในช่วงอายุ 3 ถึง 5 ขวบ ที่ส่วนมากมาจากครอบครัวที่ค่อนข้่างยากจน โดยทดสอบเด็กๆ พวกนี้ก่อนและหลังดูรายการ Sesame Street เป็นระยะเวลาทั้งซีซัน นักวิจัยพบว่าเด็กๆ กลุ่มที่ดู Sesame Street มากที่สุดจะมีความก้าวหน้าของคะแนนสอบในหลายๆ ด้าน เช่น ความรู้เกี่ยวกับตัวอักษรและตัวเลข ชื่อของส่วนต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่ Sesame Street เน้นมากที่สุด นั่นก็คือ ความคุ้นเคยกับตัวอักษรภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นก็ได้มีการทำวิจัยซ้ำอีกรอบสำหรับซีซันที่สองซึ่งผลลัพธ์คล้ายคลึงกับซีซันแรก แถมยังพบว่ามี “ควันหลง” จากการดูที่เป็นผลกระทบระยะยาวไปถึงความสามารถเมื่อเด็กๆ เริ่มเข้าโรงเรียนอีกด้วย

นอกจากผลดีต่อการพัฒนาการในทักษะพื้นฐาน เช่น การรู้จักตัวอักษรหรือตัวเลขแล้ว งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Kansas ที่ติดตามเด็กๆ กว่า 250 คน ในช่วงอายุ 2 ถึง 5 ขวบ ไป 3 ปี ยังพบว่ายิ่งเด็กๆ ดูมากเท่าไหร่ยิ่งชอบใช้เวลาว่างไปกับการอ่านและทำอะไรที่ประเทืองปัญญามากกว่าเด็กที่ไม่ได้ดู Sesame Street เป็นการชี้ให้เห็นว่ารายการนี้ยังมีผลทางอ้อมกับเด็กๆ เช่น การก่อให้เกิดการรักการอ่าน อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมี งานวิจัยที่พบว่าการทดลองแยกเด็กๆ ใน daycare กว่า 150 คน กลุ่มหนึ่งไปดู Sesame Street ตอนที่ธรรมดาๆ กับอีกกลุ่มหนึ่งไปดูตอนพิเศษที่มีการสอน pro-social behavior หรือ “พฤติกรรมที่สนับสนุนสังคม” นั้นทำให้เด็กๆ กลุ่มที่ได้ดูตอนพิเศษนั้นแสดงความเห็นใจแก่เพื่อน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การรอคิวเล่น และการแบ่งปัน มากกว่าเด็กๆ อีกกลุ่มหนึ่งอย่างเห็นได้ชัดเมื่อให้เด็กๆ มาทำกิจกรรมร่วมกันตอนหลัง

ที่น่าสนใจอีกงานหนึ่งก็คือการสำรวจการเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา หรือการพัฒนา “problem-solving skills” จากการดู Sesame Street แค่ 100 วินาที นักวิจัยกลุ่มนี้แบ่งให้เด็กวัย 5 ถึง 6 ขวบ เพื่อดู Sesame Street แต่กลุ่มเดียวเท่านั้นที่จะได้ดูตอนพิเศษที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหา อีกกลุ่มแค่ได้ดูตอนธรรมดาๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการแก้ปัญหา หลังจากนั้นให้เด็กๆ เหล่านี้ลองแก้ปัญหาสองข้อ ข้อหนึ่งเหมือนในตอนพิเศษ ส่วนอีกข้อแตกต่างและดูเหมือนยากกว่าแต่ใช้วิธีแก้แบบเดียวกับที่สอน นักวิจัยพบว่าเด็กๆ ที่ได้ดูตอนพิเศษนั้นสามารถแก้ปัญหาข้อแรกได้เร็วกว่าอีกกลุ่มมาก แม้ว่าเด็กทั้งสองกลุ่มจะแก้ข้อที่สองไม่ค่อยได้ทั้งคู่ แต่ก็ยังน่าทึ่งอยู่ดีที่การสอนอะไรผ่านทีวีให้เด็กๆ แค่ไม่ถึงสองนาทีมันมีผลได้ขนาดนี้

