ThaiPublica > คอลัมน์ > ฉันจะเดิน จะขี่จักรยาน ถ้า…….

ฉันจะเดิน จะขี่จักรยาน ถ้า…….

3 ธันวาคม 2014


ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

บูมมาก ดังมาก บอกตรงๆ

มาถึงนาทีนี้ ใครไม่รู้ว่าประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเรื่องจักรยานก็คงเป็นคนที่ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่เสพข่าวใดๆ ทั้งสิ้น เพราะคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมา “ส่งความสุข” ให้กับคนไทยในเรื่องนี้ติดต่อกันถึงสองสัปดาห์ในเดือนตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ทำเอาหน่วยงานกรมกองต่างๆ ต้องรีบหยิบยกเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของตนอย่างเร่งด่วน

ทำราวกับว่าการทำเรื่องระบบจักรยานมันง่ายเหมือนต้มบะหมี่สำเร็จรูป

จากการติดตามข้อมูลในสังคมสื่อออนไลน์ ทั้งในรูปตั้งกระทู้ถามเป็นเชิงสัมภาษณ์หรือสอบถาม หรือการให้ข้อคิดเห็นต่างๆ ของประชาชนผู้เสพสื่อและเป็นผู้สื่อเองด้วย ในระยะเดือนเศษที่ผ่านมา พบว่า คนที่ยังไม่ได้ใช้จักรยานก็จะยังไม่ใช้ต่อไป เหตุผลก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ คือ แดดร้อน ประเทศไทยอยู่ในเขตมรสุม ฝนตกบ่อย ถนนไม่อำนวย ที่ทำงานอยู่ไกลไป ขับรถสบายกว่า สวมกระโปรงแล้วขี่จักรยานไม่สะดวก นั่งมอเตอร์ไซค์ไปเร็วกว่า และ ……..

ไม่มีทางจักรยาน

เหตุผลสุดท้ายนี้เป็นเหตุผลหลักและเป็นเหตุผลร่วมของแทบทุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้จักรยานในกรุงเทพมหานคร แต่ปัญหาคืออะไรทราบไหมครับ ปัญหาคือเสียงของคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่เสียงของคนในประเทศไทย! เพราะกรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย และประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ! จึงไม่ควรเอาบริบทและทัศนคติของคนกรุงเทพฯ ไปบดบังความคิดของคนต่างจังหวัด เช่น อุทัยธานี นครพนม เมืองแกลง สุราษฎร์ธานี พิจิตร ซึ่งสามารถใช้จักรยานหรือเดินบนถนนหรือข้างถนนได้ปลอดภัยกว่าคนเมือง กทม. โดยไม่ต้องมีทางจักรยาน

แต่เอาเถิด หากเรายอมรับว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องหลักที่ทำให้คนไทยไม่เปลี่ยนพฤติกรรมออกมาเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในระยะทางสั้นๆ ในละแวกบ้าน (หมายเหตุ: มีงานวิจัยออกมาหลายชิ้นที่รายงานตรงกันว่าชาวบ้านที่ไม่ใช่นักจักรยานจะใช้จักรยานในการเดินทางแต่ละครั้งเพียง 1 ถึง 3 กิโลเมตรเท่านั้น แม้แต่คนดัทช์ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศจักรยานตัวพ่อ ก็ใช้จักรยานเพียงแค่วันละ 2-3 กิโลเมตร) เราจะมีมาตรการอะไรมาชี้แจงและชักจูงให้คนไทยเห็นว่ามันทำให้ปลอดภัยได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์เท่านั้นมาเป็นตัวนำและชักจูง

มีงานวิจัยอยู่หลายชิ้นที่สรุปโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าถ้าเราสามารถออกกฎและบังคับให้คนขับรถยนต์ขับเร็วได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โอกาสที่คนเดินเท้าและขี่จักรยานจะเสียชีวิตจากการถูกรถยนต์ชนมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ารถยนต์ขับเร็วขึ้นไปกว่านั้น อัตราการเสียชีวิตจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถ้าถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อใด ความเสี่ยงจะขึ้นไปสูงถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ทีเดียว (ดูกราฟ)

ดังนั้น หากต้องการให้ปลอดภัยต่อการเดินและการใช้จักรยานของประชาชน เราต้องออกกฎจราจรให้คนขับรถยนต์ขับได้ไม่เร็วเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

30 kph speed limit vs fatalities, graph WHO 2008

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าประเทศไทยก็มิได้ล้าหลังประเทศอื่นในประเด็นนี้เลย เพราะกฎหมายเราบังคับให้ขับรถยนต์ได้เร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อยู่แล้วในเขตชุมชนที่อยู่อาศัย

ป้าย 30 กม./ชม. บนถนนหลักในเมืองในจีน
ป้าย 30 กม./ชม. บนถนนหลักในเมืองในจีน
ป้าย 30 กม./ชม. ที่เมืองอาดีเลค ออสเตรเลีย
ป้าย 30 กม./ชม. ที่เมืองอาดีเลค ออสเตรเลีย
ป้าย 30 กม./ชม. ที่หมู่บ้านนักกีฬาฯ กทม.
ป้าย 30 กม./ชม. ที่หมู่บ้านนักกีฬาฯ กทม.
ป้าย 30 กม./ชม. ที่ซอยแถวประดิพัทธ์ กทม.
ป้าย 30 กม./ชม. ที่ซอยแถวประดิพัทธ์ กทม.

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ตรงกฎหมาย เพราะเรามีกฎหมายแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่คนไทยขับรถไม่ดูป้ายกำหนดความเร็ว ไม่เชื่อลองขึ้นไปบนทางด่วนซึ่งกำหนดให้ขับไม่เร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วดูสิว่ามีใครทำตามประกาศหรือข้อกำหนดนั้นบ้าง และที่ร้ายไปกว่านั้น ตำรวจเองแม้เห็นมีคนทำความผิดซึ่งหน้าในเรื่องนี้ ก็มิได้จับกุมแต่อย่างใด

แล้วเราจะไปต่อยังไงดีล่ะครับทีนี้