ยุทธการ ยุทธนาวุธพิทักษ์
ในเฟซบุ๊กมี “เพจอวตาร” อยู่มากมายครับ ซึ่งเพจอวตารที่ว่านี้ก็คือ เพจที่สร้างขึ้นมาเพื่อผลิตหรือเผยแพร่เนื้อหาในฐานะบุคคลหรือสิ่งสมมติ เรียกว่าเผยแพร่ได้ทั้งในฐานะคน สัตว์ สิ่งของ ความเชื่อ ฯลฯ ตามแต่จะสร้างสรรค์กันไป
เนื้อหาของเพจอวตารเหล่านี้นั้น ก็จะแตกต่างกันไปตามแต่วัตถุประสงค์ของคนทำเพจ ซึ่งในความแตกต่างหลากหลายนั้น ก็จะมีเพจจำนวนหนึ่ง ที่นำเสนอเนื้อหาในลักษณะของการ “โควต” หรือก็คือการนำข้อความของใครต่อใครมานำเสนอ ผู้เขียนติดตามหลักๆ อยู่สามเพจครับ คือ เพจแรก “วิวาทะ” ก็จะเป็นลักษณะของการโควตแบบทั่วๆ ไป เป็นการนำข้อความที่ใครต่อใครพูดไว้มาเผยแพร่ต่อ โดยระบุชัดเจนว่าใครพูด พูดที่ไหน พูดเมื่อไหร่ หรือไม่ก็เป็นคำคมของคนดังทั้งในและนอกโลกออนไลน์ ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว โดยเพจวิวาทะจะนำเสนอเนื้อหาเหล่านั้นในลักษณะของการใช้โปรแกรมตกแต่งภาพนำเอาคำพูดนั้นๆ ใส่ลงไปบนภาพของผู้พูด
เพจที่สอง เป็นอีกเพจที่น่าสนใจและตื่นตาตื่นใจ คือ “กูKuote” ซึ่งก็เป็นเพจที่มีเนื้อหาในลักษณะของการโควตเหมือนกัน นำเสนอโดยการตัดต่อนำข้อความนั้นๆ ใส่ในรูปภาพเหมือนกัน แต่การนำเสนอของกูKuoteนี้ดูจะเป็นไปในลักษณะของการ “ล้อเลียนวัฒนธรรมการโควต” ครับ คือเป็นการโควตอะไรที่อาจเรียกได้ว่าไม่มีใครเขาโควตกัน เช่น “โหว่ม…โหว่ม” ซึ่งเป็นเสียงของดาบแสง (light saber) ในภาพยนตร์อันโด่งดังอย่าง “Star Wars” หรือ “…เดี๋ยวผมส่งต่อให้อาจารย์ปิยบุตรเลยนะครับ” โดยระบุว่าเป็นคำพูดของ “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่ม “นิติราษฎร์” ที่กล่าวในงาน “5 ปีรัฐประหาร 1 ปีนิติราษฎร์” และยังบอกด้วยว่า คำพูดดังกล่าวนั้น นำมาจากชั่วโมง นาที และวินาที ที่เท่าไหร่ในลิงค์วิดีโอของยูทูบที่ระบุไว้
แต่เพจที่เผยแพร่เนื้อหาในลักษณะนี้ซึ่งผู้เขียนสนใจมากๆ และอยากจะพูดถึงในวันนี้ก็คือ เพจ“มิตรสหายท่านหนึ่ง” ครับ
มิตรสหายท่านหนึ่ง เป็นหนึ่งในเพจอวตารที่เผยแพร่เนื้อหาในลักษณะของการโควตเช่นกัน เท่าที่สังเกต เข้าใจว่าเป็นข้อความที่ทางเพจพบเจอจากในเฟซบุ๊กของหลายๆ คน โดยอาจจะเป็นสเตตัส คอมเมนต์ หรือความคิดเห็นต่อลิงก์ต่างๆ (ซึ่งกรณีหลังนี้จะมีการแชร์ลิงก์ดังกล่าวให้ด้วย) ซึ่งลักษณะที่โดดเด่นกว่าใครของเพจนี้ก็คือ เมื่อนำเอาข้อความต่างๆ มาไว้ในเครื่องหมายคำพูดตามลักษณะของการโควตแล้ว ทางเพจจะไม่บอกอะไรเกี่ยวกับตัวเจ้าของข้อความว่าเป็นใครมากไปกว่าว่าเป็น “มิตรสหายท่านหนึ่ง”
