ThaiPublica > คอลัมน์ > 3 คำ 3 แนวคิด 3 ภาคส่วน: เวทีกำหนดนโยบายแรงงานข้ามชาติ

3 คำ 3 แนวคิด 3 ภาคส่วน: เวทีกำหนดนโยบายแรงงานข้ามชาติ

12 พฤศจิกายน 2012


ภัทชา ด้วงกลัด

เสี่ยง สกปรก แสนลำบาก หรือ Dangerous–Dirty–Difficult คือ 3 คำที่อธิบายลักษณะงานที่แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นงานเช่นกรรมกรในไซต์งานก่อสร้าง ลูกจ้างในร้านค้าที่ต้องทำทุกอย่างตั้งแต่ขายของ จัดสินค้า ยกของ ทำความสะอาด ลูกจ้างเกษตรกรในไร่นาสวนผลไม้ แม่บ้านทำความสะอาด หรือชาวประมงลากอวนที่ต้องทำงานเกือบตลอดวัน

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติ เราต้องการแรงงานไร้ฝีมือที่ขยันและอดทนในราคาถูก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับการผลิตสินค้าและบริการ ในเมื่อแรงงานไทยส่วนมากปฏิเสธที่จะทำงานประเภทนี้ เพราะลักษณะงานที่ไม่น่าดึงดูดใจ และนโยบายการพัฒนาแรงงานและการศึกษาของเรามุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงงานไทยให้มีทักษะและมีการศึกษามากขึ้น แรงงานข้ามชาติจึงเป็นคำตอบที่ลงตัวสำหรับผู้ประกอบการ เพราะนอกจากจะมีค่าแรงราคาถูกแล้ว นายจ้างยังไม่ต้องดูแลรับผิดชอบเรื่องสวัสดิการและสภาพการทำงานมากนัก ด้วยกฎหมายที่ยังไม่คุ้มครองครอบคลุม

ความต้องการแรงงานข้ามชาตินั้นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปริมาณแรงงานไร้ฝีมือชาวไทยที่ลดลง อันมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงงานและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น มีการคาดการณ์ว่า ภายในระยะเวลา 10 ปี เราจะต้องการแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นอีก 5-7 แสนคน เลยทีเดียว ด้วยความต้องการที่มีมากนี้ จึงมีแรงงานข้ามชาติหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องทั้งที่ถูกต้องกฎหมายและลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย แรงงานงานจำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี หรือแม้กระทั่ง 20 ปี สร้างครอบครัวและมีทายาทรุ่นที่ 2 ซึ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกจำนวนหนึ่ง แรงงานเหล่านี้รวมตัวกันเป็นชุมชนใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนและเมืองอุตสาหกรรม เช่น ตาก ระยอง สมุทรสาคร เป็นต้น แรงงานข้ามชาติจึงได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเศรษฐกิจไทย

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชุดโครงการ “สถานะและปัญหาของทายาทรุ่นที่ 2 ของผู้ย้ายถิ่นจากประเทศพม่า”1 ที่ศึกษาสถานการณ์ของทายาทผู้ย้ายถิ่นและแรงงานพม่ารุ่นที่ 2 ซึ่งหมายถึงบุตรธิดาของผู้ย้ายถิ่นที่เกิดในประเทศไทย หรือที่ย้ายมาพร้อมบิดาและมารดาก่อนอายุ 15 ปี งานศึกษาชุดนี้สำรวจสถานะของทายาทรุ่นที่ 2 เหล่านี้ในมิติต่างๆ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ การสาธารณสุข การศึกษา การโยกย้ายอพยพ การค้ามนุษย์ และการปรับตัวทางสังคมและวัฒนธรรม

แรงงานพม่ามาต้อนรับ อองซาน ซูจี ที่มาภาพ: http://www.thairath.co.th
นางออง ซาน ซูจี เดินทางมาพบแรงงานพม่าที่ศูนย์กลางค้ากุ้ง จ.สมุทรสาคร ท่ามกลางชาวพม่าที่ร่วมให้การต้อนรับ ที่มาภาพ: http://www.thairath.co.th

งานวิจัยชุดนี้มีความน่าสนใจที่สามารถสะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแรงงานทายาทรุ่นที่ 2 ซึ่งยังไม่เป็นที่รับรู้มากนัก แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ปัญหาที่แรงงานทายาทรุ่นที่ 2 เหล่านี้ต้องเผชิญ ไม่ต่างอะไรนักจากปัญหาที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาของแรงงานข้ามชาติโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการขาดการรับรองสถานะที่ชัดเจน ทำให้เสียสิทธิต่างๆ ที่พึงได้รับ เช่น การรักษาพยาบาล ทั้งยังต้องเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบและถูกล่อลวง เช่น การถูกละเมิดสิทธิจากนายจ้าง และการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ เป็นต้น

