ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “ศ.ดร.นิธิ” หมุนทวนเข็มนาฬิกา ถอยวัฒนธรรมกลับไปสู่อดีตได้ แต่มันก็เดินกลับมา และก้าวไปข้างหน้า แนะอย่ายึดอำนาจ เพราะคำตอบแบบไม่นองเลือดจะหายไป

“ศ.ดร.นิธิ” หมุนทวนเข็มนาฬิกา ถอยวัฒนธรรมกลับไปสู่อดีตได้ แต่มันก็เดินกลับมา และก้าวไปข้างหน้า แนะอย่ายึดอำนาจ เพราะคำตอบแบบไม่นองเลือดจะหายไป

19 ธันวาคม 2014


ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวในงานงานเสวนา “นิธิ 20 ปีให้หลัง” ในการเปิดตัวหนังสือ “กรุงแตก พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์”, “ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์”, “โขน คาราบาว น้ำเน่า และหนังไทย” และ “ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น กางเกงใน และ ฯลฯ”  โดยมี ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ร่วมอภิปราย และ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557  จัดโดยสำนักพิมพ์มติชน

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของเรื่องส่วนตัวที่อยากจะพูดคือ “ผมเป็นนักเล่นนาฬิกา สะสมนาฬิกาไว้หลายประเภท ทั้งนาฬิกาข้อมือ นาฬิกาแขวนข้างฝา และอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นนาฬิกาเก่าที่ยอมเสียเงินไปซ่อม และซื้อมาในราคาที่ค่อนข้างถูก และผมมาพบอย่างหนึ่งว่า นาฬิกามีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ คุณสามารถหมุนเข็มมันกลับไปสู่อดีตเมื่อไหร่ก็ได้ที่คุณรู้สึกว่าคุณต้องการ คุณหมุนมันกลับไปได้เลย ถ้าเป็นนาฬิกาข้อมือที่มีวันที่ ก็หมุนวันที่ย้อนกลับไปให้เราได้ด้วย แต่ข้อเสียมีอยู่อีกอย่างก็คือ ถึงเราหมุนกลับไปแค่ไหนก็ตาม แต่มันก็เดินก้าวหน้าต่อไม่ยอมหยุด เดิUhนไปถึงจุดที่เราไม่อยากให้มันมาถึงจนได้ซักวันหนึ่ง”  

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์_1   

“สิ่งที่ผมรู้สึกได้เขียนลงไปในศิลปวัฒนธรรมเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ถามว่ามันเชยหรือยัง จริงๆ ผมว่ามันเชย ในหลายบทความมันแย่ๆ มาก เช่น เรื่องเกี่ยวกับน้ำเน่าในหนังไทย คือใช้ไม่ได้กับหนังไทยในปัจจุบันนี้ หนังไทยในปัจจุบันมันไม่ได้เป็นแบบนั้นอีกแล้ว คุณใช้ความคิดเกี่ยวกับน้ำเน่าในหนังไทยมาดูหนังไทยปัจจุบันไม่ได้ มันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คงต้องใช้กรอบวิธีมองอย่างอื่นแทน”

ศ.ดร.นิธิกล่าวว่า วัฒนธรรมที่เป็นจริงได้เปลี่ยนไปมากในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา ถ้ามองเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งผมถือว่านั่นล่ะคือ “วัฒนธรรม” ก็จะพบความเปลี่ยนแปลงในทุกส่วนของสังคมไทย คือ พบว่าเราไม่ได้สัมพันธ์กันอย่างที่เราเคยสัมพันธ์กันมาก่อน แน่นอน ครูกับศิษย์ในตอนนั้นก็ไม่เหมือนครูกับศิษย์ในตอนนี้ ผมพบสิ่งนี้ และผมคิดว่าสิ่งที่ผมพยายามจะเตือนเสมอคือ วัฒนธรรมไม่เคยหยุดนิ่งกับที่ มันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เวลาเขียนเรื่องน้ำเน่าในหนังไทยผมก็บอกว่านั่นเป็นกรอบวิธีคิดหรือวิธีเล่าเรื่องของคนไทยในอดีต แล้วมันสะท้อนมาในหนัง เช่น เสือ ลูกสาวกำนัน มีอะไรอีกร้อยแปด มันจะวนซ้ำ จากจุดเริ่มต้นที่มีความสุข วนกลับมาสู่จุดที่มีความสุขอีกครั้งหนึ่ง เวลามันไม่เดินไปไหน นิยายไทยมันจะหมุนอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าไม่เดินไปข้างหน้า และหนังไทยในช่วงนั้นสมัยนั้นก็ยังเป็นอย่างนี้อยู่ คือเป็นนิยายหรือเรื่องราวที่เวลามันหมุนวนกลับมาสู่ที่เก่าตลอดเวลา และผมก็เตือนเอาไว้ในบทความนั้นว่า สิ่งนี้มันต้องเปลี่ยน จะเปลี่ยนไปสู่อะไรผมก็เดาไม่ถูกเหมือนกัน

