ThaiPublica > คนในข่าว > อัชราฟ กอนี ประธานาธิบดีที่ชาวอัฟกันปรารถนา

อัชราฟ กอนี ประธานาธิบดีที่ชาวอัฟกันปรารถนา

1 ตุลาคม 2014


รายงานโดย อิสรนันท์

13 ปีเต็มนับตั้งแต่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช สั่งกรีฑาทัพทหารอเมริกันและกองกำลังผสมอังกฤษ ออสเตรเลีย และกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือที่ต่อต้านตอลิบานเริ่มบุกอัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2544 ในปฏิบัติการเสรีภาพยั่งยืนเพื่อไล่ล่าอุซามะห์ บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ ตัวการใหญ่ในการถล่มอาคารระฟ้าเวิลด์เทรดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ซึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศนี้ นับแต่นั้น อัฟกานิสถานก็อยู่ใต้การยึดครองโดยพฤตินัยของสหรัฐฯ โดยมีประธานาธิบดีเฉพาะกาลและประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งเพียงคนเดียวเท่านั้น นั่นก็คือประธานาธิบดีฮามิด การ์ไซ

เมื่อหมดวาระการดำรงตำแหน่ง 2 สมัยตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การ์ไซก็ไม่สามารถบ่ายเบี่ยงได้อีกต่อไป จำใจต้องจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นเมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ได้ เนื่องจากไม่มีผู้สมัครคนใดจากทั้งหมด 8 คน ได้คะแนนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุใหญ่มาจากผู้มีสิทธิออกเสียงราว 12 ล้านคนประกอบไปด้วยชาติพันธุ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปัชตุนหรือปาทาน ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่สุดของประเทศ ตามด้วยชาวทาจิก ชาวฮาซารา และชาวอุซเบก ต่างยังคงยึดมั่นในเรื่องของชาติพันธุ์เป็นสำคัญ เสียงจึงแตกเป็นเสี่ยงๆ ทำให้ตัวเก็งอย่างอับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้นำกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ ซึ่งเคยปราชัยต่อการ์ไซมาก่อนระหว่างการเลือกตั้งครั้งแรกท่ามกลางการโกงเลือกตั้งครั้งมโหฬาร ก็ยังได้เสียงไม่ถึงครึ่งท่ามกลางการประท้วงว่ามีการโกงเลือกตั้ง

Ashraf Ghani Ahmadzai ที่มาภาพ : http://i0.wp.com/www.eurasiareview.com/wp-content/uploads/2014/04/ghani.jpg?resize=672%2C372
Ashraf Ghani Ahmadzai
ที่มาภาพ : http://i0.wp.com/www.eurasiareview.com/wp-content/uploads/2014/04/ghani.jpg?resize=672%2C372

ส่วนการหย่อนบัตรเลือกตั้งรอบ 2 เมื่อกลางเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นรอบตัดสินระหว่างผูัที่ได้คะแนนนำ 2 คนแรก ปรากฎว่าอัชราฟ กอนี (Ashraf Ghani Ahmadzai) อดีตผู้บริหารของธนาคารโลกและอดีตรัฐมนตรีคลังที่ใกล้ชิดกับการ์ไซพลิกกลับมาได้รับคะแนนเสียง 56.4 เปอร์เซ็นต์ เหนืออับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ ที่ได้แค่ 43.5 เปอร์เซ็นต์ แต่กอนีก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เนื่องจากอับดุลเลาะห์ประท้วงเรื่องการโกงเลือกตั้ง ทำให้การเมืองต้องเผชิญกับภาวะตีบตัน ท้ายสุดทำเนียบขาวก็ต้องส่งจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศเดินทางไปเกลี้ยกล่อมให้ทุกฝ่ายยอมลดราวาศอกบ้างเพื่อเห็นแก่ประเทศชาติ

ในที่สุด เกือบ 5 เดือนเต็มนับตั้งแต่การหย่อนบัตรเลือกตั้งรอบแรกเมื่่อเดือน เม.ย. หรือเกือบ 3 เดือน อัฟกานิสถานก็มีประธานาธิบดีคนใหม่พ่วงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่มีอำนาจเทียบเท่านายกรัฐมนตรีมาอีกหนึ่งตำแหน่ง เพื่อให้รัฐบาลปรองดองแห่งชาติที่เพิ่งตั้งขึ้นมาหมาดๆ เดินหน้าบริหารประเทศได้สักที