ผลลัพธ์ที่ดีนั้นดูเหมือนว่าจะไม่ได้หยุดอยู่กับแค่วัยอนุบาล แต่มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงผลลัพธ์ตอนมัธยมปลายด้วยซ้ำ งานวิจัย จาก University of Massachusetts at Amherst กับ University of Kansas ทำการศึกษานักศึกษามัธยมปลายกลุ่มที่เคยและไม่เคยดู Sesame Street สมัยตนยังเป็นเด็กอนุบาลจำนวน 570 คน แม้ว่าจะควบคุมตัวแปรอื่นๆ เช่น ตัวแปรเกี่ยวกับฐานะและการศึกษาของพ่อแม่แล้วก็ตาม การดูหรือไม่ดู Sesame Street นั้นมีความเกี่ยวโยงกับผลการเรียนในวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ อย่างเห็นได้ชัด สำหรับเด็กผู้ชายนั้น การดู Sesame Street 5 ครั้งต่ออาทิตย์ แปลเป็นเกรดเฉลี่ย GPA ที่สูงขึ้นได้ถึง 0.35 (ประมาณจาก B+ เป็น A-) ทำให้โตขึ้นแล้วใช้หนังสือมากกว่า เห็นคุณค่าของตนเองมากกว่า และให้ความสำคัญกับการเรียนมากกว่า

กล่าวโดยสรุปก็คือการดูรายการ Sesame Street ไม่ว่าจะแค่ 2 นาที หรือดูทั้งซีซันเมื่อยังเยาว์วัยนั้นอาจจะมีผลกระทบต่อตั้งแต่ความสามารถในการทำกิจกรรมหลังจากดูจบไปจนถึงผลการเรียนในระดับมัธยมปลายได้เลยทีเดียว

ผู้เขียนขอใช้คำว่า “อาจจะ” เพราะว่างานวิจัยที่คัดมาแล้วในที่นี้ไม่ใช่ทุกชิ้นที่ทำการ randomize เด็กๆ จริงๆ มันยังมีความเป็นไปได้ว่าผลลัพธ์ดีๆ ที่ออกมานั้นอาจเป็นเพราะว่าสภาพแวดล้อมอื่นๆ ของเด็กๆ เช่น คุณภาพของผู้ปกครอง การที่การศึกษาระดับปฐมวัยผ่านทีวีสามารถมีผลกระทบไปถึงตอนเด็กๆ โตขึ้นนั้นมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งเพราะว่ายิ่งเด็กๆ มี “early success” มากเท่าไหร่ผลลัพธ์นั้นยิ่งทวีคูณ เมื่อเด็กๆ ชอบการอ่าน ก็มีสิทธิ์ได้รับโอกาสจากพ่อแม่และครูมากขึ้นในด้านนี้

ในกรณีเมืองไทยนั้นเมื่อเด็กเรียนเก่งก็มีโอกาสไปห้องคิงมากกว่า และมีความมั่นใจในการเรียนมากกว่าเพื่อนๆ ทำให้ท้ายสุดแล้วสามารถถูกเลือกเข้าไปอยู่ในสถานภาพที่ดีกว่าได้ในภายหลังนั่นเอง (ผู้อ่านที่สนใจผลระยะยาวของการศึกษาระดับปฐมวัย สามารถอ่านอีกบทความของผู้เขียนได้ที่นี่)

ความสำเร็จเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าประทับใจและน่าสนใจยิ่งกว่าเกี่ยวกับทีมงาน Sesame Workshop คือ 1. ความใส่ใจในอนาคตของเด็ก 2. ความต้องการในการช่วยเหลือเด็กๆ กลุ่มที่มาจากครอบครัวที่ลำบาก และ 3. การวิวัฒนาการจากรายการทีวีสอนภาษาและคณิตย์ศาสตร์ไปเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่และสำคัญกว่า

จุดเด่น1: ความใส่ใจในอนาคตของเด็ก

ที่มาภาพ :  http://www.settakid.com/wp-content/uploads/2014/12/sesame2.jpg
ที่มาภาพ : http://www.settakid.com/wp-content/uploads/2014/12/sesame2.jpg

กว่าคุณจะได้ดู Sesame Street หนึ่งตอน หรือกว่าคุณจะได้อ่านโบรชัวร์คู่มือสำหรับพ่อแม่ หารู้ไม่ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้ผ่านการวิจัยมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนเพื่อที่จะทำให้การเรียนรู้นั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด

เพื่อความปลอดภัยและคุณภาพของรายการ Sesame Street ทีมงานมักใช้กระบวนการวิจัยแบบสองต่อ คือวิจัยก่อนออกฉายและวิจัยหลังออกฉาย (ซึ่งหลังจากนั้นก็มีนักวิจัยภายนอกนำไปศึกษาต่ออีกที) เนื่องจากการบริโภครายการทีวีในวัยเยาว์นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหว สิ่งที่นำออกฉายจึงต้องผ่านการวิจัยนับครั้งไม่ถ้วนแล้วว่าทำให้เด็กๆ เรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการและไม่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์หลังจากการดู ด้วยเหตุนี้ทีมงานใน “กองถ่าย” ของ Sesame Street จึงมีนักวิชาการและนักวิจัยแฝงตัวทำงานร่วมกับศิลปินและผู้กำกับอยู่ตลอดเวลา รายละเอียดเล็กๆ ทุกอย่างที่เด็กๆ ได้ชมจึงมีที่มาที่ไปเสมอ ไม่ใช่เลือกขึ้นมาเฉยๆ

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของทีมงานนี้คือการเปลี่ยนให้ตัวหนังสือ “สั่นหรือเคลื่อนไหว” เวลาจะสอนให้เด็กๆ รู้จักกับตัวอักษรภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก ตอนแรกๆ ทีมงานพบว่าตัวอักษรที่นิ่งเกินไปบนจอนั้นไม่ก่อให้เกิดความสนใจในเด็กๆ ที่กำลังชมรายการ ทำให้บางทีจำไม่ได้ หลังจากที่ปรับให้ตัวหนังสือสั่นหรือเคลื่อนไหวแล้วก็พบว่าสามารถแก้ปัญหานี้ได้ทันที

ผลลัพธ์อื่นๆ ที่มาจากการทดลองและการวิจัยนั้นยังมีอีกมากมาย เช่น

  • การใช้เสียงคู่กับ visual effects เพื่อดึงดูดความสนใจทำให้เด็กๆ จับใจความได้ง่ายขึ้น
  • การใช้เพลงสอนบทเรียนต่างๆ นั้นใช้การได้ (จึงเป็นต้นเหตุที่ว่าทำไมหลังๆ Sesame Street นั้นได้ร่วมมือกับดารานักร้องมากมายเช่น Bruno Mars ดูได้ที่นี่)
  • การสอนคำศัพท์ใหม่ๆ นั้นต้องมี context ในเนื้อเรื่องที่ทำให้จำได้ง่ายขึ้น
  • การดึงดูดด้วยอารมณ์ขันนั้นใช้การได้
  • การสอนแบบซ้ำๆ นั้นใช้การได้ในเด็กเล็ก
  • การสื่ออารมณ์และสถานการณ์ต่างๆ ด้วยบทเพลงประกอบนั้นทำให้เด็กเข้าใจเรื่องมากขึ้น (ว่าตัวละครกำลังเศร้าหรือดีใจ สถานการณ์ปลอดภัยหรืออันตราย)
  • การสร้างแอปพลิเคชัน สำหรับแท็บเล็ตนั้นไม่ควรใช้ gesture ที่เด็กอายุ 3 ขวบจะไม่คุ้น เช่น การ pinch หรือการ flick หน้าจอ รวมไปถึงการที่ไม่ควรวางปุ่มออก exit หรือปุ่มสำคัญๆ อื่นๆ ไว้ใกล้มุมล่างของจอเกินไปเพราะว่าเด็กเล็กมักจะถือแท็บเล็ตตรงสองมุมล่าง ทำให้มองไม่เห็นหรือเผลอกดปุ่มสำคัญๆ ก่อนเวลาอันควร คำสั่งในการเล่นเกมต่างๆ ก็ควรจะละเอียดยิบ ไม่ใช่แค่ “แตะเลย!” เพราะเด็กๆ อาจจะยังไม่ถึงวัยที่เข้าใจคำสั่งสั้นๆ ได้
  • จุดเด่น2: ช่วยเหลือเด็กๆ กลุ่มที่กำลังลำบากที่สุด

    ที่มาภาพ : http://www.settakid.com/wp-content/uploads/2014/12/sesame4.jpg
    ที่มาภาพ : http://www.settakid.com/wp-content/uploads/2014/12/sesame4.jpg

    สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดคือความพยายามของ Sesame Street ที่จะช่วยให้ชีวิตของเด็กๆ ที่กำลังลำบากนั้นมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ผ่านทั้งทาง DVD แผ่นพับ และเว็บไซต์

