ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรรมาธิการวุฒิฯเปิดค่าภาคหลวง 29 ปี รัฐได้ 4.29 แสนล้าน แต่ผู้ได้สัมปทานได้ 2.6 ล้านล้านบาท จี้กระทรวงพลังงานรื้อระบบใหม่

กรรมาธิการวุฒิฯเปิดค่าภาคหลวง 29 ปี รัฐได้ 4.29 แสนล้าน แต่ผู้ได้สัมปทานได้ 2.6 ล้านล้านบาท จี้กระทรวงพลังงานรื้อระบบใหม่

5 กรกฎาคม 2012


จากข้อมูลของคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ที่ศึกษาเรื่อง “ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ” ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งบนบกและในทะเล โดยในปี 2551 มีหน่วยงานด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (Energy information administration) จัดอันดับประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตก๊าซธรรมชาติได้มากเป็นอันดับที่ 27 ของโลก และผลิตน้ำมันดิบเป็นอันดับ 33 ซึ่งประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบเหนือกว่าประเทศบรูไน และอีกหลายประเทศในกลุ่มโอเปค แต่ก็มีนักวิชาการด้านพลังงานบางท่านโต้แย้งว่า “ถึงแม้ไทยจะมีความสามารถในการผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบติดอันดับโลกก็ตาม แต่มันก็ไม่ได้มีความหมายใดๆ หากผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ”

จัดอันดับความสามารถในการผลิตก๊าซธรรมชาติ

แต่ประเด็นที่กลุ่มต่อต้านการให้สัมปทานสำรวจแหล่งพลังงานครั้งที่ 21 จำนวน 22 แปลง เดินสายคัดค้านการประมูลครั้งนี้ คือเรียกร้องให้รัฐปรับปรุงอัตราค่าภาคหลวงปิโตรเลียม เนื่องจากค่าภาคหลวงฯ ที่เรียกเก็บปัจจุบันอยู่ที่ 5-15% หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำเกินไป ในปี 2553 ภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมมีรายได้รวมกัน 4 แสนล้านบาท แต่รัฐมีรายได้จากค่าภาคหลวงฯ 4.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

จัดอันดับความสามารถในการผลิตน้ำมันดิบ

และถ้าย้อนกลับไปดูข้อมูลในรายงานประจำปี 2552 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่าตั้งแต่ปี 2524-2552 ประเทศไทยมีรายได้จากการขุดปิโตรเลียมขึ้นมาขาย คิดเป็นมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 2.63 ล้านล้านบาท ขณะที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีรายได้จากค่าภาคหลวงฯ ทั้งหมด 3.29 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12.54% ของมูลค่าปิโตรเลียม หากนำไปรวมกับยอดการจัดภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่เรียกเก็บจากผู้ได้รับสัมปทาน ตั้งแต่ปี 2528-2552 รัฐบาลมีรายได้จากปิโตรเลียมทั้งสิ้น 4.29 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 28.87% ของมูลค่าปิโตรเลียม 2.63 ล้านล้านบาท

จากนั้นคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลสัมปทานของแต่ละประเทศที่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เข้าไปลงทุน ซึ่งเป็นเอกสารที่บริษัท ปตท.สผ. นำมายื่นต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ จะเห็นว่าประเทศไทยได้รับส่วนแบ่งจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมในอัตราที่ต่ำที่สุด หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น พม่า อินโดนิเซีย กัมพูชา

เปรียบเทียบรายได้จากค่าสัมปทานกับประเทศเพื่อนบ้าน

ข้อมูลคณะอนุกรรมาธิการฯ ระบุว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวที่มีรายได้จากค่าภาคหลวง 5-15% โดยที่ไม่ได้รับเงินส่วนแบ่งกำไรจากสัมปทาน ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่บริษัท ปตท.สผ. เข้าไปลงทุน อย่างเช่น ประเทศพม่า นอกจากจะมีรายได้จากค่าภาคหลวงฯ ที่ 10% แล้ว ยังได้รับส่วนแบ่งกำไรจากน้ำมันดิบอีก 50-80% และได้รับส่วนแบ่งกำไรจากก๊าซธรรมชาติอีก 45-60% และภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% (ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม)

อินโดนิเซียไม่เก็บค่าภาคหลวงฯ แต่เรียกเก็บส่วนแบ่งกำไรจากน้ำมันดิบ 65% และเก็บส่วนแบ่งกำไรจากก๊าซธรรมชาติ 60% ภาษีเงินได้นิติบุคคลเก็บในอัตรา 44% ของกำไรสุทธิ ส่วนกัมพูชาเก็บค่าภาคหลวงฯ ในอัตราคงที่ 12.5% เก็บส่วนแบ่งกำไรจากน้ำมัน 40-60% และเก็บจากส่วนแบ่งกำไรจากก๊าซธรรมชาติ 35% เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 30%

ตลอด 29 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2524-2553 คนไทยซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรไม่เคยได้รับส่วนแบ่งกำไรเลย ขณะที่หลายประเทศปรับส่วนแบ่งรายได้จากปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น ในช่วงที่ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น อาทิ มาเลเซีย, คาซัคสถาน, เวเนซูเอล่า, โบลิเวีย, อินเดีย, รัสเซีย, อังกฤษ, แองโกล่า, อัลจีเรีย, ลิเบีย, ทรินิแดดแอนด์โทเบโก, รัฐอลาสก้า, สหรัฐอเมริกา และรัฐอัลเบอร์ต้า แคนาดา

ส่วนประเทศไทย นอกจากจะไม่เก็บเงินส่วนแบ่งกำไรจากสัมปทานแล้ว ในปี 2550 ยังมีการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ฉบับที่ 6 โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจอนุมัติ ทั้งการให้สัมปทาน
และแก้ไขสัมปทานได้อย่างเบ็ดเสร็จ จากที่เดิมต้องทำเรื่องส่งให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ

โดย น.ส.รสนากล่าวว่าที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการฯ เคยเชิญกระทรวงพลังงานมาชี้แจง และได้สอบถามว่ากระทรวงทรวงพลังงานสามารถปรับค่าสัมปทาน หรือ เก็บส่วนแบ่งกำไรจากผู้รับสัมปทานได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานบอกว่า “ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะเป็นสัญญาเก่าที่ลงนามกันไว้เมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมา ต้องรอให้สัญญาครบกำหนดก่อน” ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของคนไทย ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 นี้ คณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภาจะเชิญนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาหารือถึงแนวทางในการปรับขึ้นค่าภาคหลวงฯ หรือเก็บเงินส่วนแบ่งกำไรปิโตรเลียม ก่อนที่จะมีการทำสัญญาใหม่กับภาคเอกชนที่ชนะการประมูลแหล่งพลังงานครั้งใหม่ (อ่านเพิ่มเติม “รสนา-สภาธรรมาภิบาล” จี้รัฐรื้อค่าสัมปทานใหม่ ระบุประมูลแหล่งพลังงานปิโตรเลียมถูกมาก เผย 12 ก.ค. เตรียมไฟเขียว 22 แปลง”)