ThaiPublica > คนในข่าว > คนต้นแบบทายาทเกษตรกรมืออาชีพ “แก่นคำหล้า พิลาน้อย” ผู้สืบสันดานชีวิตเกษตรกรรม

คนต้นแบบทายาทเกษตรกรมืออาชีพ “แก่นคำหล้า พิลาน้อย” ผู้สืบสันดานชีวิตเกษตรกรรม

27 ธันวาคม 2013


“คนจนทำตัวจนๆ มันก็รวยได้ แต่ถ้าคนจนทำตัวรวย กี่ชาติมันก็จน”

การเปิดตัวโครงการ “ทายาทเกษตรกรมืออาชีพ” ซึ่งเป็นหลักสูตรการอบรมเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยการร่วมมือกันระหว่าง มูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มจส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) รวมทั้งเครือข่ายทายาทเกษตรกรและหน่วยงานภาคีพัฒนา เพื่อสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้กลับมาสืบทอดอาชีพเกษตรกรต่อจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ซึ่งทุกวันนี้ดูเหมือนจะมีจำนวนลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ประกอบกับประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวมุ่งเน้นที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้คนหนุ่มสาวว่าการทำอาชีพเกษตรกรนั้นมีรายได้ดี อยู่ได้ มีเกียรติมีฐานะ และมีความสุขที่ได้ผลิตอาหารเลี้ยงคนในชาติและคนทั่วโลก

ตุ๊หล่าง ที่มาภาพ : ทีวีบูรพา
ตุ๊หล่าง ที่มาภาพ : ทีวีบูรพา

หนึ่งในนั้นคือ นายแก่นคำหล้า พิลาน้อย หรือตุ๊หล่าง เกษตรกรหนุ่มวัย 31 ปี จากอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เจ้าของรางวัลคนนอกกรอบ จากคนค้นฅน อวอร์ด ครั้งที่ 1 ผู้ซึ่งตัดสินใจไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัยและหยุดระดับการศึกษาไว้เพียงแค่ระดับชั้น ม. 6 และตัดสินใจทำอาชีพเกษตรกรรมคือเป็นชาวนาอยู่กับพ่อแม่ตั้งแต่นั้นมา โดยมองว่าหากจะเรียนต่อจะเรียนไปเพื่ออะไร เรียนเพื่อเอาปริญญาหรือว่าเอาความรู้ และการเป็นชาวนานั้นถือเป็นอาชีพที่ประเสริฐ เป็นอาชีพที่สามารถหล่อเลี้ยงคนทั้งโลกได้

“ตอนแรกที่ผมมาทำ ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าสมมติว่าวันหนึ่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือสงครามโลกหรือวิกฤติทางธรรมชาติ ทำอย่างไรเราจะอยู่ได้ ผมตั้งคำถามกับตัวเองอย่างนี้” ตุ๊หล่างกล่าวในการให้สัมภาษณ์ หลังจากนั้นก็ออกมาหาคำตอบ โดยทำเกษตรอินทรีย์มากับพ่อก่อนหน้านั้น แต่แค่การทำเกษตรอินทรีย์เชิงเดี่ยวก็ไปไม่รอด ต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ที่ผสมผสาน แล้วต้องคิดว่าทำอย่างไรถ้าเกิดขังตัวเองอยู่ในที่ดินสัก 20 ปีจึงจะอยู่รอด ไม่อดตาย แล้วก็ไม่ป่วยตาย หลังจากนั้นก็ไปเรียนเรื่องสมุนไพร เรียนเรื่องการทำเกษตร เพิ่มเติมจากที่ครอบมีพื้นฐานอยู่แล้ว”

ไทยพับลิก้า: ใช้เวลานานไหมกว่าจะมาถึงจุดที่พอใจ

12 ปี เพราะว่าเราเป็นผู้ถางป่าเอง ไม่มีคนถางทางรอ เราเป็นคนถางทางก่อน ถ้าหากเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากจะทำตอนนี้ คุณเดินตามทางเท่านั้นพอแล้ว ขอแค่อย่าออกจากทาง คุณเดินตามทางที่เขาถางทางไว้แล้ว ถ้ามีความมุ่งมั่น ไม่ถึง 3 ปี ไม่เกิน แต่ถ้าเป็นคนมีทุนอยู่ด้วยปีเดียวก็ทัน ตามทันเลย

ไทยพับลิก้า: ต้องมีที่กี่ไร่ จึงจะอยู่ได้

ถ้าปลูกผักครอบครัวละ 1-2 ไร่ก็พอ มีเงินเก็บเดือนละ 2 หมื่นได้สบาย แล้วก็ถ้าปลูกข้าวไว้กิน ปีหนึ่งใช้ข้าวเปลือก 400 กิโลกรัม ถ้าคนกินมากอย่างผมนะ ถ้าครอบครัวหนึ่งสามคนก็ 1,200 กิโลกรัมต่อปี ถ้าปลูกปีละหนึ่งครั้งก็ 3 ไร่

