ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ความรู้เรื่องทางการเงิน” (financial literacy) (3): จากพฤติกรรมสู่วิธีให้ความรู้

“ความรู้เรื่องทางการเงิน” (financial literacy) (3): จากพฤติกรรมสู่วิธีให้ความรู้

8 สิงหาคม 2013


สฤณี อาชวานันทกุล

ตอนที่แล้วสรุปข้อค้นพบบางประการเกี่ยวกับ “พฤติกรรมทางการเงิน” ของคนไทย จากงานวิจัย“การเข้าถึงบริการทางการเงิน” (financial inclusion) โดยมีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นแม่งาน ซึ่งผู้เขียนได้ร่วมเป็นสมาชิกทีมวิจัย

ผู้เขียนทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า พฤติกรรมทางการเงินเหล่านี้ “มีความหมายอะไร สำคัญอย่างไรต่อการออกแบบวิธี “ให้ความรู้ทางการเงิน” ที่ได้ประสิทธิผล?”

ลองมาตอบคำถามนี้ตามข้อค้นพบทีละข้อ

1. ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่เป็น “ปัญหา” คือประเภทที่เกิดกะทันหัน และอาศัยทุนทางสังคมไม่ได้ + คนไทยโดยรวมยังไม่ออมเงินระยะยาว = ต้องบูรณาการการให้ความรู้ทางการเงินในการออกแบบผลิตภัณฑ์เงินออมระยะยาว

การประสบอุบัติเหตุหรือโรคร้ายแรงมักก่อให้เกิดปัญหาทางการเงิน เพราะครอบครัวไม่ทันตั้งตัว ไม่มีเงินออมมากพอที่จะรองรับ ไม่เคยซื้อประกัน ส่วนระบบประกันสุขภาพของภาครัฐก็ไม่ครอบคลุมหรือดีพอที่จะทำให้คนในครอบครัวรู้สึกอุ่นใจว่า คนป่วยผู้เป็นที่รักจะหายดีได้โดยไม่ต้องขวนขวายซื้อบริการเอกชนเพิ่ม

ปัญหาทางการเงินที่เกิดจากเหตุฉุกเฉินบ่งชี้ว่าคนไทยโดยรวมยังไม่มีการวางแผนการออมระยะยาว จากผลการสำรวจระดับชาติของ FinScope ซึ่งเป็นเครื่องมือวิจัยเชิงปริมาณ คนไทยเพียงร้อยละ 42 ตอบว่าพวกเขามีเงินออม “เพียงพอ” สำหรับการใช้จ่ายแต่ละเดือน เมื่อถามต่อว่าออมเงินไปทำไม เกินครึ่งตอบว่าเพื่อสนองความต้องการระยะสั้น อย่างเช่นค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภค ไม่ถึงหนึ่งในสามให้เหตุผลระยะยาว อย่างเช่นการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ หรือออมเป็นค่าการศึกษาระดับสูงของลูกๆ

ข้อค้นพบข้อนี้ชี้ว่า เมืองไทยยังมีโอกาสทางตลาดสูงมากสำหรับผลิตภัณฑ์เงินออมระยะยาว รวมถึงกลไกของภาครัฐอย่างเช่นกองทุนการออมแห่งชาติ (ซึ่งกฎหมายออกมาแล้วตั้งแต่ปี 2554 แต่ผ่านไปกว่าสองปีก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะถูกบังคับใช้)

โฆษณาของกองทุนการออมแห่งชาติ ประกาศเปิดรับสมาชิก 8 พ.ค. 2555 แต่ ณ 30 ก.ค. 56 ยังไม่มีการรับสมาชิก ที่มาภาพ: http://www.fpo.go.th/FPO/index2.php?mod=Content&file=contentview&contentID=CNT0007052&categoryID=CAT0001175
โฆษณาของกองทุนการออมแห่งชาติ ประกาศเปิดรับสมาชิก 8 พ.ค. 2555 แต่ ณ 30 ก.ค. 56 ยังไม่มีการรับสมาชิก ที่มาภาพ: http://www.fpo.go.th/FPO/index2.php?mod=Content&file=contentview&contentID=CNT0007052&categoryID=CAT0001175

ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ว่าจะของเอกชนหรือรัฐ ควรบูรณาการการให้ความรู้ทางการเงินเข้าไปในกระบวนการออกแบบ การตลาด และการส่งมอบผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น แคมเปญโฆษณาเงินออมเพื่อการศึกษาอาจคำนวณว่า ออมเงินเพียง X บาทในวันนี้ เพื่อส่งลูกเรียนจบมหาวิทยาลัยในอีก Y ปี