ภายใต้ข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ อัชราฟ กอนี อดีตรัฐมนตรีคลังซึ่งชนะเลือกตั้งรอบ 2 ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ส่วนอับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ ได้เป็นซีอีโอของประเทศ ร่วมกันบริหารประเทศในช่วงที่สหรัฐฯ เตรียมถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานหลังจากติดหล่มสงครามกับกลุ่มติดอาวุธตอลิบานมานานกว่า 13 ปี นอกเหนือจากร่วมกันกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศที่มีแต่ทรุดตัวลงอันเนื่องจากเงินช่วยเหลือจากนานาประเทศมีแต่ลดน้อยลงตามลำดับ

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายคนต่างตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลปรองดองจะอยู่ได้นานเพียงใด ในเมื่อทั้งสองคนต่างมีภูมิหลังต่างกันจนยากจะประสานงานกันง่ายๆ อับดุลเลาะห์เป็นอดีตนักรบต่อต้านกลุ่มตอลิบาน ที่ได้รับการสนับสนุนจากชนเผ่าทาจิกและกลุ่มคนเชื้อชาติอื่นๆ ทางเหนือของประเทศ ขณะที่กอนีมีฐานเสียงในหมู่ชาวปาทานทางตอนใต้ของประเทศ เหนืออื่นใด การจัดสรรตำแหน่งในรัฐบาลก็เต็มไปด้วยปัญหาเนื่องจากอิทธิพลของการ์ไซที่ครอบงำระบบราชการมานานกว่า 10 ปีจนยากจะถอนรากถอนโคนได้ง่ายๆ

แต่เรื่องนี้ก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงของกอนี วัย 65 ปีมากนัก ในฐานะที่เคยเป็นอดีตนักเศรษฐศาสตร์มือหนึ่งของธนาคารโลกมาก่อน อัชราฟ กอนี อาหมัดไซ หรือเรียกสั้นๆ ว่าอัชราฟ กอนี เนื่องจากอาหมัดไซเป็นชื่อของชนเผ่าที่นำมาต่อท้ายเหมือนกับนามสกุล เกิดในครอบครัวชาวปัชตุนหรือปาทานที่ทรงอิทธิพลอยู่ทางใต้และตะวันออกของประเทศเมื่อปี 2492 ในยุคที่ยังปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งผู้เป็นพ่อได้รั้งตำแหน่งสำคัญๆ หลายตำแหน่งทำให้กอนีคลุกคลีกับการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ก่อนจะย้ายจากจังหวัดโลการ์บ้านเกิดไปเรียนหนังสือที่กรุงคาบูล จากนั้นได้เดินทางไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน และได้พบรักกับรูลา สาวชาวเลบานอน ซึ่งได้แต่งงานกันในภายหลังแม้ว่าจะต่างศาสนากันเนื่องจากเธอนับถือศาสนาคริสต์

หลังจากสำเร็จการศึกษาในปี 2516 กอนีได้เดินทางกลับมาเป็นอาจารย์สอนวิชามานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยคาบูล ก่อนจะได้รับทุนของรัฐบาลให้ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์กเมื่อปี 2520 โดยวางแผนจะใช้เวลาเรียนแค่ 2 ปี แต่ช่วงนั้่นเกิดเหตุ พรรคการเมืองที่โซเวียตหนุนหลังได้ขึ้นมามีอำนาจและได้สั่งจับกุมคุมขังสมาชิกในครอบครัวกอนีที่เป็นชายทุกคนเฉกเดียวกับเพื่อนร่วมชาติอีกไม่ใช่น้อยที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน กอนีจึงต้องรั้งอยู่ในสหรัฐฯ ต่อไปเพื่อความปลอดภัย ระหว่างนั้นได้เรียนต่อกระทั่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย จากนั้นก็ได้รับเชิญให้ไปสอนวิชารัฐศาสตร์และมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระหว่างนั้นก็ทำงานเป็นนักวิจารณ์ให้กับบีบีซีภาคภาษาดารีและปัชตุน ที่กระจายเสียงในอัฟกานิสถาน

ในฐานะที่เป็นนักมานุษยวิทยาชื่อดัง กอนีจึงได้รับการเชิญชวนให้ไปทำงานกับธนาคารโลกในปี 2534 เริ่มจากเป็นที่ปรึกษาโครงการเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของมนุษย์ ในตอนแรก กอนีตั้งใจจะทำงานในโครงการเอเชียตะวันออก แต่ท้ายที่สุดก็เปลี่ยนไปรับผิดชอบด้านการวางนโยบายและทบทวนแผนยุทธศาสตร์ เงื่อนไขและการวางแผนโครงการปฏิรูปของประเทศต่างๆ ระหว่างนั้นได้เป็นผู้บุกเบิกการดึงสถาบันและองค์การต่างๆ มาช่วยวิเคราะห์กระบวนการช่วยเหลือในระดับมหภาคเพื่อการปรับปรุงและการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะการรับผิดชอบโดยตรงในการปรับปรุงอุตสาหกรรมถ่านหินรัสเซีย ตลอดจนในโครงการปฏิรูปและพัฒนาขนาดใหญ่ในจีน อินเดีย และรัสเซีย เป็นเวลาถึง 5 ปี