หรือเวลาพูดถึง “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” ผมก็บอกว่า สิ่งที่พูดมานี้มันก็เป็นอุดมคติที่วันหนึ่งมันก็เปลี่ยนไป และไม่กลับมาเหมือนเก่า

“20 ปีผ่านไปเร็วเหมือนโกหกจริงๆ สำหรับผมรู้สึกไวมากๆ    ผมพบว่ามันไม่ใช่อีกแล้ว สังคมไทย ประเทศไทย มันไม่ใช่อย่างที่ผมจินตนาการเมื่อ 20 ปีมาแล้ว มันเปลี่ยนไปหมด อันนั้นเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าผมสำนึกได้เมื่อ 20 ปีมาแล้วว่าอะไรที่เป็นวัฒนธรรมมันไม่อยู่นิ่งกับที่ มันมีพลัง มันมีพลวัตของมันที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ แต่ใน 20 ปีต่อมาผมมาพบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่ง 20 ปีก่อนหน้านั้นมีความตระหนักในเรื่องนี้น้อยเกินไป”

กล่าวคือรูปแบบของวัฒนธรรมหนึ่งๆ  ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะมีอเมริกันเข้ามา หรือเราส่งเด็กไปเรียนต่างประเทศมากขึ้น หรือเพราะจีนเปลี่ยนประเทศมาดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ กลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มันไม่ใช่ปัจจัยภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว มันยังมีปัจจัยสำคัญอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือ ในแต่ละรูปแบบวัฒนธรรมมันมีผลประโยชน์ปลูกฝังของคนบางกลุ่มบางเหล่าอยู่ในวัฒนธรรมเหล่านั้นด้วย หมายความว่าการมองชีวิตเป็นวงกลมแบบรามเกียรติ์หรือหนังไทยเมื่อ 20 ปีมาแล้วไม่ใช่เป็นความคิดตกค้างมาจากรามเกียรติ์เฉยๆ มันมีผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม มีโลกทัศน์ของคนบางกลุ่ม มีอำนาจของคนบางกลุ่ม

ซึ่งอยากให้ทุกคนมองเวลาเป็นวงกลมแบบนั้น คือเวลาพูดถึงเวลาเป็นวงกลมก็ตาม ลูกศิษย์ควรเคารพครูก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัฒนธรรมเฉยๆ แต่ในวัฒนธรรมนี้มีส่วนที่เอื้อต่อโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างผลประโยชน์ และอื่น ๆ ด้วย ผมยอมรับว่า 20 ปีที่แล้วมองประเด็นนี้ไม่ชัดเจนเท่าไร แต่ในตอนนี้คิดว่ามองประเด็นนี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

