ThaiPublica > คนในข่าว > เนลสัน แมนเดลา: วีรบุรุษของคนทุกยุคทุกสมัย

เนลสัน แมนเดลา: วีรบุรุษของคนทุกยุคทุกสมัย

15 ธันวาคม 2013


รายงานโดย…บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

เนลสัน แมนเดลา ที่มาภาพ: http://www.capecrossfit.com
เนลสัน แมนเดลา ที่มาภาพ: http://www.capecrossfit.com

“วีรบุรุษของคนทุกยุคทุกสมัย”
“มนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่”
“ยักษ์ใหญ่แห่งความยุติธรรม ผู้เป็นต้นแบบการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรี, ความเท่าเทียม และเสรีภาพของมนุษย์อย่างไร้ความเห็นแก่ตัว”
“เป็นพลังของธรรมชาติ”
“เป็นบิดาของทุกประเทศ”
“เป็นผู้ปลดปล่อยในยุคของเรา”
เป็นของขวัญ เป็นคนต้นแบบ เป็นตำนาน หรือแม้กระทั่งเป็นนักบุญหรือเซนต์คนใหม่ เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ ผู้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่าโลกในอุดมคติ เป็นคนธรรมดาที่เคยทำผิดพลาดแต่ก็รู้จักแก้ไขความผิดพลาดนั้น ฯลฯ

ข้างต้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ เสี้ยวหนึ่งของคำยกย่องและคำอาลัยของผู้นำองค์การระหว่างประเทศอย่างองค์การสหประชาชาติ ผู้นำประเทศทั้งยักษ์ใหญ่และยักษ์เล็กทั้งอดีตและปัจจุบัน ทั้งจากประเทศเสรีนิยมไปจนถึงสังคมนิยม ทั้งผิวขาว ผิวดำ และผิวสี นักธุรกิจจากประเทศร่ำรวยและคนยากจนที่สุดในทวีปแอฟริกา ผู้นำศาสนา, นักคิด, นักเขียน, ศิลปิน, นักกีฬา,นักเคลื่อนไหว ฯลฯ เกือบ 100 คน อาทิ บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐฯ อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งสหรัฐฯ และครอบครัว เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ราอูล คาสโตร ประธานาธิบดีคิวบา นางอองซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า ไม่นับรวมประชาชนชาวแอฟริกาใต้อีกหลายแสนคน ที่ต่างผนึกใจเป็นหนึ่งเดียวยกย่องมหาบุรุษผู้หนึ่ง ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตำนานวีรบุรุษนักสู้เพื่อความเสมอภาคของมวลมนุษยชาติในรอบร้อยปี เป็นรัฐบุรุษโลก เป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านความอยุติธรรม ฯลฯ

“เมื่อวาน ข้าพเจ้าถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้าย แต่พอออกจากคุก ผู้คนต่างเข้ามาโอบกอดข้าพเจ้า รวมทั้งศัตรูของข้าพเจ้าด้วย และนี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าคอยบอกอยู่เสมอกับคนที่เรียกพวกที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพในประเทศนั้นๆ ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ข้าพเจ้าบอกว่าเมื่อวันวาน ข้าพเจ้าเองก็เป็นผู้ก่อการร้ายเหมือนกัน แต่วันนี้ข้าพเจ้าก็ยังได้รับการยกย่องจากคนที่เคยว่ากล่าวข้าพเจ้าไว้เช่นนั้น”

“อย่าได้ให้ค่าข้าพเจ้าเพราะความสำเร็จที่ได้มา แต่ให้ดูจากทุกๆ ครั้งที่ข้าพเจ้าล้มเหลวแล้วลุกขึ้นมาได้ใหม่ ”

“อย่างที่ข้าพเจ้าเคยบอกไว้ สิ่งแรกคือการซื่อสัตย์ต่อตัวเอง คุณจะไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อสังคมได้เลย หากยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง …ผู้สร้างสันติสุขที่ยิ่งใหญ่คือคนที่ซื่อสัตย์ มีความจริงใจ แต่ก็อ่อนน้อมถ่อมตน ”