    ตัวอย่างแรกคือ Sesame Street ตอนพิเศษที่ชื่อว่า “Little Children, Big Challenges: Divorce” ซึ่งเป็นการช่วยให้เด็กๆ ผ่านพ้นช่วงชีวิตเวลาพ่อแม่หย่าร้างได้อย่างราบรื่นและยังพอมีความสุขได้อยู่บ้าง นอกจากจะช่วยเด็กแล้วยังช่วยพ่อแม่ในการตอบคำถามและข้อสงสัยที่เด็กๆ มักจะมีเวลาเกิดการหย่าร้างขึ้น เช่น พ่อกับแม่ยังรักลูกอยู่หรือไม่ จะกลับมารักกันเหมือนเดิมไหม ฯลฯ รวมไปถึงการปลอบลูกไม่ให้ลูกคิดว่าทั้งหมดนี้เป็นความผิดตัวเอง

    ตัวอย่างที่สองคือ Sesame Street ตอนพิเศษที่ชื่อว่า “Little Children, Big Challenges: Incarceration” สำหรับเด็กๆ ที่มีผู้ปกครองที่ถูกจำคุก ในตอนนี้ตัวละครชื่อ Alex นั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสอนวิธีใช้ชีวิตให้มีสุขและเข้าใจความเป็นจริงเมื่อผู้ปกครองถูกจำคุก สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ปัญหาด้านนี้เป็นปัญหาใหญ่มากๆ เนื่องจากว่าจะมีเด็ก 1 ใน 28 คนที่จะมีพ่อหรือแม่อยู่ในเรือนจำ ที่แย่ที่สุดคือบางทีเด็กเล็กๆ ไม่เข้าใจว่าพ่อหรือแม่หายไปไหน และมักจะโทษตัวเองเมื่อไม่มีใครช่วยเหลือหรือไม่มีใครบอกความจริง โจทย์นี้ผู้เขียนขอคารวะทีมงาน Sesame Workshop เนื่องด้วยความกล้าหาญและความสามารถเพราะมันไม่ง่ายเลยในการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ จะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้เข้าใจว่าพ่อหรือแม่ทำผิด ไม่ใช่ตัวเองทำผิดและยังสามารถมีความรู้สึกดีๆ กับพ่อหรือแม่ที่ทำความผิดรุนแรงในสังคมได้ ผู้อ่านท่านไหนสนใจขอเชิญดูตัวอย่างได้ที่นี่

    ตัวอย่างที่สามคือเรื่องของ “ความตาย” ข้อนี้อาจจะฟังดูประหลาดที่เอามาฉายให้เด็กสามขวบดูแต่ผู้เขียนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะให้เด็กๆ ทราบและเข้าใจก่อนที่มันจะเกิดขึ้นกับชีวิตจริง เพราะการจากไปของคนใกล้ชิดนั้นเป็นสิ่งสะเทือนใจที่ค่อนข้างรุนแรงในชีวิตคนเรา ในวิดีโอนี้ Big Bird ไม่เข้าใจว่าทำไม Mr. Hooper เสียชีวิตแล้วถึงไม่สามารถกลับมาหา Big Bird ได้อีก เพื่อนๆ Big Bird ช่วยกันอธิบายว่าความตายคืออะไร สุดท้ายแล้ว Big Bird เข้าใจว่าความตายไม่ทำให้คนเรากลับมามีชีวิตได้อีก และมันโอเคที่คนเราจะเศร้าเสียใจ แต่ต้องไม่ลืมว่าเราก็ยังสามารถระลึกถึงความทรงจำดีๆ ที่เราเคยใช้ชีวิตร่วมกับผู้เสียชีวิตได้เช่นกัน

