ThaiPublica > เกาะกระแส > ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ชี้แจงมอบรางวัล “ผู้นำพุทธโลก”

ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ชี้แจงมอบรางวัล “ผู้นำพุทธโลก”

12 กุมภาพันธ์ 2014


นพ.พรชัย พิญญพงษ์ ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กพรชัย พิญญพงษ์
นพ.พรชัย พิญญพงษ์ ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กพรชัย พิญญพงษ์

จากที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าวรางวัล “ผู้นำพุทธโลก” กับข้อสังเกต 3 ประเด็น “เครือข่ายธรรมกายเยอะสุด-ผลประโยชน์ทับซ้อนจัดเองรับเอง-คุณสมบัติบิดเบี้ยว” เผยมีชื่อ “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” อดีตประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่นด้วย หลังจากนั้น นพ.พรชัย พิญญพงษ์ ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เลขานุการคณะกรรมการจัดงาน พิธีมอบรางวัลผู้นำพุทธโลก ได้ทำหนังสือชี้แจงว่า

ข้อมูลพื้นฐาน

ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นศูนย์กลางพุทธโลก แต่ความเป็นศูนย์กลางไม่ใช่มีแต่ชื่อแล้วก็ภูมิใจ สิ่งสำคัญคือเราต้องจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วโลก ทั้งทางตรงและทางอ้อม

การจัดงานมอบรางวัลผู้นำพุทธโลก ครั้งนี้เป็นครั้งแรก เป็นการจัดงานเพื่อมุ่งให้กำลังใจแก่ชาวพุทธผู้อุทิศตน ปกป้อง สนับสนุน เผยแผ่พระพุทธศาสนาทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะประเทศที่ชาวพุทธเป็นชนกลุ่มน้อย และเป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลมาฆบูชาแห่งชาติในไทยด้วย

การจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดงานร่วมกันระหว่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก

ขอชี้แจงสื่อเป็นข้อๆ ดังนี้

1. รางวัลผู้นำพุทธโลกนี้ เครือข่ายธรรมกายได้เยอะสุด ข้อมูลแท้จริง รางวัลนี้มีชาวพุทธที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้นจาก 28 ประเทศ รวม 178 ท่าน จากประเทศไทย 104 ท่านครอบคลุมทุกภาคของประเทศไทย เป็นพระภิกษุ 38 รูป บุคคล 61 คน องค์กร 5 องค์กร, จากต่างประเทศ 74 ท่านครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก เป็นพระภิกษุ 40 รูป บุคคล 29 คน องค์กร 5 องค์กร

วัดพระธรรมกายเป็นองค์กรใหญ่ตั้งมา 45 ปี มีสาขาทั่วโลกทั้งในและต่างประเทศกว่า 80 ศูนย์ มีผู้มาปฏิบัติธรรมนับล้านๆ คน แต่รางวัลก็มีผู้ได้รับภูมิภาคหรือทวีปละท่านเดียว นอกนั้นก็กระจายไปยังผู้นำพุทธองค์กรต่างๆ ที่เหมาะสมแต่มิได้เป็นข่าวใหญ่ อาทิ พระพรหมบัณฑิต ประธานสมาคมการจัดงานวันวิสาขบูชาโลก, พระธรรมโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ผู้ให้การอุปสมบทกุลบุตรในอินเดีย, พระภิกษุใน 3 จังหวัดภาคใต้ของไทย, พระสังฆราชแห่งประเทศบังกลาเทศ, มูลนิธิฉือจี้ในไต้หวัน, ท่านลามะ ลอบซัง แห่งประเทศอินเดีย ผู้ก่อตั้งสหพันธ์องค์กรพุทธนานาชาติ, ร้อยโท ดร.บรรจบ บรรณรุจิ นักวิชาการทางพุทธศาสนา, แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน, นายอนุรุธ ว่องวานิช อดีตนายกยุวพุทธิกสมาคมฯ, อธิบดีกรมพุทธแห่งประเทศศรีลังกาและอินโดนีเซีย, ดาโต๊ะ เสรี ดร.วิคเตอร์ วี ประธานองค์กรพุทธ Buddhist Gem fellowship แห่งมาเลเซีย ฯลฯ เป็นต้น

นอกจากนี้ บุคคล ฆราวาส ที่ Thaipublica ได้ยกชื่อมา ท่านเหล่านั้นก็มิได้มาบำเพ็ญบุญที่วัดพระธรรมกายที่เดียว แต่ก็ได้สนับสนุน บำเพ็ญบุญที่อื่นอีกหลายๆ แห่งแต่มิได้เป็นข่าว บางท่านก็ได้รับรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนามาแล้วมากมาย ซึ่งจริงๆ แล้วคณะกรรมการอยากให้รางวัลเพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้นำชาวพุทธอีกหลายท่าน โดยเฉพาะในต่างประเทศ แต่ด้วยระยะเวลาที่จำกัด ในปีแรก จึงคัดสรรเท่านี้ก่อน ท่านที่เหมาะสมแต่ยังไม่ได้รับรางวัลก็จะพิจารณา ในปีต่อๆ ไป

2. การมอบรางวัลครั้งนี้เป็นการให้กำลังใจคนทำความดี เป็นปัตตานุโมทนามัย อนุโมทนาบุญคนทำความดี สนับสนุนคนทำความดี ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไร

ไม่ได้มีเงินรางวัลอะไรให้ ดังนั้น ท่านใดที่อุทิศตนทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาและยังทำอยู่ต่อเนื่อง จะเป็นพระภิกษุ บุคคล หรือองค์กรก็ตาม ที่ประชุมจึงเห็นว่าก็มีสิทธิ์รับรางวัลได้ทุกท่านเช่นกัน

3. กรณี ดร.ศุภชัย ศรีศุภอักษร ที่ได้รับรางวัลด้วย คณะกรรมการได้พิจารณาแล้วว่า “คุณศุภชัยได้สนับสนุนการปฏิบัติธรรมของชุมชนต่างๆ มากว่า 30 ปี และสนับสนุนวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย แม้ช่วงที่ถูกกล่าวหา ก็ยังไปทำนุบำรุงวัดต่างๆ เช่นเดิม ส่วนเรื่องที่ถูกกล่าวหา ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่ต้องตัดสินต่อไป คณะกรรมการมิได้มีหน้าที่ตรงนี้ เพราะคดีก็ยังไม่มีการตัดสินถึงที่สุด”

การจัดงานมอบรางวัลต่างๆ จะให้ถูกใจทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการก็จะพัฒนาปรับปรุงงานให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ให้ละเอียดและงดงามยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยความมุ่งมั่นที่ว่า ต้องการสนับสนุนคนทำความดี ให้กำลังใจคนทำความดี เป็นปัตตานุโมทนามัย ฝ่ากระแสความแตกแยกในสังคมไทย ข้ามพ้นภัยวิกฤติ ไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง แม้จะเป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่งก็ตาม