หลังเหตุการณ์ถล่มเวิลด์เทรดเมื่อปี 2544 ตามด้วยการล้มล้างรัฐบาลตอลิบานในปีเดียวกัน กอนีก็ขอลาพักโดยไม่รับเงินเดือนจากธนาคารโลก จากนั้นก็เข้าไปมีบทบาทในสื่อ โดยมักจะออกรายการเป็นประจำในรายการนิวส์อาวร์ของโทรทัศน์พีบีเอส ของบีบีซี, ซีเอ็นเอ็น และวิทยุของสหรัฐฯ นอกเหนือจากเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาพิเศษของลัคดาร์ บราฮิมี ผูแทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติในกิจการอัฟกานิสถาน กอนีจึงเดินทางกลับประเทศและได้นำความรู้จากการทำงานกับธนาคารโลกในฐานะผู้เชี่ยวชาญโครงการช่วยเหลือระหว่างประเทศมานาน 11 ปีมาช่วยฟื้นฟูประเทศบ้านเกิดเมืองนอน รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการวางกรอบการเจรจาต่อรองและการปฏิบัติตามข้อตกลงกรุงบอนน์ ซึ่งได้วางโรดแมปการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลอัฟกานิสถานภายใต้ฉันทามติของประชาชนชาวอัฟกัน

เมื่อฮามิด การ์ไซ ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล ก็แต่งตั้งกอนีให้เป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีเฉพาะกาลก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีคลังจนถึงปลายปี 2547 ระหว่างนั้นได้สร้างกฎเหล็กของตัวเองเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของรัฐบาลที่ต้องยึดมั่นในเรื่องความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบได้ โดยเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงรุ่นแรกที่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเพื่อความโปร่งใส นอกจากนี้ยังกวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชันโดยไม่เห็นแก่หน้าใครทั้งสิ้น ถึงขนาดมีคำสั่งไล่ออกเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงการคลังหลายคนโดยไม่ใส่ใจว่าจะถูกขู่ล้างแค้น พร้อมกันนั้นก็ยังยืนกรานไม่ยอมให้เบิกจ่ายงบประมาณให้กับกองทัพจนกว่าจะสามารถปฏิรูปกองทัพให้ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันการเบิกจ่ายงบพิเศษเข้ากระเป๋านายทหารระดับสูง

นอกจากนี้ ยังเป็นคนจัดเตรียมการประชุมสภาผู้อาวุโสของชนเผ่าต่างๆ ซึ่งได้ลงมติให้การ์ไซเป็นประธานาธิบดีภายใต้รัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเป็นผู้วางกรอบแผนปฏิรูปแบบครบวงจรรวมทั้งโครงการการลงทุนด้านสาธารณูปโภคหลายโครงการ เพื่อช่วยเหลือคนยากจนและสร้างหลักประกันในเรื่องของสิทธิพลเรือน อาทิ ผลักดันให้ตั้งโครงการปรองดองแห่งชาติ โดยให้แต่ละหมู่บ้านเลือกสภาหมู่บ้านเพื่อบริหารหมู่บ้านกันเองจนประสบควมสำเร็จทั่วประเทศ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องร่วมชาติดีขึ้นทั่วทั้งประเทศ

ช่วงที่เป็นรัฐมนตรีคลัง ได้ออกแบบธนบัตรใหม่ นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในกระทรวงการคลัง ปรับปรุงระบบการจัดทำงบประมาณ การจัดเก็บภาษี ฯลฯ ที่สำคัญคือได้นำความรู้จากคราวที่ทำงานกับธนาคารโลกมาใช้ในการประสานการช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อประกันความมั่นคงในอนาคตของประเทศ ด้วยการจัดประชุมรัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีต่างประเทศจาก 65 ประเทศที่เบอร์ลินเพื่อระดมทุนในโครงการลงทุนสาธารณะระยะ 7 ปี ปรากฏว่านานาประเทศให้สัญญาจะบริจาคเงินจำนวน 8,200 ล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีแรกและจะเพิ่มเงินบริจาคเป็น 27,500 ล้านดอลลาร์ภายใน 7 ปี