    ตัวอย่างสุดท้ายคือ Takalani Sesame (เวอร์ชั่นแอฟริกาใต้) ตอนที่นำเสนอตัวละครชื่อ Kami ซึ่งเป็นตัวละครตัวแรกที่ติดเชื้อ HIV positive จากการให้เลือดเมื่อเป็นทารก ซึ่งจากบทสัมภาษณ์ผู้ดีไซน์ตัวละครนี้เราจะเห็นได้ว่า Kami ถูกดีไซน์ขึ้นมาเพื่อให้สังคมยอมรับเด็กๆ ที่มีเชื้อ HIV positive มากขึ้น ไม่รังเกลียดและควรช่วยเหลือเมื่อมีโอกาส สำหรับเด็กๆ ผู้ชมที่ติดเชื้อมาตั้งแต่เกิด การที่ Kami นั้นมีสีสันสดใส มีบุคลิกรื่นเริงน่ารักนั้นทำให้เด็กเหล่านี้มีหวังในการใช้ชีวิตให้มีความสุขได้ (ดูประธานาธิบดีคลินตันกับ Kami ได้ที่นี่) จริงๆ แล้วมีข่าวลือว่า Kami จะได้ออกโรงในสหรัฐอเมริกาด้วยแต่ถูกการโต้แย้งอย่างรุนแรงจากนักการเมืองพรรครีพับลิกันว่าเป็นการสนับสนุนรักร่วมเพศ (พรรคนี้ค่อนข้างหมกมุ่นกับศาสนาคริสต์และเกลียด homosexuality มากๆ พอๆ กับเกลียดชังประเทศจีน) และขู่ว่าสภาคองเกรสจะโหวตตัดเงินสนับสนุนหาก Sesame Street นำ Kami ออกมาฉายในอเมริกา

    เป็นอะไรที่น่าประทับใจที่โลกนี้ยังมีคนสนใจและแคร์เด็กๆ กลุ่มที่กำลังลำบากอยู่บ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กๆ กลุ่มนี้ค่อยๆ โดนความเศร้าและความสิ้นหวังกลืนกินทั้งอนาคตและปัจจุบันไปเรื่อยๆ อย่างหดหู่

    จุดเด่น 3: ไม่ใช่แค่การสอนภาษาและบวกเลขอีกต่อไป

    ที่มาภาพ : http://www.settakid.com/wp-content/uploads/2014/12/sesame5.jpg
    ที่มาภาพ : http://www.settakid.com/wp-content/uploads/2014/12/sesame5.jpg

    สี่สิบปีกว่าปีให้หลัง Sesame Street ได้ขยายสิ่งที่รายการทำให้กับเด็กๆ ไปได้ไกลอย่างที่ไม่มีใครเคยคาดคิด

    ล่าสุดนั้นทางทีมงานเริ่มเห็นถึงความสำคัญของ non-cognitive skills ที่สามารถเข้ามาเป็นส่วนสำคัญมากๆ ในชีวิตของเด็กๆ ยกตัวอย่างในซีซัน 45 นั้นทีมงาน Sesame Street พยายามที่จะสอน “วิธีคุมตัวเอง” ให้กับเด็กๆ โดยในแต่ละตอนของซีซันนี้ก็จะมีการโฟกัสเพื่อสอนความสามารถในการเข้าใจและควบคุมอารมณ์ เข้าใจว่าเพื่อนกำลังเศร้าหรือโกรธ โดยเน้นให้เด็กใช้ความคิด กลยุทธ์ และอารมณ์ เพื่อให้เข้าใจถึงประโยชน์ของการอดทนและฝึกฝน ซึ่งมีวิจัยมาแล้วว่าเป็นตัวพยากรณ์ความสำเร็จทางการเรียนที่ดีกว่าไอคิวเสียอีก

    นอกจากธีมหลักในแต่ละซีซันแล้ว ล่าสุดรายการ Sesame Street ก็ยังได้เริ่มแทรกคอนเซ็ปต์ในด้าน STEM(+A) ที่รัฐบาลสหรัฐฯ เล็งเป็นหนึ่งในแนวทางการศึกษายุคใหม่ให้เข้าไปสมทบกับเนื้อหาด้านการอ่านและการคำนวณซึ่งปกติก็เป็นเสาหลักของรายการนี้อยู่แล้ว โดยการนำเสนอคอนเซ็ปต์ของ STEM(+A) หรือ Science, Technology, Engineering, Mathematics, and Art นั้นน่าสนใจมากที่สามารถสอนได้ตั้งหลายอย่างแม้เด็กน้อยเหล่านี้จะยังอ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ!

