ThaiPublica > คนในข่าว > “วาสนา อัศรานุรักษ์” ลูกสาวอดีตท่าข้าวผู้โด่งดัง เล่าเรื่องท่าข้าวกำนันทรง จากความล่มสลายของตลาดกลางข้าวเปลือกสู่ตลาดกลางข้าวสาร

“วาสนา อัศรานุรักษ์” ลูกสาวอดีตท่าข้าวผู้โด่งดัง เล่าเรื่องท่าข้าวกำนันทรง จากความล่มสลายของตลาดกลางข้าวเปลือกสู่ตลาดกลางข้าวสาร

12 พฤศจิกายน 2012


ในวงการค้าข้าว ไม่มีใครไม่รู้จัก “ท่าข้าวกำนันทรง” เพราะเป็น “ตลาดกลางข้าวเปลือก” ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และได้รับความวางไว้ใจ เป็นที่น่าเชื่อถือมากที่สุด ในแวดวงการค้าข้าว รวมทั้งเป็นต้นแบบของตลาดกลางข้าวเปลือกในหลายจังหวัด ที่มีผู้คนมาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก

ตลาดกลางข้าวเปลือก ถือเป็นกลไกหนึ่งของการค้าข้าวที่สะท้อนราคาตลาด เพราะมีผู้ซื้อและผู้ขายมากรายมาพบปะแข่งขัน ตกลงราคาซื้อขาย หรือประมูลกันอย่างเปิดเผย

ในยุคการส่งออกข้าวเฟื่องฟู และโครงการรับจำนำยังเป็นการจำนำเพื่อพยุงราคาข้าวชั่วคราว ไม่ใช่โครงการรับจำนำที่รัฐบาลรับซื้อข้าวมาเก็บไว้อย่างในปัจจุบัน ในช่วงนั้นการทำธุรกิจตลาดกลางข้าวเปลือกเฟื่องฟู มีการตั้งตลาดกลางข้าวเปลือกขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในแถบจังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร และที่อื่นๆ

แม้จะมีท่าข่าวผุดขึ้นเป็นคู่แข่งเพิ่มขึ้นมากมาย แต่ท่าข้าวกำนันทรงค่อนข้างจะได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีชื่อเสียงด้านความยุติธรรม และทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” อย่างแท้จริง คือไม่เข้าไปแทรกแซงซื้อขายข้าวที่ผู้ซื้อผู้ขายประมูลแข่งขันกัน

ปัจจุบัน “ท่าข้าวกำนันทรง” คงเป็นเพียงตำนานเล่าขานเพราะปิดกิจการไปแล้ว ไม่มีธุรกรรมการค้าขายข้าวที่คึกคักเช่นเคย ณ สถานที่แห่งนั้นเหลือเพียงแต่ชื่อและร่องรอยของอดีตเท่านั้น โดยพื้นที่เกือบ 300 ไร่ ซึ่งเคยแน่นขนัดไปด้วยรถบรรทุกขนส่งข้าวขึ้นลงจำนวนมาก บัดนี้ดูวางเปล่า บางส่วนถูกแปรเปลี่ยนเป็นที่ตากลานมัน

การล่มสลายของธุรกิจตลาดกลางข้าวเปลือกไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะท่าข้าวกำนักทรงเท่านั้น แต่ตลาดกลางข้าวเปลือกที่อื่นๆ ก็ปิดกิจการเช่นเดียวกัน จนแทบหายไปจากระบบการค้าข้าวแล้ว สาเหตุสำคัญที่ทำให้กลไกตลาดกลางข้าวเปลือกหายไปจากระบบค้า คือ นโยบาย “โครงการรับจำนำข้าว” ของรัฐบาล

“นโยบายการเมืองมีส่วน จริงๆ มีส่วนโดยตรง อย่างท่าข้าวที่กลไกถูกทำลายไปก็เพราะนโยบายภาครัฐ” ผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานที่ท่าข้าวกำนันทรงมากว่า 30 ปี เล่าถึงสาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดกลางข้าวเปลือกต้องเลิกกิจการไป ในระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” ที่ท่าข้าวกำนันทรง

วาสนา เป็นลูกสาวคนโตของกำนันทรง ผู้ทรงอิทธิในฐานะผู้นำท้องถิ่น และทำตลาดกลางข้าวเปลือกจนเป็นที่ยอมรับ แต่ช่วงที่ลงเล่นการเมืองระดับประเทศ ได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิก ภาระบริหารจัดการท่าข้าวจึงตกอยู่กับลูกสาวคนนี้

“ท่าข้าวกำนันทรงพี่ทำมาคนเดียวตลอด 30 ปี คือ เตี่ย (กำนันทรง) เขาก็อยู่ข้างหลัง เพราะเตี่ยเป็น ส.ว. 2 สมัย ออกไปทำงานประเภทนี้ลงลึกกับงานพี่ไม่ได้ พี่ทำของพี่มาคนเดียวมาตลอด”

วาสนาย้อนรำลึกตลาดกลางข้าวเปลือกในอดีตจนถึงยุคเฟื่องฟูให้ฟังว่า มีประวัติศาสตร์เริ่มต้นเมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว โดยตลาดกลางข้าวเปลือกค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจนเป็นระบบและมีกลไกการจัดการที่เข้มแข็งของมันเอง

ที่สำคัญคือ กลไกที่เกิดขึ้นสะท้อนราคาตลาด ทำให้อยู่ในบนพื้นฐานของความเป็นจริง

ความเป็นจริง ณ ตรงนั้นคือ การซื้อขายทำให้เรารู้ว่า ในการซื้อขายข้าวเปลือกนั้น ราคาจริงถูกกำหนดจากการซื้อขายข้าวสารที่เขาเอาไปขายกันในต่างประเทศ เพราะการซื้อขายในต่างประเทศมีการซื้อขายในปริมาณมาก เป็นลอตใหญ่ๆ และมีการแข่งขันกันหลายๆ ประเทศที่ส่งออกทั้งหมด ทำให้ราคาซื้อข้าวสารที่ไปขาย ณ ต่างประเทศสะท้อนหรือย้อนกลับมากำหนดราคาข้าวเปลือกตลาดในประเทศ

นั่นคือกลไกที่ทำให้เรารู้ของจริงหรือราคาตลาดที่แท้จริง

วาสนา อัศรานุรักษ์ ลูกสาวกำนันทรง (ทรง องค์ชัยวัฒนะ)
วาสนา อัศรานุรักษ์ ลูกสาวกำนันทรง (ทรง องค์ชัยวัฒนะ)