“อาจารย์ประจักษ์ หรืออาจารย์ธเนศ ได้พูดว่าหนังสือเล่มนี้ (กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์ไทย) พิมพ์ 11 ครั้ง ผมอยากจะเตือนว่า หนังสือที่พิมพ์มากที่สุดในประเทศไทยเมื่อ 20 ปีก่อน คือ  “ประวัติศาสตร์ไทย”  ของหลวงวิจิตรวาทการ พิมพ์ 24 ครั้ง ปัจจุบันเดาว่าอาจจะถึง 30 กว่าครั้งแล้วก็ได้ เป็นตัวอย่างที่ผมชี้ให้เห็นว่า การมองประวัติศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่ง มันไม่ได้เป็นการมองอย่างนักปราชญ์ หรือนักประวัติศาสตร์เฉยๆ แต่มองว่าอย่างนี้มันเอื้อโครงสร้างผลประโยชน์ โครงสร้างอำนาจ ของคนบางกลุ่มบางเหล่าด้วย แล้วเขาก็อยากจะรักษาการให้การมองอย่างนั้นดำรงอยู่ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด”

“เพราะฉะนั้น หนังสือประวัติศาสตร์ของหลวงวิจิตรวาทการ ที่เน้นเรื่องเกี่ยวกับทุกคนเสียสละเพื่อชาติของตนเองโดยอยู่ภายใต้การกำกับของคนเก่งคนฉลาดบางคนหรือบางกลุ่ม ไม่ใช่รักชาติเฉยๆ แต่รักชาติภายใต้การกำกับของคนบางกลุ่มด้วย วิธีคิดแบบนี้ต้องมีความหมาย ถ้าไม่มีความหมายมันพิมพ์ถึง 20 ครั้งไม่ได้”  

“ด้วยเหตุนั้นผมจึงคิดว่า นาฬิกามันสอนใจเรา แม้หมุนกลับเวลาไปนาน หรือไกลแค่ไหนก็แล้วแต่ แล้วเมื่อคุณพอใจกับเวลาที่ตั้งใหม่ซึ่งเป็นอดีต อย่าลืมว่านาฬิกามันไม่หยุด มันเดินก้าวหน้ามาถึงยังจุดที่คุณไม่อยากจะเจอมันอีกตลอดไป  ในฐานะคนเล่นนาฬิกาผมรู้สึกว่านาฬิกามันน่ารักมาก เพราะมันบอกความจริงอะไรบางอย่าง ที่หลายคนในประเทศไทย ที่ยังท่องตำราหลวงวิจิตรวาทการอยู่ ไม่เข้าใจว่า คุณอาจถอยวัฒนธรรมกลับไปได้ ไม่ว่าจะถอยกลับไปถึงตรงไหนก็ได้ทั้งนั้น แต่ที่ร้ายกาจคือ เมื่อคุณถอยกลับไปแล้ว มันยังเดินต่อไปได้อีก จนมาถึงจุดที่คุณไม่อยากให้มันมาถึงจนได้เสมอ”  

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์_2

ในช่วงของการตอบคำถาม มีผู้ฟังเสวนาถามว่า มีวิธีการใดที่จะปรับให้คนในเมืองหรือชนชั้นนำเข้าใจสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ศ.ดร.นิธิตอบว่า “ผมคิดว่า นองเลือด…ซึ่งน่ากลัวมาก ถามว่าจะป้องกันอย่างไร ผมไม่มีคำแนะนำ แต่ถามว่าไม่ควรทำอะไร สิ่งนั้นคือ อย่าระงับสิทธิประชาธิปไตย การเรียนรู้ของใคร ซึ่งเกิดจากเงื่อนไขที่จะได้เรียนรู้และปรับตัว ทุกคนคิดว่าจะตั้งนาฬิกากลับไป แต่ระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพบังคับให้ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ ปรับตัว วิธีการแบบนี้ไม่สามารถคุมจังหวะการเปลี่ยนแปลงได้ คนที่เป็นแฟนพรรคเพื่อไทย ก็จะเลิกเป็นแฟน เพราะพรรคเพื่อไทยก็ทำให้เขาผิดหวังอยู่บ่อยๆ จะมีพรรคอื่นขึ้นมาแข่งขัน เขาก็พร้อมที่จะเลือกพรรคการเมืองอื่น อีกสิ่งที่ไม่ควรทำคือ การยึดอำนาจ เพราะจะทำให้คำตอบที่จะแก้ปัญหาแบบไม่นองเลือดหายไปหมด”

