ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ป่า-น้ำ-ชุมชน โมเดลการจัดการแหล่งน้ำ”บ้านธารมะยม” อ.แม่วงก์ ความยั่งยืนที่สร้างได้

ป่า-น้ำ-ชุมชน โมเดลการจัดการแหล่งน้ำ”บ้านธารมะยม” อ.แม่วงก์ ความยั่งยืนที่สร้างได้

29 กันยายน 2013


บ้านธารมะยม ที่มาภาพ : http://www.kreenjairadio.com/content/activity/image/activity
บ้านธารมะยม ที่มาภาพ : http://www.kreenjairadio.com/content/activity/image/activity

บ้านธารมะยม เชิงเขาแม่กระทู้ ตำบลวังซ่าน อำเภอแม่วงก์ คือพื้นที่หนึ่งที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง และจะได้รับผลประโยชน์ในทางชลประทานหากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในขณะที่ปัจจุบันชุมชนธารมะยมสามารถจัดการน้ำได้ด้วยตนเองมานานแล้ว

เขาแม่กระทู้ในอดีตเคยเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำลำธาร และมีร่องน้ำมากถึง 18 ร่องน้ำ แต่เนื่องจากเกิดไฟป่าทุกปี ไหม้จนเห็นดินเห็นหินกรวด และด้วยความที่มีหินที่สามารถนำมาทำหินลับมีด เมื่อทางโล่งขึ้นคนก็สามารถไปตัดไม้ ไปเอาหินลงมาขายได้ง่าย เมื่อต้นไม้ถูกตัดโค่นไปหมด ร่องน้ำทั้ง 18 สายที่มีบนเขานี้ก็หายตามไปด้วย เขาแม่กระทู้จึงกลายเป็นเขาหัวโล้น ชาวบ้านจะใช้น้ำแต่ละครั้งจะต้องไปหาบน้ำไกลหลายกิโลเมตร และยังไม่สามารถทำการเกษตรใดๆ ได้เพราะขาดแหล่งน้ำ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพรับจ้างอื่นๆ ไปทำงานไกลบ้านต่างถิ่นต่างแดน

นายณรงค์ แรงกสิกร ข้าราชการบำนาญผู้ริเริ่มแนวคิดการฟื้นป่า เล่าให้ฟังว่า บ้านธารมะยมคือบ้านเกิด ตอนเด็กๆ ยังได้เห็นความสมบูรณ์ของป่า พอวันหนึ่งที่ป่าหมดไปก็อยากที่จะฟื้นป่าให้คืนมาอีกครั้ง

การฟื้นป่าครั้งแรกนายณรงค์เล่าว่า ทางราชการเอาเมล็ดพันธ์ต้นกระถินยักษ์มาโปรยไปทั่วเขา เพราะเป็นพืชที่โตง่ายและขยายพันธุ์เร็ว แต่กระถินยักษ์ไม่ใช้พืชพื้นถิ่น ดังนั้น เมื่อกระถินเติบโตก็ขยายพันธุ์ไปทั่ว ทำให้ระบบนิเวศป่าบนเขากระทู้เปลี่ยนไป จนกระทั่งปี 2530 อาจารย์จึงมีแนวคิดให้เด็กๆ ช่วยกันปลูกป่า เพื่อสร้างจิตสำนึกรักษ์ป่า

ต่อมาปี 2539 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เข้ามาทำโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติเนื้อที่ประมาณ 13,000 ไร่ ซึ่งโครงการนี้ชาวบ้านรวม 10 หมู่บ้านมีส่วนร่วมในการปลูกป่าด้วย เพื่อสร้างจิตสำนึกรักษ์ป่าแก่ชาวบ้านด้วยการปลูกป่ากันเอง ให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของป่า และช่วยกันดูแลรักษาไว้ หลังจากนั้นสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยก็เข้ามาช่วยจัดตั้งกลุ่มชาวบ้านเพื่อดูแลรักษาป่า ตามด้วยโครงการทำแนวกั้นไฟป่า ต่อมาเครือข่ายแม่วงก์ชุมชนคนรักษ์ป่าจึงเกิดขึ้น โดยมีนายณรงค์เป็นประธาน

ช่วงปี 2539-2545 ป่าไม้เริ่มกลับมาเขียวอีกครั้ง โดยในปี 2543 ร่องน้ำทั้ง 18 สายที่หายไปก็คืนกลับมา เมื่อเริ่มเกิดลำธารและลำห้วยแล้วชาวบ้านจึงเริ่มขึ้นไปทำฝายชะลอน้ำบนเขา เป็นช่วงๆลดหลั่นลงมาจนถึงหมู่บ้าน โดยได้งบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ 25,000 บาท ทำให้ชาวบ้านมีน้ำเพื่อใช้อุปโภคและทำการเกษตรได้ โดยร่วมกันคิด วางแผนจัดการระบบน้ำในพื้นที่ ด้วยการสร้างฝายเล็กๆ ในหมู่บ้านทั้งหมด 6 ตัว

เมื่อมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์แล้ว ชาวบ้านก็สามารถทำการเกษตรในชุมชนได้ ไม่ต้องไปทำงานนอกบ้านเหมือนแต่ก่อน ปัจจุบันชาวบ้านเกือบทุกครัวเรือนปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก บางบ้านก็ปลูกผักสวนครัวและไม้ผลได้ด้วย

“ต่อมาชุมชนจึงคิดทำประปาภูเขา โดยของบประมาณจากโครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) จากธนาคารออมสินมาทำ ซึ่งทางชุมชนต้องเขียนขอโครงการอยู่หลายครั้งมาก ก็ยังไม่ผ่านสักที จนเกือบจะท้อใจ แต่สุดท้ายก็ผ่านอนุมัติ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 800,000 บาท”

