ThaiPublica > คอลัมน์ > ลดรัฐ ลดคอร์รัปชัน

ลดรัฐ ลดคอร์รัปชัน

1 กรกฎาคม 2013


อำนาจรัฐนั้นคือ “สินค้า” ของการคอร์รัปชัน

เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว การคอร์รัปชันก็ไม่ใช่อะไรนอกเสียจากการซื้อขายอำนาจรัฐ ฝ่ายหนึ่งก็อยากจะจ่ายสตางค์ เพื่อ “ซื้อ” อำนาจรัฐมาไว้กับตัว จะได้เอาไปเสริมธุรกิจหรือบารมีของตัวเอง ในขณะที่อีกฝ่ายก็พร้อมจะ “ขาย” อำนาจรัฐนั้นเพื่อแลกกับสตางค์

ดังนั้น ถ้าอำนาจรัฐยิ่งขยายตัว ก็เท่ากับว่ามี “สินค้า” สำหรับให้นักคอร์รัปชันซื้อขายได้มาก กิจการคอร์รัปชันก็ยิ่งคึกคักขึ้นเป็นเงาตามตัว ในทางตรงกันข้าม ถ้าดึงอำนาจรัฐออกไปเสียอย่าง ก็เป็นอันว่าไม่มีอะไรจะซื้อขาย กิจการคอร์รัปชันก็จะถึงคราวต้องปิดร้าน

อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาตามอุปมาอุปไมยนี้ ดูเหมือนรัฐไทยจะช่วยให้กิจการคอร์รัปชันได้เปิดสาขาเพิ่ม มากกว่าจะปิดร้าน เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในขณะที่คนไม่ค่อยสังเกต รัฐไทยมีการขยายตัวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะพิจารณาจากขนาด บทบาท หรืออำนาจ

ที่ว่า “ขนาด” ของรัฐขยายตัวนั้นดูจากอะไร ก็ดูได้ง่ายๆ จาก “ความใหญ่” ของจำนวนเงินที่รัฐเป็นคนใช้คนจ่ายนั่นเอง เพราะรัฐยิ่งใหญ่เท่าไร เงินต่างๆที่รัฐต้องใช้ก็ยิ่งจะต้องใหญ่ขึ้นตามส่วนเหมือนกัน โดยแม้ว่าเงินที่รัฐเป็นคนใช้คนจ่ายนั้นมีด้วยกันหลายตัว แต่รับรองว่าหยิบตัวไหนมาก็มีสัดส่วนเติบโตขึ้นทั้งนั้น โดยจะเทียบจากสัดส่วนของเงินจำนวนนั้นๆ ต่อ GDP ก็ได้

ตัวอย่างแรกก็คือเงินงบประมาณ… ในปี 2541 นั้น เงินที่รัฐใช้จ่ายเป็นงบประมาณ มีขนาดเพียงร้อยละ 18 ของ GDP แต่ทุกวันนี้สัดส่วนงบประมาณของรัฐต่อ GDP นั้น ปาเข้าไปร้อยละ 22

ต่อมาก็คือรัฐวิสาหกิจ …ในปี 2541 นั้น ค่าใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด มีขนาดเพียงร้อยละ 13 ต่อ GDP แต่ทุกวันนี้ขึ้นไปถึงร้อยละ 38 หรือปีละสี่ล้านล้านบาท

อีกตัวก็คือสถาบันการเงินของรัฐ…ในปี 2541 นั้น ขนาดสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐซึ่งมีไว้สนองนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล อย่างเช่นธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธกส. พวกนี้ มีขนาดเพียงร้อยละ 11 ต่อ GDP แต่ทุกวันนี้ขึ้นไปเป็นร้อยละ 33

