ThaiPublica > คอลัมน์ > เขื่อนแม่วงก์ บทพิสูจน์ขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติเมืองไทย

เขื่อนแม่วงก์ บทพิสูจน์ขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติเมืองไทย

28 เมษายน 2012


เพชร มโนปวิตร

ผมยังมองโลกในแง่ดีและเชื่อมั่นว่าถ้าสังคมนี้ประเทศนี้จะพอเหลือความหวังอะไรอยู่บ้าง เขื่อนแม่วงก์ไม่น่าจะได้สร้าง และประเทศไทยน่าจะมีคำตอบที่ดีกว่านี้ในการวางแผนป้องกันน้ำท่วมหรือแก้ปัญหาชลประทานให้กับพื้นที่เกษตรกรรม สังคมเราน่าจะมีวุฒิภาวะพอที่จะมีฉันทามติร่วมกันได้แล้วว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในป่าอนุรักษ์นั้นได้ไม่คุ้มเสีย

หลังจากที่รัฐบาลหมกเม็ดอนุมัติการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งๆที่รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่ผ่านการเห็นชอบ เราก็ได้เห็นขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติที่แตกกระสานซ่านเซ็นกลับมารวมตัวกันอย่างเข้มแข็งอีกครั้งหนึ่งและยังได้เห็นว่าขบวนการดังกล่าวแตกกิ่งแตกกอแผ่ขยายไปกว่าในอดีต ทั้งยังพัฒนารูปแบบการสนธิกำลังกันทางโซเชียลมีเดียอย่างคึกคักและทรงพลัง

จะว่าไปการปลุกผีเขื่อนแม่วงก์ด้วยการกำหนดให้การก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน8ปีด้วยงบประมาณ13,000 ล้านบาทในยุคนี้พ.ศ.นี้ เป็นการตอกย้ำว่าตลอดยี่สิบสามสิบปีที่ผ่านมานักการเมืองทุกยุคทุกสมัยต่างไม่เคยสนใจแก้ปัญหาเรื่องชลประทานหรือเห็นความสำคัญของป่าธรรมชาติอย่างจริงจังเลย จะน้ำท่วมหรือฝนแล้ง ท่านมีเมนูเขื่อนโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ป่ามานำเสนอได้ตลอดเวลา ทั้งๆที่ได้มีการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่ายกันจนหมดเปลือกมาแล้วหลายรอบ

เดิมทีก็ว่ากันว่าพวกนักอนุรักษ์เป็นตัวถ่วงการพัฒนา ค้านเป็นอย่างเดียวไม่เคยเสนอทางออก ก็ว่าไม่ได้เพราะตอนนั้นเรายังไม่ได้มีการประดิษฐ์คำว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ให้เข้าใจกันง่ายๆว่า “การพัฒนา” จริงๆไม่ได้หมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจระยะสั้นที่นำมาซึ่งความหายนะระยะยาวของสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม

ทุกครั้งที่เกิดเป็นประเด็นสาธารณะในระยะหลัง จึงเริ่มมีการนำข้อมูล สัตว์ป่า ป่าไม้ สังคม เศรษฐกิจมาชี้แจงให้เห็นถึงผลกระทบยาวๆไม่ใช่ว่ากันแต่ผลประโยชน์ตรงหน้า และนำเสนอทางออกให้มีการจัดการน้ำอย่างบูรณาการทั้งระบบ พร้อมกับปรับปรุงเครื่องมือการจัดการน้ำเช่น เขื่อน ฝาย คู คลองที่มีอยู่ให้คุ้มค่าเต็มประสิทธิภาพเสียก่อน พอเถียงกันจนได้ที่ไอเดียเรื่องเขื่อนขนาดใหญ่ก็มักจะถูกพับเก็บไป รอเวลาที่มีข้ออ้างเหมาะๆ ขบวนการอนุรักษ์อ่อนแอ ท่านๆก็พร้อมเอามาปัดฝุ่นนำมาเสนอกันใหม่