เหตุที่ผู้เขียนสนอกสนใจการโควตของเพจมิตรสหายท่านหนึ่งมากเป็นพิเศษ ไม่ได้อยู่ที่ตัวสิ่งที่ทางเพจโควตมาครับ แต่คือสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่า “น่าจะเกิดขึ้น” จากการโควตในลักษณะนี้ และสิ่งที่คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นนั้น มันไปพ้องกับ “สังคมในอุดมคติ” ของผู้เขียน ในมิติว่าด้วยการทำความเข้าใจสารต่างๆ ที่ถูกนำเสนอออกมา
สังคมในอุดมคติในแง่ดังกล่าวที่ผู้เขียนฝันไว้ก็คือ สังคมที่สามารถแยก “คำพูด” ออกจากตัว “ผู้พูด” ครับ
ก่อนจะพูดถึงว่ามันอะไรยังไง ผู้เขียนจะขอพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับการโควตคำพูดเท่าที่ได้สังเกตมา คือ
1. การตัดขาดจากบริบท
เป็นประเด็นที่การโควตโดยทั่วไปนั้นถูกโจมตีมากครับ ในเฟซบุ๊กนั้นไม่ได้มีแต่เพจอวตารดังกล่าวไปแล้วที่คอยทำการโควตคำพูดของใครต่อใครไปเผยแพร่ แต่ผู้ใช้งานทั่วไปก็ทำอะไรแบบนั้นในเฟซบุ๊กส่วนตัวของตัวเองเช่นกัน เพราะฉะนั้น บ่อยครั้งแล้วการโควตก็เป็นไปอย่างรวดเร็วโดยมีแค่ถ้อยคำที่โควตมา และบอกว่าใครเป็นคนพูด คนที่เห็นก็จะรู้แค่ว่าใครพูดอะไร แต่ไม่รู้ว่าพูดที่ไหน เมื่อไหร่ พูดทำไม อยู่ภายใต้เรื่องราวแวดล้อมหรือบริบทแบบไหน
ทุกคำพูดมีความหมายภายใต้บริบทที่ถูกพูดออกมาครับ และคำพูดเดียวกันนั้นก็สามารถมีความหมายแบบอื่นเมื่อถูกกำกับโดยบริบทอื่นๆ เช่นกัน คำว่าบริบทนี้ไม่ใช่แค่สถานที่ เวลา และวาระ ที่พูดนะครับ แต่หมายรวมถึงประโยคแวดล้อมที่อยู่ในการพูดนั้นๆ ด้วย การนำบริบทที่ไม่ใช่บริบทที่คำพูดนั้นๆ ถูกพูดขึ้นมาไปจับ ย่อมมีผลให้ความหมายของคำพูดและเจตนาในการสื่อสารผิดเพี้ยนไป และอย่างเลวร้ายที่สุด การเข้าใจความหมายผิดไปนั้นสามารถสร้างความเดือดร้อนระดับคอขาดบาดตายให้กับผู้พูดได้ และอย่างเลวร้ายที่สุดของที่สุด อาจทำให้เกิดการตัดต่อข้อความไปโควตเพื่อใส่ร้ายป้ายสีหรือกลั่นแกล้งกันได้
เวลาพูดเรื่องแบบนี้ ผู้เขียนจะนึกถึงตัวอย่างสุดคลาสสิกในความทรงจำ นั่นก็คือเรื่องราวที่ได้เรียนจากหนังสือเรียนประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เล่ม 1 ซึ่งหลายคนจะคุ้นเคยดีว่าเป็นเรื่องราวของ “มานี-มานะ” โดยในบทที่ 1 ของหนังสือเรียนเล่มดังกล่าว มีเรื่องราวของน้องชายของ “ปิติ” (ตัวละครหลักตัวหนึ่ง) ซึ่งนั่งสัปหงกฟังพระเทศน์แล้วก็ได้ยินชัดเจนแต่เพียงตอนที่พระท่านเทศน์ว่า “การนอนตื่นสายก็ดี การเป็นคนเกียจคร้านก็ดี” ก็เลยเลิกขยันแล้วหันไปเกียจคร้าน เพราะเข้าใจว่าพระท่านบอกว่าเป็นสิ่งดี โดยมารู้ทีหลังว่า ที่พระท่านว่าจริงๆ นั้นคือ “การนอนตื่นสายก็ดี การเป็นคนเกียจคร้านก็ดี ทำให้เราเสียโอกาสที่จะทำการงานให้ได้มากๆ ในที่สุดเราก็จะยากจน”