2. หนี้ที่สร้าง “ปัญหา” จริงๆ คือหนี้ที่กำหนดยอดชำระสูง และเงินต้นไม่ลดลงระหว่างทาง + คนไทย “กลัว” การเป็นหนี้ = ต้องปรับปรุงมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลสินเชื่อ และให้ความรู้เรื่องวิธีจัดการหนี้

ยิ่งคนมีฐานะการเงินเปราะบางเท่าไร ฟีเจอร์ (feature) ของสินเชื่อที่เขาต้องการที่สุดยิ่งเป็น “ยอดชำระน้อย” ในแต่ละเดือน “อัตราดอกเบี้ยต่ำ” “ระยะเวลาผ่อนนาน” และ “ยืดหยุ่น” (เจรจาผ่อนผันกับเจ้าหนี้ได้เวลาที่ผิดนัดชำระ) เท่านั้น เพราะยอดชำระที่ต้องจ่ายแต่ละเดือนเป็นเรื่องที่เร่งด่วนกว่าภาระหนี้โดยรวม หนี้แบบไหนเรียกให้จ่ายยอดสูงๆ เช่น หนี้นอกระบบซึ่งบังคับให้ชำระเงินต้นตูมเดียวทั้งก้อน หนี้แบบนั้นคนยิ่งสุ่มเสี่ยงว่าจะคืนไม่ได้ พอไม่ได้ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยทบต้นหรือดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดต่อไป พอกพูนภาระหนี้หนักกว่าเดิมอีก

รศ.วันชัย มีชาติ กับงานวิจัยเรื่องหนี้นอกระบบ ดูรายละเอียดที่ http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/352131
รศ.วันชัย มีชาติ กับงานวิจัยเรื่องหนี้นอกระบบ ดูรายละเอียดที่ http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/352131

ยุคนี้เป็นยุคที่คนไทยหนี้พุ่งเร็วกว่ารายได้ โดยในไตรมาสแรกของปี 2556 อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีพุ่งไปอยู่ที่ร้อยละ 75 จากร้อยละ 51 เมื่อแปดปีก่อน ในช่วงเวลาเดียวกัน อัตราส่วนรายได้ครัวเรือนต่อจีดีพีค่อนข้างแน่นิ่งอยู่ที่ร้อยละ 53-54 ชี้ว่าคนไทยน่าจะมีศักยภาพในการใช้หนี้น้อยลง

ในภาวะเช่นนี้ งานวิจัยเราพบว่ามีแรงงานในภาคการเกษตรไม่ถึงร้อยละ 30 เท่านั้นที่คำนวณอัตราดอกเบี้ยเป็น คนกว่าครึ่งไม่รู้ว่าตัวเองจ่ายดอกเบี้ยในอัตราเท่าไรต่อปี รู้แต่ตัวเลขจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนจากใบแจ้งหนี้ของสถาบันการเงินเท่านั้น นอกจากนี้ ในบรรดาคนที่มีข้อข้องใจกับผู้ให้บริการทางการเงิน เช่น ไม่แน่ใจว่าธนาคารคิดค่าธรรมเนียมถูกหรือไม่ มีเพียงร้อยละ 44 เท่านั้นที่ร้องเรียน และคนจำนวนมากบอกว่า ไม่เข้าใจเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้

ข้อค้นพบทั้งหมดนี้ชี้ว่า มีโอกาสสูงมากที่จะปรับปรุงมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล ริเริ่มโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างสินเชื่อประเภทต่างๆ ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีจัดการหนี้ เรื่อยไปถึงการกำหนดให้สถาบันการเงินเลิก “ขายพ่วง” แบบบังคับ

อันที่จริง กรณีการขายพ่วงนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศ “แนวนโยบายการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เนื้อหาระบุชัดว่า “ห้ามธนาคารพาณิชย์บังคับขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยควบคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ หรือกำหนดเป็นเงื่อนไขในการขายหรือให้บริการผลิตภัณฑ์หลัก เช่น ให้ผู้บริโภคทำประกันภัยกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพื่อเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาการให้สินเชื่อ หรือให้ผู้บริโภคทำประกันชีวิตก่อนเมื่อขอใช้บริการเช่าตู้นิรภัย โดยธนาคารพาณิชย์ต้องให้สิทธิแก่ผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคปฎิเสธการซื้อผลิตภัณฑ์ได้”

อย่างไรก็ตาม ธปท. ไม่มีอำนาจกำกับสถาบันการเงินของรัฐอย่างธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ ข้อนี้จึงเป็นช่องโหว่ในการกำกับดูแลที่รัฐต้องเข้ามาอุด

