ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ประมูลทีวีดิจิตอล ทุนสื่อหน้าเดิมและใหม่ เคาะราคาสุดฤทธิ์

ประมูลทีวีดิจิตอล ทุนสื่อหน้าเดิมและใหม่ เคาะราคาสุดฤทธิ์

27 ธันวาคม 2013


น้องดูดี โลโก้ Digital TV
น้องดูดี โลโก้ Digital TV

สำนักงานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ในวันพฤหัสที่ 26-27 ธันวาคม 2556 ณ อาคาร CAT Tower บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บางรัก

สำหรับวันที่ 26 ธันวาคม 2556 มีการจัดประมูล 2 รอบ ได้แก่ รอบแรกเป็นการประมูลในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) จำนวน 7 ใบอนุญาต ระหว่างเวลา 8.00-12.00 น. โดยเริ่มการประมูลจริงเวลา 11.00-12.00 น. รอบที่สองเป็นการประมูลในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (ทั่วไป SD) จำนวน 7 ใบอนุญาต ระหว่างเวลา 14.00-17.30 น โดยการประมูลเริ่มจริงเวลา 16.30-17.30 น.

ผลการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลในรอบเช้า (ทั่วไป HD) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประมูล 9 ราย ได้ผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล 7 ราย เรียงตามลำดับการเสนอราคาจากสูงที่สุดไปต่ำที่สุดดังนี้ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด มูลค่าการประมูล 3,530 ล้านบาท บริษัท บางกอกมีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด 3,460 ล้านบาท บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด 3,360 ล้านบาท บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด 3,360 ล้านบาท บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 3,340 ล้านบาท บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด 3,320 ล้านบาท บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด 3,320 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่ไม่ชนะการประมูลได้แก่ บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด และบริษัท พีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด ยอดรวมราคาประมูลหมวดช่องทั่วไปความคมชัดสูง (HD) อยู่ที่ 23,700 ล้านบาท

การจัดสรรทีวีดิจิตอล 48 ช่อง

ผลการประมูลใบอนุญาตผลการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลในรอบบ่าย (ทั่วไป SD) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประมูล 16 ราย ได้ผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล 7 ราย เรียงตามลำดับการเสนอราคาจากสูงที่สุดไปต่ำที่สุดดังนี้ บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด มูลค่าการประมูล 2,355 ล้านบาท บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด 2,315 ล้านบาท บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด 2,290 ล้านบาท บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด 2,275 ล้านบาท บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด 2,265 ล้านบาท บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด 2,550 ล้านบาท บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด 2,200 ส่วนบริษัทที่ไม่ชนะการประมูลได้แก่ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด บริษัท โฟร์ วัน วัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด บริษัท บีบีทีวี แซทเทลวิชั่น จำกัด บริษัท ไทยทีวี จำกัด บริษัท ทัช ทีวี จำกัด บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ่ง จำกัด ยอดรวมราคาประมูลหมวดช่องความคมชัดปกติอยู่ที่ 15,950 ล้านบาท รวมราคาประมูลทั้งสองหมวดอยู่ที่ 39,650 ล้านบาท

สำหรับขั้นตอนการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลนั้น ผู้เข้าร่วมประมูล (bidder) ส่งคนเข้าร่วมได้บริษัทละ 5 ราย หลังจากผ่านการตรวจสอบตัวบุคคลและสัมภาระ รายงานตัวและลงทะเบียน รับบัตรประจำตัว จากนั้นผู้แทนแต่ละบริษัทจะจับสลากหมายเลขห้องประมูลและ username กับ password ที่แตกต่างกันสำหรับเข้าโปรแกรมการประมูล โดยลำดับการจับสลากแต่ละบริษัทมีที่มาจากการจับสลากของกรรมการ กสทช. เช่นกัน