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งกับวลี “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าฆ่าคน” ซึ่งมักถูกโควตกันไปในฐานะเป็นคำพูดของ “ว.วชิรเมธี” หรือ “พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี” พระนักวิชาการและนักคิดนักเขียนผู้มีชื่อเสียง ทั้งที่ประโยคจริงๆ คือ “การฆ่าเวลา บาปไม่น้อยไปกว่าการฆ่าคน ว.วชิรเมธี” ซึ่งเป็นข้อความที่ถูกทวีตลงในทวิตเตอร์ “V.Vajiramedhi” ของพระชื่อดังเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553 ซึ่งแม้จะยังไม่ไปพูดกันถึงเรื่องของหลักการอันเกี่ยวเนื่องกับข้อความ แต่ความหมายนั้นก็ผิดไปตั้งแต่การโควตประโยคไปแบบผิดๆ แล้ว

ที่กล่าวมานั้น เป็นกรณีของการตัดบริบทออกโดยผู้โควตนะครับ แต่ในขณะเดียวกัน การตัดบริบทออกนั้น อาจเกิดโดยตัวผู้พบเจอการโควตเองก็ได้ เช่น กรณีอย่างเพจวิวาทะ ทั้งที่ก็มีการระบุที่มาของข้อความที่นำมาโควต ซึ่งบางครั้งก็เป็นบทความหรือคลิปวิดีโอ แต่คนก็ไม่ได้เข้าไปตามอ่านตามดูหรอกครับ ว่าบริบทเป็นอย่างไร ยาวไปไม่อ่าน นานไปไม่ดู แล้วก็ว่ากันต่อไปตามที่เข้าใจเอาเอง
นี่ยังไม่ต้องนับถึงว่า การโควตแบบนี้เป็นการหยุดช่วงเวลา ณ ขณะหนึ่ง แล้วนำมาทำให้มีสภาวะข้ามเวลาด้วยนะครับ อันจะนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำกันระหว่างเวลาของผู้พูดกับเวลาของผู้พบเห็น คือ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน คนพูดอาจจะคิดแบบอื่นไปแล้ว แต่คนที่มาพบเห็นก็จะยังพูดถึงโควตนั้นราวกับว่าเจ้าของคำพูดยังคงพูดและคิดเช่นนั้นในเวลาปัจจุบันที่ตนเห็นการโควต ซึ่งถ้าจะว่ากันจริงๆ ผู้เขียนคิดว่าไม่น่าจะยุติธรรมกับตัวผู้พูด ณ เวลาปัจจุบันสักเท่าไหร่ เพราะบ่อยครั้ง (หรืออาจจะกล่าว่าทุกครั้งเลยก็ได้) เสียงวิพากษ์วิจารณ์อันมีต่อข้อความที่ถูกโควตมานั้นไม่ได้ย้อนเวลาไปยังผู้พูด ณ เวลาที่ข้อความถูกผลิตออกมา แต่มุ่งไปหาผู้พูด ณ เวลาปัจจุบัน
2. การตัดขาดจากตัวบุคคลผู้พูด
