ThaiPublica > คอลัมน์ > 2555 แตกเป็นแตก! (2012 It Ain’t The End of The World)

2555 แตกเป็นแตก! (2012 It Ain’t The End of The World)

16 มกราคม 2012


รณพงศ์ คำนวณทิพย์
Twitter: @rockdaworld

เชื่อว่าทุกคนคงได้เผชิญกับวิกฤติการณ์และภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ในปีที่ผ่านมา จนหลายคนขวัญผวาต่อโชคชะตา และเริ่มต้นปีด้วยความหวั่นเกรงกับคำพยากรณ์วันโลกแตกที่จะเกิดขึ้นในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อให้รับสภาพการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ องค์กรทั้งหลายก็ต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ผู้บริหารองค์กรต้องปรับเปลี่ยนแผนงานให้มีความพร้อมและมีความยืดหยุ่น เพื่อนำพาองค์กรให้บรรลุเป้าหมายในสถานการณ์ต่างๆ นอกเหนือการควบคุมที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังต่อไปนี้ครับ

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

เมื่อ 2 ปีก่อน นิตยสาร TIME ได้เลือกให้ “คุณ” ทุกๆ คนเป็นบุคคลแห่งปี เพราะปัจเจกชนทุกคนมีสิทธิมีเสียง มีช่องทางในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน พอมาถึงปีที่แล้ว TIME ก็ได้เลือกให้ “ผู้ชุนนุม” เป็นใหญ่เพราะ คุณๆ ที่สามารถใช้สิทธิออกเสียง แสดงความคิดเห็นได้ มีการเชื่อมโยงกันผ่านสื่อต่างๆ ทำให้เกิดการรวมตัวกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ จนสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ไปจนถึงขึ้นการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศได้เลย

มาถึงปีนี้ ในบ้านเราก็เห็นได้ชัดเจนว่ามีการชุมนุมชุกชุมกว่าทุกปี แค่ภายในสัปดาห์แรกๆ ของปีก็มีการรวมตัวชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ทั้งม็อบน้ำท่วม ม็อบราคาก๊าซ ม็อบราคายาง ม็อบคูปอง และอื่นๆ อีกมากมาย ภาคเอกชนอย่างเช่นค่ายโทรศัพท์มือถือแห่งหนึ่งที่ทำระบบล่มติดต่อกันถึง 3 ครั้ง จนผู้บริโภคไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ก็ถูกผู้บริโภคแสดงความไม่พอใจไปยังบริษัท และผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อแบบดั้งเดิม และสื่อออนไลน์ จนผู้บริหารต้องรีบออกมาขออภัยและชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้บริโภค ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงพลังของประชาชนหรือผู้บริโภคที่สามารถรวมตัวกันแสดงออกเพื่อเรียกร้อง

สิทธิของตนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้น การปรับตัวรับมือความเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ก็คือ ผู้บริหารองค์กรต่างๆ พึงต้องปฏิบัติต่อลูกค้าหรือประชาชนโดยชอบธรรม มีหลักเกณฑ์และเหตุผลที่อธิบายได้ และทำการแก้ไขข้องผิดพลาด ทำการสื่อสารกับมวลชนให้ทันท่วงที หรือในกรณีที่กิจการอาจส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของคนในวงกว้าง ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประเมินป้องกัน และอาจทำประกันความเสี่ยงจากค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วยครับ

ภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนไป

นับตั้งแต่ยุคของสื่อสังคมออนไลน์ปรากฏว่า ปัจจุบันมีคนไทยอยู่บนโลกของเครือข่ายสังคมออนไลน์ ราว 13 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของประชากรทั้งประเทศ ที่น่าสนใจคือคนกลุ่มนี้เลือกที่จะใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์เฉลี่ยประมาณ 17 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นานกว่าเวลาที่ใช้รับชมโทรทัศน์ 11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เสียอีกครับ

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนในวงกว้างของประเทศได้อยู่ และเป็นสื่อที่มีความน่าเชื่อถือเพราะแสดงได้ทั้งภาพและเสียง ด้วยเหตุนี้เจ้าของสื่อต่างๆ รวมถึงสื่อสำนักหนังสือพิมพ์เกือบทุกค่ายจึงหันมาเปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทำให้มีช่องใหม่ๆ เกิดขึ้นกันอย่างมากมายในปีนี้ ดังนั้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านสื่อโทรทัศน์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เพราะผู้ชมมีทางเลือกอย่างมากมาย

