ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรณี GT200 – ทำอย่างไรให้งบประมาณกองทัพไทยโปร่งใสยิ่งขึ้น?

กรณี GT200 – ทำอย่างไรให้งบประมาณกองทัพไทยโปร่งใสยิ่งขึ้น?

29 เมษายน 2013


อาวุธกองทัพ

จากรายงานดัชนีชี้วัดการต่อต้านคอร์รัปชันด้านการป้องกันประเทศ (Government Defense Anti-Corruption Index หรือดัชนี GI) ที่องค์กรความโปร่งใสสากล สาขาประเทศอังกฤษ (Transparency International UK) ได้เปิดเผย ระบุว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกยังคงมีความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชันในแวดวงทหาร ส่วนประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มประเทศความเสี่ยงสูง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมและกองทัพไทยมีปัญหาเรื่องการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ไม่โปร่งใส และมีความไม่ชอบมาพากลโดยตลอด เช่น โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200, โครงการจัดซื้อเรือเหาะตรวจสังเกตการณ์, โครงการจัดซื้อรถหุ้มเกราะยูเครน, โครงการจัดซื้อฝูงบินกริพเพน, โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ Enstrom 480B จำนวน 16 ลำ, การอนุมัติซื้อรถหุ้มเกราะล้อยาง 121 คัน และโครงการซื้อ “เรือฟริเกต” 2 ลำ มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

การจัดทำดัชนีดังกล่าวขององค์กรความโปร่งใสสากล จึงมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลของทุกประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ถูกรวมอยู่ในการจัดอันดับครั้งนี้ มุ่งเน้นการสร้างกลไกเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับสร้างให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญในการตรวจสอบความโปร่งใสของกองทัพ

องค์กรความโปร่งใสจึงได้นำแนวทางปฏิบัติของประเทศที่ได้รับการยอมรับ ว่ามีมาตรฐานการต่อต้านคอร์รัปชันในแวดวงกลาโหมอย่างมีประสิทธิภาพมาเป็นตัวอย่างการวิเคราะห์ โดยให้ครอบคลุมความเสี่ยงใน 5 ด้าน คือ ความเสี่ยงด้านการเมือง ความเสี่ยงด้านการเงิน ความเสี่ยงด้านบุคลากร ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ และความเสี่ยงด้านการจัดซื้อจัดจ้าง

สำหรับประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ามีความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันในแวดวงกลาโหมต่ำ หรือมีโอกาสที่จะเกิดการคอร์รัปชันในแวดวงทหารต่ำที่สุดของโลก (กลุ่ม A) คือ ประเทศออสเตรเลีย และเยอรมัน โดยองค์กรความโปร่งใสสากลระบุว่า ประเทศเหล่านี้มีลักษณะที่สำคัญในการต่อต้านการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การมีความพร้อมรับผิด (Accountability) และมีความโปร่งใสที่สูงมาก

ในประเทศออสเตรเลียและเยอรมัน รัฐสภาที่เข้มแข็งและเป็นอิสระมีส่วนช่วยให้กลไกในการตรวจสอบของทั้งสองประเทศเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยรัฐสภาจะทำหน้าที่กลั่นในการกรองนโยบาย ตรวจสอบที่มาของรายได้ และตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายของหน่วยงานทหารอย่างเข้มงวด

ประกอบกับมีมาตรการควบคุมความเสี่ยงคอร์รัปชันด้านการเงินอย่างเข้มแข็ง ประเทศเหล่านี้จึงไม่มีการตรวจพบหลักฐานการใช้จ่ายเงินนอกเหนืองบประมาณ แม้จะมีการจัดสรรงบประมาณลับ แต่ก็ยังมีกลไกในการตรวจสอบงบลับดังกล่าว เช่น ประเทศออสเตรเลีย ที่แม้ว่ารัฐบาลจะไม่เปิดเผยงบลับต่อสาธารณชน แต่ยังคงมีการตรวจสอบด้วยการจำแนกระดับความสำคัญของข้อมูลเพื่อเก็บความลับ และเปิดให้มีการเข้าถึงอย่างเหมาะสม

ขณะที่ธุรกิจของทหาร หรือธุรกิจที่กองทัพเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ในประเทศเยอรมันจะมีการเปิดเผยข้อมูลด้านการเงิน การจัดการ รวมไปถึงข้อมูลการจ่ายเบี้ยเลี้ยง และสวัสดิการของบุคลากรในกองทัพทั้งหมดให้สาธารณชน และองค์กรภาคประชาสังคมตรวจสอบ

