ThaiPublica > เกาะกระแส > คำต่อคำ “ชลน่าน” รมช.สาธารณสุข แจง 2 ปมใหญ่ ต้นเหตุปรับราคาค่ารักษาพยาบาล

คำต่อคำ “ชลน่าน” รมช.สาธารณสุข แจง 2 ปมใหญ่ ต้นเหตุปรับราคาค่ารักษาพยาบาล

4 กุมภาพันธ์ 2013


ที่มาภาพ : www.posttoday.com
ที่มาภาพ: www.posttoday.com

ภายหลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศว่าจะมีการปรับอัตราค่าบริการของสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นจำนวนมากจากทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านการขึ้นอัตราค่าบริการดังกล่าว

โดยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกรัฐมนตรีถึงกรณีการปรับอัตราค่ารักษาพยาบาลของ สธ. โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาชี้แจงแทน

นพ.ชลน่านกล่าวว่า การที่ สธ. มีมติที่จะให้รัฐมนตรีประกาศเรื่องการปรับค่าบริการของสถานบริการในกระทรวงสาธารณสุขมีเหตุผล 2 ประการ คือ 1. ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาไม่มีการปรับปรุงราคาในส่วนนี้แต่อย่างใด สธ.จึงเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 8 คณะเพื่อมาพิจารณา โดยพบว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่เป็นสาเหตุของการปรับ คือ หลังปี 2547 โรงพยาบาลของ สธ. มีบริการเพิ่มขึ้นมาใหม่ 758 รายการ โดยรายการในจำนวนนี้ไม่มีค่าบริการอยู่ในประกาศปี 2547 แต่อย่างใด

ไม่ว่าจะเป็นค่าบริการเวชกรรมฟื้นฟู 337 รายการ ค่าตรวจพยาธิวิทยา 309 รายการ รายการยาและบริการเภสัชกรรม 7 รายการ บริการค่าตรวจรักษาทางรังสีวิทยาและโรคทั่วไป 35 รายการ ตรวจรักษาโรคกรณีพิเศษ 27 รายการ ค่าผ่าตัดและค่าวางยางสลบและยาชา 29 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการให้บริการทางแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก การให้บริการเหล่านี้ไม่มีการกำหนดราคาไว้ เป็นเหตุที่ทำให้การคิดค่าบริการต่อสถานบริการของกองทุนต่างๆ มีความคลาดเคลื่อนและผิดพลาดไปเพราะไม่มีราคากลาง

2. เหตุผลทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งต้องยอมรับว่า ในช่วง 10 ปี มีต้นทุนของราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรง ต้นทุนของราคาวัสดุ ต้นทุนของรายการที่เป็นเม็ดเงินลงทุนหรือค่าเสื่อมก็เพิ่มขึ้น แต่กระทรวงสาธารณสุขเองไม่ได้มีการปรับเพิ่มและยังไม่มีการคิดค่าพัฒนาเหมือนเช่นโรงพยาบาลอื่นๆ

ด้าน นพ.เธียรชัยถามว่า รัฐบาลชุดนี้ได้ยึดนโยบายจากพรรคไทยรักไทยเดิมในการทำหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการปฏิรูปการรักษาครั้งใหญ่ของไทยครั้งหนึ่ง ซึ่งตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อปีเพิ่มขึ้นทุกปี ที่น่าสนใจก็คือว่า พรรคการเมืองที่พูดเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นพรรคที่ขาดการเอาใจใส่กับกองทุนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ค่อนข้างมาก ทั้งที่ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ปรับค่าใช้จ่ายต่อหัวของ สปสช.เพิ่มขึ้นตลอดปีงบประมาณที่เป็นรัฐบาล แต่ขณะนี้ งบประมาณต่อหัวต่อคนต่อปีอยู่ที่ 2,755 บาท ลดลงจากที่นายอภิสิทธิ์ทำไว้เป็นจำนวนมาก

