ThaiPublica > เกาะกระแส > โครงการเพื่อส่งเสริมการเดินของคนเมือง “GoodWalk – กรุงเทพฯ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” เตรียมเปิดตัวภายใน ม.ค. 58

โครงการเพื่อส่งเสริมการเดินของคนเมือง “GoodWalk – กรุงเทพฯ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” เตรียมเปิดตัวภายใน ม.ค. 58

4 ธันวาคม 2014


เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “กรุงเทพฯ เมืองเดินได้” ในโครงการ “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี (โครงการศึกษาศักยภาพการเข้าถึงสาธาณูปการที่ส่งเสริมการเดินเท้าและโครงการศึกษาดัชนีศักยภาพการเดินเท้า)” โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา รวมถึงคณาจารย์ด้านการออกแบบและพัฒนาเมือง ดังนี้

ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ UddC, ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการพัฒนาเมือง และอาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการเมือง และอาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ กล่าวว่า การขยายตัวของเมืองในแนวราบ ทำให้กิจกรรมต่างๆ ในเมืองต่ำ การใช้ประโยชน์ที่ดินมีแบบเดียวและเดินไม่ได้ ทำให้ต้องพึ่งรถยนต์ในการเดินทาง ซึ่งส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศและเสียง ประชากรเกิดโรคอ้วน และเกิดอุบัติเหตุบนถนนได้ อีกทั้งการขยายตัวในแนวราบออกสู่เมืองยังไปทำลายพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งทำให้สูญเสียศักยภาพในการผลิตอาหาร รวมถึงสูญเสียพื้นที่ธรรมชาติเพื่อการพักผ่อนด้วย

ผลงานวิจัยจากอเมริกาในปี 2552 ระบุว่า ชาวอเมริกันเสียค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เนื่องจากไม่ออกกำลังกายประมาณ 177 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี นอกจากนี้ งานวิจัยในปี 2550 ได้ระบุว่า สาเหตุรถติดในกรุงเทพฯ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 3 ของจีดีพี หรือประมาณ 117 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

พื้นที่ยุทธศาสตร์

แต่หากวางผังเมืองให้กลายเป็นเมืองเดินได้ การขยายตัวของเมืองจะเป็นทางตั้งและกระชับ ทำให้ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า มีความหลากหลายด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงมีระบบคมนาคมและขนส่งสาธารณะทั่วถึง ดังนั้น เมื่อคนเมืองหันมาเดินทางมากขึ้น ใช้จักรยานหรือขนส่งสาธารณะ ก็จะลดการสร้างมลพิษด้วย รวมถึงยังช่วยสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น หาบเร่ แผงลอย ที่อยู่ข้างทาง เนื่องจากคนเมืองจำนวนหนึ่งมีความจำเป็นต้องพึ่งพาร้านค้าข้างทางเหล่านี้ และจากการสำรวจความคิดเห็นของประชากรพบว่า ร้านค้าเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อยากเดินทางมากขึ้น

“การสร้างเมืองให้เดินได้ นอกจากจะช่วยเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างให้เกิดความเท่าเทียมและสำนึกพลเมืองประชาธิปไตยด้วย เพราะไม่ว่าคุณเป็นใคร มีอำนาจหรือทรัพย์สินเท่าไหร่ ต่างก็ต้องเดินเหมือนกันทุกคน” ผศ.ดร.นิรมลกล่าว

ดังนั้น ทาง UddC จึงริเริ่มโครงการ “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ขึ้น เพื่อทำให้คนตระหนักถึงการสร้างเมืองที่เดินได้ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย ทั้งนี้ เมืองที่เดินได้ยังเป็นกระแสที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเช่นเดียวกับประเทศไทย ทำให้เกิดงานวิจัยหลายชิ้นที่สนับสนุนให้เกิดเมืองที่เดินได้ แต่ความเป็นจริงกลับพบว่าข้อมูลต่างๆ ของไทยมีไม่พร้อม และอยู่กระจัดกระจายกัน ภาครัฐก็ไม่มีระบบจัดเก็บข้อมูลที่ดี ทำให้การศึกษามีข้อกำจัดเรื่องตัวชี้วัดการเดินของคนในกรุงเทพฯ ฉะนั้น ทาง UddC จึงต้องศึกษาข้อมูลเองหลายด้าน