การโควตโดยระบุว่าเป็นข้อความคำพูดของใคร เป็นการนำเอาตัวเจ้าของข้อความผูกติดกับข้อความนั้นๆ ไปด้วย ซึ่ง “ตัว” เจ้าของข้อความนั้นก็ไม่ใช่แค่ชื่อเสียงเรียงนามที่ปรากฏกำกับ แต่ผู้พบข้อความที่ถูกโควตย่อมคิดไปถึงว่าเจ้าของข้อความเป็นใคร มีสถานะ/ตำแหน่งแห่งหนอย่างไรในสังคม ประกอบอาชีพอะไร เป็นอาจารย์ เป็นทหาร เป็นนักการเมือง เป็นเสื้อเหลือง เป็นเสื้อแดง เป็นเสื้อหลากสี ฯลฯ มีประวัติอย่างไร เคยทำอะไรมาบ้าง ว่ากันถึงที่สุด บางทีก็หมายถึงแม้กระทั่งหัวนอนปลายเท้าและโคตรเหง้าศักราชของเจ้าของข้อความเลยด้วย
เรียกว่า ปัจจัยเกี่ยวข้องอันสามารถเอามาระบุหรืออ้างอิงตัวตนของเจ้าของข้อความได้ ล้วนแล้วแต่ถูกนำมามีส่วนในการพิจารณาความจริงเท็จถูกผิดดีชั่วของข้อความด้วยเสียหมด
ตรรกะไม่นับ!!
ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหานะครับ แน่นอนล่ะว่า นักเศรษฐศาสตร์ก็อาจพูดถึงเรื่องปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ “ตามมุมมองทางเศรษฐศาสตร์” ได้ดีกว่าตาสีตาสาที่หาเช้ากินค่ำหรือผู้คนที่อยู่ในสาขาวิชาอื่นๆ แต่ก็เพราะแบบนั้นแหละครับ มันก็เลยทำให้เกิดความคิดและคำพูดในลักษณะที่ว่า “ไอ้นี่มันนักเขียน จะมาวิพากษ์วิจารณ์นักเศรษฐศาสตร์ได้ยังไง” อันเป็นการปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสาขาอื่นๆ หรือถ้าให้พูดอย่างเลวร้ายที่สุด อาจเป็นการปิดกั้นไม่ให้นักเศรษฐศาสตร์ได้ทบทวนตัวเองว่า สิ่งที่ตัวเองเชื่อถืออยู่นั้น มันสามารถไปกันได้กับโลกจริงๆ แค่ไหน ยังมีช่องโหว่อะไรหรือไม่
หรือบางที พออดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารสักท่านคิดจะพูดเรื่องประชาธิปไตย คนก็ชิงไม่ฟังเสียแล้ว เพราะเคยเป็นผู้ลงมือทำในสิ่งที่ขึ้นชื่อว่าเป็นการทำลายประชาธิปไตย ทั้งที่ข้อความที่ท่านพูดเกี่ยวกับประชาธิปไตยนั้น อาจสมเหตุสมผลในทางประชาธิปไตยมากๆ ก็ได้
เสื้อเหลืองเสื้อแดงจะวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ได้ เพราะถูกหาว่ามาใส่ร้ายป้ายสีกัน หรือแย่กว่านั้น พอวิจารณ์เสื้อเหลืองก็ถูกผลักให้เป็นเสื้อแดง หรือวิจารณ์เสื้อแดงก็ถูกผลักให้เป็นเสื้อเหลือง
หรือแบบที่ผู้เขียนคิดว่าแย่ที่สุดก็คือ แค่มีการระบุว่าผู้ผลิตข้อความนั้นมีสถานะที่ถือว่า “เป็นที่น่าเคารพนับถือตามจารีตประเพณี” เช่น เป็นกษัตริย์ เป็นราษฎรอาวุโส เป็นพระผู้มีชื่อเสียง เท่านั้นก็เพียงพอให้เชื่อว่าข้อความเหล่านั้นเป็นความจริงจากบุคคลนั้นๆ จริงๆ โดยไม่มีการสงสัย ตั้งคำถาม หรือกระทั่งตามไปตรวจสอบว่ามีการผลิตข้อความแบบนั้นจริงๆ หรือไม่ ดังเช่นกรณีน้ำท่วมใหญ่ปลายปี พ.