  • ในด้านวิทยาศาสตร์นั้น คอนเซ็ปต์หลักๆ ที่สอนได้ง่ายๆ คือสสาร ของแข็งของเหลวก๊าซ แสง สี พืช สัตว์ เป็นต้น
  • ด้านเทคโนโลยีก็จะเน้นการใช้เครื่องมือในการอำนวยความสะดวกในชีวิตเช่น รอก น๊อต เครื่องชั่งน้ำหนัก ฯลฯ
  • ด้านวิศวกรรมก็จะสอนแนวคิดแบบนักวิศวะ โดยสอนให้เด็กๆ รู้จักแก้ปัญหาด้วยการดีไซน์ โมเดล และทดลองหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เช่น การดีไซน์ทางลาดเพื่อทำให้รถของเล่นไหลลงมาได้รวดเร็วที่สุด
  • ด้านคณิตศาสตร์นั้นเป็นหนึ่งในเสาหลักที่ Sesame Street ทำได้ดีอยู่แล้วแต่จะเริ่มเน้นแฝงคอนเซ็ปต์ที่ดูเหมือน “สูงเกินวัย” เข้าไปอย่างแยบยล เช่น การบวกลบแบบใช้ภาษา การสอนรูปทรงหลากเหลี่ยม
  • โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนคิดว่าการสอนการเทียบขนาดด้วยการสื่อความหมายว่าอะไรเร็ว/ช้า ใหญ่/เล็ก เหมือน/ต่าง หรือการสอน one-to-one correspondence ด้วยการให้เด็กจัดช้อนส้อมบนโต๊ะกินข้าวให้เข้ากับจำนวนแขกนั้นถือว่าเป็นการสอนพื้นฐานที่สำคัญมากในการเรียนคณิตศาสตร์ในลำดับต่อๆ ไป

    อีกหนึ่งธีมใหม่ก็คือการเสริมสร้าง “Healthy Habits”เพื่อสร้างนิสัยการรับประทานอาหารและการดูแลสุขภาพที่ดีให้กับเด็กๆ โดยแต่เดิมแล้ว Sesame Street ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ แต่อาศัยความยอดนิยมและความคุ้นเคยของเด็กๆ กับตัวละคร Sesame Workshop จึงสามารถร่วมมือกับองค์กรอย่าง USDA (U.S. Department of Agriculture) ที่ทำวิจัยด้านนี้อยู่แล้ว โดยใช้ตัวละครเป็นเครื่องมือสื่อบทเรียนต่างๆ เกี่ยวกับที่มาของอาหาร ประโยชน์ของผักและผลไม้ วิธีอ่านฉลาก เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมที่ดีขึ้น ซึ่งการสร้างนิสัยในการรักษาสุขภาพตั้งแต่เด็กนั้นเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะนิสัยในการรับประทานอาหารและความชอบนั้นมักจะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่อายุ 2 ถึง 4 ขวบ ถ้ายังไม่สร้างนิสัยภายในอายุ 5 ปี จะมีความเสี่ยงสูงที่เด็กๆ จะมีนิสัยการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อร่างกาย ที่ผู้เขียนประทับใจที่สุดคือการสอนของเขานั้นไม่ได้เน้นให้เด็กๆ เลิกรับประทานขนมนมเนยไปตลอดชีวิต (ไม่น่าจะเวิร์ก) เพียงแต่ให้ลองรับทานอาหารแปลกๆ เพิ่มขึ้น ส่วนขนมและน้ำอัดลมนั้นขอให้เพลาๆ ลงและรับประทานได้แต่พอประมาณ

    สรุป

    ท้ายสุดนี้ผู้อ่านคงเห็นภาพแล้วว่า Sesame Street มาไกลมาก และมีความทุ่มเทต่ออนาคตของเด็กๆ สูงเหลือเกิน รายการนี้รู้ตัวดีว่าตัวเองไม่ใช่อะไรที่จะมาแทนที่การศึกษาหลักๆ ในโรงเรียน แต่ก็สามารถใช้ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์เข้ากับศาสตร์ในการวิจัยเพื่อสร้างจุดยืนในการเป็นผู้นำในด้านรายการทีวีเด็กเล็กที่ทั้งสนุกและมีประโยชน์ต่ออนาคตของเด็กๆ ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะทางการเรียนไปจนถึงทักษะทางอารมณ์และทักษะในการใช้ชีวิตให้มีความสุขในสังคมมนุษย์ แต่ที่น่านับถือที่สุดคงจะเป็นความต้องการที่จะช่วยเหลือเด็กๆ กลุ่มที่ด้อยโอกาสและกำลังลำบากกว่าเด็กๆ กลุ่มอื่นๆ มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1969

    ผู้อ่านคิดว่าเมื่อไหร่เมืองไทยจะมี Sesame Street ในฉบับของตัวเองครับ?

    หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com ณ วันที่ 30 ธันวาคม