ไทยพับลิก้า: สาเหตุของปัญหาอาชีพเกษตรกรที่มีจำนวนลดน้อยถอยลงเพราะอะไร

มันเป็นปัญหาใหญ่มากจริงๆ ในมุมมองของผม เพราะว่าทัศนคติของคนไทยอย่าว่าแต่เด็กเลย ขนาดผู้ใหญ่ ทัศนิคติต่ออาชีพเกษตรกรรม เป็นไปในทางลบมาก มันอาจจะเนื่องมาจากที่ผ่านมาคนที่ทำอาชีพเกษตรกรรมมีฐานะความเป็นอยู่ที่ไม่ดี นั่นเป็นสิ่งที่เห็นและเป็นความเชื่อของคนที่เห็น ซึ่งในความเป็นจริงเขาไม่รู้ว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ทำให้มีรายได้ก็ได้ ถ้าคนที่ทำใช้องค์ความรู้และสติปัญญาให้มากไม่ทำตามเขาไปเฉยๆ แล้วมีความสุขได้ ทุกอาชีพมีความสุขได้ ทุกอาชีพมีความทุกข์ได้ ทุกอาชีพมีความสบาย และทุกอาชีพมีความลำบาก อยู่ที่ว่าคนที่ประกอบอาชีพนั้นจะรู้ตัวหรือไม่ จะเห็นคุณค่าของอาชีพที่ตัวเองทำหรือไม่ ฉะนั้น สถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยใส่ใจกับอาชีพเกษตรกรรมเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก ค่อนข้างจะเลวร้าย

สาเหตุใหญ่คือ การให้การศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ การให้การศึกษากับการสร้างค่านิยมในสังคม สองอย่างนี้จะมีผลต่อทัศนคติของคนรุ่นใหม่ต่อเกษตรกรรมมาก ทัศนคติเขาจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ อยู่ที่สื่อมวลชน อยู่ที่การสร้างค่านิยมของคนในสังคม ซึ่งทุกวันนี้ทำไมมีคนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าคนที่ทำอาชีพเกษตรกรรมและได้ออกสื่อ และเป็นคนที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ แล้วคนเห็นว่าอาชีพเกษตรกรรมไม่ใช่ทำแล้วจนอย่างเดียว ทำแล้วรวยก็มี มีเวลากินให้เต็มท้องมีเวลานอนให้เต็มตา มีเวลาอยู่กับลูกเมียอยู่กับครอบครัว มีเวลาสอนลูก ลูกก็จะเป็นลูกที่มีพ่อแม่สั่งสอนไม่ใช่ลูกที่พ่อแม่ไม่สั่งสอนอีกแล้ว ครอบครัวเราก็จะอบอุ่น แต่ทำไมสังคมเรายังมองไม่เห็น เพราะว่าสังคมเราถูกปิดหูปิดตา

ไทยพับลิก้า: แล้วกระแสวัยรุ่นทำนาในช่วงที่ผ่านมา มันจุดติดไหม

ในตอนนี้ คนหันมาทำนามากขึ้น คนหันมาทำสวนมากขึ้น แต่สำคัญมากคือคนที่จะนำเสนอนี่อย่านำเสนอแบบโอเวอร์เกินไป คืออย่าพูดอะไรที่มันดูดีสุดยอดหมดทุกอย่างโดยไม่ให้รายละเอียด คนกลับมาทำก็เลยล้มเหลว ก็เลยวางมือ เพราะฉะนั้นการนำเสนอของผู้ที่นำเสนอก็เลยต้องจริง นอกจากจะจริงแล้วต้องให้ข้อมูลที่มีรายละเอียดเพียงพอต่อการนำไปใช้ ไม่อย่างนั้นมือใหม่พอมาหัดทำแล้วเหมือนทำตามกระแส เหมือนไฟไหม้ฟาง ไหม้ไปหมดฟางมันก็หยุด อย่าทำให้เป็นแบบนั้น

ที่ผมว่าปัญหาของการนำเสนอนี่ไม่ได้อยู่ที่สื่อนะ คนที่ทำ คนที่ให้ข้อมูลนี่แหละ อย่างที่ผมเจอแบบพูดว่าทำนาลดต้นทุนใส่ตรงนั้นน้อย พอเราไปทำ อะไรวะ ทำไมมันทำไม่ได้ ถ้าหากคนที่ไม่เคยทำอะไรมาเลยเขากลับมาทำนี่เขาจะเสียใจ

ไทยพับลิก้า: หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนควรจะสนับสนุนเกษตรกรอย่างไรบ้าง