งบประมาณที่ได้จากโครงการซิฟนั้น ไม่ได้ให้มาเป็นจำนวนเงิน แต่ให้อุปกรณ์สำหรับทำประปาภูเขาแก่ชุมชนธารมะยมทั้งหมดมูลค่า 800,000 บาท แล้วชาวบ้านก็ช่วยกันลงแรงสร้างประปาภูเขา สร้างแทงก์น้ำประปา ต่อท่อพีวีซีไปยังทุกบ้านกว่า 200 หลังคาเรือน โดยเก็บค่าน้ำประปาภูเขานี้หน่วยละ 3 บาท ซึ่งถูกกว่าประปาของรัฐ

ประปาภูเขานี้มีน้ำไหลตลอดปี คนในชุมชนจึงมีน้ำใช้ไม่ขาด และไม่ต้องไปหาบน้ำมาใช้ไกลเป็นกิโลๆ อีกแล้ว ปัจจุบันชุมชนก็วางแผนที่จะขยายประปาภูเขาไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ด้วย

สำหรับเงินที่ได้จากการเก็บค่าน้ำประปาภูเขา ส่วนหนึ่งกั้นไว้เป็นค่าบำรุงรักษาระบบประปา อีกส่วนก็นำมาตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการต่างๆ ในชุมชน เช่น ทุนการศึกษาเด็ก ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นค่าเล่าเรียนสำหรับเด็กแล้ว ชุมชนนำเงินส่วนหนึ่งไปจ้างครูมาสอนในโรงเรียนชุมชนเอง เนื่องจากรัฐบาลจะยุบโรงเรียนขนาดเล็กลง แต่ชุมชนมองว่าไม่ควรยุบเพราะอย่างน้อยเด็กในชุมชนจะได้ไม่ต้องเดินทางไปโรงเรียนอื่นๆ ที่อยู่ไกล สวัสดิการคนชราและผู้พิการ หรือกู้ยืมเพื่อการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยกะทันหัน และอื่นๆ

ที่ชุมชนนี้มีการประชุมร่วมกันทุกวันที่ 9 ของเดือน เพื่อหารือแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ นอกจากนี้ ชุมชนธารมะยมยังมีรายได้จากนาแปลงรวมของหมู่บ้าน ซึ่งมีอยู่ 2 ไร่ นาทั้ง 2 ไร่นี้ใช้น้ำที่ล้นจากหอเก็บน้ำที่สร้างไว้เพื่อพักน้ำที่เหลือจากการใช้สอย ซึ่งน้ำที่ล้นนี้จะใช้ทำนาซึ่งเป็นนาข้าวแม่พันธุ์ ที่สามารถขายได้เกวียนละ 20,000 บาท สำหรับเงินนี้ส่วนหนึ่งจะเข้ากองทุนสวัสดิการของหมู่บ้าน พันธุ์ข้าวบางส่วนชาวบ้านจะขอไปปลูกเฉลี่ยครัวเรือนละ 1 ไร่ต่อปี ซึ่งเป็นการรับประกันว่าปีนั้นชาวบ้านจะได้เงินจากการขายข้าวแน่ๆ 20,000 บาท

เนื่องจากบ้านธารมะยมปลูกข้าวกันมาก และสามารถปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง ทางชุมชนจึงสร้างโรงสีข้าวของชุมชนไว้ด้วย เพื่อสีข้าวที่ปลูกในชุมชนเอง และรับสีข้าวจากชุมชนอื่นๆ ด้วย ช่วยลดต้นทุนของชาวนาในชุมชนและสร้างรายได้ให้กับชุมชนทางหนึ่งด้วย

แหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของบ้านธารมะยม คือ ลานตลาด หรือตลาดชุมชนที่ชาวบ้านนำพืชผัก อาหาร หรือของใช้ที่มีมาขาย เพื่อสร้างรายได้ที่หมุนเวียนอยู่ภายในชุมชนตัวเอง ไม่รั่วไหลไปสู่ภายนอก นอกจากนี้ยังเป็นตลาดความคิด ที่สร้างการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน สิ่งต่างๆ ระหว่างคนในชุมชนด้วย เมื่อชาวบ้านได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน ก็จะมองเห็นความเชื่อมโยงของปัญหาต่างๆ ทั้งของชุมชนตัวเองและปัญหาจากภายนอกด้วย

นอกจากนี้ยังมีธนาคารชุมชน โดยเอาเงินกองทุนหมู่บ้านที่ได้จากรัฐบาลมาจัดสรรใหม่ ให้ชาวบ้านกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด เพื่อให้ชาวบ้านไปใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือไปกู้ ธ.ก.ส. น้อยๆ เพื่อให้ชาวบ้านหมดหนี้ ธ.ก.ส. เร็วขึ้น และมีดอกเบี้ยหมุนเวียนภายในชุมชน

เมื่อชุมชนมีแหล่งน้ำและอาหารที่สมบูรณ์ มีอาชีพ มีงานทำ เศรษฐกิจชุมชนดี ชุมชนก็จะมีความเข้มแข็ง ดังนั้น “ป่า” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์ เพราะป่าสร้างน้ำ น้ำสร้างเศรษฐกิจ เศรษฐกิจสร้างรายได้ รายได้กลับคืนสู่ชุมชนกลายเป็นสวัสดิการ เมื่อชุมชนสามารถดำรงอยู่และดูแลตัวเองได้ ความเข้มแข็งก็เกิดขึ้นกับชุมชนนั้น เหมือนชาวบ้านธารมะยมที่ช่วยกันสร้างและรักษาป่ามากว่า 10 ปี