ยุทธการ ยุทธนาวุธพิทักษ์
องค์ประกอบการใช้งานอย่างหนึ่งของเฟซบุ๊กที่ใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็คือ ปุ่ม ไลค์ (Like), ถูกใจ หรืออาจเป็นคำอื่นใด ตามแต่ว่าตั้งค่าเฟซบุ๊กของตัวเองให้ใช้ภาษาอะไรในการใช้งาน
ในช่วงแรกๆ ของการใช้เฟซบุ๊ก ผู้เขียนก็รู้สึกกับเจ้าปุ่มนี่ในฐานะ “เครื่องมือที่ใช้แสดงความพึงพอใจ” ต่อสิ่งที่ใครต่อใครนำมาแบ่งปันผ่านองค์ประกอบการใช้งานต่างๆ ที่เฟซบุ๊กมีให้ และแน่นอนว่าก็อิ่มเอมใจ หรือบางทีก็ถึงขั้นผยองพองตัว อัตตาเป่งบวม ในยามที่มีใครต่อใครมากดไลค์ในสิ่งที่ตัวเองแบ่งปัน ก็จะไม่ให้รู้สึกแบบนั้นได้อย่างไร ในเมื่อเข้าใจว่ามันใช้แสดงความพึงพอใจ ยิ่งมีคนมาไลค์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าใจว่ามีคนมาพึงพอใจมากเท่านั้น
แต่พอใช้งานเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ ก็กลับพบว่า เจ้าปุ่มนี่กลับไม่ได้ถูกใช้ภายใต้จุดประสงค์เดียวตามความหมายของคำเสียแล้ว!!
ฝันสลายสิครับ พอ “ความ” ไม่เป็นไปตาม “คำ” โลกที่เคยมั่นคงก็ถึงกาลสั่นคลอนกันเลยทีเดียว
ช่วงที่ผู้เขียนเริ่มใช้เฟซบุ๊กเมื่อสามปีก่อน (พ.ศ. 2552) ในตอนนั้น เราไม่สามารถกดไลค์สิ่งที่คนอื่นแบ่งปันโดยไม่มีภาระผูกพันอย่างตอนนี้นะครับ การกดไลค์ในสมัยนั้นหมายความว่า หากมีใครอื่นมากดไลค์ในสิ่งเดียวกัน หรือมีการแสดงความคิดเห็น (comment) ในโพสต์นั้นๆ ผู้ที่กดไลค์ไว้ก่อนจะได้รับการแจ้งเตือน (notification) ในทันที และเพราะอย่างนั้นแหละครับ ที่ทำให้หลายคนไม่ได้ทำการกดไลค์เพราะถูกอกถูกใจ แต่กดทิ้งไว้เผื่อว่าจะเกิดการแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจ…สะใจขึ้นมา ทำให้แม้ชิงชังหมั่นไส้แต่ก็กดไลค์ทิ้งไว้เผื่อจะได้เห็นอะไรมันๆ หรือในภาษาแบบที่ใช้กันก็คือ “ปูเสื่อรอดราม่า” นั่นเอง
มาถึงทุกวันนี้ แม้จะสามารถไลค์ทิ้งไลค์ขว้างโดยไม่ต้องมีภาระผูกพันอย่างตอนนั้นแล้ว แต่ก็ใช่ว่าความหมายของการกดไลค์จะกลับมาอยู่ในรูปรอยแห่งความหมายของคำโดยสมบูรณ์นะครับ เพราะตอนนี้ นอกจากโพสต์ต่างๆ แล้ว ผู้ใช้เฟซบุ๊กยังสามารถกดไลค์ความคิดเห็นได้ด้วย ซึ่งองค์ประกอบการใช้งานตรงนี้ ได้ทำให้นัยยะของการกดไลค์แตกแขนงออกไปอีกหลายสาย เช่น เมื่อมีคนมาแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กสักคนโพสต์ ผู้โพสต์อาจกดไลค์ความคิดเห็นนั้นๆ ด้วยจุดประสงค์อันหลากหลาย อาทิ รับรู้, บอกให้รู้ว่าอ่านแล้ว, ชอบ (ซึ่ง “ชอบ” นี่ก็แบ่งได้อีกเป็น ชอบในเนื้อหาของความคิดเห็น หรืออาจจะชอบที่มีการแสดงความคิดเห็น) และที่ดูจะพิสดารสักหน่อยก็คือ ไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย แต่ก็ยังกดไลค์ ซึ่งการกระทำลักษณะนี้ก็จะวนไปอยู่ในความหมายทั้งหลายดังที่กล่าวมา คือ อาจจะเพื่อแสดงการรับรู้, บอกให้รู้ว่าอ่านแล้ว, ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนกัน, เข้าใจในตรรกะแม้ไม่ยอมรับในหลักการ ฯลฯ