การเลือกใช้โซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าหรือผู้ชม ให้เชื่อมโยงกับเว็บไซต์และสื่อต่างๆ ที่มีจึงเป็นทางออกที่ดีที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง และสร้างฐานแฟนที่เหนียวแน่นให้กับรายการ สถานีโทรทัศน์ สำนักข่าว รวมถึงแบรนด์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี หากรู้จักประยุกต์ใช้สื่อต่างๆเหล่านี้ครับ

ด้วยภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปแบบนี้ ผู้ที่มีเงินทุนมากกว่าอาจไม่ใช่ผู้ชนะเสมอไป แต่ผู้ที่มี content หรือเนื้อหาที่ดี และมีการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็วต่างหาก ที่จะเป็นผู้ได้เปรียบครับ

ความเสี่ยงทางภัยธรรมชาติ

บริษัทรับประกันภัยต่อ รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้ออกมาเปิดเผยว่า ปี พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา เป็นปีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในที่ต่างๆ บนโลก บ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกสถิติกันมา นอกจากนี้ แม้จะไม่อ้างถึงคำทำนายโลกแตกต่างๆ ในแง่วิทยาศาสตร์เองก็ยังมีคำยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์ ว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดภัยพิบัติมากขึ้นจากความแปรปรวนของโลก บวกกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสนามแม่เหล็กโลกอันเกิดขึ้นจากลมสุริยะที่พัดเข้ามา

ดังนั้น การเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์และยากจะต้านทานจึงทำได้โดย กระจายความเสี่ยงขององค์กรออกไปให้มากที่สุด ทั้งการมีฐานของวัตถุดิบ ฐานการผลิตในแหล่งสำรอง การวางแผนลอจิสติกส์ การขนส่งหรือกระจายสินค้ากรณีฉุกเฉิน หรือการทำ Business Continuity Plan หรือการวางแผนการทำงานภายใต้วิกฤติ เช่น มีสำนักงานแห่งที่สอง หรือการวางโครงข่ายเพื่อให้พนักงานทำงานจากบ้านหรือที่ใดก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีในการเตือนภัย หรือป้องกันภัย หรือบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการประความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติจึงเป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรต่างควรเตรียมการณ์ให้พร้อมครับ

ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก

ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกของชาติใหญ่ๆ ไม่เว้นแม้แต่อเมริกา หรือสหภาพยุโรป ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของโลก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการบริโภค ค่าเงิน และการส่งออกของประเทศผู้ผลิตสินค้าต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถึงแม้การป้องกันความเสี่ยงทางการเงินจะสามารถทำได้ผ่านกลไกต่างๆ การลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งเป็นพิเศษ และการลดการพึ่งพาตลาดส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว หันมาพัฒนาตลาดในประเทศและตลาดในภูมิภาคให้มากขึ้น ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้ครับ ที่สำคัญคือจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างรวดเร็ว และมีการพัฒนาสินค้าอยู่เสมอเพื่อปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปได้ครับ

ความเสี่ยงทางการเมืองภายในประเทศ

ความเสี่ยงจากความไม่มั่นคงทางการเมือง การชุมนุมประท้วง และจลาจลต่างๆ เป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุมขององค์กรธุรกิจต่างๆ แต่อาจส่งผลกระทบได้อย่างรุนแรง

การป้องกันความเสี่ยงในด้านนี้วิธีหนึ่งที่ได้ผลคือการลดการพึ่งพิงรายได้จากตลาดหลักในกรุงเทพฯ หรือจุดที่อาจมีการชุมนุมยืดเยื้อ ขยายตลาดออกไปในวงกว้างขึ้น มีธุรกิจอื่น หรือรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่จะยังสามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรได้แม้จะเกิดวิกฤติต่างๆครับ

ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกคน รวมถึงองค์กรต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนและวางแผนล่วงหน้า เพื่อเตรียมรับมือกับสภาพการณ์ต่างๆได้อย่างมั่นใจ..

..ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สัจธรรมข้อที่ว่า “ความแน่นอน คือความไม่แน่นอน” ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นนิรันดร์..

..ขอเพียงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่ดี และวางแผนดำเนินชีวิตอย่างดี ก็เชื่อมั่นว่าท่านผู้อ่านจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ครับ!!