เรียกได้ว่าถัวๆแล้ว ในรอบสิบห้าปีมานี้ ขนาดของรัฐไทยในระบบเศรษฐกิจได้ขยายขึ้นเป็นสามเท่าตัวเลยทีเดียว
แต่ยิ่งกว่านั้นคือ รัฐไทยไม่ได้ขยายตัวในเชิง “ขนาด” เท่านั้น แต่ยังขยายตัวในเชิง “อำนาจ” อีกด้วย กล่าวคือทุกวันนี้ รัฐแสดงตัวออกมาในรูปแบบขององค์กร องค์กรอิสระ หน่วยงาน คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ กรม สำนักงาน หรือสถาบันต่างๆมากมาย มีอำนาจทับซ้อนกันไปมาอีนุงตุงนังไปหมด จนบางทีต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนตัดสินด้วยซ้ำ ว่าเรื่องไหนใครเป็นคนดู

ทั้งนี้ ยังไม่ต้องเถียงกันว่าแต่ละหน่วยงานที่ตั้งๆมานั้นจะมีประโยชน์หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือแต่ละหน่วยนั้นเมื่อตั้งมาแล้วก็ล้วนแต่มีอำนาจให้คุณให้โทษกันหมด ไม่ให้แก่เอกชนก็ให้แก่หน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง แต่ละหน่วยๆ จึงมี “อำนาจรัฐ” ที่สุกงอม พร้อมที่จะเอาไปขายในตลาดแห่งการคอร์รัปชันได้ทั้งสิ้น จนดูเหมือนว่ายิ่งตั้งหน่วยงานขึ้นมาตรวจสอบ ไม่ช้าตัวหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมานั่นแหละ ก็จะกลายเป็นที่ๆสมควรถูกตรวจสอบเสียเอง ตั้งไปตั้งมาอำนาจรัฐจึงขยายเอาๆ แต่กลับไม่ได้มีทีท่าว่าจะโปร่งใสผุดผ่องขึ้นสักเท่าใดเลย

ท้ายที่สุด รัฐไทยยังมีการขยายตัวในเชิงของ “บทบาท” กล่าวคือรัฐไม่ได้พอใจอยู่กับการทำหน้าที่พื้นฐานอย่างเช่นดูแลความสงบเรียบร้อย จัดตั้งและกำกับกลไกของตลาด หรือบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่ยังไปทำกิจการบางอย่าง เช่นการครอบงำตลาดข้าวโดยสมบูรณ์ การหารถคันแรก การอุดหนุนราคาแก๊ส หรืออะไรเทือกๆนี้ ซึ่งเดิมล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ธุระของรัฐ จึงเท่ากับเป็นการเพิ่มช่องให้มีคอร์รัปชันให้มากกว่ารัฐทั่วๆไปเสียอีก

โดยนัยนี้ ในเมื่อรัฐเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าในเชิงของขนาด อำนาจ หรือบทบาท ต่อให้สมมติในสิบห้าปีที่ผ่านมา “อัตรา” การคอร์รัปชันของประเทศเราไม่เพิ่มขึ้นเลย แต่ “ขนาด” ของคอร์รัปชันจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อยๆก็สามเท่าของเมื่อสิบห้าปีก่อนแล้วตามการขยายตัวของรัฐ การจะลดคอร์รัปชัน จึงมีแต่จะต้องทำไปพร้อมๆ กันกับการลดขนาดของรัฐเท่านั้น

อย่าว่าแต่การล่มสลายของระบอบคอมมูนิสต์ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า รัฐที่ “แสนดี แสนเก่ง” ไปทุกเรื่องนั้นไม่มีอยู่จริง ดังนั้นไม่ว่าจะมีคอร์รัปชันหรือไม่ การจะให้รัฐเข้ามาบริหารจัดการทุกเรื่องราวอันจะทำให้รัฐขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ นั้น ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดอยู่ในตัวเองเสียแล้ว

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ โกงกินสิ้นชาติ โดย หางกระดิกหมา น.ส.พ. โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 30 พฤษภาคม 2556