ThaiPublica > คอลัมน์ > คำสาปของความยากจนที่มีต่อกีฬา

คำสาปของความยากจนที่มีต่อกีฬา

24 เมษายน 2013


สมคิด พุทธศรี

หลายๆ คนเชื่อว่าความสามารถในการเล่นกีฬานั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล และไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับความยากมีดีจนแต่อย่างใด หรือถ้าหากว่าฐานะทางเศรษฐกิจจะเกี่ยวข้องกับความสามารถในการเล่นกีฬา คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า ความยากจนต่างหากที่เป็นแรงผลักดันในการเล่นกีฬา เพราะกีฬาเป็นวิธีการหนีออกไปจากความยากจน

ในโลกของฟุตบอล คำอธิบายดังกล่าวก็ดูจะสอดคล้องกับความจริงไม่น้อยนัก นักฟุตบอลระดับตำนาน อย่าง ดิเอโก้ มาราโดน่า และ ซีเนอดีน ซีดาน ก็ล้วนมีวัยเด็กที่ยากลำบาก ในขณะที่นักฟุตบอลที่ชั้นนำของโลกปัจจุบัน อย่าง ลีโอเนล เมสซี, คริสเตียโน่ โรนัลโด้, ซลาทาน อิบราฮิโมวิช หรือ เวนย์ รูนีย์ นั้นก็เกิดมาในครอบครัวของผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะในกรณีของเมสซีที่ถือว่าเป็นคน ‘ตัวเล็ก’ กว่าคนอื่นๆ เนื่องจากในวัยเด็กครอบครัวของเขาไม่สามารถหาอาหารที่มีโภชนาการที่ดีได้อย่างเพียงพอ

นอกจากระดับปัจเจกบุคคลแล้ว เมื่อมองในระดับทีม เราก็อาจเห็นภาพไม่ต่างกันในบรรดาชาติมหาอำนาจลูกหนังหลายทีม เช่น อังกฤษฝรั่งเศส อาร์เจนตินา และบราซิล นักเตะส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนที่มาจากครอบครัวคนชั้นล่างของสังคม มีแค่ส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ลูกคนรวย’ หรือมีภูมิหลังครอบครัวเป็นชนชั้นกลาง เราแทบจะไม่พบเลยว่า พวกเขามีพ่อแม่เป็นนักธุรกิจ ทนายความ นักกฎหมาย วิศวกร หมอ ฯลฯ

เรื่องราวของเหล่าบรรดา ‘ฮีโร่’ ในโลกกีฬาของไทย โดยเฉพาะ ‘ฮีโร่’ ที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จระดับโลกหลายคนก็มักอยู่ในท้องเรื่องแบบเดียวกันนี้ สมรักษ์ คำสิงห์, บัวขาว ป. ประมุข, เขาทราย แกแล็คซี ต่างก็ต่อยมวยเพื่อปากท้องตั้งแต่เด็ก ก่อนที่จะใช้ความสามารถบนสังเวียนผ้าใบสร้างฐานะให้กับตนเอง ในขณะที่คนอย่าง ‘น้องเก๋’ ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล หรือ ‘น้องแต้ว’ พิมศิริ ศิริแก้ว ต่างก็เคยมีฐานะยากจน ก่อนที่ความสำเร็จในฐานะนักกีฬาเหรียญโอลิมปิกจะเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้น

หรือ “ความยากจน” จะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างยอดนักกีฬาระดับโลกจริงๆ ?