ลำดับถัดไป ผู้เข้าร่วมประมูลเข้าห้องประมูลตามที่จับสลากได้ โดยห้องประมูลมีทั้งหมด 16 ห้อง กระจายบนชั้น 27 และ 28 ของอาคารประมูล (CAT บางรัก) สำหรับเวลาการประมูลมีทั้งหมด 60 นาที มีกติกาคือ ภายใน 5 นาทีแรกต้องเริ่มเสนอราคาที่สูงกว่าราคาขั้นต่ำที่ถูกกำหนดไว้ (HD เริ่มที่ 1,510 ล้านบาท SD เริ่มที่ 380 ล้านบาท) มิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิ์การประมูล และถูกริบหลักประกันการประมูล (ร้อยละ 10 ของราคาตั้งต้น) ผู้เข้าร่วมประมูลจะเสนอราคาเพิ่มกี่ครั้งก็ได้ โดยจะเสนอเพิ่มได้ครั้งละเท่ากับเกณฑ์แต่ละประเภท (HD ครั้งละ 10 ล้านบาท SD ครั้งละ 5 ล้านบาท)

ขั้นตอนการประมูลTV Digital

ในขณะประมูล ผู้เข้าร่วมประมูลจะทราบราคาที่ตนเองเสนอปัจจุบัน ลำดับการมีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล และราคาต่ำสุดของกลุ่มผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล เช่น ถ้าประมูล 7 ใบอนุญาต จะทราบเฉพาะราคาปัจจุบันของผู้เสนอราคาอันดับที่ 7 เท่านั้น จนกระทั่งสิ้นสุดเวลาการประมูล หากมีผู้ชนะการประมูลเกินกว่าจำนวนใบอนุญาต จะทำการขยายเวลาประมูลครั้งละ 5 นาที และหากไม่มีผู้เสนอราคาเพิ่มในช่วงต่อเวลา จะให้ผู้เสนอราคาเท่ากันในอันดับสุดท้ายจับสลากเพื่อหาผู้ชนะการประมูล สำหรับผู้ชนะการประมูลอันดับต้นๆ จะมีสิทธิเลือกเบอร์ช่องก่อนผู้ชนะการประมูลอันดับหลัง

สำหรับวันที่ 27 ธันวาคม 2556 มีการจัดประมูล 2 รอบ ได้แก่ รอบแรกเป็นการประมูลในข่าวสารและสาระ จำนวน 7 ใบอนุญาต ระหว่างเวลา 8.00 – 12.00 น. เริ่มการประมูลจริงเวลา 11.00 – 12.00 น. โดยกำหนดราคาขั้นต่ำและราคาเริ่มต้นประมูลไว้ที่ 220 ล้านบาท เสนอราคาเพิ่มครั้งละ 2 ล้านบาท รอบที่สองเป็นการประมูลในหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว จำนวน 3 ใบอนุญาต ระหว่างเวลา 14.00 – 17.30 น การประมูลเริ่มจริงเวลา 16.30 – 17.30 น. โดยกำหนดราคาขั้นต่ำและราคาเริ่มต้นประมูลไว้ที่ 140 ล้านบาท เสนอราคาเพิ่มครั้งละ 1 ล้านบาท

ผลการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลในรอบเช้า หมวดข่าวสาร และสาระ มีผู้เข้าร่วมการประมูล 10 ราย ได้ผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล 7 ราย เรียงตามลำดับการเสนอราคาจากสูงที่สุดไปต่ำที่สุดดังนี้ บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด มูลค่าการประมูล 1,338 ล้านบาท บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด 1,330 ล้านบาท บริษัท ไทยทีวี จำกัด (นิตยสารทีวีพูล) 1,328 ล้านบาท บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด 1,318 ล้านบาท บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด 1,316 ล้านบาท บริษัท ดีเอน (เดลินิวส์) จำกัด 1,310 ล้านบาท บริษัท 3เอ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด(ผู้ผลิตรายการข่าว 5 หน้า 1) 1,298 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่ไม่ชนะการประมูลได้แก่ บริษัท ไอ-สปอร์ต มีเดีย จำกัด บริษัท โมโน เจนเนอเรชั่น จำกัด และบริษัท โพสต์ ทีวี จำกัด ยอดรวมราคาประมูลหมวดข่าวสารและสาระ 9,238 ล้านบาท

ผลการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลในรอบบ่าย หมวดเด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประมูล 6 ราย ได้ผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล 3 ราย เรียงตามลำดับการเสนอราคาจากสูงที่สุดไปต่ำที่สุดดังนี้ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด มูลค่าการประมูล 666 ล้านบาท บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 660 ล้านบาท บริษัท ไทยทีวี จำกัด 648 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่ไม่ชนะการประมูลได้แก่ บริษัท โรสมีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริษัท เนชั่น คิดส์ จำกัด บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด ยอดรวมราคาประมูลหมวดหมวดเด็ก เยาวชนและครอบครัวอยู่ที่ 1,974 ล้านบาท รวมราคาประมูลทั้งสองหมวดวันที่ 27 ธันวาคม อยู่ที่ 11,212 ล้านบาท และรวมมูลค่าการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลธุรกิจ ทั้งสองวัน 4 หมวดรายการ อยู่ที่ 50,862 ล้านบาท

พ.อ. ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. กล่าวหลังการประมูลในวันแรกว่า กสทช. ถือว่าการประมูลประสบความสำเร็จ และตอบโจทย์จุดประสงค์การประมูลที่ไม่เน้นราคาสูงสุด เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเงินไปพัฒนาคุณภาพรายการมากกว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลภายใน 15 วัน นับแต่สิ้นสุดเวลาการประมูล จากนั้นผู้ชนะการประมูลจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขก่อนรับใบอนุญาตให้ครบถ้วนภายใน 45 วัน หลังได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูลจึงจะได้ใบอนุญาต ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวประกอบด้วย

1. ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่หนึ่ง ร้อยละ 50 ของราคาขั้นต่ำ พร้อมวางหนังสือค้ำประกันค่าธรรมเนียมในงวดที่สอง
2. ดำเนินการขอใช้โครงข่ายโทรทัศน์กับผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ภายใน 30 วัน
3. ดำเนินการตามประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภายใน 45 วัน โดยใบอนุญาตทีวีดิจิตอลที่ออกโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีอายุ 15 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจ่ายค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอล จะแบ่งจ่ายเงินเป็นสองส่วน ได้แก่ ส่วนแรก คือเงินราคาขั้นต่ำ (HD 1,510 ล้านบาท, SD 380 ล้านบาท) แบ่งชำระ 4 ปี ปีแรก 50% ถัดมา 30, 20 และ 10%ในปีสุดท้าย ส่วนที่สอง คือเงินส่วนที่เหลือ (ราคาชนะประมูล–ราคาขั้นต่ำ) แบ่งชำระ 6 ปี ปีแรก 10% ถัดมา 10, 20, 20, 20 และ 20% ในปีสุดท้าย

ทั้งนี้รายจ่ายของผู้ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลในอนาคต นอกจากราคาประมูลใบอนุญาตที่แบ่งจ่ายรายปีแล้ว ยังมีค่าใช้บริการเชื่อมต่อโครงข่าย โทรทัศน์ประเภทใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล (ใช้ความถี่ภาคพื้นดิน) 4 รายจาก 6 ราย ได้แก่

1. สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ซึ่งกำหนดราคาค่าเช่าโครงข่ายในระบบปกติ (เอสดี) ไว้ที่ 4.72 ล้านบาทต่อเดือน ในการออกอากาศระบบความคมชัดสูง(เอชดี) 14.16 ล้านบาทต่อเดือน
2. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กำหนดราคาค่าเช่าโครงข่ายในระบบปกติ (เอสดี) ไว้ที่ 4.76 ล้านบาทต่อเดือน ในการออกอากาศระบบความคมชัดสูง (เอชดี) 14.28 ล้านบาทต่อเดือน
3. กรมประชาสัมพันธ์ กำหนดราคาค่าเช่าโครงข่ายในระบบปกติ (เอสดี) ไว้ที่ 4.65 ล้านบาทต่อเดือน ในการออกอากาศระบบความคมชัดสูง (เอชดี) 13.95 ล้านบาทต่อเดือน
4.องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กำหนดราคาค่าเช่าโครงข่ายในระบบปกติ (เอสดี) ไว้ที่ 4.60 ล้านบาทต่อเดือน ในการออกอากาศระบบความคมชัดสูง (เอชดี) 13.81 ล้านบาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม ราคาค่าเช่าบริการโครงข่ายข้างต้นไม่รวมค่าใช้จ่ายในการออกอากาศทีวีดิจิตอลผ่านทีวีดาวเทียม และทางเคเบิ้ล ซึ่ง กสทช.จะประกาศอัตราค่าใช้บริการดังกล่าวในอนาคต

ดูเพิ่มเติมการปรับตัวของไทยยุค Digital TV ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์