ส่วนหนึ่งจากงานศึกษาชุดนี้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า สาเหตุที่เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการค้ามนุษย์ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เป็นเพราะการมองปัญหาอย่างแยกส่วนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลัก 3 ภาคส่วน ซึ่งมีมุมต่อแรงงานข้ามชาติที่แตกต่างกันไป 3 แนวคิด ทำให้ยังหาทางออกที่เป็นจุดสมดุลในการจัดการกับสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยไม่ได้ ผู้เขียนจะขอขยายความข้อสังเกตนี้ดังต่อไปนี้

แนวคิดที่ 1: การจำกัดและควบคุมโดยภาครัฐ ภาครัฐไทยมองแรงงานข้ามชาติเชื่อมโยงกับประเด็นความมั่นคง ในสายตาของภาครัฐ แรงงานข้ามชาติมีผลต่อความเป็นอธิปไตยและเขตแดนของประเทศ นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติยังมาพร้อมกับปัญหาต่างๆ ที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาสุขภาพโรคติดต่อ การค้ามนุษย์ และปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น ภาครัฐจึงให้ความสำคัญกับในแนวคิดการจัดการแรงงานข้ามชาติโดยการป้องกัน การควบคุม และการปราบปราม

ในอดีตประเทศไทยไม่มีนโยบายโดยตรงเรื่องแรงงานข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างค่อนข้างเสรี ต่อมาภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร นโยบายเกี่ยวกับแรงงานมีลักษณะออกไปทางชาตินิยม มีการควบคุมการทำงานของคนต่างชาติ โดยสงวนอาชีพบางอย่างไว้ให้คนไทยทำโดยเฉพาะ และกำหนดให้แรงงานข้ามชาติที่ต้องการทำงานในประเทศไทยต้องขอใบอนุญาตจากกระทรวงแรงงานก่อน ต่อเมื่อเวลาผ่านไป แนวนโยบายมีความผ่อนผันมากขึ้น มีการอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายสามารถทำงานได้เป็นการชั่วคราวในปี 2535 โดยกำหนดให้ต้องมาขึ้นทะเบียนกับรัฐ

การจัดการกับปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย อยู่ในความสนใจของรัฐบาลยุคต่างๆ มาโดยตลอด มีลักษณะควบคุมโดยใช้กฎหมายและอำนาจหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายในยุคหลัง ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นมา มุ่งเน้นเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ถึงแม้ในทางปฏิบัติจะยังมีข้อจำกัดอยู่มากก็ตาม

แนวคิดที่ 2: การใช้ประโยชน์และการพึ่งพิงในภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์และต้องพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติโดยตรง กลุ่มนี้มองการใช้แรงงานข้ามชาติเป็นการลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจส่งออก การจ้างแรงงานต่างด้าวที่มีความต่อเนื่องมีต้นทุนในการจัดการน้อยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขา

ที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติสร้างคุณปการให้เศรษฐกิจไทยไม่น้อย งานศึกษาจากทั้ง ILO (International Labour Organization) และนักวิชาการไทยชี้ให้เห็นว่า แรงงานข้ามชาติมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมและในบางภาคส่วนโดยเฉพาะ เช่น การประมงและอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวมากขึ้น ช่วยลดอัตราเงินเฟ้อ ลดความกดดันจากการเพิ่มขึ้นของค่าแรง ในระดับผู้ประกอบการ มีข้อมูลจากการสำรวจพบว่า การจ้างแรงงานต่างด้าวช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น และมีต้นทุนการผลิตลดลง

แนวคิดที่ 3: การเคารพในสิทธิมนุษยชน โดยกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนและกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) กลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของแรงงานข้ามชาติ เรียกร้องการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม สนใจในประเด็นปัญหาการเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ การรับรองสิทธิและการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ทั้งในระดับโครงสร้างนโยบายกฎหมาย และระดับในระดับปฏิบัติโดยภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

การเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวคิดนี้มีทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่ม NGOs เท่านั้น แต่ยังมีสถาบันและกลไกที่มีอิทธิพล เช่น องค์กรระหว่างประเทศอย่าง ILO หรือแม้แต่กระทั่งประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีกฎหมายเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศต่างๆ ซึ่งครอบคลุมกรณีแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น สถาบันและองค์กรเหล่านี้ มีผลกดดันให้ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติพอสมควร

