ThaiPublica > คอลัมน์ > คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดี พ.ร.บ. ขายตรงฯ: ผลกระทบต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดี พ.ร.บ. ขายตรงฯ: ผลกระทบต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

24 เมษายน 2012


พิเศษ เสตเสถียร
[email protected]

เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยของที่ 12/2555 ว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวทราบกันทั่วไปแล้ว

แต่คนทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบว่า คำวินิจฉัยฉบับนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อเฉพาะ พ.ร.บ.ขายตรงฯ ที่เป็นประเด็นในคดีเท่านั้น หากแต่ยังมีผลไปถึงกฎหมายอื่นอีกหลายสิบฉบับที่มีบทบัญญัติเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ขายตรงฯ ด้วย

บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ขายตรงฯ ที่เป็นประเด็นปัญหาก็คือ มาตรา 54 ที่บัญญัติไว้ว่า

“ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น”

กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ มาตรา 54 นี้กำหนดว่า ถ้าตัวบริษัท (นิติบุคคล) กระทำความผิด ให้ถือว่ากรรมการผู้จัดการและผู้บริหารของบริษัทนั้นทำความผิดด้วย เว้นแต่กรรมการผู้จัดการหรือผู้บริหารนั้นจะพิสูจน์ได้ว่า ตัวเองมิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง กล่าวคือกฎหมายสรุปเอาเลยว่า ถ้าบริษัททำผิด ถือว่าบรรดาผู้บริหารทำผิดด้วย

แต่บังเอิญในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีมาตรา 39 วรรค 2 ที่กำหนดไว้ว่า

“ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด”

หลักในมาตรา 39 วรรค 2 นี้เป็นหลักพื้นฐานที่เป็นสากล และมีมาในรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับว่า ในคดีอาญานั้น ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ความผิดของเขาได้ ถ้านาย ก. กล่าวหาว่า นาย ข. ทำอะไรผิด นาย ก. ก็มีหน้าที่ต้องไปหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ว่า นาย ข. ได้กระทำผิดจริง ไม่ใช่ให้นาย ข. เป็นผู้พิสูจน์ ถ้านาย ก. พิสูจน์ไม่ได้ ก็ต้องถือว่านาย ข. เป็นผู้บริสุทธิ์

ดังนั้น เมื่อมีคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ได้ยื่นฟ้องบริษัทเอเชี่ยน เจมส์ จำกัด ว่ากระทำผิด พ.ร.บ.ขายตรงฯ และให้กรรมการผู้จัดการของบริษัทเอเชี่ยนฯ รับผิดด้วยตามมาตรา 54 ดังกล่าวมา กรรมการผู้จัดการของบริษัทเอเชี่ยนฯ จึงได้โต้แย้งว่า บทบัญญัติมาตรา 54 ของ พรบ.ขายตรงฯ ที่ให้ตนต้องรับผิดกับบริษัท โดยโจทก์คือพนักงานอัยการไม่ได้พิสูจน์ความผิด แต่ตนต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์แทนนั้น เป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรค 2 ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นก็จะไม่มีผลบังคับใช้

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งมีอยู่ 9 ท่าน ได้วินิจฉัยคดีนี้แล้วมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกเห็นว่า มาตรา 54 ของ พ.ร.บ.ขายตรงฯ นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่ให้สันนิษฐานว่าให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษอาญาร่วมกับนิติบุคคลขัดรัฐธรรมนูญ ในขณะที่คณะตุลาการอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า มาตรา 54 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากความเห็นของฝ่ายแรกมี 5 คน ในขณะที่ฝ่ายหลังมี 4 คน ดังนั้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจึงออกมาเป็นว่า มาตรา 54 เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานว่าให้ผู้บริหารร่วมรับผิดกับบริษัทนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ผลก็คือ ทำให้กฎหมายไม่สามารถเอาผิดกับจำเลย (กรรมการผู้จัดการ) ได้โดยอัตโนมัติ โดยโจทก์จะต้องไปมีภาระพิสูจน์ความผิดของจำเลยด้วย จากเดิมพิสูจน์แต่ความผิดของบริษัทอย่างเดียว

ผลกระทบสำคัญที่ตามมาของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือ ยังมีกฎหมายอื่นๆ ในประเทศไทย ที่มีบทสันนิษฐานความผิดของผู้บริหารบริษัทแบบเดียวกับที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ขายตรงฯ อีกหลายสิบฉบับ (หรืออาจจะเป็นร้อย) เช่น

พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551

“มาตรา 139 ในกรณีที่สถาบันการเงินใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 36 มาตรา 50 มาตรา 66 มาตรา 80 มาตรา 83 มาตรา 94 หรือมาตรา 95 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ หรือคำสั่งที่กำหนดตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง มาตรา 10 วรรคหนึ่ง มาตรา 33 มาตรา 36 มาตรา 50 มาตรา 66 มาตรา 71 มาตรา 80 มาตรา 90 หรือมาตรา 95 กรรมการ ผู้จัดการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้น”

พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

“มาตรา 135 ในกรณีผู้กระทำความผิดตามมาตรา 126 มาตรา 127 มาตรา 128 มาตรา 129 มาตรา 130 มาตรา 131 มาตรา 133 หรือมาตรา 138 เป็นนิติบุคคล กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น”

ถ้าดูตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว บทบัญญัติในลักษณะเดียวกันเช่นนี้ก็น่าจะขัดรัฐธรรมนูญไปทั้งหมดด้วย