ในช่วงสุดท้ายมีคำถามว่า อีก 20 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ศ.ดร.นิธิตอบว่า “ผมดูจากสภาพที่เป็นอยู่จริงในเวลานี้ อีก 20 ปีจะเป็นยังไง ผมนึกแต่เพียง 2 อย่าง อย่างที่หนึ่ง ในทางสังคมก็คือว่าคนไทยจะกลายเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น ซึ่งอันนี่ไม่ต้องเฉลียวฉลาดจากไหนหรือใช้ความรู้ลึกซึ้งเลย เวลานี้คนไทยเป็นปัจเจกมากขึ้นแล้ว หลายคนในที่นี้อาจจะไม่ได้กลับไปเยี่ยมบ้านมาหลายปีแล้ว คุณกลายเป็นคนที่หลุดไปจากครอบครัว คุณหลุดจากเครือญาติ คนกรุงเทพฯ ถ้าเครือญาติไม่ตายแทบจะไม่ได้เจอหน้ากันเลย นอกจากตายและไปงานศพ คือมันเริ่มกลายเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น เวลานี้หลายคนอาจจะรู้สึกผิดที่ไม่ได้ไปเยี่ยมป้าตั้งนานแล้ว แต่อีก 20 ปีเราจะไม่รู้สึกอะไรแล้ว แล้วเมื่อไหร่ที่ป้าบอกให้ไปเยี่ยม เมื่อนั้นเรารู้สึกว่าป้าเป็นคนชั่วร้าย เราก็จะเป็นปัจเจกมากขึ้น ความเป็นปัจเจกให้เรานึกถึงศิลปวัฒนธรรม ทำให้เรานึกถึงนวนิยาย นึกอะไรอีกหลายอย่างที่มันตอบสนองความเป็นปัจเจก มันจะมากขึ้นกว่าที่เราเห็นอีกในทุกวันนี้มากมายหลายเท่า”

ประการที่สอง ในทางการเมืองผมคิดว่า อำนาจที่มีอยู่ในปัจจุบันมีลักษณะเป็นเครือข่ายค่อนข้างสูง และผมคิดว่าเครือข่ายอำนาจมันจะสลายตัวลง ถ้าสลายตัวลงเป็นกลุ่มๆ คำถามคือคนกลุ่มไหนที่จะมีบทบาทอำนาจสูงสุด ผมคิดว่ากองทัพ ทั้งนี้ ตั้งอยู่บนสมมุติฐาน ใน 20 ปีข้างหน้าเรายังไม่รอดพ้น และยังไม่มีปัญญาจะรอดพ้นจากกับดักจากเศรษฐกิจประเทศรายได้ปานกลาง เพราะนาทีนี้ไม่มีวี่แววเลยว่าจะรอดไปไหนได้  ถ้าเปรียบเทียบกับลาตินอเมริกา
 
“ผมคิดว่ามันจะมีกลุ่มคนที่มีอำนาจทางการเมืองอยู่หลายกลุ่ม รวมทั้งคนชั้นกลางระดับล่างด้วย ก็เป็นชนชั้นกลางอีกระดับหนึ่ง ซึ่งไม่มีเครือข่าย  ท่ามกลางกลุ่มพลังต่างๆ ของประเทศที่มีรายได้ปานกลางแบบนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับลาตินอเมริกา ถามว่าใครจะใหญ่ที่สุด ผมคิดว่ากองทัพ แต่ไม่ใช่กองทัพล้วนๆ เป็นกองทัพที่รู้จักปรับเปลี่ยนบทบาทเข้ามาสู่เงื่อนไขทางการเมืองขณะนั้น อาจจะมีนายพันหรือใครสักคนที่กลายเป็นอัศวินผู้ปกป้องผลประโยชน์ของคนเสื้อแดง ถึงตอนนั้น ทักษิณก็คงไม่อยู่แล้ว ถึงตอนนั้นหากกองทัพรัฐประหาร ก็คงจะมีการห้ามบางสิ่ง เช่น ห้ามฟังเพลงไทยเดิม…แต่ผมอาจจะไม่ได้อยู่เห็นมัน”