Simon Kuper และ Stefan Szymanski สองคอลัมนิสต์เรื่องกีฬา ได้เขียนหนังสือร่วมกันชื่อ Soccernomics ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับฟุตบอลและกีฬาชนิดอื่นๆ ในมิติที่หลากหลายน่าสนใจ อาทิ ธุรกิจกีฬา การจัดการสโมสรกีฬา การจัดการทีม แฟนกีฬา ฯลฯ โดยมีบทหนึ่งที่ทั้งคู่พยายามที่จะไขปริศนาว่าด้วยความยากจนและความสำเร็จในด้านกีฬา

ทั้งสองคนไม่ปฏิเสธว่า นักฟุตบอลและนักกีฬาชั้นแนวหน้าของโลกมักจะมาจากครอบครัวที่เป็นชนชั้นล่างของสังคม แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาโต้แย้งว่าความยากจนไม่ใช่เงื่อนไขของการประสบความสำเร็จในด้านกีฬา ในทางตรงกันข้าม ความมั่งคั่งต่างหากที่เป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศหรือสังคมหนึ่งๆ สามารถสร้างนักกีฬาและประสบความสำเร็จในด้านกีฬาได้1

Kuper และ Szymanski ได้สร้างดัชนีสำหรับวัดความสำเร็จด้านกีฬาเป็นการเฉพาะขึ้นมา เพื่อจัดอันดับว่าประเทศไหนประสบความสำเร็จด้านกีฬามากที่สุดในโลก โดยดัชนีนี้สร้างขึ้นมาจากข้อมูลประวัติศาสตร์การแข่งขันกีฬาระดับโลกในอดีตหลายรายการภายใต้สมมติฐานชุดหนึ่งที่นักเขียนทั้งสองเชื่อว่าจะทำให้ดัชนีสามารถใช้วัดความสำเร็จทางด้านกีฬาอย่างเป็นมาตรฐาน และใช้เปรียบเทียบข้ามประเทศได้

การจัดอันดับประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านกีฬาของ Kuper และ Szymanski พบว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านกีฬา 12 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา โซเวียต/รัสเซีย สหราชอาณาจักร เยอรมัน ฝรั่งเศส บราซิล อิตาลี ออสเตรเลีย นอร์เวย์ อาร์เจนตินา สวีเดน สเปน ในจำนวนนี้จะเห็นว่ามีเพียงบราซิลเท่านั้นที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่เหลือล้วนแต่เป็นประเทศพัฒนาแล้วทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น

เมื่อพิจารณาความสำเร็จด้านกีฬาต่อหัว (นำดัชนีดังกล่าวมาหารด้วยจำนวนประชากรของแต่ละประเทศ) พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงในอันดับอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ 10 อันดับแรกที่ประสบความสำเร็จด้านกีฬาต่อหัวมากที่สุด ได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฮังการี กลุ่มประเทศสหพันรัฐอินเดียตะวันตก (West Indies Federation)2 ฝรั่งเศส และอิตาลี

การจัดอันดับข้างต้นนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า จริงๆ แล้วความมั่งคั่งของสังคมต่างหาก ที่เป็นปัจจัยสำคัญของการประสบความสำเร็จทางด้านกีฬา นอกจากนี้ ทั้งสองยังพบด้วยว่าดัชนีดังกล่าวมีค่าสหสัมพันธ์กับดัชนีการพัฒนาของมนุษย์ (Human Development Index: HDI)3 ค่อนข้างสูง กล่าวคือ ประเทศใดมี HDI สูง ก็มีแนวโน้มที่จะมีดัชนีความสำเร็จทางด้านกีฬาสูงด้วย

แล้วความมั่งคั่งของประเทศส่งผลต่อความสำเร็จทางด้านกีฬาอย่างไร?

Kuper และ Szymanski อธิบายโดยยกตัวอย่างประเทศนอร์เวย์ซึ่งเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จทางด้านกีฬาต่อหัวสูงที่สุดว่า นอร์เวย์เป็นประเทศที่ร่ำรวย และนโยบายรัฐเองก็ส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มในสังคมมีสิทธิที่จะเล่นกีฬาได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไร อาศัยอยู่ที่ไหน และชอบเล่นกีฬาประเภทใดก็ตาม