วาสนาบอกว่า ตลาดกลางข้าวเปลือกช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดตอนนั้น มีปริมาณซื้อขายทำได้มากสุดวันละ 5,000 ตัน มีข้าวมาจากทั่วทั้งภาคเหนือ และเพชรบูรณ์ก็มาซื้อขายกันที่นี่

ที่ท่าข้าวกำนันทรงจะมีพ่อค้าประจำประมาณ 20 กว่าคน แต่เขาไม่ได้มาพร้อมกัน จะเปลี่ยนหน้ากันมา แต่พ่อค้าจะมีกลุ่มของเขา คือ ข้าวจะแบ่งเป็นเกรด พูดภาษชาวบ้านคือ ข้าวดีหน่อยคือข้าวสวย ข้าวกลาง และข้าวคุณภาพต่ำ ข้าวคุณภาพต่ำคือข้าวป่นเยอะ เป็นข้าวที่แตกหักเยอะ เพราะฉะนั้น คนที่ซื้อเขาจะมีกลุ่มของเขาอยู่แล้ว คือว่ากลุ่มใครกลุ่มมัน

ในช่วงมีการแข่งขันมากๆ ปีหนึ่งมีข้าวเข้าตลาดกลางประมาณ 600,000 ตัน แต่เป็น 600,000 ตัน ซึ่งสะท้อนราคาการซื้อขาย และเป็นราคาที่เชื่อถือได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วปริมาณข้าวที่เข้าตลาดกลางไม่ถึง 10% ของข้าวทั้งหมด แต่ว่าเมื่อมารวมตัวกันลอตใหญ่ แล้วพ่อค้า คนซื้อ คนขาย มารวมตัวกันเยอะ เลยทำให้กลไกตลาดทำงาน สร้างความเป็นธรรมเกิดขึ้นในตลาด

เพราะฉะนั้น ตรงจุดนั้นถือว่ากลไกที่เราทำไว้พัฒนาขึ้นมามาก ตอนนั้นกลไกตลาดมันวิ่งไปจนถึงขนาดกำหนดราคาซื้อขายล่วงหน้า (ตลาดฟอร์เวิร์ด)

แต่ถอยหลังไปไม่เกิน 15 ปีมานี่ ตลาดกลางเสียหาย เริ่ม “ขาลง”

วาสนาเล่าว่า ประมาณปี พ.ศ. 2546-2547 ดูจากตัวเลขปริมาณข้าวที่เข้าตลาดกลางเริ่มน้อยลง สาเหตุหลักๆ มีหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญคือ “โครงการรับจำนำที่ให้ราคาสูงกว่าราคาตลาด” เป็นเศรษฐศาสตร์ปกติว่า ถ้ารัฐบาลให้ราคาสูงกว่าตลาด กลไกที่ทำอยู่จะอยู่ได้อย่างไร และรัฐบาลปรับราคาเพิ่มขึ้นตลอดจนพ่อค้ารู้แกว ซื้อเก็บสต็อกไว้ก่อน ตอนนั้นราคาถูก เพราะรู้ว่าในอนาคตจะขึ้นราคา

เพราะฉะนั้น ผลประโยชน์ตกอยู่กับพ่อค้า ตกอยู่ที่โรงสีเสียส่วนใหญ่ เพราะรู้ว่าโครงการฤดูต่อไปต้องปรับราคา รัฐบาลต้องตั้งราคาสูงขึ้นแน่ ก็ตุนข้าวเก็บเอาไว้ ทำให้กลไกตลาดค่อยๆ ถูกทำลายหายไป ก็จบไป

“ตรงจุดนั้น รอยต่อระหว่างที่โครงการรับจำนำดำเนินไปด้วยดี รัฐบาลตั้งนโยบายว่า คนที่เข้าร่วมโครงการคือโรงสี แต่ตลาดกลางเข้าร่วมไม่ได้ คนก็แห่ พ่อค้าก็แห่ไปทำโรงสีกัน”

นั่นคือสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนหันไปทำโรงสี

วาสนาบอกว่า พ่อค้าข้าวอายุ 30-40 ปีแล้ว อยู่ๆ ทำการค้าข้าว เคยเป็นนายหน้าซื้อข้าวไปขายโรงสี แล้วอยู่ๆ ทำไม่ได้ เขาก็ดิ้น ประกอบกับสถาบันการเงินก็อัดเงินเข้ามาปล่อยกู้ให้โรงสี ทำให้โรงสีเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด เมื่อก่อนโรงสีไม่ได้เยอะมาก นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในระบบการค้าเยอะมาก

พ่อค้าที่ท่าข้าวกำนันทรงเกือบครึ่งหนึ่งออกไปทำโรงสี และประสบผลสำเร็จสัก 80% เป็นพ่อค้าโรงสีขนาดใหญ่ๆ ทั้งนั้น อยู่ที่นครสวรรค์ สุพรรณบุรี และแถวภาคเหนือ เพราะพวกนี้ตอนที่อยู่ท่าข้าว ระบบที่ท่าข้าวทำให้พ่อค้าพัฒนาตลอดเวลา

เมื่อโรงสีมีจำนวนมากขึ้น “ข้าว” ซึ่งเป็นวัตถุดิบก็ร่อยหรอไม่พอป้อน ระบบการแข่งขันก็พัฒนาหลายๆ อย่าง ณ จุดนี้ ลูกสาวกำนันทรงบอกว่า เราเองก็เริ่มปรับตัวเช่นกัน

โดยทดลองเอารถไฟวิ่งเข้ามาวิ่ง เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ โดยเอาข้าวส่งออกใส่ตู้คอนเทนเนอร์ไปแหลมฉบัง นำร่องโดยเริ่มเอาข้าวของผู้ส่งออกในจังนครสวรรค์ไปทดลอง 4-5 หมื่นตัน โดยขนส่งข้าวทางรถไฟ ซีลตู้ที่นี่ให้เรียบร้อยแล้วขนใส่ตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นรถไฟไปลงลาดกระบัง จากนั้นมีบริษัทดำเนินการต่อ ก็ได้ดี สามารถลดต้นทุนได้ระดับหนึ่ง

การทดลองเอารถไฟวิ่งเข้ามาวิ่งที่ท่าข้าวกำนันทรงไปลาดกระบัง-แหลมฉบัง เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์
การทดลองเอารถไฟวิ่งเข้ามาวิ่งที่ท่าข้าวกำนันทรงไปลาดกระบัง-แหลมฉบัง เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์