ผลสำรวจดัชนีชี้วัดการต่อต้านคอร์รัปชั่นด้านการป้องกันประเทศ 2013 (Government Defence Anti-Corruption Index 2013)
ผลสำรวจดัชนีชี้วัดการต่อต้านคอร์รัปชันด้านการป้องกันประเทศ 2013 (Government Defence Anti-Corruption Index 2013)

การควบคุมความเสี่ยงของกองทัพในต่างประเทศ

องค์กรความโปร่งใสสากลจึงได้นำตัวอย่างและแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมของประเทศอื่นๆ ที่มีความโดดเด่นในการลดความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันในด้านต่างๆ มาเสนอ อาทิ

การควบคุมความเสี่ยงด้านการเมืองของกองทัพบัลแกเรีย – บัลแกเรียเป็นประเทศที่มีกลไกในการควบคุมเพื่อลดความเสี่ยงด้านการเมืองอย่างเข้มแข็ง ด้วยการสร้างกลไกการตรวจสอบให้ฝ่ายนิติบัญญัติและรัฐสภามีอำนาจในการกลั่นกรองนโยบายด้านความมั่นคง ขณะที่กระทรวงกลาโหมจะต้องให้ความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการตรวจสอบตัวเองด้วย ดังตัวอย่าง ในปี 2011 ที่กระทรวงกลโหมของบัลแกเรียได้มีการส่งหนังสือเพื่อรายงานความคืบหน้าและรายงานการพัฒนาภายในกระทรวงให้ภาคประชาสังคมได้รับรู้ นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมของบัลแกเรียยังสนับสนุนให้สาธารณชนและนักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบาย หรือร่างกฎหมายต่างๆ ของกระทรวงอีกด้วย

การควบคุมความเสี่ยงด้านการเงินของกองทัพโคลัมเบีย – ในโคลัมเบียมีการควบคุมการใช้จ่ายและควบคุมทรัพย์สินของกองทัพอย่างเข้มงวด โดยการใช้จ่ายที่นอกเหนือจากงบประมาณถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และงบประมาณสำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์ที่อยู่ในประเภทงบประมาณลับปรากฎอยู่คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของงบประมาณกลาโหมทั้งหมด

การควบคุมความเสี่ยงด้านบุคลกรของกองทัพออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา – ในออสเตรเลียมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดเพื่อจัดการกับเจ้าหน้าที่ทุจริต และหลายครั้งที่การละเมิดจรรยาบรรณได้นำไปสู่การให้ออกหรือไล่ออกจากหน้าที่ ส่วนสหรัฐฯ มีการเก็บข้อมูลเรื่องการทุจริตและบทลงโทษต่อการทุจริตของเจ้าหน้าที่ไว้ในฐานข้อมูลกระทรวงกลาโหมเพื่อเผยแพร่อย่างเป็นระบบ และยังมีหน่วยงานกลางเพื่อตรวจสอบมาตรฐานทางจริยธรรมของหน่วยงานอื่นๆ ในกระทรวงกลาโหมอีกด้วย

การควบคุมความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของกองทัพสวีเดน – ในสวีเดนมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับสูง เจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชา และที่ปรึกษา ให้มีทักษะในการตรวจสอบและรายงานความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตในกิจการต่างๆ ของกองทัพ โดยกฎหมายของสวีเดนสามารถเอาผิดภาคเอกชน หรือคู่สัญญาที่ร่วมทำงานกับกองทัพได้ หากมีการตรวจพบการทุจริตในภารกิจต่างๆ

การควบคุมความเสี่ยงด้านการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพสิงคโปร์ – ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งที่ได้ชื่อว่ามีความโปร่งใส และสามารถจัดการกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศได้ดี แต่สำหรับดัชนี GI ที่เป็นตัวชี้วัดความโปร่งใสด้านความมั่นคง สิงคโปร์กลับถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูง สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างภายในกองทัพสิงคโปร์ยังขาดความโปร่งใส ไม่มีการนำข้อมูลของการจัดซื้อจัดจ้างมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ หรือหากมีก็เป็นเพียงฉบับย่อเท่านั้น ไม่ครบทุกขั้นตอนของการประมูล การขาดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างจึงเป็นสาเหตุสำคัญของกองทัพสิงคโปร์ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการทุจริต

งบประมาณกระทรวงกลาโหม 2548 - 2556

ควรทำอย่างไรให้กองทัพไทยโปร่งใสยิ่งขึ้น?