รัฐบาลนอร์เวย์สร้างสนามกีฬาหลายๆ แบบไว้ในแทบทุกมุมเมืองและชุมชน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเล่นกีฬาที่ตนเองชอบได้ง่าย ไม่เพียงแต่สนามกีฬาเท่านั้น อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นห้องเก็บของที่ปลอดภัย หรือห้องน้ำที่สะอาดและอุ่นเพียงพอ ที่สำคัญคือ ในทุกๆ สนามกีฬา จะมีผู้ฝึกสอนที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและฝึกสอนผู้มาใช้บริการ บรรดาเด็กๆ ต่างเข้าเข้าถึงบริการเหล่านี้ โดยผู้ปกครองรับภาระโดยตรงเพียงแค่ 150 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนนอร์เวย์ที่อยู่ที่ประมาณ 60,500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

ด้วยสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นนี้ ชาวนอร์เวย์แทบทุกคนจึงเลือกเล่นกีฬาอย่างน้อย 1 อย่าง งานศึกษาของกรรมาธิการยุโรปในปี 2004 เองก็พบว่าชาวนอร์เวย์เป็นกลุ่มคนที่ใช้เวลาในการเล่นกีฬามากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยใช้เวลาเฉลี่ย 13 นาทีต่อวันสำหรับการเล่นกีฬา

นอกจากสาธารณูปโภคพื้นฐานทางกีฬาแล้ว ความมั่งคั่ง/ความยากจน ยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อผลงานทางด้านกีฬาอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ เรื่องโภชนาการและสารอาหาร การเข้าถึงบริการสาธารณะสุข ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่องานกีฬาทั้งสิ้น

คำสาปของความยากจนที่มีต่อการเล่นกีฬาเห็นได้ชัดเจนที่สุดในทวีปแอฟริกา มีนักฟุตบอลแอฟริกันจำนวนมากที่ถูกจับตามองว่าเป็นผู้เล่นที่มีพรสวรรค์แต่ไม่สามารถไปถึงดวงดาวได้ เพราะสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย ตัวอย่างรูปธรรม คือ ในการคัดเลือกนักเตะทีมชาติแอฟริกาใต้เพื่อเตรียมแข่งฟุตบอลโลกในปี 2010 มีผู้เล่นที่ถูกตัดออกจากทีมเพราะติดเชื้อเอดส์มากถึง 5 คน ในขณะที่หนึ่งในนักเตะทีมชาติคนสำคัญต้องเสียชีวิตด้วยวัณโรคก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้นเพียงเดือนเดียว

เป็นเรื่องที่ยากจะจินตนาการว่า เรื่องราวในลักษณะดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับทีมชาติของประเทศพัฒนาแล้ว

นอกจากปัญหาเรื่องสุขภาพพลานามัยแล้ว การจัดการด้านการกีฬา (sport management) ที่มีประสิทธิภาพและมีความเป็นมืออาชีพยังเป็นเรื่องจำเป็นอีกด้วย แต่การบริหารจัดการก็มิใช่เรื่องที่สามารถทำได้ง่ายๆ จำเป็นต้องอาศัยทั้งเงินทุน ความรู้ และเทคโนโลยี นักเขียนทั้งสองยกตัวอย่างปัญหาในการจัดการทีมฟุตบอลในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ทีม เช่น การเดินทางของทีมชาติแคเมอรูนไปแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 ที่ต้องเปลี่ยนเครื่องถึง 3 ครั้ง (เอธิโอเปีย อินเดีย ไทย) ก่อนที่จะถึงญี่ปุ่นช้าไปสี่วันหลังจากที่การแข่งขันอย่างเป็นทางการเริ่มขึ้นไปแล้ว หรือในกรณีของประเทศโตโกที่เข้าแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในปี 2006 ที่เยอรมัน แต่กลับต้องมีปัญหาความขัดแย้งภายในทีม เมื่อสมาคมฟุตบอลไม่สามารถหาเงินมาจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้กับนักเตะได้