ด้าน ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการเดินในชีวิตประจำวันของคนในกรุงเทพฯ จากตัวอย่าง 1,235 คนจากแหล่งศูนย์การค้าทั่วกรุงเทพ 6 แห่ง และทางออนไลน์ พบว่า คนกรุงเทพฯ ที่มีและไม่มียานพาหนะมีสัดส่วนเท่าๆ กัน โดยคนที่มียานพาหนะส่วนตัวก็จะใช้รถส่วนตัวมาเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือขนส่งสาธารณะและเดินเท้า ส่วนคนที่ไม่มีรถส่วนตัวจะใช้ขนส่งสาธารณะมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ เดินเท้าและรถส่วนตัว ส่วนระยะทางเดินเฉลี่ยพบว่า เพศชายเดินเฉลี่ย 10.67 นาที หรือ 853.6 เมตร ในขณะที่เพศหญิงเดินเฉลี่ย 9.52 นาทีหรือ 761.6 เมตร

ความสำคัญของการเดิน2

สำหรับสาเหตุที่ทำให้คนกรุงเทพฯ ไม่เดินเท้าคือขาดความปลอดภัย เช่น ปัญหาอาชญากรรม อุบัติเหตุบนทางเท้าและท้องถนน รวมถึงความลำบากในการเดินบนทางเท้า เช่น ระยะทางไกลเกินกว่าจะเดินได้ ทางเท้าไม่ต่อเนื่องและพื้นผิวขรุขระ คับแคบ และมีสิ่งกีดขวางจำนวนมากที่ทำให้เดินไม่สะดวก นอกจากนี้ยังมีสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อหรือไม่เหมาะสมในการเดินเท้า เช่น ไม่มีร้านค้า สภาพแวดล้อมไม่สวยงาม สกปรก และไม่มีร่มเงากันแดดกันฝน

ด้าน ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ กล่าวว่า โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดีแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1. กำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์ 2. สร้างกฎเกณฑ์มาตรฐานและวิเคราะห์สภาพปัญหาของพื้นที่ยุทธศาสตร์ และ 3. วางผังและออกแบบพัฒนาพื้นที่ ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะเสร็จสิ้นในกลางปี 2559

ปัจจุบันโครงการฯ ได้กำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์เสร็จแล้ว โดยกำหนดออกมาเป็นแผนที่ดัชนีการเดินในกรุงเทพฯ ซึ่งกำหนดจากจุดหมายปลายทางในระยะที่มีศักยภาพที่จะเดินได้ ซึ่งเป็นออกเป็น 6 ประเภท คือ แหล่งงาน สถานศึกษา แหล่งซื้อของเพื่ออุปโภค-บริโภค แหล่งนันทนาการ แหล่งธุรกรรม และขนส่งสาธารณะ หลังจากนั้นจึงนำตำแหน่งของสถานที่ต่างๆ มาลงพิกัดในแผนที่แล้ววิเคราะห์รัศมีการเข้าถึงสถานที่ปลายทางที่เดินได้ดังกล่าวเป็น “แผนที่ศักยภาพการเข้าถึงด้วยการเดิน” ซึ่งบริเวณที่ทับซ้อนกันมากจะมีสีเข้ม และยิ่งมีคะแนนมากก็แปลว่ามีศักยภาพการเข้าถึงการเดินสูง

ความสำคัญของการเดิน

จากแผนที่พบว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพมากที่สุดคือย่านสยาม-ปทุมวัน รองลงมาคือราชประสงค์-ประตูน้ำ สีลม-สาธร เพชรบุรี-อโศก พร้อมพงษ์ ฯลฯ ซึ่งจากแผนที่ดังกล่าวจะทราบแค่เพียงว่าพื้นที่บริเวณใดมีศักยภาพในการเดินบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเดินได้ในสภาพจริง เช่น ทางเท้าบริเวณสยามกลายเป็นที่จอดและเส้นทางวิ่งของรถจักรยานยนต์ หรือซ่อมบำรุงทางเท้าและกันเขตห้ามเดิน ทำให้ประชากรต้องเดินบนถนน ซึ่งเสี่ยงกับอุบัติเหตุ ฯลฯ