เจ้าของคมวาทะที่กลั่นมาจากประสบการณ์อันสุดแสนเจ็บปวดข้างต้นก็คือ เนลสัน แมนเดลา รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในรอบร้อยปี อดีตประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ที่มาจากการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ผู้เป็นตำนานของวีรบุรุษผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักสู้เพื่อความเสมอภาค นักสู้เพื่อยุติการเหยียดผิวและการครอบงำของคนผิวขาวในแอฟริกาใต้มายาวนานถึง 350 ปี ด้วยการให้อภัยอันยิ่งใหญ่และสถาปนารัฐที่คนทุกสีผิวได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันและอยู่ร่วมกันด้วยความสมานฉันท์ ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2556 ด้วยวัย 95 ปี หลังจากต่อสู้กับความเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งและโรคชรามานานนับสิบปี ท่ามกลางความเศร้าสลดของคนทั่วโลกด้วยความอาลัยรักและสะทกสะท้อนใจว่าอีกกี่ปีกี่ชาติ โลกจึงจะมีวีรบุรุษเยี่ยงนี้ถือกำเนิดขึ้นมาอีก วีรบุรุษผู้ประกาศว่า

“พวกเราทั้งหลายมีสิทธิ์ที่จะยืนอยู่บนโลกนี้ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ผู้ซึ่งควรได้รับยกย่องในฐานะมนุษย์ ควรได้รับสิทธิ์ของมนุษย์ในสังคมนี้ บนโลกใบนี้ ในเวลาปัจจุบันนี้ เราตั้งใจจะทำให้สิ่งนี้เป็นจริงขึ้นมา…”

“ไม่มีใครเกลียดคนอื่นเพราะมีสีผิว พื้นเพ และศาสนาที่แตกต่างมาตั้งแต่เกิด คนทุกคนจะต้องเรียนรู้ที่จะเกลียดผู้อื่น และเมื่อคนเราสามารถเรียนรู้ที่จะเกลียดได้แล้ว ก็สามารถเรียนรู้ที่จะรักได้เหมือนกัน เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ความรักเกิดขึ้นในหัวใจของคนเราได้ง่ายกว่าความเกลียดเสียอีก ”

“อิสรภาพหาใช่การปลดโซ่ตรวนที่ล่ามไว้ หากแต่คือการดำเนินชีวิตอยู่อย่างเคารพและส่งเสริมเสรีภาพของผู้อื่น ”

“ไม่ว่าแห่งหนใด การเดินทางสู่อิสรภาพไม่เคยง่าย และพวกเราหลายๆ คนต่างต้องเดินเข้าสู่หุบเขาแห่งความตายครั้งแล้วครั้งเล่า กว่าที่เราจะไปถึงสู่ยอดเขาแห่งจุดหมายที่ปรารถนา”

“สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้เมื่อมีการต่อรอง นั่นคือหากข้าพเจ้าไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถเปลี่ยนคนอื่นได้”

“เมื่อข้าพเจ้าได้ก้าวผ่านประตูไปยังทางออกซึ่งนำข้าพเจ้าไปสู่อิสรภาพ ข้าพเจ้ารู้ว่าหากไม่ทิ้งความขมขื่นใจและความเกลียดชังไปเสีย ข้าพเจ้าก็ยังจะถูกคุมขังอยู่นั่นเอง”

ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com/
ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com/

“เนลสัน โรลีห์ลาห์ลา แมนเดลา” บุรุษมากชื่อมากคำเรียกขานอย่างน้อย 6 ชื่อในภาษาท้องถิ่น ตั้งแต่ชื่อโรลีห์ลาห์ลาที่พ่อแม่ตั้งให้ราวกับรู้อนาคตล่วงหน้า เพราะมีความหมายว่า “การดึงกิ่งก้านออกจากลำต้น” สื่อถึงการเป็นผู้สร้างปัญหา หรือ“เจ้าตัวยุ่ง” หรือชื่อเนลสันที่ครูประจำชั้นตั้งให้ในวันเปิดเรียนวันแรก คำเรียกขานว่า “มาดิบา” ที่ชาวแอฟริกาใต้นิยมเรียกขานมากที่สุดเพื่อแสดงถึงความรักและความเคารพสูงสุด หรือเรียกขานว่า “ทาทา” หรือ “พ่อ” บ่งบอกว่าแมนเดลาคือพ่อของชาวแอฟริกาใต้ทุกคน สำหรับชาวแอฟริกาใต้รุ่นหลังอาจจะเรียกว่า “คูลู” หมายถึงคุณปู่หรือคุณตา และคำเรียกขานสุดท้ายก็คือ “ดาลิบฮุงกา” ซึ่งหมายถึง “ผู้ก่อตั้งหรือผู้เป็นใหญ่ในสภา”