ส่วนตัวแล้วผมรู้สึกว่าความคิดที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในผืนป่าอนุรักษ์น่าจะหมดไปแล้วต้ังแต่กรณีเขื่อนน้ำโจน ซึ่งเป็นโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่เสนอให้กั้นลำน้ำแควตอนบน บริเวณเขาน้ำโจน ใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เขื่อนน้ำโจนนับเป็นเขื่อนขนาดใหญ่เขื่อนแรกๆที่ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากนักอนุรักษ์

การเคลื่อนไหวในครั้งนั้นทำให้สังคมได้หันมาฉุกคิดถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของการสร้างเขื่อน ทำให้ได้เห็นความกล้าหาญทางจริยธรรมของข้าราชการและนักวิชาการในกรมป่าไม้หลายๆท่านที่ทนดูดายไม่ได้กับผลกระทบมหาศาลท่ีจะเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าและผืนป่าทุ่งใหญ่ฯ และตัดสินใจออกมาพูดความจริงให้สังคมได้ตระหนักถึงผลเสียถาวรต่อระบบนิเวศที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ข้าราชการหลายท่านออกมาร่วมรณรงค์เคลื่อนไหวคัดค้านกับนักศึกษาและภาคประชาชนอย่างเปิดเผย จนเกิดเป็นขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติที่เข้มแข็ง ในที่สุดวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2531 คณะรัฐมนตรีก็มีมติระงับโครงการก่อสร้างเข่ือนน้ำโจน

หนึ่งในแกนนำสำคัญที่ออกมาคัดค้านเขื่อนน้ำโจนคือข้าราชการกรมป่าไม้ที่ชื่อสืบ นาคะเสถียร เหตุผลสำคัญที่พี่สืบค้านเขื่อนน้ำโจนสุดชีวิตเพราะเข้าใจดีถึงคุณค่าของผืนป่าตะวันตกที่มีความสำคัญยิ่งต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าของประเทศไทย เพราะต้องยอมรับว่าแม้เราจะมีป่าอนุรักษ์อยู่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ แต่ผืนป่าอนุรักษ์สำคัญที่เป็นบ้านหลังใหญ่หลังสุดท้ายของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์นั้นเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งจริงๆ

ตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมาการอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกที่มีป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่เป็นพื้นที่แก่นกลางได้รับการผลักดันและสานต่ออย่างเข้มแข็งเรื่อยมา โดยมีมูลนิธิสืบนาคะเสถียรและองค์กรพันธมิตรอีกหลายแห่งเป็นกองกำลังเสริมร่วมกับเจ้าภาพหลักคือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในปัจจุบัน

อุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกและเป็นป่าที่มีอาณาบริเวณติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แม้เมื่อยี่สิบปีก่อนจะถูกรบกวนจากการล่าสัตว์ตัดไม้จนแทบไม่เหลือร่องรอยของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ แต่ทุกวันนี้ข้อมูลทางวิชาการต่างยืนยันตรงกันว่าสัตว์ป่าในแม่วงก์กำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ปรากฎการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ปาฎิหาริย์แต่เกิดจากการทำงานหนักปีแล้วปีเล่าของนักอนุรักษ์ นักวิชาการและข้าราชการในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร การทำงานหนักที่ทำให้การอนุรักษ์เริ่มเห็นผลสำเร็จ สัตว์ป่าเริ่มกลับมาชุกชุมอีกครั้งและกระจายออกไปใช้ประโยชน์ผืนป่าอนุรักษ์โดยรอบ ปัจจุบันสัตว์ป่าหายากอย่างเสือโคร่ง สมเสร็จ เก้งหม้อและนกยูงกลับมาใช้แม่วงก์เป็นบ้านของพวกเขาแล้ว

