ThaiPublica > คอลัมน์ > “G to G…จากโกหกถึงโกง?”

“G to G…จากโกหกถึงโกง?”

13 ธันวาคม 2012


ดร.วิรไท สันติประภพ
[email protected]

ผมเขียนบทความนี้ไม่ใช่ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ แต่เขียนในฐานะคนไทยที่กังวลว่า จริยธรรมของผู้มีอำนาจรัฐและของสังคมไทยกำลังไหลลงรวดเร็ว และถ้าเราปล่อยไหลลงไปเรื่อยๆ แล้ว ผมสงสัยว่าสังคมไทยจะอยู่อย่างไรในอนาคต

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดเวลานี้ คงหนีไม่พ้นกรณีการขายข้าวของรัฐบาลแบบ G to G หรือแบบ (ที่ทำให้เชื่อว่า) เป็นการขายข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐ ในวันนี้รัฐบาลมีข้าวที่ซื้อจากชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวมาอยู่ในความดูแลของรัฐแล้วเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าสองแสนล้านบาท และในปีใหม่นี้ก็จะเข้ามาอีกไม่ต่ำกว่าสองแสนล้านบาทเช่นกัน นักเศรษฐศาสตร์และผู้รู้เรื่องข้าว ได้ชี้ให้เห็นผลเสียของโครงการนี้มาตั้งแต่ต้นว่าจะเกิดความเสียหายมากมาย โดยเฉพาะโอกาสที่จะรั่วไหลได้ง่ายในทุกขั้นตอน

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวหลายเรื่อง ตั้งแต่การสวมสิทธิ์ชาวนา การนำข้าวจากต่างประเทศมาเข้าโครงการ การนำข้าวในโครงการมาหมุนเวียน การที่โรงสีบางแห่งกดราคาชาวนาโดยอ้างเรื่องความชื้นเกินเกณฑ์ และการเอาข้าวคุณภาพต่ำส่งเข้าโกดังรัฐ ในช่วงแรกรัฐบาลปฏิเสธเสียงแข็งว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน โปร่งใส ไม่มีการทุจริต จนกระทั่งหลักฐานต่างๆ ทยอยออกมาเรื่อยๆ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจึงเริ่มยอมรับว่ามีการทุจริตบ้าง แต่เป็นระดับปฏิบัติการหรือระดับเจ้าหน้าที่เท่านั้น

ผู้รู้เรื่องข้าวหลายท่านได้เตือนให้ติดตามตอนที่รัฐบาลขายข้าวเป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสที่จะโกงได้อย่างเป็นกอบเป็นกำโดยกลุ่มคนที่มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจรัฐ ต่างจากการโกงในกระบวนการรับซื้อข้าวที่จะกระจายผลประโยชน์กันไปตามหัวคะแนน โรงสี และผู้มีอิทธิพลในแต่ละท้องถิ่น ตลอดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศว่าได้ขายข้าวแบบ G to G ไปแล้วกว่า 7.3 ล้านตัน แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะถือเป็นความลับทางราชการ และไม่ต้องการให้กระทบกับการเมืองภายในของประเทศผู้ซื้อ

ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าทำไมข้อมูลการขายข้าวจึงเป็นความลับทางราชการ โครงการรับจำนำข้าวเป็นการใช้ภาษีของประชาชนหลายแสนล้านบาทในแต่ละปี ประชาชนควรมีสิทธิที่จะรับทราบข้อมูลว่าขายข้าวให้ใครบ้าง ราคาเท่าไหร่ และมีเงื่อนไขอย่างไร

เหตุผลที่รัฐบาลไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดการขายข้าวแบบ G to G ชัดเจนขึ้นมากเมื่อคุณหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดพิษณุโลก อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คุณหมอวรงค์กล่าวหารัฐบาลด้วยหลักฐานหลายชิ้นว่า การขายข้าวแบบ G to G นั้น แท้จริงแล้วเป็นการแอบใช้ชื่อรัฐวิสาหกิจจีน (ที่ไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับข้าว) มาบังหน้าให้แก่กลุ่มพ่อค้าคนไทยที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจรัฐ และเคยเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการประมูลข้าวในโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลทักษิณจนถูกฟ้องล้มละลาย คนกลุ่มนี้กลับมาคืนชีพอีกครั้งหนึ่งโดยซื้อข้าวจากรัฐบาลด้วยวิธีพิเศษ ไม่ต้องประมูลเพราะอ้างว่าเป็นการซื้อแบบ G to G ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ ไม่มีการส่งข้าวออกไปนอกประเทศเลย ไม่มีการเปิด L/C ไม่มีการขนข้าวผ่านท่าเรือหรือด่านศุลกากรใดๆ รวมทั้งมีการทำธุรกรรมจ่ายเช็คและโอนเงินไปมาแบบมีพิรุธผ่านหลายธนาคารในช่วงเวลาสั้นๆ คล้ายกับการฟอกเงิน

ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th
ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th

ฟังข้อมูลคุณหมอวรงค์อภิปรายในสภาแล้วสรุปได้ว่า ไม่คุณหมอวรงค์หรือรัฐบาลคนใดคนหนึ่งต้องโกหกแบบไม่อายฟ้าดินและไม่เกรงกลัวต่อบาป สำหรับผมแล้ว หลักฐานที่คุณหมอวรงค์นำมาแสดงดูจะมีน้ำหนักกว่าฝ่ายรัฐบาลมาก เพราะมีหลักฐานเอกสารหลายอย่าง รวมทั้งสอดคล้องกับข้อมูลการส่งออกข้าวของทั้งกรมศุลกากรและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยด้วย ฝ่ายรัฐบาลนั้นเราไม่ได้ยินรัฐมนตรีคนใดอธิบายอย่างตรงไปตรงมาว่าหลักฐานของคุณหมอวรงค์ชิ้นไหนเป็นเท็จ และเป็นเท็จอย่างไร ได้แต่พูดว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อชาวนาและได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามระเบียบทุกขั้นตอนแล้ว

ผมพยายามฟังฝ่ายรัฐบาลชี้แจงแล้วหงุดหงิดว่า ทำไมผู้มีอำนาจรัฐในประเทศไทยไม่พูดอะไรตรงๆ คำอธิบายของรัฐบาลส่วนใหญ่อาจอุปมาได้เหมือนกับกรณีที่เด็กถูกกล่าวหาด้วยหลักฐานแน่นหนาว่าขโมยของเพื่อนและโกงข้อสอบ แต่เด็กกลับตอบว่า หนูไม่ทำเด็ดขาดเพราะหนูใส่กระโปรงถูกระเบียบมาโรงเรียนทุกวัน

ถ้าผู้มีอำนาจรัฐคิดว่าจะเอาตัวรอดได้ด้วยวิธีแบบนี้แล้ว เราคงต้องกังวลมากขึ้นไปอีก เพราะเท่ากับรัฐบาลเชื่อว่าวิจารณญาณของประชาชนต่ำมาก ไม่สามารถติดตามหาข้อเท็จจริงและวิเคราะห์พิจารณาได้ด้วยตนเอง

ถ้าการขายข้าวแบบ G to G เป็นทั้งการโกหกและการโกงของผู้มีอำนาจรัฐตามที่คุณหมอวรงค์กล่าวหาแล้ว โจทย์สำคัญคือคนไทยควรจะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร เพราะดูเหมือนว่าการตรวจสอบในสภาไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลได้ และรัฐบาลก็นิ่งเฉย ไม่ออกมาชี้แจงหักล้างข้อกล่าวหาของคุณหมอวรงค์เพิ่มเติม รัฐบาลอาจหวังว่าถ้าปล่อยไปสักระยะหนึ่งแล้วคนไทยอาจจะลืมแล้วเลิกสนใจ

ผมคิดว่าสังคมไทยต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อผู้มีอำนาจรัฐที่มีหลักฐานว่าโกหกและโกง การโกหกและการโกงเป็นการทำผิดจริยธรรมและศีลขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ สังคมใดที่ผู้มีอำนาจรัฐเห็นว่าการโกหกและการโกงเป็นเรื่องปกติที่ทำได้โดยไม่ต้องอายและคนส่วนใหญ่นิ่งเฉยแล้ว สังคมนี้จะเปราะบาง มีแต่การหาผลประโยชน์ เบียดเบียนกัน ไม่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ เพราะไม่มีใครเชื่อถือใคร เวลาที่ผู้มีอำนาจรัฐพูดอะไรออกมา ประชาชนคงสงสัยอยู่ในใจว่าเป็นการโกหก 100% โกหก 50% โกหกแบบเจตนาดี หรือโกหกเพราะไม่รู้เรื่องจริงๆ