ทั้งนี้ แผนที่และข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเมืองเดิน-ได้เมืองเดินดีจะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.GoodWalk.org ในต้นปี 2558 ซึ่งประชากรจะสามารถค้นหาศักยภาพในการเดินได้จากพิกัดที่กำลังอาศัยอยู่ได้ ซึ่งในเว็บไซต์จะแสดงผลสถานที่ดึงดูดการเดินทั้ง 6 ประเภท รวมถึงแสดงคะแนนศักยภาพในการเข้าถึงสถานที่แยกแต่ละประเภท ซึ่งจะทำให้ประชากรรู้ว่าจากตำแหน่งที่อยู่นั้นสามารถเดินไปไหนได้บ้าง หรือมีสถานที่ที่เราต้องการไปหรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม การสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้นอกจากมีการบรรยายจากคณาจารย์แล้ว ยังมีการจัดกลุ่มหารือร่วมกันของผู้เข้าร่วมสัมมนาด้วย โดยแบ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็น 6 กลุ่ม เพื่อแสดงความคิดเห็นใน 3 ประเด็น คือ 1. สภาพปัญหาและความเป็นไปได้ในการพัฒนากรุงเทพฯ เมืองเดินดี 2. กำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาต้นแบบกรุงเทพฯ เมืองเดินดี และ 3. ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองเดินดี

สำหรับประเด็นสภาพปัญหาและความเป็นไปได้ในการพัฒนากรุงเทพฯ เมืองเดินดี มีคำถามที่ร่วมหารือกัน 2 ข้อ คือ 1. ทำไมคนกรุงเทพฯ ไม่เดิน และ 2. จะทำอย่างไรให้คนกรุงเทพฯ เดิน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า สาเหตุที่คนกรุงเทพฯ ไม่เดินเพราะไม่อยากเดินและไม่น่าเดิน เช่น รู้สึกไม่ปลอดภัยในการเดินเท้า ทั้งเรื่องอาชญากรรมและอุบัติเหตุ รวมถึงสภาพอากาศที่ร้อน มลพิษบนท้องถนน และขาดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อในการเดิน เช่น ร้านค้า ร่มเงาต้นไม้ และอีกสิ่งที่สำคัญคือประชาชนไม่ได้ถูกบังคับให้เดิน เช่น มีรถจักรยานยนต์รับจ้าง รวมถึงระยะทางเชื่อมต่อสถานีขนส่งสาธารณะไม่ใกล้เกินไปก็ไกลเกินกว่าจะเดินได้ ฉะนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ต้องเริ่มจากการปรับทัศคติของคนให้หันมาเดินมากขึ้น ซึ่งอาจอ้างถึงสุขภาพที่ดี รวมถึงปรับทัศนียภาพ สิ่งแวดล้อมให้น่าดึงดูดใจในการเดินและให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

แผนที่ศักยภาพการเข้าถึงด้วยการเดิน

ด้านการกำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาต้นแบบกรุงเทพฯ เมืองเดินดี พบว่า จากแผนที่ศักยภาพการเข้าถึงด้วยการเดิน ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความเห็นตรงกันว่าพื้นที่นำร่องกรุงเทพฯ เดินดีคือบริเวณเกี่ยวข้องกับเจ้าของที่ดินน้อยราย ซึ่งอาจเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพราะจะทำให้การเจรจาปรับปรุงพื้นที่ไม่ซับซ้อนมากนักและใช้เวลาน้อย ที่สำคัญคือเห็นด้วยที่จะสร้างพื้นที่นำร่องในเมือง เพราะหากพื้นที่ต้นแบบประสบความสำเร็จก็จะทำให้พื้นที่อื่นๆ นำไปปฏิบัติตามได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ชานเมืองหรือนอกเมืองก็ควรที่จะเป็นพื้นที่นำร่องได้ด้วยเช่นกัน

