ThaiPublica > คอลัมน์ > กับดักประเทศ

กับดักประเทศ

22 กรกฎาคม 2013


หางกระดิกหมา

หลายๆ คนคงเคยได้ยินแล้วว่าปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่เป็นสาเหตุของอีกหลายๆ ปัญหาก็คือ ประเทศไทยกำลังติด “กับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) อย่างไม่มีทีท่าว่าจะเดินออกในเร็วๆ นี้

สาเหตุที่ต้องเรียกว่า “กับดัก” ก็เพราะ เช่นเดียวกับธรรมชาติของกับดักทั้งหลาย ซึ่งมีไว้ให้เดินเข้าไปเตะได้ง่าย แต่ดิ้นหลุดได้ยาก การได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางก็เช่นกัน คือจะเป็นนั้นง่าย แต่ถึงเวลาอยากจะเลิกเป็น กล่าวคือเลิกเป็นประเทศรายได้ปานกลาง และเขยิบตัวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงนั้นทำได้ยากแสนยาก อย่างที่เคยมีคนศึกษาไว้ว่าใน ค.ศ. 1960 นั้น มีประเทศที่ได้รับชื่อว่าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางรวม 101 ประเทศ แต่ห้าสิบปีผ่านไป มีเพีียง 13 ประเทศ เท่านั้นที่สลัดกับดักหลุดและเดินต่อมาเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้

ถ้าฟังเผินๆ การเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางนั้นอาจดูไม่อันตราย ออกจะให้ความรู้สึกกลมกล่อม พอดีๆ เข้ากับคติทางสายกลางของคนไทยเลยด้วยซ้ำ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ในทางเศรษฐศาสตร์ การเป็นประเทศที่ีรายได้ปานกลางนั้นถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะมันหมายความว่าประเทศนั้นๆ จะขายของสู้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่าก็ไม่ได้เพราะค่าแรงประเทศตนสูงกว่า ครั้นจะไปสู้กับประเทศที่มีรายได้สูงกว่าก็ไม่ได้อีก เพราะประเทศตนยังไร้ความสามารถในการผลิตของที่มีคุณภาพสูงพอจะขายแพงๆ อย่างประเทศที่มีรายได้สูงเขาได้

ถ้าอย่างกรณีของประเทศไทยก็คือ เราจะแพ้พม่าเพราะค่าแรงเราแพงกว่าเขา และจะแพ้ไต้หวันเพราะขายของซึ่งคุณภาพไม่ดีเท่าเขา การเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ในที่สุดแล้วจึงหมายถึงการเป็นนกมีหู หนูมีปีก ซึ่งจะเข้าประกวดสนามไหนก็แพ้ทั้งนั้น

ทั้งนี้ หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศเราตกอยู่ในกับดักนี้ก็เพราะว่าประเทศเรามีการลงทุนเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาหรือ “R&D” ต่ำมาก ทั้งๆ ที่ R&D นั้นเป็นทั้งหัวใจของการพัฒนากระบวนการผลิตให้ประมีประสิทธิภาพมากขึ้นพอที่จะลดต้นทุนให้ต่ำลงและหรือพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้นได้ ไปๆ มาๆ ประเทศไทยจึงวนเวียนอยู่แต่กับการสร้างกำไรโดยการกดต้นทุน กล่าวคือ ค่าแรงให้ต่ำ ซึ่งทั้งโหดร้ายต่อผู้ใช้แรงงาน และสุดท้ายก็กดไว้ให้ต่ำกว่าประเทศอื่นตลอดไปไม่ได้อยู่ดี

ยกตัวอย่างเป็นตัวเลขก็ได้ ประเทศไทยทุกวันนี้ลงทุนใน R&D เพียง 1% ของ GDP ในขณะที่ประเทศจีนลงทุนถึง 4.5% ของ GDP ซึ่งในเมื่อ GDP ของจีนนั้นใหญ่กว่าของไทย 20 เท่า เทียบกันแล้วจึงเท่ากับว่าปีๆ หนึ่งจีนลงทุนกับ R&D มากกว่าเรา 90 เท่า หรือจะไม่พูดถึงจีนทั้งประเทศก็ได้ เพราะทุกวันนี้ ตามสถิติการจดสิทธิบัตรทั่วโลก แค่บริษัทหัวเว่ย (Huawei) บริษัทเดียวก็จดสิทธิบัตรมากกว่าประเทศไทยทั้งประเทศ 3 เท่า อยู่แล้ว