เธอบอกว่า จังหวะที่ทดลอง ช่วงนั้นน้ำมันเริ่มแพง และปีที่ทดลองคือปีที่มี “ผู้ว่าซีอีโอ” ประมาณปี 47-48 ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะกระบวนการทำงานรวดเร็ว สามารถสั่งการได้ไว แล้วก็ลิงค์กับผู้ว่าการรถไฟได้โดยตรง ทำให้การทดลองนำร่องพัฒนาระบบโลจิสติกส์ดูแล้วมีตัวเลขที่ชัดเจน ลดต้นทุนได้จริง เรื่องทั้งหมดที่เราลองทำได้นำเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่ตอนนี้เรื่องไปอยู่ที่ สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) เพราะการรถไฟไม่ดำเนินการต่อ

“แค่เอาตู้รถไฟเปล่าเรากลับมา ก็ทันบ้างไม่ทันบ้าง แต่เราจะต้องทันเรือ ขณะที่รถไฟก็ไม่รับปาก ส่วนเรื่องการจัดการจะมีบริษัทติดต่อเรือและคอนเทนเนอร์เปล่ามา พวกนี้มีบริษัทรับจ้างอยู่แล้ว ซึ่งเขาดีลกับรถไฟมาหลายสิบปี เขายังถอยหนีเลยตอนนั้น สรุปการจัดการรถไฟไม่เวิร์ก โครงการนี้ก็จบ เลิกล้มไป”

ตู้คอนเทนเนอร์ที่ทดลองใช้ขนข้าวส่งออกจากท่าข้าวกำนันทรงไปลาดกระบัง
ตู้คอนเทนเนอร์ที่ทดลองใช้ขนข้าวส่งออกจากท่าข้าวกำนันทรงไปลาดกระบัง

สภาพรางรถไฟปัจจุบัน ถูกทิ้งให้รกร้างไม่ได้ใช้การอะไร

“ปัจจุบันตลาดข้าวเปลือกไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมันแล้ว เพราะมันตายไปแล้ว ก็คงจะกลับขึ้นมาลำบาก กลไกราคาข้าวเปลือกจะทำกลับมาก็ลำบาก เนื่องจากระบบและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปแล้ว ย้อนกลับไม่ได้”

ลูกสาวกำนันทรงบอกว่า ทางกรมการค้าภายในพยายามให้เราดันตลาดข้าวเปลือก เราก็บอกว่ามันตายไปแล้วก็ต้องปล่อยมัน เพราะเกิดวัฒนธรรมใหม่ อย่างเช่น โรงสีเยอะขึ้น โรงสีใหญ่มีศักยภาพการผลิตและแปรรูปได้ทั้งหมดทั่วประเทศ และทั่วประเทศทุกจังหวัดมีพร้อมอยู่แล้ว และระบบต่างๆ ก็เปลี่ยน เช่น ระบบขนส่งก็เปลี่ยนไป ชาวนาก็มียุ้งฉาง ขณะที่รัฐบาลก็เดินหน้านโยบายจำนำข้าว ตั้งราคาจำนำสูงกว่าตลาดมาตลอด เพราะถือว่าส่วนต่างที่ขาดทุนช่วยชาวนา

อย่างไรก็ตาม วาสนามีความเห็นว่า การมีนโยบายรับจำนำ หรือนโยบายประกันราคา มีมุมดี มุมลบ เพียงแต่สถานการณ์ไหนจะใช้มาตรการอะไร ที่สำคัญขึ้นอยู่อย่างเดียวคือ “รัฐบาลทำด้วยความจริงใจหรือไม่” และการทำนโยบายอะไรก็ตาม ถ้าขั้นตอนในการทำมีมาก การรั่วไหลก็มาก เหมือนเอาชะลอมใส่น้ำแล้วเดินไป หรือไม่ก็ถือไอศกรีมเดินไป 100 เมตร กว่าจะถึงปลายทางก็ละลายหมดแล้ว

“ยิ่งขั้นตอนเยอะยิ่งรั่วไหลเยอะ เพราะให้หน้าที่ใครรับผิดชอบ คนทำหน้าที่ก็ถือโอกาสกินกันทุกจุด ก็เหมือนไอติมไหลตามทาง มันเป็นแบบนั้นจริงๆ นะ”

วาสนายกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงว่า “อย่างชาวนา ตอนที่จะแจก แล้วต้องให้มีประชามติ ก็กินตั้งแต่ต้นจนจบ กินกันทั้งแถบ อย่างตำบลที่เราไป เงินชดเชยเกี่ยวกับไร่เสียหาย นั่นก่อนน้ำท่วมใหญ่ ชาวนาน้ำท่วมก็ได้เงิน ไม่น้ำท่วมก็ได้เงิน และไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะท่วม 1 ไร่ ก็แจ้ง 10 ไร่ รู้กันทั้งหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านก็ร่วมกันกำหนด สมรู้ร่วมคิดกันหมดเลย เงิน 100 บาท จะแบ่งชาวบ้าน 20 บาท ที่เหลือก็แบ่งกันเรี่ยไล่รายทาง แล้วสมาชิก อบต. (องค์การบริหารตำบล) ที่เราไปหาบางคนไม่ยอมเซ็น เพราะเห็นว่าไม่ถูกต้อง ชาวบ้านก็มาล้อมหน้าบ้านเขาแทบแย่”

กลายเป็นว่ารัฐทำอะไรหลายอย่างที่ผิดวัฒนธรรม คือทำให้ชาวบ้านได้เงินเป็นวัฒนธรรมที่ถูก สร้างนิสัยที่ไม่ดีให้ตลอด ต่อไปก็ลำบาก และทุกคนเห็นผิดเป็นถูก เห็นใครทำอะไรก็เฉย มองเป็นเรื่องธรรมดา อันตรายมาก อะไรจะเกิดขึ้นในสังคม เมื่อมีแนวคิดแบบนี้มากขึ้น แทนที่ทุกคนจะพึ่งพาตนเอง

“มองแล้วปัจจุบันอย่าไปดันตลาดข้าวเปลือกเลย แต่เสียดายที่ว่าตอนนั้น ตอนที่ราคาฟอร์เวิร์ด ตอนนั้นมันสามารถพัฒนาระบบประเทศไทยได้เลย พี่ว่าถ้าเสียดายก็เสียดายตอนนั้น แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว มันเป็นอดีตไปแล้ว”