สุดท้าย ด้านยุทธศาสตร์การเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองเดินดี ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความเห็นว่า จะต้องสร้างกระแสผ่านกิจกรรม การรณรงค์ หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้การเดินกลายเป็นการคมนาคมแบบหนึ่งของสังคมไทย หรือการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเดินที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มวัยรุ่นจัดกิจกรรมท่องเที่ยว กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกิจกรรมไหว้พระหรือเรื่องสุขภาพ นอกจากนี้ ในด้านกายภาพก็ต้องปรับปรุงพื้นที่ให้เอื้อต่อการเดินเท้าด้วย

ผศ.ดร.นิรมล กล่าวเสริมว่า นอกจากเว็บไซต์แล้วยังมีแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ที่ประชาชนสามารถถ่ายรูปบริเวณต่างๆ ของเมืองทั้งที่ดีและไม่ดีเข้ามาผ่านแอปฯ แล้วแอปฯ จะเก็บรวบรวมฐานข้อมูลเอาไว้ ซึ่งเครื่องมือนี้จะมีความสำคัญมากเพื่อใช้พัฒนาผังเมืองของกรุงเทพฯ ได้ สำหรับโครงการนี้ ทาง UddC ได้ร่วมมือกับรถจักรยานยนต์รับจ้างทั่วกรุงเทพฯ ให้เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อถ่ายภาพและเก็บข้อมูลจากทุกมุมในกรุงเทพฯ เนื่องจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างนี้เป็นกลุ่มคนที่รู้จักกรุงเทพฯ ดีที่สุดในทุกซอกซอย โดยโครงการนี้ได้ทุนสนับสนุนจากThe Universities and Councils Network for Innovation for Inclusive Development (UNIID-SEA)

แผนที่ศักยภาพการเข้าถึงด้วยการเดินหมวดต่างๆ

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การหารือร่วมกันในวันนี้จะรวบรวมเป็นข้อมูลเพื่อดำเนินการในระยะที่ 2 นั่นคือ การเลือกพื้นที่นำร่องเพื่อศึกษาการเป็นเมืองที่เดินได้ โดยใช้ระยะเวลา 6-8 เดือน เพื่อสำรวจและศึกษาเชิงคุณภาพว่าพื้นที่นำร่องซึ่งมีศักยภาพในการเดินนั้นสามารถเดินได้จริงหรือไม่ แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไรบ้าง ซึ่งแนวโน้มจากการหารือในวันนี้หลายเสียงเห็นตรงกันว่าพื้นที่นำร่องอาจเป็นบริเวณสยาม-ปทุมวัน เนื่องจากมีเจ้าของที่ดินน้อยราย จึงทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่าที่อื่นๆ

ทั้งนี้บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ก็เป็นพื้นที่นำร่องที่เหมาะสม เนื่องจากโครงข่ายสัณฐานที่ดีมาก ทั้งบล็อกอาคารและเส้นทางคมนาคมที่เอื้อสำหรับการเดินเท้าเนื่องจากระยะทางไม่ไกล แต่สาเหตุที่ได้คะแนนน้อยจากแผนที่ศักยภาพเนื่องจากไม่มีแหล่งทำงานและสาธารณูปโภค รวมถึงร้านค้าหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายย้ายสถานที่ราชการออกจากเขตกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ปี 2538

หลังจากนั้นก็จะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 3 โดยใช้การออกแบบผังเมืองมาแก้ปัญหาให้เป็นเมืองที่เดินดี ซึ่งดูครอบคลุมไปจนถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้วยนอกจากเรื่องของความสวยงาม ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องแก้ไขแน่นอนคือ การปรับโครงข่ายการสัญจร ส่วนเรื่องของอาคารผู้ประกอบการจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตามไปเอง โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจากการที่เมืองเดินได้และเดินดี

“แผนที่ศักยภาพการเข้าถึงด้วยการเดินเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ระยะที่1 จะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงนโยบายการฟื้นฟูเมือง และนโยบายสุขภาพสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพอันจะนำไปสู่การพัฒนากรุงเทพฯให้เป็นเมืองที่เดินได้และน่าอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น ” ผศ.ดร.นิรมลกล่าว

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในเดือนมกราคม 2558