ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > เทรนด์ธุรกิจยั่งยืน 2012 โลกเคลื่อนสู่ยุค “ทำดี ได้ดี” (จบ)

เทรนด์ธุรกิจยั่งยืน 2012 โลกเคลื่อนสู่ยุค “ทำดี ได้ดี” (จบ)

2 มกราคม 2012


โลกได้เคลื่อนสู่ยุคใหม่ ซึ่งการทำธุรกิจไม่ใช่แค่นำเสนอสินค้าและบริการแก่ผู้บริโภคอีกต่อไป แต่ภาคธุรกิจยังมีหน้าที่ทำให้โลกดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

รายงาน The Big Little Book Of Nexts: Trendspotting for 2012 ที่จัดทำโดยยูโร อาร์เอสซีจี ระบุว่า บริษัทที่ทำผลงานเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (ซีเอสอาร์) มักได้เปรียบคนอื่นในแง่เสน่ห์ดึงดูดพนักงานหัวกะทิให้อยากมาร่วมงานด้วย โดยเฉพาะบรรดาคนรุ่นใหม่ หรือที่เรียกว่าเจนเนอเรชั่นเอ็ม (Millennial Generation)

เพราะความรับผิดชอบต่อสังคมนับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนเหล่านี้ในทุกๆ บทบาทที่พวกเขาเป็นอยู่ ทั้งพนักงาน ผู้บริโภค และพลเมืองของโลก ดังนั้น พวกเขาจึงต้องการภาคภูมิใจกับสถานที่ทำงาน ตลอดจนถึงสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ และมีความเชื่อว่าธุรกิจที่ตระหนักถึงสังคมจะประสบความสำเร็จในที่สุด

จากผลการศึกษาล่าสุด ปรากฏว่า ราว 70 % ของคนในกลุ่มเจนเอ็มมีความเชื่อว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในอนาคตจะต้องมีแนวปฏิบัติเรื่องความยั่งยืน ขณะที่ผลการสำรวจก่อนหน้านี้ พบว่า มากกว่า 90 % ของคนรุ่นใหม่มีความเห็นว่า โลกจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง และกว่า 80 % เห็นว่าความรับผิดชอบที่มาจากคนเจนเอ็มจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

แม้ในแง่หนึ่งซีเอสอาร์อาจดูเหมือนกลยุทธ์ทางการตลาด แต่ก็มีอีกหลายแบรนด์ที่อุทิศความตั้งใจเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิด “ธุรกิจไปได้สวย ด้วยการทำดี”

รายงานล่าสุดของยูโร อาร์เอสซีจี คาดการณ์ 5 เทรนด์ซีเอสอาร์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2555 ซึ่งอาจมีส่วนเปลี่ยนแปลงโลก โดยเริ่มจาก เทรนด์การขับขี่อย่างรับผิดชอบ โดยบริษัทหลายแห่งมีแนวโน้มจะลุกขึ้นมาเอาจริงเอาจังเพื่อทำให้ระบบการขนส่งมวลชนดีขึ้น ไม่ได้เน้นเฉพาะสภาพถนนหนทางและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเท่านั้น ยกตัวอย่าง “โมเบียส วัน” รถเอสยูวีที่ลดทอนสิ่งไม่จำเป็นออกไป เพื่อการขับขี่อย่างรับผิดชอบในแอฟริกา หรือกรณีของ “แบมบูเซโร” จักรยานไม้ไผ่สำหรับใช้ในประเทศกำลังพัฒนา

จักรยานไม้ไผ่เอาใจคนรักษ์โลก
จักรยานไม้ไผ่เอาใจคนรักษ์โลก
(ที่มาภาพ: http://www.modresdes.com/wp-content/uploads/2010/07/Bamboosero-Bike-Road-Bike-2.JPG)

ต่อมาเป็น เทรนด์แฟชั่นที่เป็นธรรม ซึ่งแม้จะไม่ถึงกับ 100 % แต่ก็เป็นความพยายามที่จะกระตุ้นให้ขาช็อปหันมาซื้อสินค้าที่ช่วยโลก อย่างเช่นเว็บไซต์แฟชั่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “ฟิวเจอร์:สแตนดาร์ด” ที่วางขายสินค้าหลากหลายแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำการค้าอย่างเป็นธรรม เน้นความเป็นท้องถิ่นและผลิตสินค้าที่ดูดีมีสไตล์

“แมกนิฟีโก ช็อปปิ้ง” (Magnifeco Shopping) เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่นำเสนอสินค้าใส่ใจสังคม และมีเว็บบล็อกสำหรับแฟนๆ หัวใจกรีน สินค้าในร้านนี้มีสารพัดที่เกี่ยวกับความยั่งยืน รีไซเคิล ออร์กานิก มังสวิรัติ รวมถึงทำการค้าอย่างเป็นธรรม โดยมีสินค้ากว่า 3,000 รายการ ทั้งในหมวดความงาม แอคเซสซอรี เสื้อผ้า และรองเท้า นอกจากนี้ ยังมีเว็บไซต์ “เอธิคอล โอเชียน” (Ethical Ocean) ที่เน้นสินค้าใส่ใจดูแลสังคม และ “โนวิกา” (Novica) ที่มีจุดขายเรื่องท้องถิ่นและช่างฝีมือในพื้นที่

