ThaiPublica > เกาะกระแส > จดหมายเปิดผนึกพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงถึงสี่นายกรัฐมนตรี – หยุดเขื่อนดอนสะโฮง

จดหมายเปิดผนึกพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงถึงสี่นายกรัฐมนตรี – หยุดเขื่อนดอนสะโฮง

1 พฤศจิกายน 2013


สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน
นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

ฯพณฯ ทองสิง ทำมะวง
นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ฯพณฯ เหวียน เติ๋น ยวุ๋ง
นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ฯพณฯ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556

เรื่อง : ภัยคุกคามแม่น้ำโขง : ขอเรียกร้องให้ประมุขรัฐบาลของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ดำเนินการยับยั้งโครงการเขื่อนดอนสะโฮงโดยทันที

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

เรา พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง รู้สึกหวั่นวิตกในแผนการของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่เสนอให้สร้างเขื่อนดอนสะโฮงขึ้นในบริเวณใจกลางของพื้นที่สีพันดอน ซึ่งเป็นพื้นที่อันมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง โครงการเขื่อนดอนสะโฮงนี้ จะทำลายล้างพื้นที่ในอาณาบริเวณของทั้งสีพันดอนและแม่น้ำโขง แม่น้ำที่เป็นเสมือนมารดาของลุ่มน้ำในภูมิภาคลงไปอย่างไม่อาจที่จะเยียวยาได้อีกต่อไป

แม้แต่สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเอง ครั้งหนึ่งยังได้เคยระบุไว้ในรายงานของตนว่า “ระบบนิเวศของสี่พันดอนนั้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นเสมือนหนึ่งโลกใบเล็ก ๆ ใบหนึ่งที่มีระบบนิเวศที่เกาะเกี่ยวโยงใยกับแม่น้ำโขงทั้งสาย” และยังได้สรุปว่า “เนื่องจากลักษณะทางธรรมชาติอันพบได้ยากยิ่งนี้ ทุกภาคส่วนจักต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะอนุรักษ์และปกป้องพื้นที่สีพันดอนนี้จากโครงการพัฒนาใด ๆ ก็ตาม”

เขื่อนดอนสะโฮง จะเปลี่ยนแปรลักษณะของพื้นที่สีพันดอนและพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงไปอย่างมิอาจหวนคืน เขื่อนแห่งนี้จะก่อให้เกิดประตูกีดขวางกั้นทางน้ำฮูสะโฮง ที่จะทำให้ปลาไม่สามารถว่ายผ่านได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงหลายคนได้เคยกล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่จะก่อให้เกิดสิ่งเลวร้ายที่สุดหากเลือกเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างเขื่อน เนื่องจากฮูสะโฮงเป็นทางน้ำที่มีปลาว่ายอพยพผ่านมากที่สุดในแม่น้ำโขง จึงเป็นจุดที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญยิ่งต่อการประมงน้ำจืดในที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก การสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดการจุดลอกดินและหินที่ท้องแม่น้ำในบริเวณฮูสะโฮงออกมามากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเปิดทางให้มีน้ำไหลเข้าฮูสะโฮงเป็นจำนวนมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ กำลังการผลิตติดตั้ง 260 เมกะวัตต์ของเขื่อน ย่อมถือว่าเป็นผลประโยชน์แสนกระจ้อยร่อย เมื่อเทียบกับผลกระทบด้านลบอย่างรุนแรงที่มีต่อการประมงและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เช่นเดียวกัน จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของผู้คนนับล้านที่อยู่ในประเทศสปป.ลาว และในประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศกัมพูชา ประเทศไทยและประเทศเวียดนาม โครงการนี้ยังจะเป็นภัยคุกคามต่อปลาอพยพขนาดใหญ่ที่หายากและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งปลาบึกและปลาเอิน ภัยคุกคามที่จะมีผลต่อการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวในภูมิภาคนี้ จะกลายเป็นปัญหาร้ายแรงอันจะยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาความขัดแย้งอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วทั้งในประเทศและระหว่างกันให้เลวร้ายลงไปอีก

พวกเราแทบจะไม่เหลือความเชื่อถือต่อศักยภาพของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) หรือข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ในการจัดการกับภัยคุกคามอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ ในกรณีภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนดอนสะโฮงหรือโครงการอื่น ๆ ที่เสนอจะสร้างบนแม่น้ำโขงสายประธาน สาเหตุที่สำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้ คือความล้มเหลวของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในการแก้ปัญหาความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบาลของชาติสมาชิก ในประเด็นที่ว่ากระบวนการ “การปรึกษาหารือล่วงหน้า” ที่มีขึ้นเพื่อการสร้างเขื่อนไซยะบุรีนั้น ยังคงเป็นกระบวนการที่คั่งค้างอยู่ หรือได้เสร็จสิ้นไปแล้ว