เมื่อตลาดกลางข้าวเปลือกตายไปแล้ว และยากที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงมีแนวคิดตั้ง “ตลาดกลางข้าวสาร” ขึ้นมา โดยเมื่อปี 2554 มีการเปิดตัวจัดงานมหกรรมข้าวอย่างใหญ่โต มีเสียงเชียร์จะยกระดับตลาดกลางข้าวสารท่าข้าวกำนันทรงเทียบชั้นตลาดข้าวชิคาโก แต่ก็มีฝ่ายที่ไม่มั่นใจว่าทำตลาดกลางข้าวสารไปเพื่ออะไร ก็มีคำถามมากมาย

งานมหกรรมข้าวไทย สุดยอดข้าวไทย หรือ THAI RICE FESTIVAL 2011 (23/6/2011)
งานมหกรรมข้าวไทย สุดยอดข้าวไทย หรือ THAI RICE FESTIVAL 2011 (23/6/2011) ที่มา: http://media.thaigov.go.th/

วาสนา ในฐานะผู้จัดการตลาดกลางข้าวสาร ย้อนกลับไปแนวคิดเริ่มแรกว่า พอเราทำนำร่องเรื่องรถไฟ ก็คิดไปเรื่อยๆ กันภายในกลุ่มของเรา และมองกันว่า ถ้าเป็นโรงสีเยอะ ตอนนั้นเรารู้ว่าตลาดประกอบด้วยผู้ซื้อผู้ขายมากราย และโรงสีก็เพิ่มขึ้น ในเมื่อข้าวเปลือกไม่มี ฟื้นขึ้นมาก็ยาก การแข่งขันก็สูง ถ้าเอาแนวคิดเก่าจากทำข้าวเปลือกมาทำข้าวสาร จะใช้ได้ไหม

“ตอนนั้นก็มีอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเขามาคุย เราดึงเขามาทำโลจิสติกส์ เขาคิดว่าเป็นไปได้ ก็คิดต่อจากเรา แล้วจบก็วางไว้ ไม่ได้ทำอะไรต่อ จนปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายยรรยง พวงราช) มานครสวรรค์ มาประชุม ก็เลยขายไอเดียให้ไป ที่จริงเขาคงมีอะไรอยู่แล้ว จึงเห็นด้วย”

ในอดีต 20-30 ปีก่อน กระทรวงพาณิชย์เคยทำตลาดข้าวสาร ทำแถวท่าเตียน แต่ตอนนั้น ณ ขณะนั้นอาจยังไม่ถึงเวลามีตลาดข้าวสาร มาวันนี้ปลัดยรรยงเคยดูในเรื่องนี้มาก่อน ก็เหมือนไปตอกย้ำความคิด เขาก็เลยปิ๊ง! ใส่งบประมาณกระตุ้นมหกรรมข้าว ซึ่งในงานมีการเปิดประมูลตลาดข้าวสารด้วย

นั่นคือจุดเริ่มต้น “ตลาดกลางข้าวสาร”

วาสนายอมรับว่า การทำตลาดกลางข้าวสาร ลำพังเอกชนคนเดียวทำไม่ได้ เพราะว่าการจะไปร้องขอชมรม หรือสมาคมโรงสีข้าวอีก 17 จังหวัด ถ้าไม่อ้างอิงทางราชการอาจทำได้ลำบาก เพราะไม่มีเครดิต นั่นคือแนวคิดที่คิดว่า จำเป็นต้องดึงภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งที่จริงเขาไม่ได้ดำเนินการอะไร แต่อาศัยการจุดแข็งของความเป็นราชการ ดึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามารวมได้ เพราะเราอ้างอิงได้

โดยจะดึงคนในโรงสี เจ้าของโรงสี ที่คิดถึงส่วนรวม เข้ามาเป็นคณะทำงานภายใน แต่การที่จะดึงคนจากจังหวัดอื่นเข้ามาร่วมหัวจมท้ายกับเรา เธอบอกว่าทุกอย่างต้องมีการลงทุน ต้องมีการระดมทุน เพื่อให้เข้ามีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะเมื่อมีการลงทุน เขาก็จะได้เป็นเจ้าของ ช่วยพัฒนากันไป ตอนนี้กำลังหารูปแบบที่ดีที่สุดว่าจะเป็นรูปแบบไหน แต่ทำอะไรก็ตาม ต้องออกมาในรูปธุรกิจด้วย แต่จะเป็นธุรกิจไม่หวังผลกำไรหรืออะไรก็ว่าไป

ตอนนี้กำลังหารูปแบบที่ดีที่สุดว่าจะเป็นรูปแบบไหน แต่แนวโน้มมองว่า น่าจะเป็น “สมาคม”

เพราะสามารถเขียนในบริคณห์สนธิได้ว่า เป็นสมาคมที่ไม่หวังผลกำไร และมองว่า สมาชิกที่เอาข้าวมาขาย สมาคมอาจขอเก็บค่าจัดการเป็นเปอร์เซ็นต์ถ้าขายได้ จะเก็บให้ต่ำที่สุดเพียงแค่ใช้หล่อเลี้ยงให้สมาคมบริหารจัดการได้ เหมือนสมาคมโรงสีข้าวไทย ที่จดทะเบียนเป็นสมาคมไม่หวังผลกำไร กึ่งบริษัท

วาสนาบอกว่า แนวคิดการตั้งสมาคมต้องดึง 17 จังหวัดภาคเหนือมามีส่วนร่วม ไม่ใช่นครสวรรค์จังหวัดเดียว นี่คือสิ่งที่เป็นรูปธรรมเป็นนิติบุคคลเพื่อที่จะไปทำธุรกรรมอย่างอื่นต่อ เช่น ทำคลังสินค้ากลาง หรือทำธุรกรรมกับสถาบันการการเงิน เราหวังว่า การพัฒนาต่อไปข้างหน้า อย่างพวกนักธุรกิจก็ต้องหาแหล่งเงินทุนเสริมให้เขา เช่น สถานที่ นอกจากมีการประมูลแล้ว ควรมีการเก็บคลัง เพราะการค้าขายข้าวไม่ใช่ส่งกันแบบสีออกมาแล้วส่ง จะต้องมีสต็อก