และถ้าเป็นการโกหกโดยมีเจตนาที่จะโกงด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้สังคมตกต่ำโดยเร็ว คนดีมีความสามารถจะไม่สามารถอยู่ในสังคมหรือทำหน้าที่ของตนได้ ไม่ว่าคนดีเหล่านั้นจะเป็นชาวนา โรงสี นักธุรกิจ หรือข้าราชการ ต้นทุนการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตจะสูงขึ้น เพราะต้องบวกเพิ่มค่าธรรมเนียมแอบแฝงจากการโกหกและการโกงของผู้มีอำนาจรัฐ ประเทศจะไหลลงอย่างรวดเร็วแบบที่เรานึกไม่ถึง จะมีแต่ชนชั้นผู้นำที่ชอบโกหกและโกงเท่านั้นที่จะร่ำรวย และควบคุมทรัพยากรส่วนใหญ่ของประเทศไว้ได้

ถ้าเราจะร่วมกันหยุดการโกหกและการโกงของผู้มีอำนาจรัฐในวันนี้ ผมคิดว่าเรายังมีความหวังกับอย่างน้อย 3 กลุ่มใหญ่

กลุ่มที่หนึ่ง คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เราเคยมีประวัติว่าอดีตรัฐมนตรีที่ทุจริตเคยต้องคำพิพากษามาแล้วหลายคน (และยังหนีคำพิพากษาอยู่อีกหลายคน) แต่ปัญหาใหญ่ของ ป.ป.ช. และศาลฎีกาฯ คือ ใช้เวลาค่อนข้างนานมากกว่าที่จะชี้มูลความผิดหรือตัดสินคดีได้ ผู้มีอำนาจรัฐในช่วงหลังอาจจะไม่กลัว เพราะถ้าเล็งเห็นว่ามีโอกาสที่ตนจะถูกลงโทษในอนาคต ก็จะยิ่งโกงให้มากไว้ก่อน แล้วหาทางหนีไปอยู่ต่างประเทศในภายหลัง โจทย์ใหญ่ของเราในวันนี้คือ จะสนับสนุนให้ ป.ป.ช. และศาลฎีกาฯ ทำงานได้เร็วขึ้นได้อย่างไร โดยไม่ทำให้คุณภาพด้อยลง

กลุ่มที่สอง คือ สื่ออิสระที่มุ่งสืบค้น วิเคราะห์ และติดตามข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ อย่างเป็นกลาง ต้องยอมรับว่าสื่อกลุ่มนี้เป็นสื่อกลุ่มเล็กในสังคมไทย เพราะสื่อส่วนใหญ่ได้กลายเป็นสื่อเลือกข้างหรือสื่อที่หวังผลประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ ใครที่สามารถสนับสนุนให้สื่ออิสระทำงานได้คงต้องช่วยกันเต็มที่ เพื่อให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการโกหกและการโกงของผู้มีอำนาจรัฐถูกเปิดเผยออกมาอย่างต่อเนื่องและตรงไปตรงมา

กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มคนไทยที่อยากเห็นสังคมไทยมีจริยธรรมความถูกต้องเป็นพื้นฐาน เพื่อให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน คนไทยต้องร่วมกันปฏิเสธการโกหกและการโกงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการโกหกและการโกงของผู้มีอำนาจรัฐ ต้องร่วมกันส่งต่อจริยธรรมและค่านิยมที่ถูกต้องให้แก่เด็กรุ่นหลัง และต้องคอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้การต่อต้านการโกหกและการโกงมีพลัง

ผมคาดเดาไม่ถูกว่า กรณีการขายข้าวแบบ G to G นี้จะจบลงอย่างไร แต่ถ้าพิสูจน์แล้วปรากฏว่าผู้มีอำนาจรัฐทั้งโกหกทั้งโกงจริง แต่ยังคงบริหารประเทศต่อไปได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นิสัยขี้โกหกและขี้โกงของผู้มีอำนาจรัฐอาจทำให้ประเทศไทยเจ๊งกับเจ๊งได้เร็วกว่าที่คิด

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม 2555