ไม่ว่าชนพื้นเมืองจะเรียกขานกันเช่นใด แต่คนทั่วโลกรู้จักกันในชื่อ เนลสัน แมนเดลา ผู้เป็นต้นแบบการก้าวข้ามความกลัวที่นางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่าเดินตามรอย นอกเหนือจากเป็นต้นแบบการสร้างความสมานฉันท์ผ่านการให้อภัย ดุจเดียวกับการต่อสู้ตามแนวทางอหิงสาของมหาตมะ คานธี บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของโลกเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว

เส้นทางชีวิตดุจโรยด้วยหนามแหลมของดอกกุหลาบของเนลสัน แมนเดลา อดีตเชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์เทมบูของเขตปกครองตนเองทรานสไก ในแอฟริกาใต้ เริ่มตั้งแต่แรกลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2461 มีพี่น้องต่างแม่ถึง 12 คน แต่ต้องกำพร้าพ่อตั้งแต่อายุ 9 ขวบ จึงถูกส่งไปอยู่ในความดูแลของวังเทมบู ด้วยความเป็นคนรักเรียนและใฝ่หาความรู้ ทำให้ได้รับทุนการศึกษาระดับสูงถึงขั้นปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฟอร์ต แฮร์ สถาบันอุดมศึกษาสำหรับคนผิวดำเพียงแห่งเดียวในเวลานั้น แต่เข้าไปเรียนได้ไม่นานก็ทำตัวเป็นกบฏต่อต้านกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ

กระทั่งถูกไล่ออกพร้อมกับเพื่อนๆ รวมไปถึงโอลิเวอร์ แทมโบ เพื่อนสนิท จึงหันไปศึกษาด้านกฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยวิทส์วอเทอแรนด์ ซึ่งมีนักศึกษาทุกเชื้อชาติ ส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกัน ทำให้ได้เรียนรู้แนวคิดแบบเสรีนิยม รวมทั้งแนวคิดต่อสู้เพื่อชาวแอฟริกันที่ถูกเหยียดผิว ได้รับการปฏิบัติที่สุดแสนต่ำต้อยเมื่อเทียบกับคนขาว ประสบการณ์เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้แมนเดลาเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง นับตั้งแต่สำเร็จการศึกษาแล้วร่วมมือกับโอลิเวอร์ แทมโบ ตั้งสำนักกฎหมายแมนเดลา แอนด์ แทมโบ ขึ้นมาคอยให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่คนผิวสีในราคาถูกหรือไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ก็ยังสมัครเป็นสมาชิกพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน (เอเอ็นซี) ที่ต่อสู้เพื่อให้คนดำเจ้าของแผ่นดินดั้งเดิมมีความเสมอภาคกับเจ้าอาณานิคมผิวขาว กระทั่งมีส่วนร่วมก่อตั้งสันนิบาตยุวชนเอเอ็นซี

ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com/
ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com/

ในตอนแรก แมนเดลายึดหลักการต่อสู้แบบสันติ อหิงสา ตามอย่างมหาตมะ คานธี แต่การต่อสู้แบบนี้กลับใช้ไม่ได้ผลในอาณานิคมผิวดำแห่งนี้ หนำซ้ำยังเป็นเหตุให้ถูกจับกุมในข้อหากบฏร่วมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์กว่า 150 คน กว่าศาลจะตัดสินว่าผู้ต้องหาทุกคนไม่มีความผิดเวลาก็ผ่านไปถึง 4 ปี ระหว่างนั้นสถานการณ์ทางการเมืองมีแต่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากพรรคชาตินิยม ซึ่งเป็นพรรคขวาสุดโต่งของคนผิวขาวที่สนับสนุนนโยบายแบ่งแยกสีผิวชนะเลือกตั้งและได้ออกกฎหมายจำกัดเขตอยู่อาศัยและการทำมาหากินของคนผิวดำ ทำให้แมนเดลาตัดสินใจเปลี่ยนยุทธิวิธีการต่อสู้จากสันติ อหิงสา ไปใช้การต่อสู้แบบสงครามกองโจรแทน ในฐานะผู้นำกองกำลังติดอาวุธกลุ่มขบวนการหอกแห่งชาติของเอเอ็นซี เปิดศักราชการลอบวางระเบิดสถานที่สำคัญทางราชการและทางทหารทั้งในเมืองหลวงและท้องถิ่นห่างไกล ที่ทำการไปรษณีย์ สถานีรถโดยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลอบวางระเบิดศาล เพื่อสั่งสอนให้เข็ดหลาบกรณีชอบตัดสินให้คนผิวขาวชนะคนผิวดำอยู่เสมอ เป้าหมายของการก่อวินาศกรรมหมายจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ กระทั่งถูกประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน แห่งสหรัฐฯ และนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ สองผู้นำขวาจัดของตะวันตกประณามว่าเป็นผู้ก่อการร้ายและหลายประเทศขึ้นบัญชีดำห้ามเดินทางเข้าประเทศ