รายละเอียดข้้าวสารแต่ชนิดที่นำมาประมูล
รายละเอียดข้้าวสารแต่ชนิดที่นำมาประมูล

ดังนั้น ถ้าสต็อกสามารถทำให้เขาแลกเป็นเงินออกมา เป็นเงินทุนหมุนเวียน อันนั้นเป็นหน้าที่ที่ตลาดต้องทำ เพราะการซื้อขายในธุรกิจทุกอย่างไม่ได้เป็นแบบยื่นหมูยื่นแมว ต้องมีการจัดการเก็บ แต่นั่นอยู่ที่การจัดการต่อไปข้างหน้าจะทำอย่างไร

“ในสิ่งที่ทำ อย่างที่บอก ไม่ได้เกิดขึ้นมาแค่ว่าคิดแล้วปิ๊ง! ไม่ใช่ แต่มันค่อยๆ สะสมร้อยเรียงขึ้นมา เหมือนกับว่า ณ ขณะนั้น ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทำให้ค่อยๆ คิดขึ้นมา”

วาสนาบอกว่า การตั้งตลาดกลางข้าวสาร หลักใหญ่ๆ คือ เพื่อสร้างราคาให้นำไปอ้างอิงได้ และการทำตลาดกลางข้าวสารที่ท่าข้าว เราแค่เป็นสถานที่ให้เขาพบกัน คือเปิดพื้นที่ บริหารจัดการ แล้วเปิดข้อมูล เวลาซื้อขายตัดสินใจบนราคา ณ ส่งมอบที่นี่ แต่นั่นเป็นแค่ตัวหนังสือ เวลาส่งมอบจริงๆ เขาจะหักค่าขนส่ง เพราะการคิดด้านธุรกิจจะลดต้นทุนให้มากที่สุด เพราะฉะนั้น จะต้องไม่ให้มีการซ้ำซ้อน ที่เขาเรียก double handing ไม่ให้มี

ตอนนี้คนที่เข้ามาซื้อขายไม่มีค่าใช้จ่าย ทุกอย่างฟรีหมดเลย ส่วนค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ในการจัดเตรียมประมูล ค่าอาหาร ได้จากส่วนกลางจ่ายให้ บางอย่างเราก็ออกเอง แต่ก็อยู่ในวงจำกัดที่เราพอจะจ่ายได้

วาสนามีความเห็นว่า ทำเลที่ตั้งของท่าข้าวกำนันทรงพร้อมเป็นมัลติโมเดิร์น ถ้ารัฐบาลสนับสนุนทางน้ำ ทางรางรถไฟ เนื่องจากประเทศไทยไม่มีตรงไหนพร้อมแบบนี้ และถ้าดูทั้งประเทศ นครสวรรค์เป็นจุดกลาง และประเด็นสำคัญคือ ศักยภาพแบบนี้ ผลผลิตข้าวในนครสวรรค์และในจังหวัดพื้นที่ใกล้เคียง ก็มีมากเป็นอันดับสองของประเทศไทย

การทำตลาดกลางข้าวสารขึ้นมา เพื่อสร้างราคาให้นำไปอ้างอิงได้ และถ้าทำได้ก็สามารถเอาไปใช้อะไรได้หลายๆ อย่าง เนื่องจากถ้าพัฒนาตลาดข้าวสารได้จะช่วยการพัฒนาระบบต่างๆ โยงถึงระบบการค้า ซึ่งในระยะต่อไป การซื้อขายไม่ต้องมาดูถึงที่นี่ก็ได้ แต่ดูผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่อาจยังต้องใช้ดูของจริง ในกรณีข้าวพื้นเมือง (ขั้นตอนการประมูลซื้อขายข้าวสารในปัจจุบัน)

ลูกสาวกำนันทรงอธิบายว่า ข้าวในประเทศไทยมี 2 ประเภท คือ ข้าวส่งออก กับข้าวในประเทศ ซึ่งสัดส่วนครึ่งๆ เลย โดยข้าวส่งออก จะเป็นข้าวตามสเปค หรือตามมาตรฐานข้าวไทย การซื้อขายข้าวสารประเภทนี้อาจไม่จำเป็นต้องมาดูของจริง แต่อีกประเภทคือ ข้าวพื้นบ้าน เป็นข้าวที่เขาค้าขายกันอยู่ จะมีพันธุ์ข้าวเฉพาะสำหรับคนกินในประเทศ ที่ชาวบ้านกิน เอาไปหุงข้าวแกง ทำโรงแป้ง ทำขนมจีน ทำขนมกรุกรอบ ในกรณีนี้ยังต้องมาดูของจริง

วาสนาบอกว่า กลุ่มเราคุยอยากให้รัฐบาลปล่อยข้าวที่อยู่ในโกดังออกมาประมูลที่นี่ก็จะช่วยได้ เพราะปริมาณจะมากพอ ต่อไปถ้าทำในประเทศได้ก็อาจใช้อ้างอิงในตลาดโลกได้ ตอนนี้เราไปใช้ราคาอ้างอิงในตลาดชิคาโก ซึ่งมันไม่ใช่

“ตลาดข้าวสาร ถ้าเวิร์กจริงๆ จะตอบตลาดข้าวเปลือก คือจะสะท้อนราคาข้าวเปลือก และพัฒนาต่อยอดได้อีกเยอะเลย เพราะว่าอย่างที่บอก ข้าวเปลือกถูกกำหนดด้วยราคาข้าวสารต่างประเทศในระยะยาวๆ”

ทั้งนี้ นโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ทำให้ข้าวไหลไปอยู่ในมือรัฐบาลประมาณ 80% และที่ซื้อในตลาดกลางมีเพียง 20% (รายละเอียดการประมูลซื้อขายข้าวสารที่ตลาดกลางท่าข้าวกำนันทรง)

ตลาดกลางประมูลข้าวสาร ท่าข้าวกำนันทรง นครสวรรค์
ตลาดกลางประมูลข้าวสาร ท่าข้าวกำนันทรง นครสวรรค์

ทั้งนี้ ตลาดกลางข้าวสารช่วงเปิดประมูล 6-7 ครั้ง มีผู้ส่งออกเข้าร่วมประมูลบ้าง แต่ไม่มาก ซึ่งวาสนายอมรับตรงๆ ว่า แนวคิดตลาดกลางข้าวสารคงขัดอารมณ์ผู้ส่งออก เพราะเหมือนเราไปตัดรอนเขาว่า “ต้องมาซื้อขายกันตรงจุดนี้” ซึ่งอาจไม่จำเป็นหรือไม่เกี่ยวอะไรกับเขา