เด็กๆ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่เข้ามารับการบริการที่คลินิกแม่ตาว มีเป็นจำนวนมากจนเตียงไม่เพียงพอต้องลงมารับบริการที่พื้น
เด็กๆ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่เข้ามารับการบริการที่คลินิกแม่ตาว มีเป็นจำนวนมากจนเตียงไม่เพียงพอต้องลงมารับบริการที่พื้น

ตัวละครทั้งสามภาคส่วนนี้ ต่างพยายามมีอิทธิพลมีในการกำหนดสถานการณ์แรงงานข้ามชาติให้เป็นไปตามแนวทางของตนเอง โดยที่ผ่านมา ภาคธุรกิจและองค์กรสิทธิมนุษยชนกลุ่ม NGOs ต่างผลัดกันเดินหมาก เจรจาต่อรองกับภาครัฐ ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ

จากหลายเหตุการณ์ในอดีต ภาคธุรกิจดูเหมือนจะสามารถมีอิทธิพลกดดันให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายได้สำเร็จไม่ใช่น้อย ตัวอย่างเช่น กรณีภายหลังเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนในประเทศพม่าในปี 2531 มีชาวพม่าลักลอบอพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนนับแสน แต่ขณะนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของเศรษฐกิจฟองสบู่ ทำให้มีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และประมง ภาคธุรกิจ ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ และสมาคมธนาคารไทย จึงรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตการจ้างแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายได้ ส่งผลให้รัฐบาลหันมาใช้นโยบายยืดหยุ่น ผ่อนผันให้คนที่มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองเหล่านี้สามารถทำงานได้ชั่วคราว

ในปี 2540-2541 ภาครัฐพยายามขจัดแรงงานข้ามชาติเพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ว่างงานคนไทยได้มีงานทำ หลังประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 แต่นโยบายนี้ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีการคัดค้านจากโรงสีข้าว โดยให้เหตุผลว่า การขจัดแรงงานข้ามชาติส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย ที่ต้องการแรงงานเหล่านี้เพื่อแบกกระสอบข้าวซึ่งหนักถึง 100 กิโลกรัม จึงมีการเรียกร้องให้สำนักงานจัดหางานจัดหาคนไทยมาทดแทนแรงงานข้ามชาติจำนวน 20,000 คน แต่สำนักงานจัดหางานสามารถหาและจัดส่งให้ได้เพียง 17 คนเท่านั้น มีการขอร้องให้โรงสีปรับขนาดกระสอบลงเหลือ 50 กิโลกรัม แต่ไม่เป็นที่ยินยอม ในท้ายที่สุด รัฐบาลจึงต้องขยายการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวออกไป

ในปี 2544 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย มีการอภิปรายถึงปัญหาสังคมจากแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นการนำโรคติดต่อที่ได้ถูกขจัดหมดสิ้นไปแล้วในเมืองไทยเข้ามาระบาดอีก ปัญหาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น ในท้ายที่สุด รัฐบาลได้อ้างถึงความจำเป็นของภาคธุรกิจที่ต้องการแรงงานที่ยินยอมและสามารถทำงานที่มีอันตราย นโยบายในการแก้ปัญหาจึงมีลักษณะผ่อนผันมากกว่าการจำกัดและควบคุม โดยจัดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายอีกครั้ง และให้นายจ้างสามารถจ้างแรงงานเหล่านี้ได้ชั่วคราวก่อนมีการส่งตัวกลับประเทศ

สำหรับบทบาทของกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนและกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) คุณอดิศร เกิดมงคล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ จาก Migrant Working Group (IRC) ซึ่งเป็นหนึ่งในห้านักปกป้องสิทธิที่ได้รับการยกย่องจากกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า2 ในขณะนี้ดูเหมือนว่า กลไกระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชน มีบทบาทมากขึ้นในการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องสิทธิ ทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถนิ่งนอนใจปล่อยให้ปัญหาดำเนินไปเรื่อยๆ โดยไม่เข้าแก้ไขได้

ผู้เขียนขอยกกรณีตัวอย่างรูปธรรม เมื่อประมาณเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (2555) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประกาศแนวนโยบายส่งแรงงานหญิงข้ามชาติที่ท้องกลับประเทศบ้านเกิด และให้กลับมาทำงานได้เมื่อคลอดลูกแล้ว นโยบายนี้เป็นผลจากการถูกกดดันโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ในการจัดลำดับให้เป็นประเทศไทยเป็นประเทศกลุ่มขั้นที่ 2 (Tier 2) จากทั้งสิ้น 3 ขั้น กล่าวคือ เป็นประเทศที่มีการดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมาย Trafficking Victims Protection Act, 2000 ของสหรัฐฯ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ทำให้ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก จึงมีการประกาศแนวนโยบายนี้ขึ้น ถึงแม้ว่าจะได้รับการคัดค้านจากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิและส่งผลต่อสวัสดิภาพของแรงงานข้ามชาติหญิงโดยตรง แต่กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า ภาครัฐเองมีความอ่อนไหวต่อแรงกดดันจากองค์กรและกลไกด้านสิทธิมนุษยชนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหน่วยงานที่ทรงอิทธิพลในต่างประเทศ ทำให้กลุ่มองค์กรเหล่านี้สามารถมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายแรงงานข้ามชาติได้มากขึ้น

