ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สเผยผลสำรวจซีอีโอทั่วโลก จีน-ยุโรป คาดการเติบโตลด – รายได้หด

ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สเผยผลสำรวจซีอีโอทั่วโลก จีน-ยุโรป คาดการเติบโตลด – รายได้หด

15 มีนาคม 2012


ข่าวแจก PwC – เมื่อ 15 มีนาคม 2012 บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส( PwC) ได้เปิดเผยงานวิจัยผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับประธานกรรมการบริหาร(ซีอีโอ)ทั่วโลก ครั้งที่ 15 พบว่า 48% หรือเกือบครึ่งของซีอีโอทั่วโลกที่เข้าร่วมการสำรวจความคิดเห็น เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคลายตัวลงอีกในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะเดียวกัน ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปและสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก เป็นปัจจัยที่ตอกย้ำความเชื่อดังกล่าวของซีอีโอในเอเชียแปซิฟิก โดยมีซีอีโอทั่วโลกเพียงแค่ 15% เท่านั้นที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นในปี 2012

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอก็ยังมีความมั่นใจอยู่บ้างว่า จะมีการเติบโตในรายได้และธุรกิจของตนในอีก 12 เดือนข้างหน้า ด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเขาได้รับบทเรียนที่จะต้องจัดการกับสถานการณ์ที่ยากลำบากและความผันผวนทางเศรษฐกิจมาแล้วตั้งแต่ปี 2008 นั่นเอง

“ความมั่นใจของซีอีโอย่อมลดลงเป็นธรรมดา หลังจากที่พวกเขาต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งยังผิดหวังกับภาวะเศรษฐกิจโลกและแนวทางการฟื้นฟูที่ไม่ชัดเจน ปัญหาวิกฤตหนี้ที่สั่งสมมานานในอียู รวมถึงความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อมานาน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อการเจริญเติบโตของธุรกิจลดลงทั่วโลก แม้แต่กลุ่มประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างเอเชียและลาตินอเมริกา ก็ยังไม่สามารถป้องกันตนเองจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องได้” มร.เดนนิส เอ็ม เนลลี่ ประธานบริษัท PwC อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

ความมั่นใจของผู้บริหารในฝั่งยุโรปตะวันตกได้ลดลงมากที่สุด เห็นได้ชัดจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะ มีเพียงซีอีโอเพียง 25% ในฝั่งยุโรป ที่มั่นใจว่าการเติบโตในรายได้ของตนจะลดลงจากปีก่อนมีถึง 40%

เมื่อย้อนกลับมาดูความมั่นใจของผู้บริหารในฝั่งเอเชียแปซิฟิก ก็พบว่ามีระดับที่ลดลงเช่นเดียวกัน ในปีที่ผ่านมา ผู้บริหารในเอเชียแปซิฟิกถึง 54% ที่บอกว่ามั่นใจในการเติบโตของธุรกิจตน แต่ในปีนี้กลับพบว่า ความมั่นใจได้ลดลงเหลือเพียง 42%เท่านั้น แม้แต่บรรดาซีอีโอจากประเทศจีน ที่ๆคนทั่วโลกมองว่าเป็นพื้นที่สำคัญและเป็นพื้นที่โอกาสแห่งธุรกิจ ซีอีโอในประเทศจีนกลับมีระดับความเชื่อมั่นที่ลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับซีอีโอจากประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน คือจาก 72% ในปีก่อน ความเชื่อมั่นได้ลดลงเหลือ 51% ในปีนี้

ประธานกรรมการบริหารทั่วโลก ที่ร่วมตอบแบบสอบถามครั้งที่ 15 ของ PwC ทั้งหมดมีจำนวน 1,258 คน จากทั้งหมด 60 ประเทศ ได้เปิดเผยใน World Economic Forum ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