แต่ถ้าผู้ส่งออกคิดแบบนั้น เธอบอกความรู้สึกว่า เป็นการคิดบนพื้นฐานไม่ยอมที่จะขยายตัวเพื่อส่วนรวมเลย เหมือนตอนที่เราทำจะลดต้นทุนโลจิสติกส์ปี 47-48 ผู้ส่งออกก็ต่อต้าน ตอนนั้นเราเสนอว่า ผู้ส่งออกน่าจะมาลงทุนที่ท่าข้าว ทำโรงปรับปรุง และแพคเก็จที่นี่เลย เนื่องจากวัตถุดิบอยู่ที่นี่ แล้วคุณซื้อขายปกติ แต่มาลงทุนทำให้ครบวงจร

แต่เขาบอกเขามีอยู่แล้ว เขาไม่ขยับเขยื้อน เขาก็มีอาณาเขตของเขา เพราะฉะนั้นต้นทุนโลจิสติกส์จึงสูง เวลาจะซื้อไปส่งที่ไหน สมมติลอตใหญ่ๆ ต้องสั่งจากกรุงเทพฯ ย้อนกลับไปกลับมา เพราะทุกอย่างศูนย์กลางธุรกรรมอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งนั้น

“ตอนที่เราทำตลาด เจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในทุกคนคุยกันภายในและเห็นด้วย เขาก็รู้ว่าคอขวดคือผู้ส่งออก เพราะผู้ส่งออกจะกำหนดหรือจะทำราคาอย่างไรก็ตาม เขาสามารถทำเหมือนกดสวิทช์ได้ คนกระทรวงก็รู้ แต่ทำอะไรไม่ได้ ประชุมทีไรก็จะพูดเรื่อง bottom neck ว่าอยู่ที่ผู้ส่งออก เขาก็เลยจะทำเสียเอง คือรัฐบาลต้องมานั่งทำเอง เป็นเพราะปัญหาคอขวดหรือเปล่าไม่รู้ ที่ทำให้รัฐบาลต้องมานั่งทำเอง แล้วทำเองเป็นไง เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ” วาสนาเล่าความรู้สึกย้อนไปถึงตอนทำตลาดกลางข้าวเปลือก

อย่างไรก็ตาม วาสนายอมรับว่า ถ้าถามว่ามั่นใจตลาดกลางข้าวสารตรงนี้ไหม ก็ยังไม่รู้ลึก แต่ก็ต้องดูและฟังเสียงจากหลายๆ คน ถ้าตลาดกลางไม่เวิร์กก็ถอยแล้ว แต่ถ้าเวิร์กและสามารถหาคนมาบริหารจัดการได้ เราก็ถอยมาอยู่ข้างหลัง คอยสนับสนุนอยู่ข้างหลังได้

“พี่มองอย่างนั้นนะ เพราะอีก 5 ปี พี่ก็ 60 ต้นๆ แล้ว ตอนนี้ 56 แล้ว เราดูแล้วก็พอดี เกษียณพอดี ก็เหมือนกับว่า ลองอีกสักตั้งหนึ่งเพื่อชื่อเตี่ยที่ทำท่าข้าวกำนันทรงประสบผลสำเร็จ ก็ลองทำตลาดข้าวสารดูว่าจะเป็นอย่างไร”

ทั้งนี้ สอดคล้องกับระยะเวลาการเช่าที่ดิน วาสนาบอกว่า พื้นที่ท่าข้าวกำนันทรงตรงนี้ ตอนนั้นทำสัญญาเช่าไว้ 20 ปี แต่ครบสัญญาไปแล้ว ตอนนี้ได้ต่อสัญญาเช่ากับที่ราชพัสดุต่อไปอีก 5 ปี ดังนั้นอีก 5 ปี จะต่อสัญญาหรือไม่ขอดูก่อน ซึ่งการทำตลาดกลางข้าวสารเป็นเงื่อนไขหนึ่ง โดยถ้าสนใจเขาให้สิทธิเราประมูลต่อ แต่ก็ต้องประมูลใหม่

ท้ายที่สุด ท่าข้าวกำนันทรงจะกลับมาผงาดอีกครั้งหรือไม่ คงต้องลุ้นว่า ตลาดกลางข้าวสาร จะประสบความสำเร็จเหมือน ตลาดกลางข้าวเปลือกหรือไม่

นั่นคือความท้าทายของ “ท่าข้าวกำนันทรง”

ย้อนอดีตตำนานท่าข้าวกำนันทรง

จุดกำเนิดท่าข้าวกำนันทรง เริ่มต้นที่อำเภอพยุหะคีรี อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปี พ.ศ. 2534 ย้ายจากพยุหะคีรีมาอยู่ที่ปัจจุบัน (เทศบาลนครสวรรค์) บนเนื้อที่เกือบ 300 ไร่

วาสนาบอกว่า สาเหตุที่ต้องย้ายท่าข้าวเพราะสภาพเหตุการณ์เปลี่ยน คือ มีอยู่ปีหนึ่งแล้งมาก ปริมาณข้าวทั้งประเทศลดลง ทำให้ท่าข้าวที่อยู่ทางเหนือของกำนันทรงดักของดีๆ เอาไว้ ของไม่ดีก็ไปทาง พ่อค้าก็อยู่ไม่ไหว ก็เลยต้องย้ายมาอยู่ตรงนี้

ณ ตรงจุดนี้ ถ้ามองทำเลที่ตั้งก็เหมือนกับอยู่เหนือสุดของนครสวรรค์แล้ว สังเกตดูเส้นทางรถ ถ้าเลยนครสวรรค์ไปจะแยกเป็นสองทาง คือ สายพิษณุโลก และสายเชียงใหม่ ตรงนี้จึงเป็นจุดที่เหมาะสม

“คิดว่าทำเลนี้เตี่ยเขามอง ก็เป็นวิสัยทัศน์เขา ก็เลยย้ายมาอยู่ที่นี่ตอนปี 34”

วาสนา อัศรานุรักษ์
วาสนา อัศรานุรักษ์

การย้ายมาอยู่ที่นี่ เมื่อเทียบกับที่เก่า ปริมาณข้าวกลับเพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของปริมาณข้าวมีอยู่ 2 ปัจจัย

1. มีข้าวนาปรังเพิ่ม คือ สมัยก่อนเขาปลูกแต่ข้าวนาปี ปลูกปีละครั้ง แต่ตอนหลังมีการพัฒนาสายพันธุ์มากขึ้น การปลูกข้าวนาปรังเพื่อธุรกิจก็มากขึ้น แต่ว่าโดยพื้นที่มีจังหวัดนำข้าวมาที่นี่น้อยลง แต่ปริมาณเพิ่มขึ้น ต่างจากสมัยอยู่พยุหะคีรี ปริมาณข้าวที่เข้ามาจากภาคเหนือมาแทบทุกจึงหวัดถึงเชียงราย แต่เนื่องจากสมัยก่อนปลูกปีละครั้ง กว่าจะรวบรวมมาทั้งหมดก็ได้แค่นั้น