หน่วยงานที่ให้ความรู้มีความสำคัญมากๆ ทั้งสองส่วนทั้งภาครัฐทั้งเอกชน ภาครัฐไม่ใช่ทำเอางบประมาณ เอกชนไม่ใช่ทำเอามัน มันจะมีบางกลุ่มที่ทำเอามัน ต่อต้านเคมีก็บอกว่าต่อต้านสุดโต่งโดยไม่ได้ให้ข้อมูลความรู้กับเกษตรกรให้ชัดเจนว่า พอคุณจะวางเคมี มาทำอินทรีย์ ต้องทำอย่างนี้นะ ในมุมมองของผม ถ้าในยุคแรกที่ต้องให้คนหันมาทำเกษตรกรรมนี่เคมีก็ไม่ว่ากัน แต่ให้หยุดพวกสารพิษ พวกที่เป็นยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง แต่ปุ๋ยเคมีจะยังไม่วางมือให้เขาใช้ไปก่อน แนะนำส่งเสริมทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้ ถ้าเขาอยู่ได้แล้วค่อยให้ความรู้เรื่องการพัฒนาเกษตรอินทรีย์

ไทยพับลิก้า: คิดอย่างไรกับเรื่องอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงกำจัดศัตรูพืช

ตบมือข้างเดียวก็ไม่ดัง บริษัทตบมือข้างเดียวก็ไม่ดัง ชาวบ้านอยากใช้ อย่าไปโทษแต่บริษัท ชาวบ้านก็เป็นต้นเหตุ ถ้าชาวบ้านไม่เรียกร้อง บริษัทก็ไม่เอามาขาย ถ้าบริษัทไม่โฆษณาชาวบ้านก็ไม่อยากใช้ต่างคนมันก็เป็นเหตุของกันและกัน ทางออกที่พอเห็นก็คือจนกว่าเขาจะเห็นคนอื่นทำ ซึ่งก็มีน้อยเหลือเกิน ถึงมีน้อย แต่ถ้าเขาตั้งใจจะทำมันก็มีให้เห็น

ปัญหาใหญ่ที่ผมเจออยู่ ส่งเสริมมา 9-10 ปี ไม่ทำ เพราะเขามีความขี้เกียจ เขาบอกตรงๆ ว่าเขาขี้เกียจ ทำเกษตรอินทรีย์นี่มันต้องใช้ปุ๋ยเยอะกว่า ปุ๋ยอินทรีย์มันต้องใช้เยอะกว่าปุ๋ยเคมี แล้วเวลาไปหว่านมันก็ลำบากกว่าเพราะมันใช้เยอะกว่า ปุ๋ยเคมีทำยังไง หว่านๆ หน่อยเดียวก็พอ ความงามมันเท่ากับที่เราใส่ตั้งเยอะ แล้วทีนี้พอมีหญ้าเราก็ต้องไปถอนหรือว่าต้องควบคุมน้ำ ถ้าควบคุมน้ำไม่ได้เราก็ต้องถอนหญ้าหรือไม่ก็ต้องปล่อยไปเลย ถ้าเคมีเขาฉีดยาฆ่าหญ้าวันเดียวจบ ความขี้เกียจของชาวบ้านเองเป็นต้นเหตุสำคัญ บริษัทเป็นเพียงแต่บุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการเอากิเลสเอาความโลภของคนนี่มาใช้เป็นประโยชน์

ไทยพับลิก้า: ฝากอะไรทิ้งท้าย

ที่ผมทำมามันก็มาลงที่เดิมที่พระเจ้าแผ่นดินให้ไว้ ทำเกษตรกรรมที่เป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมาจับ มาประยุกต์ใช้ในแปลง ถ้าหากใครเอาแนวทางนี้ไปประยุกต์ใช้อย่างไม่มั่วๆ นะ เหมือนที่เกษตรจังหวัดหรือผู้ว่าบางคนพูดว่าทฤษฎีของในหลวงใช้ไม่ได้หรอกมันเป็นแค่ทฤษฎี มันเอามาปฏิบัติไม่ได้จะให้ทุกคนมาทำจนๆ แบบนี้ใครเขาจะอยากจนกัน ในหลวงไม่ได้บอกให้คุณมาทำแล้วจะยากจนนะ คนรวยทำตัวจนก็รวย คนจนทำตัวจนๆ มันก็รวยได้ แต่ถ้าคนจนทำตัวรวยกี่ชาติมันก็จน เรารู้ตัวว่าเราจน ใช้ชีวิตให้มันจน มันจะมีโอกาสรวยขึ้นมาได้ แล้วในทฤษฎีของพ่อหลวงไม่ได้บอกให้คุณจน ถึงคุณจะจนก็จนอย่างมีปัญญาจน เพราะคุณต้องการจนเองไม่ได้จนเพราะจนปัญญา คือทฤษฎีของในหลวงเป็นทฤษฎีที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย จริงๆ แล้วทุกประเทศทุกอาชีพด้วย