80%ของซีอีโอทั้งหมด บอกว่าความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ คือสิ่งที่พวกเขากังวลใจมากที่สุด โดย 64% บอกว่าพวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของตลาดทุน , 66% บอกว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับนโยบายการคลังและการชำระหนี้ของรัฐบาล, 58% บอกว่าเขากังวลในความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และ 56% บอกว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับ กฎระเบียบที่เข้มงวดจนเกินไป

ในขณะเดียวกัน 56% ของซีอีโอที่ร่วมสำรวจความคิดเห็น กล่าวว่าธุรกิจของพวกเขาได้รับผลกระทบทางการเงินจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปและเริ่มที่จะจัดการกับปัญหาดังกล่าวแล้ว

ส่วนซีอีโอในแถบเอเชียแปซิฟิกค่อนข้างตระหนักเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจโลก โดย 83% ของพวกเขา ระบุว่า ความไม่แน่นอนและความผันผวนของเศรษฐกิจส่งผลต่อการคาดการณ์และการตัดสินทางธุรกิจในอนาคต นอกจากนั้นความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและความไม่มีเสถียรภาพในตลาดทุน เป็นสิ่งที่พวกเขากังวลใจในอันดับต้นๆอีกด้วย โดย
57% ของซีอีโอในเอเชียแปซิฟิก บอกว่าพวกเขาค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ เมื่อเทียบกับซีอีโอที่ร่วมสำรวจจากทั่วโลก มีเพียง 42%

“แต่ข่าวดีก็คือ ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ผ่านมา ได้สอนให้ผู้บริหารเหล่านี้ทราบถึงวิธีการจัดการกับธุรกิจของตนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พวกเขาบอกเองว่าจะต้องเตรียมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากความผันผวนของตลาดโลก ความต้องการซื้อที่อ่อนกำลังลงในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือความไม่แน่นอนในประเทศที่กำลังพัฒนา ซีอีโอส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะสามารถสร้างรายได้ให้เติบโตภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากนี้” มร. เนลลี่ กล่าว

นอกจากนี้เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตมาโดยตลอดเพราะมีปัจจัยพื้นฐานที่มั่นคง ดังนั้นเอเชียจึงเป็นที่จับตาของเหล่าผู้บริหารจากทั่วโลก เมื่อถามผู้บริหารในเอเชียว่าประเทศใดสามประเทศที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อการเจริญเติบโตของธุรกิจของพวกเขา จำนวน 30% กล่าวว่าประเทศจีนมีการเติบโตสูงสุด ตามด้วยประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 22% และประเทศบราซิลจำนวน 15%

จำนวนกว่าครึ่งของซีอีโอในประเทศที่พัฒนาแล้วกล่าวว่าตลาดของประเทศกำลังพัฒนามีความสำคัญมากที่สุดต่ออนาคตของพวกเขา กลุ่มประเทศ BRIC (บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และ จีน) คือกลุ่มประเทศที่คาดว่าจะมีการเจริญเติบโตสูงสุด รวมทั้งสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีด้วย มีมากกว่า 60 ประเทศที่ได้รับการกล่าวถึงจากซีอีโอเกี่ยวกับประเทศที่มีความเจริญเติบโตสูงสุดสามอันดับแรก

“เนื่องจากหลายๆประเทศในเอเชียเริ่มที่จะผ่อนคลายกฎเกณฑ์และนโยบายทางการเงิน ตราบใดที่วิกฤตหนี้ในยุโรปยังไม่บานปลาย เศรษฐกิจเอเชียน่าจะยังคงสามารถเป็นพื้นที่หลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้” นายประสัณห์ เชื้อพานิช ประธานกรรมการบริการ PwC ประเทศไทย กล่าว

จากแผนการจ้างงานดังกล่าว ได้เพิ่มอุณหภูมิและความตึงเครียดให้กับผู้บริหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งพวกเขาให้ความสำคัญในเรื่องบุคลากรมาเป็นอันดับหนึ่ง ซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ระบุความท้าทายที่เกิดจากบุคลากรในช่วง 3 ปีข้างหน้า ได้แก่ การขาดแคลนบุคลากรที่มีศักยภาพตรงกับความต้องการขององค์กร 63% และความยากลำบากในการสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพตรงกับความต้องการขององค์กรจากระดับโลก 47%