ศ. 2554 ที่มีการเผยแพร่ข้อความไปในโลกออนไลน์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งในทำนองว่า หากน้ำเข้าพระนคร ให้ผ่านวังสวนจิตรฯ ไปเลย อย่ากั้น ผู้คนก็เชื่อกันยกใหญ่ จนสุดท้ายก็มีการปฏิเสธเรื่องดังกล่าวจากทางสำนักพระราชวัง
หรือเอากรณีที่ง่ายที่สุด คนอ้วนสักคน พูดเรื่องการลดน้ำหนักให้คนอื่นฟังตามที่ตัวเองมีความรู้มาจากคนที่ทำแล้วประสบผลสำเร็จ แค่คนอ้วนมาพูดเรื่องการลดน้ำหนักต้องทำอย่างไรบ้างนั้นก็บาปมหันต์แล้วครับ ไม่มีใครฟัง ทั้งที่สิ่งที่เขาพูดนั้นอาจถูกต้องทุกอย่างก็ได้
ตัวอย่างที่กล่าวมาอาจจะไม่ใช่กรณีของการโควตเสียทีเดียว แต่ก็น่าจะทำให้เห็นว่า การที่เราไม่แยกข้อความออกจากตัวเจ้าของข้อความ สามารถทำให้เกิดความบิดเบือนในการพิจารณาข้อความนั้นๆ เพราะความสนใจกลับไปอยู่ที่ตัวของเจ้าของข้อความว่าเป็นใคร มากกว่าความเป็นเหตุและผลของตัวข้อความเอง
และด้วยประเด็นในเรื่องของการตัดขาดจากตัวบุคคลผู้พูดนี่ล่ะครับ ที่ทำให้ผู้เขียนติดอกติดใจกับการโควตของเพจมิตรสหายท่านหนึ่งเป็นพิเศษ เพราะโควตนิรนามแบบนี้ จะสามารถนำความสนใจไปสู่ “พูดอะไร” มากกว่า “ใครพูด” และเมื่อความสนใจไปอยู่ตรงนั้นแล้ว สิ่งที่จะตามมาก็คือการคิดหรือใช้วิจารณญาณต่อข้อความโดยไม่มีตัวผู้พูดมาเป็นน้ำหนักเกี่ยวข้องแต่อย่างไร
ผู้เขียนคิดว่า การไม่แยกข้อความออกจากตัวเจ้าของข้อความเป็นเรื่องใหญ่มากนะครับ เพราะในบริบทของสังคมไทยแล้ว ความน่าเชื่อถือไม่ได้อยู่แค่ที่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความรู้ในเรื่องที่พูดเพียงอย่างเดียว แต่แค่เพียง (ตัวอย่างง่ายๆ) เป็นผู้อาวุโสหรือมีชื่อมีเสียงในบ้านเมือง แค่นี้ก็กลับเพียงพอจะทำให้คนเชื่อแล้ว และผลต่อเนื่องที่ตามมาก็คือ พอตาสีตาสาผู้ไร้ชื่อเสียงจะไปแย้ง ต่อให้ข้อความนั้นน่าเชื่อถือและสามารถตีตกได้อย่างหมดจด แต่ก็จะไม่มีใครฟัง เพราะถูกตัดสินด้วยการเปรียบเทียบพิกัดทางสังคมของบุคคลไปก่อนแล้ว ซึ่งผู้เขียนคิดว่า นอกจากจะทำให้ไม่ได้ฝึกฝนการใช้และตรวจสอบตรรกะของสารแล้ว นี่อาจทำให้เราเสียโอกาสในการที่จะได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ และถึงที่สุดคือ “ควรจะต้องรู้” เพียงเพราะผู้พูดเป็นผู้ที่ “ไร้ตัวตน (nobody)”
เพราะฉะนั้น เราลองมาเรียนรู้ที่จะมองคนอื่นและทำตัวเองเป็น “มิตรสหายท่านหนึ่ง” กันดีกว่าครับ