ด้วยสถานการณ์ผลัดกันรุกผลัดกันรับเช่นนี้ การกำหนดนโยบายแรงงานข้ามชาติของไทยในภาพรวมจึงยังไม่มีความชัดเจนนัก แต่มีลักษณะปรับเปลี่ยนไปตามอิทธิพลของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักต่างๆ ตามสถานการณ์และบริบทในแต่ละจังหวะ จริงๆ แล้วความยืดหยุ่นในการกำหนดนโยบายถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่านโยบายจะสามารถค่อยๆ ปรับตัวไปสู่จุดที่เหมาะสมได้ ในระยะสั้น ความไม่ชัดเจนนี้ทำให้เกิดช่องว่างในการละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติได้ง่าย แต่ความไม่ชัดเจนจะยิ่งสร้างปัญหาอีกหลายด้านในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ปัจจัยภายนอกปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และสถานการณ์การแข่งขันจากรอบด้านบีบบังคับไทยให้ต้องปรับตัวให้ทันและสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเองได้ในระยาว ตัวอย่างเช่น การเปิดประเทศของพม่า ที่ทำให้การลงทุนในประเทศคึกคักมากขึ้น ดึงดูดแรงงานพม่าจำนวนไม่น้อยกลับไปทำงานที่บ้านเกิด ทำให้ในขณะนี้เราประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้างกว่า 3 แสนคน นอกจากนี้ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก็อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตและเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องกระทบตลาดแรงงานในประเทศไม่มากก็น้อย

ที่ผ่านมาเราอาจต้องขอบคุณการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกันในภูมิภาค และความผันผวนทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ทำให้เรามีแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของตลาดแรงงานในประเทศได้อย่างไม่ขาดสาย แต่สถานการณ์อาจเปลี่ยนไป ที่ผ่านมาเราอาจมัวหลงระเริงกับความโชคดีที่อยู่ตรงหน้า หวังพึ่งแรงงานราคาถูก จนพลาดโอกาสในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่ได้ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และเปิดรับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาเท่าที่ควร

การวางแผนนโยบายระยะยาว ที่ผสานแนวความคิดและความกังวลของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักทั้งหลายเข้าด้วยกันเป็นสิ่งจำเป็น ในขณะเดียวกัน เป้าหมายและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในภาพใหญ่ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกว่าแต่ละภาคส่วนมีหน้าที่ต้องทำอะไร เช่น สมมุติว่า เราเลือกที่จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันโดยคงโครงการผลิตที่ใช้แรงงานมากราคาถูกไว้เป็นหลัก ท่าทีของภาครัฐต่อตลาดแรงงานก็คงต้องไม่เป็นไปในทางจำกัดและควบคุม แต่เป็นการอำนวยความสะดวก ให้สถานะและสิทธิคุ้มครองที่ชัดเจนเพื่อดึงดูดแรงงานข้ามชาติไว้ได้อย่างต่อเนื่อง หรือหากเราบอกว่าต้องการจะก้าวไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่และส่งเสริมการจ้างงานในประเทศ ภาครัฐก็ควรเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินค้าทุนราคาถูกมากกว่าแรงงานราคาถูก พัฒนาการศึกษาให้ตอบสนองต่อตลาดแรงงานได้ ในขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ต้องยอมปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เป็นต้น การขาดทิศทางที่แน่ชัดซึ่งแต่ละฝ่ายยอมรับได้ ทำให้ปัญหาแรงงานข้ามชาติไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างเด็ดขาด ทำให้เราไปไม่ถึงสิ่งที่หวัง ต้องเสียทรัพยากรและเสียโอกาสไปไม่น้อย เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ในประเทศไทย

หมายเหตุ

1 สนใจงานฉบับเต็ม อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

2 สัมภาษณ์อดิศร เกิดมงคล: แรงงานข้ามชาติในปัจจุบัน แนวโน้มหลังรวมเป็นประชาคมเอเซียน โดย ประชาธรรม สถานีข่าวประชาชน วันที่ 17 ต.ค. 2555