โดยเรื่องการพัฒนา R&D นี้ จะหวังพึ่งภาครัฐก็ลำบาก เพราะในประเทศไทยนี้ ลำพังงบประมาณของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งกระทรวงยังน้อยกว่างบประมาณประชาสัมพันธ์ผลงานภาครัฐของหน่วยงานภาครัฐด้วยซ้ำ ดังนั้น งบ R&D ก็เป็นอันไม่ต้องพูดถึง อย่าว่าแต่นายกฯ เพิ่งพูดไปหยกๆ ว่าจะให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ผลงานเป็นอันดับหนึ่งราวกับห่างเหินมานานเสียอีกต่างหาก เรียกได้ว่าถ้าประเทศไทย มีคนจดสิทธิบัตรได้มากพอๆ กับจำนวนป้ายประชาสัมพันธ์ผลงานของบรรดานายกฯ รัฐมนตรี และเจ้ากระทรวงทบวงกรมต่างๆ ที่ดารดาษอยู่แทบทุกหัวมุมถนนในทุกวันนี้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นเราจึงจะมีหวังเรื่องการกระโดดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปได้

เอาเถิด เรื่องการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐเป็นไปตามเหตุผลทางการเมืองมากกว่าความจำเป็นอย่างที่ว่ามานี้พักไว้ก่อนก็ได้ เพราะรัฐบาลไหนๆ ก็มักไม่ค่อยดีกว่ากันในเรื่องนี้ แต่ที่น่าแปลกก็คือ เหตุใดภาคเอกชนในประเทศไทย ซึ่งมีเหตุผลเต็มที่ที่จะทุ่มทำ R&D เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้สินค้า อันหมายถึงความได้เปรียบและผลกำไรของธุรกิจโดยตรง สุดท้ายกลับมีงบ R&D ต่ำ ไม่ได้ดีไปกว่าภาครัฐสักเท่าไหร่

เรื่องแปลกนี้อธิบายได้ว่าเป็นเพราะประเทศไทยมีทางเลือกอื่นให้กับเอกชนในการเพิ่มความได้เปรียบกับธุรกิจนอกเหนือจากการ R&D กล่าวคือการคอร์รัปชันและจ่ายสินบน เพราะทันทีที่บริษัทใดยอมจ่ายสินบน ไม่ว่าจะเพื่อล็อคสเปคเงื่อนไขการประมูล ล็อคสเป็คสัมปทาน หรือกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรมโดยประการใดๆ ก็ตาม ก็รับรองว่าบริษัทนั้นจะได้รับความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือกว่าบริษัทอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่ง ไม่ว่าบริษัทอื่นๆ นั้นจะ R&D ได้กายสิทธิ์และมีสินค้าคุณภาพหรือราคาของสินค้าดีกว่าเพียงใด ดังนี้ สุดท้ายเอกชนไทยก็เลยหันมาทุ่มเทกับการคอร์รัปชันแทน R&D กันหมดจนติดกับดักกันทั้งประเทศอย่างที่กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่คนหนึ่งกล่าวว่า ไม่ว่า R&D ในเรื่องอื่นๆ จะเป็นอย่างไร แต่รับรองว่า R&D ในการสร้างนวัตกรรมคอร์รัปชันให้จับไม่ได้ไล่ไม่ทันของเอกชนไทยนั้นไม่แพ้ชาติใดในโลกแน่ โดยท่านให้เหตุผลว่า ไม่อย่างนั้น หน่วยงานความโปร่งใสสากลน่าจะมองเห็นคอร์รัปชันในเมืองไทยได้เยอะกว่านี้ และปรับดัชนีคอร์รัปชันของเราให้ตกทะลุพื้นไปอยู่ที่ 2.0 แทนที่จะได้เป็น 3.5 อย่างปัจจุบัน

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ โกงกินสิ้นชาติ โดยหางกระดิกหมา น.ส.พ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 24 มิถุนายน 2556