ปัญหานอกสนามเช่นนี้ย่อมทำให้ผลงานในสนามตกต่ำลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่หนังสือ Soccernomics ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2009 Chistopher Anderson นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลได้เขียนบทความโต้แย้งว่า Kuper และ Szymanski ให้ความสำคัญกับ ‘ความมั่งคั่ง’ มากเกินไป พร้อมทั้งเสนอว่า ‘ประชาธิปไตย’ ต่างหากที่เป็นปัจจัยในการประสบความสำเร็จทางด้านกีฬา โดยเขาได้ศึกษาผลงานของทีมชาติที่เข้าแข่งขันฟุตบอลโลกระหว่างปี 1950–2006 และพบว่า ผลงานของทีมชาติต่างๆ ในการแข่งขันฟุตบอลโลกนั้นมีความสัมพันธ์กับความเป็นประชาธิปไตยในประเทศในขณะที่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไม่ได้มีผลต่อฝีเท้าแต่อย่างใด

เหตุผลคือ ประชาธิปไตยทำให้การจัดสรรทรัพยากรมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ยิ่งระดับประชาธิปไตยภายในประเทศสูงมากเท่าไหร่ การจัดสรรทรัพยากรก็จะกระจายทั่วถึงทุกคนยิ่งขึ้นมากเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดสรรทรัพยาการระบบการศึกษาและโรงเรียนที่มักจะผนวกรวมเรื่องของกีฬาไว้ด้วย กล่าวคือ ถ้าหากเราสามารถจัดหาโรงเรียนที่มีคุณภาพดีสำหรับทุกๆ คน ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะสามารถจัดหาสนามฟุตบอล อุปกรณ์ และผู้ฝึกสอนที่มีคุณภาพดีให้แก่ทุกๆ คนตามไปด้วย

Kuper และ Szymanski ไม่ได้ปฏิเสธข้อโต้แย้งดังกล่าวเสียทีเดียว พวกเขาเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า ประชาธิปไตยนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญของการประสบความสำเร็จในด้านกีฬาตามที่ Anderson เสนอไว้ และประเทศที่มีค่าดัชนีความสำเร็จทางด้านกีฬาสูงส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศที่มีระดับความเป็นประชาธิปไตยสูงด้วย อย่างไรก็ตาม ทั้งสองคนยังคงสงวนความเห็นต่างว่า งานของ Anderson มุ่งศึกษาและวิเคราะห์เฉพาะการแข่งฟุตบอลโลกเท่านั้น ทำให้ละเลยความสำคัญของความมั่งคั่งไป พวกเขายืนยันว่า หากต้องการที่จะประสบความสำเร็จในกีฬาหลากหลายประเภท ความมั่งคั่งยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ขาดเสียมิได้

แล้วการที่นักกีฬาระดับโลกส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชนชั้นล่างล่ะ จะอธิบายอย่างไร?

ดังที่กล่าวไปแล้ว Kuper และ Szymanski ยอมรับว่า นักฟุตบอลระดับโลกนั้นมักจะมีภูมิหลังมาจากครอบครัวชนชั้นล่างหรือชนชั้นแรงงาน แต่พวกเขาเห็นว่า การอธิบายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อนไปกว่าการหนีออกจากความยากจน นักเตะอย่างเมสซี โรนัลโด รูนีย์ ซีดาน นั้นเกิดมายากจนในบริบทของประเทศพวกเขาเท่านั้น แต่ยังห่างไกลกับความยากจนที่แท้จริง หากเปรียบเทียบกับความยากจนตามมาตรฐานโลก พวกเขายังถือว่าเป็นคนรวย เพราะเข้าถึงอาหารและบริการสาธารณะเพียงพอในระดับหนึ่ง ทั้งสองคนเห็นว่า คนที่ยากจนจริงๆ มีโอกาสน้อยมากที่จะมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง หรือมีสิทธิที่จะเข้าถึงการเล่นกีฬา