3. คนไทยโดยรวมรู้สึก “เครียด” กับการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย = สร้างเครื่องมือให้ความรู้ทางการเงินอย่างเดียวไม่พอ ต้อง ‘ฝัง’ การให้คำแนะนำอย่างสร้างสรรค์ด้วย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนใช้เครื่องมือจริงๆ

งานวิจัยเชิงคุณภาพของเราพบว่า คนไทยจำนวนมากทำบัญชีเป็น แต่พวกเขาหยุดทำต่อหลังจากทำไปแค่ 1-2 เดือน เหตุผลอันดับหนึ่งที่คนเลิกทำคือ รู้สึก “เครียด” ที่เห็นรายจ่ายยาวเหยียดกว่ารายได้ ข้อค้นพบนี้ชี้ว่า การสร้างแรงจูงใจให้คน “หายเครียด” เวลาบันทึกรายรับรายจ่าย เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่ทำแค่แจกเครื่องมือ เช่น บัญชีครัวเรือน แล้วคิดเอาเองว่าผู้รับจะทำบัญชีอย่างต่อเนื่อง

พูดอีกอย่างคือ เครื่องมือให้ความรู้ทางการเงินนั้นจะต้องมีการ ‘ฝัง’ คำแนะนำที่สร้างสรรค์ แสดงผล (ฟีดแบค) อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนใช้เครื่องมือจริงๆ เพราะอย่าลืมว่า สิ่งที่เราอยากเห็นคือ คนไทยมี “ความรู้เรื่องทางการเงิน” (financial literacy) ซึ่งต้องแสดงให้เห็นผ่านการใช้ “ทักษะทางการเงิน” (financial capabilities) ไม่ใช่ว่า “ได้รับการศึกษา” (financial education) อย่างเดียว แต่ไม่นำความรู้ไปใช้เลย แบบนั้นก็แปลว่ายังไม่มีทักษะ ยังไม่มีความรู้เรื่องทางการเงินจริงๆ

เปรียบเสมือนกับถ้าเราไปเรียนขับรถ กลับมาบอกคนที่บ้านว่า เรามีความรู้เรื่องการขับรถแล้วนะ แต่ปรากฏว่าเรายังขับรถไม่เป็น นั่นก็เท่ากับว่าเรายังไม่มีความรู้เรื่องการขับรถจริงๆ ถึงแม้จะผ่านการอบรมมาแล้วก็ตาม

นอกเหนือจากข้อค้นพบข้างต้นและนัยต่อวิธีการให้ความรู้ทางการเงินแล้ว งานวิจัยของเรายังพบประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับโอกาสการเพิ่มระดับความรู้เรื่องทางการเงิน เช่น เราพบว่าคนไทยโดยรวมใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลายและมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับผู้ให้บริการทางการเงิน เช่น คนไทยกว่าร้อยละ 88 มีโทรศัพท์มือถือ (แม้แต่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 83 ก็มีมือถือ) คนไทยกว่าร้อยละ 75 มีบัญชีเงินฝาก และร้อยละ 79 บอกว่า “ไว้ใจเก็บเงินไว้ที่ธนาคาร” แต่ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 1 ที่ใช้บริการธนาคารผ่านมือถือ นอกจากนี้ก็ยังมีความเข้าใจผิดค่อนข้างมาก เช่น คนไทยจำนวนไม่น้อยสับสนระหว่าง “ประกัน” ของเอกชน กับ “สวัสดิการ” ของภาครัฐ และไม่เข้าใจความหมายของ “เงินเฟ้อ” และ “เบี้ยประกัน”

สถิติผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ ที่มาภาพ: http://www.telco.mut.ac.th/telco/index.php/en/news/3-2009-08-14-13-13-16/213-2012-05-12-11-00-44
สถิติผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือ ที่มาภาพ: http://www.telco.mut.ac.th/telco/index.php/en/news/3-2009-08-14-13-13-16/213-2012-05-12-11-00-44

ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดคำถามว่า แล้วโครงการ “ให้ความรู้ทางการเงิน” ต่างๆ นานาที่มีอยู่ในประเทศไทยเวลานี้ “ตอบโจทย์” ข้างต้นของคนไทยได้หรือไม่เพียงใด มีตัวอย่างโครงการ วิธีการ เครื่องมือ หรือผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศอะไรบ้าง ที่สามารถยกระดับความรู้เรื่องทางการเงินของผู้บริโภคได้สำเร็จ?

โปรดติดตามตอนต่อไป.