ซึ่งหากจะกล่าวโดยรวมแล้ว การกดไลค์การแสดงความคิดเห็นตรงนี้น่าจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1. กดไลค์ให้เนื้อหา และ 2. กดไลค์ให้การผลิตเนื้อหา
โดยการจัดประเภทตรงนี้ สามารถครอบคลุมถึงการกดไลค์การโพสต์ในลักษณะอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสเตตัส ลิงก์ต่างๆ รูปภาพ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ก็มีรูปแบบที่เลยเถิดไปกว่านั้น คือ การกดไลค์ในแต่ละครั้งไม่เกี่ยวกับทั้งเนื้อหาและการผลิตเนื้อหา แต่ทำไปเพราะว่าเป็นคนนั้นคนนี้โพสต์ ซึ่งจะเรียกว่า “กดไลค์ให้เห็นหน้ากัน” ก็คงได้ [อันนี้เป็นที่มาของสำนวนในทำนอง “ที่กดไลค์ไม่ใช่เพราะถูกใจแต่คือหวังจะได้ถูกกัน” หรือสำนวนตอบโต้ในทำนอง “จะกดกี่ล้านไลค์ก็ไม่มีทางได้แอ้ม” (อันที่จริงเขาใช้คำกันแรงกว่านี้นะครับ แต่ผู้เขียนคิดว่าปรับสุดๆ ให้ออกมาเหลือเบาๆ เท่านี้น่าจะเหมาะดีแล้ว)]
นอกจากนี้ การกดไลค์ในกรณีที่ใช้เพื่อแสดงความชื่นชอบ บางครั้งก็ไม่ได้หมายถึงว่าชื่นชอบทั้งหมดทั้งมวลในโพสต์นั้นๆ เช่น เมื่อมีการโพสต์รูปสักรูป พร้อมกับมีคำบรรยาย (caption) การกดไลค์โพสต์นั้นอาจเป็นไปโดยชอบแค่รูป หรือชอบแค่ถ้อยคำที่มากับรูป เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นก็เป็นได้ อันนี้เป็นปัญหาได้นะครับ เพราะบางคนชอบเล่นกล้อง ชอบการถ่ายภาพ ถ่ายมาแล้วก็อยากให้คนอื่นเห็น อยากรู้ฟีดแบคทั้งดีและไม่ดี ก็โพสต์รูปที่ตัวเองถ่ายแล้วก็บรรยายใต้ภาพอย่างนั้นอย่างนี้ พอคนเขามากดไลค์เพราะคำบรรยาย ก็เผลอเข้าใจไปว่าเขาไลค์เพราะตนถ่ายรูปสวย อาจทำให้ตัดตอนความต้องการพัฒนาฝีมือไปได้ เพราะคนที่มากดไลค์ บางทีเขาก็ไม่บอกหรอกครับ ว่าไลค์เพราะอะไร
หรือกระทั่งในการโพสต์สเตตัสอันยืดยาว บางทีคนเขาก็กดไลค์แค่เพราะคำเด็ดประโยคดีในนั้น ที่อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นท่อนฮุคจุกใจ แต่ไม่ได้เห็นด้วยหรือชอบอกชอบใจอะไรกับวิธีคิดทั้งหมดทั้งมวลของสเตตัสนั้นนักก็ได้
อีกกรณีหนึ่ง การแยกออกจากกันของ “ความ” และ “คำ” ของ “ไลค์” ยังสามารถเห็นได้ชัดเจนจากเพจต่างๆ โดยเฉพาะที่ชัดเจนว่าเป็นเพจที่ผลิตเนื้อหาทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเพจของบุคคลสาธารณะ พรรคการเมือง ผู้นำความคิดทางการเมือง หรือเพจอิสระอื่นใดที่ผลิตเนื้อหาอันเกี่ยวเนื่องกับสังคมและการเมือง ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า ในบรรดาคนที่มากดไลค์เพจเหล่านี้นั้น มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบเนื้อหาของเพจ แต่ก็มากดไลค์เอาไว้ เพื่อจะได้ติดตามเนื้อหาที่เพจนั้นผลิตขึ้นมา ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า ในการแยกออกจากกันของ “ความ” และ “คำ” ตรงนี้ ส่วนหนึ่งก็มีผลมาจากโครงสร้างการใช้งานของเฟซบุ๊กเองด้วย ไม่ใช่มีแต่เพียงผลจากอำเภอใจของผู้ใช้แต่เพียงอย่างเดียว