2. ระยะหลังชาวนาผลิตข้าวมากขึ้น ขีดวงแค่ไม่กี่จังหวัด เหนือสุดอาจจะแค่พิษณุโลกหรือกำแพงเพชร แต่ปริมาณข้าวทั้งปีมากขึ้น นี่คือตั้งแต่ปี 34-35 เป็นต้นมา เพราะว่าเราเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูก เพิ่มรอบการเพาะปลูก และผลผลิตเราก็สูงขึ้นเรื่อย ตัวเลขการส่งออกเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อย มันร้อยเรียงกันไปหมด

วาสนาบอกว่า ที่จะเล่าลึกๆ อีกมิติหนึ่ง คือ วัฒนธรรมในการปลูกข้าว วัฒนธรรมของชาวนาก็เปลี่ยนตามหมด สมัยก่อนชาวนาปลูกข้าวจะเก็บพันธุ์ข้าวไว้บางส่วน และเก็บไว้กินบางส่วน พอมาช่วงปลูกนาปรัง ชาวนาไม่เคยเก็บเลย ขายร้อยเปอร์เซ็นต์ และซื้อข้าวสารกิน แล้วบ่นว่าข้าวสารแพง ก็มีข้าวอยู่ในมือแล้วไปซื้อข้าวสารกิน แล้วก็บ่นว่าแพง ก็ช่วยไม่ได้

ตอนหลังการผลิตก็ถูกเปลี่ยน คือใช้เครื่องจักรมากขึ้น เนื่องจากว่าปลูกหลายๆ รอบ พอใช้เครื่องจักร ข้าวที่ออกมาความชื้นก็สูง พอความชื้นสูง สิ่งที่ตามมาคือ โรงสีก็ต้องมีอุปกรณ์ในการลดความชื้น ต้องมีเครื่องอบ สมัยก่อนไม่มี เพราะกว่าชาวนาจะเอาข้าวออกนาได้นี่แห้งแล้วแห้งอีก เพราะตากแล้วตากอีก ตอนหลังเกี่ยวสดแล้วขายเลย โรงสีก็ต้องมีอุปกรณ์วัดความชื้น มีอุปกรณ์เยอะแยะไปหมด ทำให้ความเปลี่ยนแปลงทั้งเทคโนโลยี วัฒนธรรมท้องถิ่น เปลี่ยนไปหมดเลย

“อย่าไปหวังว่าวัฒนธรรมจะเปลี่ยนกลับไปเหมือนเดิม เพราะคนก็เปลี่ยน เดี๋ยวนี้คนทำนาก็น้อย เพราะเหนื่อย และยิ่งทำก็ยิ่งจนลงๆ เป็นหนี้ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) มากขึ้นๆ ไม่มีใครยากทำนา วัฒนธรรมพ่อแม่รู้ว่าตัวเองเหนื่อย ก็ไม่อยากให้ลูกทำนา ให้ทำงานโรงงาน ผูกเน็คไท ไม่คิดจะให้ลูกทำนาหรอก ทำนาแดดร้อน ใครยากทำ”

เดี๋ยวนี้ทำนาเขาไม่เรียกทำนาแล้ว เขาเรียกเป็น “ผู้จัดการนา” มากกว่า สั่งอย่างเดียว ตั้งแต่เริ่มหว่าน ให้แรงงานต่างด้าวมาหว่านข้าว

วาสนาเริ่มย้อนเล่าให้ฟังถึงความสำเร็จของท่าข้าวกำนันทรงว่า ใช้หลักในการบริหาร คือ ต้องมี “ความยุติธรรม” และเราไม่ได้เข้าไปซื้อขาย

ตลาดกลางมีทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ทำอย่างไรที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ซื้อและผู้ขายทั้งสองฝ่ายเขาพอใจ แล้วเราก็ทำหน้าที่ของเรา คือต้องตั้งอยู่ในความเป็นกลาง พ่อค้าเล็ก พ่อค้าใหญ่ ก็ต้องดูแลให้เสมอภาคกัน ผู้ซื้อ ผู้ขาย อะไรต้องอยู่ในกรอบก็ต้องปรับให้อยู่ในกรอบ แล้วบริหารจัดการให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

คือ เราไม่ได้ตั้งเป้าจะไปเอาประโยชน์ตรงนั้น เราทำอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายพอใจ และต้องยุติธรรมด้วย

“เพราะฉะนั้น การที่พี่อยู่ที่ท่าข้าว พี่ก็ทำหน้าที่ของเรา คือ ดูว่าต้องไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ซึ่งจริงๆ กลไกของเราเอารัดเอาเปรียบไม่ได้อยู่แล้ว เพราะว่าการแข่งขันสูง คุณไม่ซื้อ คุณไปกดราคา คนอื่นซื้อไป เราไม่ต้องไปบังคับเขาเลย กลไกจะทำงานเอง”

วาสนาบอกว่า พี่ทำหน้าที่แค่ว่า ดูให้เขาอยู่ในกรอบในกติกาเท่านั้นเอง ดูแล้วไม่ยาก แต่ยากตรงที่ว่า เวลาความเข้มข้นของธุรกิจแต่ละช่วง โดยเฉพาะช่วงการแข่งขันสูง เขาทะเลาะกัน ตีกันหัวร้างข้างแตก แย่งของกัน เราต้องคอยเป็นกรรมการ มีขึ้นโรงขึ้นศาลกันด้วย

ยิ่งธุรกรรมเยอะๆ การแข่งขันสูง เรายิ่งเครียด บางทีเหมือนกับต้องทำใจ เพราะตลาดจะอยู่ได้พ่อค้าต้องเยอะ พ่อค้ามากรายถึงจะทำให้ตลาดทำงานได้ดี โดยเราไม่ต้องไปแทรกแซงอะไรมากมาย ถ้าพ่อค้าน้อยอาจจะฮั้วกัน เราไม่อยากให้เกิดแบบนั้น เพราะตลาดจะตายไปเรื่อย