ท่านผู้บริหารที่ประกอบธุรกิจอยู่ไม่ว่าด้านใด ลองไปเปิดกฎหมายที่กำกับดูแลหรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจของท่านดู ในบทกำหนดโทษของกฎหมายนั้นหากมีบทบัญญัติในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น ก็น่าจะถือได้ว่าบทบัญญัตินั้นขัดรัฐธรรมนูญและไม่มีผลบังคับใช้แล้ว

ถ้าจะว่าไปแล้ว บทบัญญัติที่เป็นการสันนิษฐานความผิดแบบนี้ ก็ไม่ใช่ว่าของประเทศไทยเราจะแปลกประหลาดพิสดารกว่าของประเทศอื่น เพราะก็มีกฎหมายของประเทศอื่นที่มีบทบัญญัติในลักษณะนี้อยู่เช่นเดียวกัน เช่น

HOUSING DEVELOPERS (CONTROL AND LICENSING) ACT (CHAPTER 130) ของสิงค์โปร์ มาตรา 27 ก็บัญญัติว่า

“(1)Where any offence against any provision of this Act has been committed by a company, firm, society, limited liability partnership or other body of persons, any person who at the time of the commission of the offence was a director, manager or secretary or held a position analogous to that of a director, manager or secretary or was purporting to act in such a capacity shall be deemed to be guilty of that offence, unless he proves that the offence was committed without his consent or connivance and that he exercised all such diligence to prevent the commission of the offence as he ought to have exercised, having regard to the nature of his functions in that capacity and to all the circumstances. That person shall be liable on conviction to imprisonment for a term which shall not be less than 12 months, but which shall not exceed 3 years and shall also be liable to a fine not exceeding $10,000.”

หรือ Chapter: 362 Trade Descriptions Ordinance ของฮ่องกงก็บัญญัติว่า

“Where a body corporate is convicted of an offence under this Ordinance, every person who, at the time of the commission of the offence, was a director, manager, secretary or other similar officer of the body corporate, or any person who was purporting to act in any such capacity, shall be deemed to be guilty of that offence unless he proves that the offence was committed without his knowledge, or that he exercised all due diligence to prevent the commission of the offence.”

เหตุที่มีการบัญญัติกันเช่นนี้ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าในความเป็นจริงบริษัทไม่มีตัวตน การกระทำต่าง ๆ ของบริษัทก็เกิดจากความคิดและการกระทำของกรรมการและผู้บริหารทั้งสิ้น

ในเชิงนิติศาสตร์ก็มีการถกเถียงกันมากว่า ผู้บริหารควรต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายของบริษัทโดยอัตโนมัติหรือไม่เช่นกัน และก็มีหลายประเทศที่ไม่ยอมรับหลักนี้ และออกไปในทางที่ว่าผู้บริหารต้องมีส่วนรู้เห็นด้วย เช่น ในมาตรา 1255 ของ Companies Act 2006 ของอังกฤษ

“(1) Where an offence under this Part committed by a body corporate is proved to have been committed with the consent or connivance of, or to be attributable to any neglect on the part of, an officer of the body, or a person purporting to act in any such capacity, he as well as the body corporate is guilty of the offence and liable to be proceeded against and punished accordingly.”

อันที่จริงในประเทศไทยก็มีกฎหมายอยู่บางฉบับ ที่กำหนดความรับผิดของผู้บริหารไว้ไม่เหมือนกับข้อสันนิษฐานใน พ.ร.บ.ขายตรงฯ คือ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ซึ่งออกมาคู่กัน โดยในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา 300 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 268 มาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 มาตรา 273 มาตรา 274 มาตรา 279 มาตรา 280 มาตรา 281 มาตรา 284 มาตรา 286 มาตรา 290 มาตรา 292 มาตรา 296 มาตรา 297 มาตรา 298 หรือมาตรา 299 เป็นนิติบุคคล ถ้าพิสูจน์ได้ว่าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการ การกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นผู้ใด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย”

และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ก็บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา 221 ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดและถูกลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้แทนนิติบุคคลซึ่งรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้นหรือซึ่งมิได้จัดการตามสมควร เพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย”

ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ ไม่ได้เป็นข้อสันนิษฐานความผิดของผู้บริหารแบบอัตโนมัติอย่างใน พ.ร.บ. ขายตรงฯ และกฎหมายอื่น ๆ ในประเทศไทย คือต้องมีการพิสูจน์ว่ามีส่วนร่วมกระทำหรือรู้เห็นเป็นใจด้วยเสียก่อน

แต่ทว่าในปี พ.ศ. 2551 ทางสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ทำการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ หลายมาตรา รวมทั้งมาตรา 300 นี้โดยให้กลับไปป็นบทสันนิษฐานความผิดอย่างใน พ.ร.บ.ขายตรงฯ โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่ชัดเจน ดังนั้น มาตรา 300 ในปัจจุบันจึงเป็นว่า

“มาตรา 300 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 268 มาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 มาตรา 273 มาตรา 274 มาตรา 279 มาตรา 280 มาตรา 281 มาตรา 281/6 มาตรา 281/9 มาตรา 281/10 มาตรา 284 มาตรา 286 มาตรา 290 มาตรา 292 มาตรา 296 มาตรา 297 มาตรา 298 หรือมาตรา 299 เป็นนิติบุคคล กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้น”

แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 แล้ว มาตรา 300 นี้ก็น่าจะถือว่าขัดรัฐธรรมนูญและไม่มีผลบังคับใช้ด้วย การแก้ไขกฎหมายที่กล่าวมาก็เลยกลับกลายเป็นการแก้ให้ขัดรัฐธรรมนูญไป!