ส่วนการจัดหาและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กรยังคงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีเพียง 31% ที่บอกว่า “มั่นใจมาก” ในการจัดหาบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อตอบสนองกลยุทธ์ขององค์กร 43% เชื่อว่าการจ้างพนักงานในอุตสาหกรรมของตนเป็นเรื่องที่ยากมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นการจัดหาและรักษาผู้บริหารระดับกลางที่มีศักยภาพสูงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากที่สุด เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องสูญเสียบุคลากรที่ถือว่าเป็นบุคลากรหลักที่สำคัญขององค์กรให้กับคู่แข่ง รองลงมาคือการจ้างบุคลากรที่มีศักยภาพตรงกับความต้องการขององค์กรรวมทั้งการจ้างงานบุคลากรที่มีเกณฑ์อายุที่น้อยลง

ความท้าทายนี้ส่งผลกระทบในทุกๆอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทาง ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์และยา

“ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจหยุดชะงัก การขาดแคลนบุคลากรก็ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทเช่นเดียวกัน ซีอีโอจำนวนมากกล่าวว่า การสรรหาและรักษาบุคลากรที่มีศักยภาพตรงกับความต้องการขององค์กรไว้เป็นสิ่งที่ยากและอัตราการหมุนเวียนของพนักงานก็มีค่อนข้างสูงในตลาดประเทศกำลังพัฒนา ปัญหาเหล่านี้คาดว่าจะรุนแรงขึ้นเพราะรูปแบบทางประชากรศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป”นายประสัณห์กล่าว

แม้ว่าเศรษฐกิจจะซบเซาแต่ธุรกิจทั้งหลายยังคงมีแผนที่จะจ้างงานเพิ่มมากขึ้น โดยครึ่งหนึ่งของซีอีโอกล่าวว่าพวกเขาได้เพิ่มจำนวนพนักงานของตนเองในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และคาดว่าจะคงอัตราการจ้างงานต่อไปเรื่อยๆ มีเพียง 15% เท่านั้น ที่จะลดปริมาณพนักงานในปีนี้ ซึ่งลดลง 5% จากปีที่แล้ว

ส่วนปัจจัยด้านลบจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ หรือความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซีอีโอต่างได้พยายามปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์และวิธีการดำเนินธุรกิจของตนเอง รวมทั้งได้มีการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อการแข่งขันในโลกที่มีความท้าทายตลอดเวลา ก็คือ นวัตกรรม ที่ผู้บริหารจะเพิกเฉยไม่ได้

หมายเหตุ สำหรับการสำรวจประธานกรรมการบริหารทั่วโลกครั้งที่ 15 ของ PwC นั้น CEO ที่ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด จำนวน1,258 คน จากทั้งหมด 60 ประเทศ ในระหว่าง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2011 โดย 291 คนมาจากยุโรปตะวันตก 440 คนมาจากเอเชียแปซิฟิค 150 คนมาจากลาตินอเมริกา 236 คนมาจากอเมริกาเหนือ 88 คนมาจากยุโรปกลางและตะวันออก และ 53 คนมาจากตะวันออกกลางและแอฟริกา ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ www.pwc.com/ceosurvey

การสำรวจประธานกรรมการบริหารทั่วโลกครั้งที่ 15 ของ PwC เผยแพร่เป็นครั้งแรกในการจัดแถลงข่าวที่เมือง Davos เนื่องในโอกาสการประชุม World Economic Forum ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ท่านสามารถดาวน์โหลดคลิปจากงานแถลงข่าวดังกล่าวรวมถึงคลิปอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ที่http://press.pwc.com และสามารถรับชม webcast ฉบับสมบูรณ์ได้ที http://www.pwc.com/davoswebcast