วาสนาเล่าว่า เวลามีใครมาดูงานที่นี่ จะบอกเขาไปว่าไม่ได้มีหลักการลึกลับซับซ้อนอะไร ใครอยากได้อะไรก็ให้ไป อยากก็อปเอกสารก็เอาไปเลย ตอนนั้นเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ระบุชัดเจนว่า อยากให้มีจัดตั้งตลาดกลางและให้มีทุกจังหวัด เขาเลยให้เจ้าหน้าที่การค้าภายในมานั่งเฝ้า เก็บข้อมูล มาดูรายละเอียด แล้วยกเอาไปเป็นตัวอย่างและพัฒนาไปเปิดทุกจังหวัด

แต่ไม่สำเร็จทั้งหมด เพราะถ้าดูดีๆ จะพบว่า การทำตลาดกลาง เป็นการเพิ่มต้นทุนชนิดหนึ่ง เนื่องจากอยู่ดีๆ จะมาผ่านตลาดกลางทำไม จะมาเสียค่าใช้จ่ายบางส่วนทำไม แต่ค่าใช้จ่ายเราต้องจัดเก็บต่ำที่สุดเท่าที่จะต่ำได้ เพื่อไม่ให้เข้าไปซื้อขายนอกสถานที่ นอกจากนี้ การทำตลาดกลาง เรื่องทำเลที่ตั้งมีส่วนที่จะทำให้ตลาดกลางประสบผลสำเร็จ ถ้าไปตั้งในพื้นที่ที่ไม่มีข้าว แล้วให้เขาวิ่งมาเป็น 100 กิโลเมตร ก็ไม่ใช่

เพราะฉะนั้น “ทำเลที่ตั้ง” สำคัญมาก

วาสนาเปิดเผยถึงแหล่งรายได้ของธุรกิจท่าข้าวว่า ตอนนั้นเก็บค่าชั่งเป็นต่อตัน จำได้ครั้งสุดท้ายคิดตันละ 10 บาท ถ้าเขาไม่ซื้อขายมาชั่งแล้วออกไปแล้วก็เก็บไม่ได้ เพราะเราไม่รู้จะเก็บกับใคร ดังนั้น ถ้าขายไม่ได้ก็ไม่ต้องเสียอะไร สลึงก็ไม่เสีย ทั้งที่ใบชั่งเราก็กดไปแล้ว แต่ถ้าเขาซื้อขายเขาถึงจะมารับเงินกับเรา

ตอนหลังธุรกิจท่าข้าวอยู่ได้เพราะปล่อยสินเชื่อ เราปล่อยสินเชื่อ 10,000 บาท คิดดอกเบี้ย 7 บาทต่อวัน ซึ่งผิดกฎหมาย ตอนนั้นการหมุนเวียนมันไว เป็นสินเชื่อระยะสั้นๆ กลับมาไว แค่ไม่กี่วัน เขาไม่ได้กู้ยาว เพราะฉะนั้นส่วนแบ่งตรงนั้นเขาก็ให้เราบางส่วน เขาก็ได้กำไรเขาไป ก็อาศัยเครดิตแต่ละคนที่ค้าขายกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อที่เขาขายโดยเรือโยง

“ถามว่าคิดยังไง ไม่รู้ เป็นอัตราที่เตี่ยเขาจัดการกำหนด”

แต่ช่วงหลังเงินที่กู้ยืมไปไม่ได้ใช้ถูกประเภท ไม่ได้ใช้หมุนเวียนในธุรกิจของตัวเอง ยืมเงินเราไปใช้ทำอย่างอื่น เอาไปซื้อที่ดิน ไปเล่นหุ้น เมื่อก่อนเราให้สินเชื่อโดยมีข้าวมาประกัน แต่ตอนหลังๆ ไม่ใช่ ก็เริ่มเปลี่ยน เพราะโรงสีก็เริ่มเชื่อจริง คือบอกเอาข้าวขายโรงสี เอาเงินมา แล้วบอกเก็บที่โรงสี ก็ลูกติดพันไป ตอนหลังการปล่อยสินเชื่อกลายเป็นว่าเราต้องมานั่งดูว่า โรงสีนั้นเป็นอย่างไร ชื่อเสียงเป็นอย่างไร ถ้าโรงสีนั้นไม่ดี ก็ต้องเรียกเอาเงินกลับทันที ต้องทำขนาดนั้นเลย

วาสนาเล่าว่า พอทำมากๆ ขึ้น เวลาแบงก์มาเยี่ยม กลับกลายเป็นว่าเราต้องสอนการจัดการบริหารหนี้ การที่จะต้องมาประเมินลูกค้า ก็คือ สมมุติเราให้วงเงินเท่านี้ เหมือนเป็นการจัดการหนี้ แต่พอรู้ว่าไม่ดีขึ้นมา เราก็ต้องยื่นลดวงเงิน และให้เวลา และค่อยจัดวงเงินลดลงมา ในเวลาเดียวกันก็ต้องไปเช็คว่า เขาไปขายที่ไหน ต้องมานั่งดู ปรับโครงสร้างหนี้แต่ละราย เพราะไม่มีทางอื่นนอกจากวิธีนี้ เนื่องจากต้องดูแลลูกค้า ถ้าลูกค้าเอาเงินกู้ไปเจ๊ง เราก็แย่เหมือนกัน

วาสนาบอกว่า ทั้งหมดที่เล่ามาคือกระบวนการทำงานที่ “ท่าข้าวกำนันทรง” ซึ่งไม่สามารถจัดการในรูปขององค์กรได้ เนื่องจากต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา และจำเป็นต้องใช้ “บารมี” ต้องใช้ความเป็นตัวของเราด้วย

“พี่เป็นคนชอบความยุติธรรม นี่คือสิ่งที่ทำให้เราทำตลาดได้ ถ้าคุณไม่บ้าความยุติธรรมคุณทำไม่ได้นะ คุณเอนเอียงไม่ได้นะ คุณโดนเขาตีกลับเข้ามา ถ้าเขาไม่เชื่อถือขึ้นมา เขาไม่สนใจหรอก พ่อค้าทุกคนเขามีเงิน ทุกคนเขามาเพื่อผลประโยชน์ เราไม่ตอบโจทย์เขา เขาก็ไม่เชื่อถือเรา”

แต่ “ท่าข้าวกำนันทรง” นั้น ถ้าจะเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ วาสนาบอกว่า จริงๆ แล้ว “ความยิ่งใหญ่” มาจากผลที่ออกไปมากกว่า ซึ่งถ้ามาดูการทำงานจริงๆ แล้ว ที่นี่ไม่มีอะไร