อย่างไรก็ดี การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธก็จบลงเมื่อแมนเดลาถูกจับเมื่อต้นเดือน ส.ค. 2505 ขณะมีอายุ 44 ปี ในข้อหาก่อวินาศกรรม และพยายามโค่นล้มรัฐบาลด้วยวิธีการรุนแรง ระหว่างการพิจารณาคดีที่เมืองริโวเนีย แมนเดลาได้ประกาศความเชื่อของตัวเองในเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเท่าเทียม ที่โด่งดังไปทั่วโลกว่า

“ข้าพเจ้าเชิดชูสังคมอุดมคติที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพ ที่ซึ่งคนทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ และได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน นี่คือสังคมอุดมคติที่ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปให้ถึง เป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าพร้อมจะอุทิศชีวิตให้”

“เมื่อคนคนหนึ่งถูกปฏิเสธไม่ให้ใช้ชีวิตในแบบที่เขาเชื่อได้ เขาก็ไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากจะกลายเป็นพวกนอกกฎหมาย”

สุดท้าย ศาลได้ตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตบนเกาะร็อบเบน อันห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่จนเหมือนกับ “ถูกปล่อยเกาะ” จริงๆ แมนเดลาต้องใช้ชีวิตเยี่ยงนักโทษหนักเป็นเวลา 18 ปี แต่แมนเดลาก็ไม่ทอดอาลัยในชีวิต และไม่ยอมปล่อยให้ชีวิตผ่านไปด้วยความว่างเปล่า ยามว่างจากการถูกบังคับให้ทำงานหนักในฐานะนักโทษอุกฉกรรจ์ แมนเดลาได้สมัครเรียนทางไกลกับมหาวิทยาลัยลอนดอน จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมาย อีกทั้งยังมีเวลาเหลือเฟือในการทบทวนแนวทางการต่อสู้ใหม่ จนได้บทสรุปว่าแนวทางที่ดีที่สุดก็คือการต่อสู้ทางสันติผ่านการเจรจาต่อรอง

ต่อมาในปี 2525 แมนเดลาถูกย้ายไปที่เรือนจำโพลส์มัวร์บนแผ่นดินใหญ่ การถูกขังลืมเป็นเวลายาวนานนี้ทำให้แมนเดลากลายเป็นกรณีตัวอย่างของความอยุติธรรมของนโยบายการเหยียดผิวที่มีการกล่าวขวัญไปทั่วโลก โดยเฉพาะหลังจากโอลิเวอร์ แทมโบ เพื่อนรักสมัยเรียนปริญญาตรีด้วยกัน ซึ่งได้ขอลี้ภัยการเมืองที่อังกฤษได้จัดคอนเสิร์ตที่สนามกีฬาเวมบลีย์ กรุงลอนดอน เพื่อรณรงค์ให้ปล่อยตัวแมนเดลา ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมชมคอนเสิร์ตกว่า 72,000 คน อีกทั้งยังถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์ สุดท้ายรัฐบาลผิวขาวแอฟริกาใต้ไม่สามารถทนแรงกดดันจากทั่วโลกได้ ต้องยอมปล่อยตัวแมนเดลาเมื่อปี 2533 เท่ากับว่าถูกจำคุกรวมทั้งสิ้น 27 ปี

ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com/
ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com/

ในหนังสืออัตชีวประวัติ “ลอง วอล์ค ทู ฟรีดอม” แมนเดลาซึ่งเดินกุมมือนางวินนี ภรรยาคนที่สอง เดินออกจากเรือนจำพร้อมกับชูกำปั้นขวา แสดงสัญลักษณ์ของชัยชนะ ได้บรรยายความรู้สึกในวันที่ได้รับอิสรภาพว่า “ขณะที่ข้าพเจ้าเดินผ่านประตูเหล่านั้นออกมาด้วยความรู้สึกว่า แม้ว่าจะอายุ 71 ปีแล้ว แต่ชีวิตของข้าพเจ้ากำลังเริ่มต้นใหม่”

การเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ว่านั้นก็คือการกลับไปเข้ารับตำแหน่งผู้นำพรรคเอเอ็นซี ก่อนจะเริ่มเปิดเจรจาต่อรองกับรัฐบาลผิวขาวใต้การนำของประธานาธิบดีเอฟ.ดับเบิลยู. เดอ เคลิร์ก จนในที่สุด เดอ เคลิร์ก ยินยอมให้สิทธิคนดำในการออกเสียงเป็นครั้งแรกและนำไปสู่การเลือกตั้งระหว่างคนผิวสีต่างๆ เป็นครั้งแรก ผลจากการที่พรรคเอเอ็นซีชนะเลือกตั้งในปี 2537 ด้วยเสียงสนับสนุนท่วมท้น 62% แมนเดลาจึงขึ้นเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศในวัย 75 ปี ถือเป็นประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ที่อายุมากที่สุดในช่วงที่รับตำแหน่ง ระหว่างนั้นได้ผลักดันให้แก้ไขกฎหมายเพื่อยุติการเหยียดสีผิวหรือชนกลุ่มน้อยต่างๆ ทำให้ได้รับการยกย่องจากนานาประเทศกรณีที่อุทิศชีวิตเพื่อสร้างความปรองดองขึ้นในประเทศ ด้วยหลักการให้อภัยอันสุดแสนยิ่งใหญ่ ทำให้แอฟริกาใต้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งสันติสุข ความเสมอภาค ความปรองดอง และประชาธิปไตยแท้จริง

หลังครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2542 แมนเดลาตัดสินใจไม่รับตำแหน่งอีกเป็นสมัยที่สองแม้พรรคเอเอ็นซีจะชนะเลือกตั้งอีกหลายสมัย พอใจที่จะทุ่มเทชีวิตเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและให้ความรู้เรื่องการติดต่อของโรคเอดส์ ที่เป็นปัญหาใหญ่ของทวีปแอฟริกา ก่อนจะวางมือจากกิจการทุกอย่างเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงบนเวทีโลกและเป็นแบบอย่างของนักเคลื่อนไหวรุ่นหลังๆ ที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางสังคม

ด้วยการอุทิศตนเพื่อสันติสุขของโลก ทำให้แมนเดลาได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆ มากกว่า 250 รางวัลตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โดยรางวัลเกียรติยศยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี พ.ศ. 2536 ร่วมกับอดีตประธานาธิบดีเดอ เคลิร์ก นอกเหนือจากการได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทมส์ ตลอดจนการได้รับเหรียญแห่งอิสรภาพของประธานาธิบดี เป็นต้น

Graça Machel and Winnie Madikizela-Mandela ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com/Photograph: Kopano Tlape/AP
Graça Machel and Winnie Madikizela-Mandela ที่มาภาพ: http://www.theguardian.com/Photograph: Kopano Tlape/AP

ในส่วนของชีวิตครอบครัวนั้น แมนเดลาแต่งงานทั้งสิ้น 3 ครั้ง แต่การแต่งงาน 2 ครั้งแรก ซึ่งมีลูกด้วยกัน 6 คน ก่อนจะขยายเป็นหลาน 20 คน และเหลนอีกจำนวนหนึ่ง จบลงด้วยการหย่าร้างกัน โดยเฉพาะการหย่าร้างกับนางวินนี ภรรยาคนที่ 2 ที่ทำตัวเป็นเจ้าแม่ผู้ยิ่งใหญ่โดยอาศัยนามสกุลแมนเดลาเป็นใบเบิกทางระหว่างที่แมนเดลาถูกคุมขังอยู่ จนเมื่อได้อิสรภาพแล้วแมนเดลาจึงขอหย่าร้างจากเธอ อย่างไรก็ดี ในวันฉลองวันเกิดปีที่ 80 วีรบุรุษโลกได้ตัดสินใจแต่งงานครั้งที่ 3 กับนางกราชา มาเชล อดีตภรรยาม่ายของอดีตประธานาธิบดีซาโมรา มาเชล แห่งโมซัมบิก

หลังจากแพทย์ตรวจพบว่าป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แมนเดลาจึงวางมือจากทุกตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณะ รวมทั้งยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด เพื่อจะใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบกับครอบครัว ก่อนจะปิดตำนานวีรบุรุษโลกที่บ้านพักในนครโยฮันเนสเบิร์กเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2556 ด้วยวัย 95 ปี จากอาการติดเชื้อในช่องปอดที่เรื้อรังมาตั้งแต่ครั้งถูกขังอยู่ในเรือนจำบนเกาะร็อบเบน