จากการสำรวจและวิเคราะห์ถึงปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ต่อการเกิดการทุจริตในแวดวงกลาโหมทั่วโลก องค์กรความโปร่งใสสากลจึงได้รวบรวมแนวทางปฏิบัติของกองทัพที่ได้ชื่อว่ามีความโปร่งใส มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดการทุจริตในแวดวงทหาร มาเป็นคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติเพื่อจัดการกับปัญหาการทุจริตในกองทัพ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกองทัพไทยได้ ดังนี้

สำหรับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหม – เจ้าหน้าที่ในกระทรวงกลาโหมจะต้องมีการประเมินความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชันภายในกองทัพ ต้องมีการเตรียมแผนเพื่อรับมือกับปัญหาการทุจริต มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และมีการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรม โดยต้องสร้างช่องทางและมาตรการสำหรับคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตในกองทัพ และมีการนำมาตรการป้องกันการทุจริตใส่ในแผนปฏิบัติการของกองทัพ ซึ่งรวมไปถึงมาตรการดูแลการขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ในภาคสนามด้วย

ขณะเดียวกัน องค์กรความโปร่งใสสากลยังสนับสนุนให้กองทัพพิจารณาตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อดูแลปัญหาการทุจริตในกองทัพโดยเฉพาะ โดยกองทัพต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจร่วมกันถึงปัญหาการทุจริต และเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นๆ ทั้งภาคประชาสังคมและภาควิชาการเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตของกองทัพ

โดยกองทัพจะต้องสร้างความโปร่งใสด้วยการเผยแพร่ข้อมูลงบประมาณในแต่ละปี ซึ่งรวมไปถึงการระบุจำนวนงบลับอยู่ในเอกสารงบประมาณด้วย เพื่อให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายงบลับทางทหารอย่างเหมาะสมจากหน่วยงานที่เป็นอิสระต่อกองทัพ และในการจัดซื้อจัดจ้าง จะต้องทำให้เกิดความโปร่งใส โดยการจัดซื้อต้องอยู่บนฐานของแผนปฏิบัติการ หรือแผนกลยุทธ์ที่ได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะมาก่อนแล้ว และทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย มีการเผยแพร่ข้อมูลคู่สัญญาของกองทัพเพื่อให้เกิดการตรวจสอบ ทั้งบริษัทที่ประมูลงานได้ และบริษัทที่รับช่วงต่อ หลังจากนั้นจะต้องมีการตรวจรับงาน โดยผู้ตรวจสอบที่เป็นอิสระจากกองทัพ

สำหรับสมาชิกนิติบัญญัติ – องค์กรความโปร่งใสสากลสนับสนุนให้มีการหยิบยกประเด็นด้านความโปร่งใสของกองทัพมาอภิปรายในสภา โดยสมาชิกรัฐสภาจะต้องร่วมมือกันเพื่อตรวจสอบการทุจริตในกองทัพด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งคณะกรรมการที่มีอำนาจเพียงพอในการตรวจสอบการทำงานและนโยบายของกองทัพ และในการจัดซื้อจัดจ้าง จะต้องมีการตรวจสอบระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้แน่ใจว่าสมาชิกนิติบัญญัติจะสามาถเข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างได้ในแต่ละขั้นตอน

สำหรับการผ่านกฎหมายด้านงบประมาณ เมื่อมีการตรวจพบงบประมาณของกองทัพที่เป็นงบประมาณลับโดยอ้างเรื่อง “ความมั่นคง” ปรากฎอยู่ สภาจะผ่านร่างกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อมั่นใจว่าจะมีกลไกที่สามารถตรวจสอบงบประมาณดังกล่าวได้อย่างอิสระ และมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านงบประมาณ ข้อมูลด้านบุคลากร และข้อมูลทรัพย์สินของกองทัพได้อย่างเหมาะสม

สำหรับภาคประชาสังคม – จะต้องมีการเรียกร้องให้หน่วยงานด้านความมั่นคงมีความโปร่งใส และมีความพร้อมรับผิดมากขึ้น โดยภาคประชาสังคมจะต้องเข้าไปตรวจสอบดูแลด้านนโยบาย งบประมาณ และกิจกรรมต่างๆ ของกองทัพ เพื่อทำให้เกิดการปฏิรูป และทำให้ประเด็นเรื่องความโปร่งใสทางการทหารเป็นประเด็นที่มีความสำคัญระดับชาติ โดยต้องทำงานร่วมกับสื่อมวลชน สมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหม และภาคประชาชน เพื่อทำให้กองทัพต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ต้องสนับสนุนให้เกิดความโปร่งใสด้านงบประมาณ และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะต้องถูกทำให้สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปเข้าใจได้โดยง่าย โดยภาคประชาสังคมจะต้องมีส่วนในการล็อบบี้ให้รัฐบาลยกเลิกการตั้งงบประมาณลับที่ใช้ข้ออ้าง “เพื่อความมั่นคง” โดยไม่จำเป็นออกไปจากระบบงบประมาณ