การสร้างเขื่อนแม่วงก์จะทำให้น้ำท่วมบ้านของสัตว์ป่าอย่างถาวรกว่าหมื่นไร่ ไม่นับรวมผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง การขนเครื่องจักรขนาดหนัก การตัดไม้ในอ่างเก็บน้ำ การตัดถนน การพัฒนาพื้นที่รอบเขื่อน และการลักลอบล่าสัตว์ที่มักจะเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะการตรวจตราทำได้ยากขึ้น นั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศอันเปราะบางหากเขื่อนแม่วงก์เดินหน้าตามมติคณะรัฐมนตรี

พื้นที่ป่าสักบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่เรวา ป่าเป็นป่าอายุกว่า 20-30 ปี ที่มา: http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=inthedark&month=12-10-2007&group=14&gblog=35
พื้นที่ป่าสักบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่เรวา ป่าเป็นป่าอายุกว่า 20-30 ปี ที่มา: http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=inthedark&month=12-10-2007&group=14&gblog=35

คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ประเทศที่ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและมีข้อมูลพื้นฐานมากมายมหาศาลอย่างสหรัฐอเมริกาถึงเริ่มเดินหน้ารื้อเขื่อนหลายแห่งทั่วประเทศเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ แผนการดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากการตัดสินใจชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากการไต่ตรองอย่างรอบคอบและที่สำคัญเป็นเพราะงานวิจัยระยะยาวมันสรุปแล้วว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” (อ่านหนึ่งในเรื่องราวการรื้อเขื่อนทิ้งในสหรัฐอเมริกาได้ที่นี่ – จุดจบของเขื่อนเอลวาห์กับขบวนการฟื้นชีวิตให้สายน้ำและพงไพร)

ผมคิดว่าถ้าพี่สืบยังมีชีวิตอยู่ และถูกถามว่าคิดอย่างไรต่อกรณีเขื่อนแม่วงก์
คำตอบของพี่สืบก็คงจะไม่เปลี่ยนไปจากที่เคยพูดไว้ก่อนเสียชีวิต

“ในความรู้สึกของผม เราไม่ต้องมาเถียงกันหรอกว่า เราจะใช้ป่าไม้อย่างไร
เพราะมันเหลือน้อยมากจนไม่ควรใช้
จึงควรจะรักษาส่วนนี้เอาไว้ เพื่อให้เราได้ประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ทางอ้อม…
มันจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า การอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ จะต้องมองว่ามีการใช้ทั้งทางตรง ทางอ้อม
ป่าที่เก็บไว้ในรูปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ ควรจะใช้ประโยชน์ในทางอ้อม”

24 ปีตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกเขื่อนน้ำโจนจนมามีมติอนุมัติการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ นับเป็นเวลาไม่น้อย ขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทยมีขึ้นมีลง มีเกิดมีดับ แต่ผมเชื่อมั่นว่าสายธารแห่งการอนุรักษ์ยังคงอยู่

24 ปีที่แล้วเรายังไม่มีโครงการตรวจวัดประชากรสัตว์ป่าที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า องค์กรอนุรักษ์ยังไม่เติบใหญ่ ไม่มีเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ประจำภาคสนาม ไม่มีช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็วทันใจเหมือนในปัจจุบัน แต่ขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติในยุคนั้นยังสามารถทำให้สังคมตระหนักถึงความจำเป็นของการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติ ความไม่จำเป็นของการสร้างเขื่อนและทำให้คณะรัฐมนตรีตัดสินใจในสิ่งที่ถูกที่ควรได้

ผมยังมองโลกในแง่ดีและเชื่อมั่นว่าถ้าสังคมนี้ประเทศนี้จะพอเหลือความหวังอะไรอยู่บ้าง เขื่อนแม่วงก์ไม่น่าจะได้สร้าง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมต้องกล้าที่จะมีฉันทามติร่วมกันว่าเราจะไม่ยอมสูญเสียป่าธรรมชาติอีกต่อไป เพราะป่าและสัตว์ป่าก็เป็นสมบัติของพวกเราทุกคน