จากผลงานต่างๆ เหล่านี้ ทำให้กอนีได้รับรางวัลรัฐมนตรีคลังดีเด่นแห่งเอเชียในปี 2546 จัดทำโดยตลาดเกิดใหม่ นอกเหนือจากได้รับเหรียญซายเอ็ด จามัล อัด ดิน อัฟกัน ซึ่งเป็นเหรียญเกียรติคุณสูงสุดที่มอบให้กับพลเรือนในประเทศ

เมื่อรัฐบาลเฉพาะกาลสิ้นสุดลง และมีการตั้งรัฐบาลใหม่ กอนีปฏิเสธไม่ยอมรับตำแหน่งใดๆ แต่ยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยคาบูล ซึ่งกอนีได้จัดวางระบบใหม่ให้ทันสมัยขึ้น โดยเฉพาะการสางระบบ 3 ประสานระหว่างคณะต่างๆ นักศึกษา และบุคคลากร รวมทั้งสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ให้ทุกคนทั้งหญิงและชายมีโอกาสฝึกฝนเท่าเทียมกัน ตลอดทั้งสถาบันเสริมประสิทธิภาพของรัฐ เพื่อช่วยรัฐบาลและหุ้นส่วนต่างประเทศในการจัดวางระบบที่มีประสิทธิภาพขึ้นในรัฐบาล จากผลงานเหล่านี้ กอนีจึงได้ถ่ายทอดประสบการณ์โดยร่วมเขียนเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง เรื่อง “Fixing Failed States” หรือ “การซ่อมแซมประเทศที่ล้มเหลว”

ช่วงที่โคฟี อันนัน จะหมดวาระการเป็นเลขาธิการสหประชาชาติในปี 2549 มีข่าวลือหนาหูจนกระทั่งเป็นข่าวหน้า 1 ในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ว่ากอนีอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ จากข่าวลือนี้ ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติหลายคนแสดงความชื่นชมว่าอยากได้กอนีมาทำงานเนื่องจากเป็นคนฉลาดและมากด้วยความสามารถ แต่ข่าวลือนี้ก็เป็นแค่ข่าวลือเมื่อกอนีไม่แสดงความสนใจในตำแหน่งนี้แต่อย่างใด

แม้สุขภาพจะไม่สมบูรณ์ เคยเป็นเป็นมะเร็งจนต้องตัดกระเพาะไปเกือบหมดเมื่อหลายปีก่อนหน้า ขณะเดียวกันก็ยังเป็นโรคระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องทำให้ไม่แข็งแรง แต่กอนีก็ไม่เคยท้อถอย ยังคงโหมทำงานหนักเพื่อฟื้นฟูประเทศชาติ แม้ว่าแต่ละวันจะมีโอกาสนอนไม่เคยเกิน 4 ชั่วโมงก็ตาม กอนีเคยลงสมัครชิงประธานาธิบดีอัฟกานิสถานเมื่อปี 2552 แต่ปรากฏว่าได้ที่ 4 ส่วนการเลือกตั้งในปีนี้ ในการหย่อนบัตรครั้งแรกเมื่่อเดือน เม.ย. กอนีได้ที่ 2 แต่ในการเลือกตั้งรอบ 2 กลับได้ที่ 1 ท่ามกลางการกล่าวหามีการโกงเลือกตั้งมโหฬาร

สุดท้าย อัชราฟ กอนี ก็ได้เป็นประธานาธิบดีสมปรารถนา

ในส่วนของชีวิตครอบครัวนั้น แม้ว่ากอนีและรูลา ภรรยาชาวเลบานอน จะนับถือคนละศาสนา เนื่องจากเธอนับถือศาสนาคริสต์แถมยังเคร่งในศาสนา แต่ครอบครัวนี้ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด หนำซ้ำ กอนีมักจะไปโบสถ์ใกล้บ้านกับภรรยาเป็นประจำเกือบทุกอาทิตย์ตั้งแต่อยู่ด้วยกันที่นิวยอร์ก กระทั่งมีบุตรชายและบุตรสาวอย่างละหนึ่งคนซึ่งเกิดและโตที่นิวยอร์กและถือพาสปอร์ตสหรัฐฯ

เมื่อกอนีขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในประเทศที่เป็นอิสลาม รูลาจึงได้ชื่อเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่เป็นคริสเตียนคนแรกของอัฟกานิสถาน ซึ่งคงไม่มีปัญหาในการทำงานแต่อย่างใด