ที่มาภาพ : http://www.internationalrivers.org
ที่มาภาพ : http://www.internationalrivers.org

รัฐบาลลาวกำลังอ้างว่าเขื่อนดอนสะโฮง “ไม่ได้ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน” และด้วยเหตุนี้เอง จึงได้ใช้กระบวนการ “แจ้งให้ทราบล่วงหน้า” แทน “กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า” ต่อประเทศเพื่อนบ้าน เราขอคัดค้านข้ออ้างนี้ของสปป.ลาวอย่างถึงที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนไร้ข้อกังขาว่า เขื่อนดอนสะโฮงนั้นเป็นโครงการที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำโขงสายประธาน ซึ่งจะก่อผลกระทบอย่างที่สุดต่อการไหลของกระแสน้ำและการอพยพย้ายถิ่นของปลา และจะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างมหาศาล ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เราเชื่อว่าคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะประสบความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่งในการทำให้เกิดการจัดการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง และปล่อยให้การตัดสินใจในเรื่องเขื่อนดอนสะโฮงตกอยู่ในมือของรัฐบาลสปป.ลาวแต่เพียงผู้เดียว

เราเห็นด้วยกับข้อกังวลที่มีการกล่าวในสาธารณะโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ และการขาดความโปร่งใสในโครงการเขื่อนดอนสะโฮง บุคคลเหล่านี้รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศเวียดนาม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา และสมาชิกของคณะกรรมการแม่น้ำโขงระดับชาติของไทย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตระหนักถึงความเป็นห่วงเหล่านี้ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลแม่น้ำโขงทั้งหลาย ได้เสนอต่อรัฐบาลลาวให้แสดงเคารพต่อจิตวิญญาณของการร่วมมือกันอย่างแท้จริงในภูมิภาคนี้

ในช่วงเวลาแห่งความคลุมเครือไม่ชัดเจนในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับเขื่อนดอนสะโฮง รวมทั้งโครงการอื่น ๆ บนแม่น้ำโขงสายประธาน กระบวนการใด ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ในทุก ๆ โครงการจะต้องถูกระงับไว้ก่อน มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องจัดให้มีพื้นที่ร่วมแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อทำการตรวจสอบ ชี้แจงและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ผ่านทางกลไกการตัดสินใจระดับภูมิภาค บนพื้นฐานของหลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ต้องมีการศึกษาในเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็น รวมถึงการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนสำหรับโครงการทั้งหมดต้องเกิดขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ

ดังนั้น พวกเรา พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง ขอเรียกร้องความร่วมมือมายัง ฯพณฯ ท่าน ขอได้โปรดตระหนักถึงจิตวิญญาณของความตกลงในภูมิภาคแม่น้ำโขง และดำเนินการแทรกแซงให้ยกเลิกการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงโดยทันที อีกทั้งระงับการตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับโครงการบนแม่น้ำโขงสายประธานลงไว้ก่อน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมแก่ประชาชนทั่วทั้งภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

การก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มแม่น้ำโขง คือการสังเวยแม่แห่งธรรมชาติ และวิถีชีวิตของผู้คนหลายสิบล้านคนเพื่อสิ่งที่เรียกว่าเป็น “การพัฒนา” ดังนั้น การตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวจึงไม่ควรเป็นความรับผิดชอบของเหล่ารัฐบาลเท่านั้น รัฐบาลของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงจักต้องตระหนักถึงสิทธิของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขง ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียที่เสมอภาคและเท่าเทียมกันในกระบวนการตัดสินใจ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

ลงนามโดย 19 สมาชิกของพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง

3S Protection Network

Both ENDS

Centre for Social Research and Development (CSRD)

Culture and Environment Preservation Association (CEPA)

Fisheries Action Coalition Team (FACT)

Focus on the Global South

GreenID

Ian Baird, Department of Geography, University of Wisconsin-Madison

International Rivers

Mekong Watch

Mekong Watch Tasmania

NGO Forum on Cambodia

PanNature

The Corner House

Mekong Energy and Ecology Network (MEE Net)

Towards Ecological Recovery and Regional Alliance (TERRA)

Vietnam River Network (VRN)

WARECOD (Center for Water Resources Conservation and Development)

World Rainforest Movement (WRM)