คำถามคือ รัฐบาลทราบดีว่าประชาชนมีปัญหาการรักษาพยาบาล เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอที่จะดูแลรักษาประชาชนได้ นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ใน สธ. มีปัญหาทางด้านการเงิน งบประมาณในการสั่งซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่ได้รับการเหลียวแล โรงพยาบาลของรัฐไม่สามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขอตั้งข้อสังเกตว่า การที่จะต้องปรับขึ้นค่าบริการของ สธ. เพราะว่าเขาไม่มีเงินที่จะดูแลคนไข้ให้อย่างมีคุณภาพได้

นพ.ชลน่านชี้แจงว่า ยอมรับสิ่งนี้คือเหตุผลหนึ่ง ค่าบริการที่มีการกำหนดในปี 2547 ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่เป็นต้นทุนที่ถูกกำหนดให้เป็นต้นทุนที่ต่ำ และนำต้นทุนเหล่านั้นมาคิดเป็นค่าบริการ นำไปคำนวณเป็นค่ามาจ่ายต่อหัว มีการบวกเงินเดือนและเงินบริหารของสถานพยาบาลเข้าไปในเงินต่อหัวก้อนนี้ด้วย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเงินเดือนประมาณร้อยละ 40

เมื่อปี 2547 แพทย์หนึ่งคนคิดค่าแรง 3.40 บาทต่อนาที ปี 2551 ขึ้นมาที่ 7.30 บาทต่อนาที นี่คือตัวอย่างง่ายๆ ที่ไม่ต้องพูดถึงค่าวัสดุ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในการรักษาพยาบาล เพื่อที่จะมีผลต่อการคำนวณงบประมาณที่ควรจะได้รับกับผู้ป่วยทุกประเภท ซึ่งจะเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน แต่ถ้าเราใช้ตัวเลขเดิมอยู่มันจะไม่สะท้อนความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2557 สปสช. จะตั้งของบประมาณที่อัตรา 2,900 บาทต่อคนต่อปี

ขณะที่ นพ.เธียรชัยถามต่อว่า ความชัดเจนของรัฐบาลชุดนี้คือ ไม่ได้สนใจต่อเรื่องงบประมาณที่จะดูแลคน แต่เลือกที่จะดูแลคนที่ช่วยตัวเองได้และร่ำรวยแล้ว นั่นคือลดภาษีนิติบุคคล ช่วยให้กับคนที่ไม่จำเป็นต้องช่วย นั่นคือคืนภาษีรถยนต์ 1 แสนบาทต่อคัน ใช้เงินนับแสนล้านบาท สองโครงการนี้แทนที่จะได้ภาษีเข้ารัฐ 3 แสนล้านบาท เพื่อเอาเงินจำนวนนี้ไปเพิ่มงบประมาณให้ สปสช. หัวละ 200-300 บาทได้ ซึ่งคิดเป็นเงินไปไม่ถึง 10,000 ล้านบาท

“สิ่งนี้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด สามารถทำได้โดยงบประมาณ แต่ถ้าท่านไปเบียดบังโดยการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ คนที่เดือดร้อนคือคนที่เลือกไม่ใช้บริการ สปสช. เพราะเขาห่วงชีวิตเขา คุณภาพก็ยังไม่มั่นใจ คนเหล่านี้จะต้องรับภาระนี้ ถามว่ารัฐบาลจะดูแลเรื่องนี้อย่างไรต่อไป”

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในข้อเท็จจริงแล้ว 3 กองทุน ครอบคลุมประชากร 64 ล้านคน และมีเพียง 1 ล้านกว่าคน ที่ไม่มีสวัสดิการใดๆ หรืออาจจะมีแต่ไม่เป็นสวัสดิการของรัฐ ในการที่บอกว่ารัฐบาลไม่สนใจพี่น้องประชาชน ถ้ารัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุขไม่กล้าหาญพอ เรื่องนี้จะถูกจับซุกไว้ใต้โต๊ะเพราะถือเป็นประเด็นการเมือง ทั้งนี้ โดยข้อเท็จจริงแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 และได้ปรับปรุงพัฒนามาเรื่อยๆ ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่กระทบกับค่าบริการทั่วไป แต่มีผลเฉพาะรายการที่เป็นค่าตรวจ ค่ารักษาที่พิเศษเท่านั้นเอง

ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยพับลิก้าว่า ปัจจุบันคนไทยทั้งประเทศใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลใน 3 กองทุน คิดเป็นจำนวน 99 .99 เปอร์เซ็นต์ โดยคนที่ใช้สิทธิบัตรทอง (กองทุน 30 บาทรักษาทุกโรค) ก็ใช้สิทธิบัตรทองตามเดิม ไม่ต้องจ่ายแม้แต่บาทเดียวอยู่แล้ว ส่วนกองทุนประกันสังคมก็ใช้สิทธิในประกันสังคม คนที่เป็นข้าราชการก็จ่ายโดยกรมบัญชีกลาง ไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่มเติมแม้แต่บาทเดียว

“คนที่มีผลกระทบคือคนต่างด้าวที่เข้ามาอย่างไม่ถูกกฎหมาย เพราะที่ถูกกฎหมายเขาจะต้องซื้อประกัน หรือนักท่องเที่ยวก็จ่ายเต็มตามนั้น ค่าบริการ 2,000 กว่ารายการนั้นเป็นราคาเดิมเกือบครึ่งหนึ่ง มี 100-200 รายการที่ลดลง แต่มีรายการที่เพิ่มอยู่ที่หมวดการรักษาที่แพง เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนตับเปลี่ยนหัวใจ เปลี่ยนไต แต่ถ้าคนที่อยู่ใน 3 กองทุนนี้ก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม”

พญ.ประชุมพรกล่าวต่อว่า “ส่วนที่กังวลว่าหากมีการปรับราคาในส่วนนี้แล้ว จะทำให้บริษัทประกันชีวิตและโรงพยาบาลเอกชนขึ้นราคานั้น ถามว่าคนที่มีประกันชีวิตไม่มารักษาโรงพยาบาลรัฐอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวกัน ส่วนโรงพยาบาลเอกชนเองก็ไม่ได้มาสนใจราคาของโรงพยาบาลรัฐอยู่แล้ว อย่างการคลอดปกติในโรงพยาบาลของรัฐ กระทรวงสาธารณสุข ราคา 4,000 บาท รวมค่าอาหารทุกอย่าง ถามว่าเอกชนที่ไหนจะเรียก 4,000 บาท เขาไม่สนหรอก เขาไม่เอาราคานี้ไปอ้างอิง มีแต่เราจะอ้างอิงเขา และในส่วนของบริษัทประกันชีวิต ถ้าเอาราคาโรงพยาบาลใน สธ. ไปอ้างอิง ลูกค้าจะซื้อประกันหรือ”

“เรามองว่า การที่กระทรวงปรับราคาซึ่งมีทั้งที่เพิ่มขึ้นและลดลง 10 ปี ปรับขึ้นครั้งหนึ่งไม่ได้ถี่เลย เอกชนเขาปรับไปกี่รอบแล้ว เรียกว่าซื้อในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนมา 10 ปีแล้ว ปัจจุบันโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเราย่ำแย่อยู่แล้ว ณ ปีนี้ โรงพยาบาลชุมชน 160 แห่งอาจจะไม่สามารถอยู่รอดได้ โรงพยาบาลศูนย์จาก 90 กว่าแห่ง ฐานะการเงินร่อแร่อยู่ประมาณ 30 แห่ง แล้วอนาคตของชาติฝากไว้กับโรงพยาบาลไหนล่ะ จึงอยากขอความเข้าใจในส่วนนี้ด้วย” พญ.ประชุมพรกล่าว