นักเขียนทั้งสองอธิบายความสำเร็จของชนชั้นแรงงานในการเล่นกีฬาผ่านหนังสือชื่อ The Outlier ซึ่งเขียนโดย Malcolm Gladwell หนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาว่าด้วยผู้เชี่ยวชาญที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกจากหลากหลายวงการ และข้อค้นพบสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ คนที่จะประสบความสำเร็จสูงสุดในเรื่องหนึ่งๆ จะต้องใช้เวลาในเรื่องนั้นๆ อย่างน้อย 10,000 ชั่วโมง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้เทียบเท่ากับการเล่น/ฝึกเป็นประจำทุกวัน วันละ 3 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี

Kuper และ Szymanski เห็นว่า ‘กฎ 10,000 ชั่วโมง’ นี่เองที่ทำให้นักฟุตบอลชั้นนำมักจะมีที่มาจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน เพราะในวัยเด็ก พวกเขาเหล่านี้อาศัยอยู่ในบ้านหรืออพาร์ตเมนท์ขนาดเล็กที่ไม่มีที่วิ่งเล่น ในขณะที่พ่อและแม่ก็ไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อการพักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งยังไม่มีเวลาเคี่ยวเข็ญให้ลูกท่องหนังสือและทำการบ้านตามแบบคนชั้นกลางทั่วไป สภาพแวดล้อมเช่นนี้บีบให้พวกเขาต้องออกไปเล่นข้างนอกกับเพื่อนๆ แทบทั้งวัน-ทั้งคืน โดยมีของเล่นราคาถูกที่สุดคือลูกฟุตบอลที่ใช้เตะในสนามคุณภาพพอใช้ใกล้ๆ บ้าน ที่รัฐสร้างไว้ให้

หมายเหตุ: 1 สมมติฐานที่ Kuper และ Szymanski นำมาพิจารณาใช้สร้างดัชนีมีความหลากหลายและค่อนข้างซับซ้อน อาทิ ความนิยมของกีฬา (เล่นเฉพาะบางพื้นที่/เล่นโดยทั่วไป) ประเภทของกีฬา (ทีม/เดี่ยว) เพศของกีฬา (ชาย/หญิง) ประเภทการแข่งขัน (รายการชิงแชมป์โลก/โอลิมปิก/รายการเฉพาะ) ฤดูกาล (โอลิมปิกฤดูร้อน/โอลิมปิกฤดูหนาว) ฯลฯ ทั้งนี้นักเขียนทั้งคู่ได้พยายามประยุกต์สมมติฐานต่างๆ ให้สอดคล้องกับโลกของความเป็นจริงมากที่สุด เช่น การนับคะแนนจากกีฬาจักรยานจะใช้ผลจากการแข่งขัน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ (Tour de France) เป็นหลัก แต่จะไม่ใช้ผลจากโอลิมปิก ส่วนฟุตบอลชายจะนับจากทั้งฟุตบอลโลกและฟุตบอลโอลิมปิก ในขณะที่กีฬาบางประเภทก็นับเฉพาะในโอลิมปิก เช่น วอลเลย์บอล เป็นต้น หรือในกรณีของบาสเก็ตบอลที่แม้จะนับคะแนนจากโอลิมปิกเป็นหลัก แต่ก็จะมีการคิดคะแนนพิเศษให้กับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีธรรมเนียมไม่ส่งทีมอาชีพลงแข่งขันในกีฬาประเภทนี้

2 ในทางกีฬา กลุ่มประเทศสหพันธรัฐอินเดียตะวันตก หมายถึง ประเทศที่เล่นคริกเกต ซึ่งได้แก่ จาไมก้า ตรินิแดดและโตเบโก กายอานา บาดาบอส และแอนติกัว

3ดัชนีการพัฒนาของมนุษย์เป็นดัชนีที่องค์การสหประชาชาติสหประชาชาติคิดขึ้นเพื่อใช้วัดคุณภาพชีวิต โดยเป็นการนำเอาตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ เช่น อายุเฉลี่ย อัตราการรู้หนังสือ การศึกษา ฯลฯ มาคิดคำนวนเป็นค่าดัชนี

ป้ายคำ :