ทัศนคติที่ผู้อื่นมีต่อบุคคล ย่อมมีผลต่อความคิดและการกระทำของบุคคลผู้ได้รับรู้ซึ่งทัศนคตินั้นๆ ซึ่งการที่บุคคลรับรู้ทัศนคตินั้นได้ไม่ใช่เพียงเพราะตัวคำที่เรียงเป็นประโยค หรือลักษณะการถ่ายทอดอื่นใด แต่เพราะรู้ในความหมายของการแสดงออกนั้นๆ เช่น ชื่นชม/ชูนิ้วโป้งให้ ผรุสวาท/ชูนิ้วกลางให้ เป็นต้น ซึ่งการสื่อสารตรงนั้นจะสำเร็จเป็นผลแก่ทั้งสองฝ่ายได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจใน “ความหมาย” ของการแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นที่ตรงกันตามที่กำหนดไว้หรือเป็นที่คุ้นเคยว่าถูกใช้ในสังคม หรืออาจกล่าวให้ดูมีภูมิขึ้นมาหน่อยว่า อยู่ใน “รหัสวัฒนธรรม” เดียวกัน ซึ่งหมายความว่า ย่อมเข้าใจและใช้สัญลักษณ์หนึ่งและความหมายของสัญลักษณ์นั้นในแบบเดียวกัน
ถ้าไม่เห็นภาพ ให้ลองนึกดูว่า ในวัฒนธรรมที่คุณอยู่มาตลอดจนบัดนี้ ส่ายหน้าแปลว่าไม่ พยักหน้าแปลว่าใช่ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณไปเจอมนุษย์เผ่าหนึ่งซึ่งวัฒนธรรมของเขาคือ ส่ายหน้าแปลว่าใช่ พยักหน้าแปลว่าไม่ พอคุณไปถามเขาว่า เขาจะจับคุณกินเป็นอาหารไหม เขาตอบคุณด้วยการส่ายหน้า คุณยิ้ม เขายิ้ม แต่มันคือยิ้มที่เข้าใจไปคนละทางเดียวกันเนื่องจากฐานความหมายการสื่อสารตามวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และมันจะนำไปสู่ความพินาศของคุณเองเมื่อความจริงเปิดเผยออกมา
การแตกออกจากกันระหว่างความรับรู้ความเข้าใจเดิมๆ ที่มีต่อความหมายของคำว่า “ไลค์” กับความหมายใหม่ที่เกิดขึ้นผ่านการใช้งานเฟซบุ๊กก็เป็นแบบนั้นครับ การหลงละเริงเหลิงไลค์เพราะเข้าใจว่าใครต่อใครต่างก็ยังอยู่ในรหัสวัฒนธรรมเดิมๆ เฉกเช่นที่ตนเองคุ้นเคยและเข้าใจต่อคำว่า “ไลค์” ก็สามารถนำความพินาศมาสู่คุณได้ เพราะความหมายของคำว่า “ไลค์” มันกระจัดกระจายกระเจิดกระเจิงไปในการเดินทางของเฟซบุ๊กแล้ว เช่น คุณอาจจะอยากแสดงฝีมือทางศิลปะของคุณ คุณก็นำเสนอมันผ่านเฟซบุ๊กโดยไม่ได้เสนอแค่ตัวงานเดี่ยวๆ แต่มีนางแบบวับแวมหรือนายแบบล่ำบึ้กมาประกอบอยู่ในงานศิลปะนั้น ผู้คนก็มากดไลค์แสดงความสนใจกันถล่มทลาย แต่พอถึงเวลาที่คุณจะจัดงานแสดงศิลปะของคุณจริงๆ ในโลกออฟไลน์ โดยมีแต่ตัวงานโดดๆ ไม่มีทั้งนางแบบวับแวมและนายแบบล่ำบึ้ก ก็กลับกลายเป็นว่า ไม่มีใครมาดูชมผลงานของคุณแม้แต่คนเดียว และคุณก็เลยได้รู้ว่า ที่ผ่านมานั้น สิ่งที่คนสนใจมันไม่ได้อยู่ที่ตัวงานศิลปะของคุณสักนิดเดียว
ก็หวังว่าจะเข้าใจกับเรื่องไลค์สาระที่กล่าวมา…