ในโลกดิจิทัลเองก็มีการขยับเรื่องนี้เช่นกัน เทรนด์ที่กำลังมาแรง คือ แอพพลิเคชั่นที่มีจริยธรรม ยกตัวอย่างองค์กรด้านการค้าที่เป็นธรรมแฟร์เทรด ยูเอสเอ ที่มีแอพ “แฟร์เทรด ไฟนเดอร์” สำหรับใช้บนสมาร์ทโฟน เช่นเดียวกับเฟซบุ๊กที่ออกแบบมาให้ค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองเรื่องการค้าเป็นธรรมได้สะดวก ประกอบกับกระแส crowdsourcing ที่เอื้อให้ผู้ใช้สามารถกระจายและเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้บนโลกอินเทอร์เน็ต

ไม่เพียงแต่แอพพลิเคชั่นเหล่านี้จะเย้ายวนความสนใจจากบรรดาร้านค้าปลีก แต่บางแอพยังมีคุณูปการเพื่อช่วยเหลือผู้คน อย่างเช่น “Mobi-Reportabuse” แอพบนมือถือที่แพร่หลายในกานาในฐานะผู้ช่วยบันทึกภาพ คลิปวิดีโอ เสียง และข้อความ สำหรับทั้งพยานและเหยื่อผู้ถูกกระทำทารุณต่างๆ เพราะในประเทศที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังไม่ทั่วถึง โทรศัพท์มือถือจึงเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะเชื่อมโยงหรือติดต่อขอความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ยังมีแอพ “ไอรีไซเคิล” บนไอโฟนและแอนดรอยด์ เพื่อช่วยให้ผู้คนค้นหาแหล่งรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ประเภทอิเล็กทรอนิกส์และวัสดุที่มีอันตราย อีกทั้งแอพ “วัน” (ONE) บนไอโฟนที่เปิดให้คนเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ข้อมูล ร้องเรียน เผยแพร่แคมเปญผ่านสื่อสังคม หรือติดต่อกับภาครัฐ

I'm not a plastic bag ปลุกกระแสไม่เอาถุงพลาสติก
I'm not a plastic bag ปลุกกระแสไม่เอาถุงพลาสติก
(ที่มาภาพ: http://media-3.web.britannica.com/eb-media//14/103214-050-196D2AB2.jpg)

ความคาดหวังเรื่องกระแสรักษ์โลกและกรีน ทำให้เกิดอีกเทรนด์หนึ่ง คือ ทำให้การทำความดีดูเซ็กซี่มากขึ้น อย่างแคมเปญ “Let’s Colour” ของดูลักซ์ ที่เปิดให้พนักงานและอาสาสมัครช่วยกันคืนพลังให้สังคมทั่วโลกผ่านการทาสีอาคารบ้านเรือนในเขตเมืองให้ดูสดใสขึ้น หรืออย่างโครงการลดใช้ถุงพลาสติก “I’m Not a Plastic Bag” ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์สุดฮิพของคนหัวใจรักษ์โลก

เทรนด์สุดท้าย คือ คนรุ่นใหม่จะหันมาให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าของกิจการที่เอาใจใส่สังคม (socialpreneurs) มากขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งที่ธุรกิจขนาดใหญ่ทำ และเป้าหมายที่จะไปข้างหน้า อย่างกรณีของรองเท้า TOMS แบรนด์เบิร์ตส์ บีส์ (Burt’s Bees) และเว็บไซต์ Ecopreneurist ที่โชว์สินค้าหลากหลายจากบริษัทน้องใหม่ที่เอาดีภายใต้คอนเซ็ปต์เพื่อโลกที่ดีขึ้น

นอกเหนือจากซีเอสอาร์ กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ eco ก็เป็นอีกเทรนด์ที่มีพัฒนาการควบคู่กัน ไป โดย 5 เทรนด์อีโคที่จะเกิดขึ้นในปี 2555 ในสายตาของยูโร อาร์เอสซีจี ได้แก่ การท่องเที่ยวอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเชนโรงแรมฮิลตันที่เริ่มปรับให้ไฟในห้องน้ำเป็นแบบตั้งเวลา เทรนด์นี้ยังรวมถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ (ecotourism) ซึ่งเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ อาทิ การเยี่ยมชมฟาร์มออร์กานิกที่จะสอนเกี่ยวกับการทำฟาร์มและรับประทานอาหารที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ในฟิลิปปินส์เองก็โหมโปรโมตการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ที่เน้นกิจกรรมเป็นหลัก แทนที่จะคำนึงถึงแค่จุดหมายปลายทางที่จะไป

อีกเทรนด์ คือ แฟชั่น eco chic ที่มาแรง เพราะดีไซเนอร์หันมาเอาดีทางนี้ อย่าง “สเตลลา แมคคาร์ตนีย์” ที่เปิดตัวไลน์สินค้าแว่นกันแดดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือค่าย “ไนกี้” ที่มีตัวช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับดีไซเนอร์สำหรับออกแบบสินค้าอย่างยั่งยืน อาทิ เสื้อฟุตบอลเวิลด์ คัพ 2010 ที่ว่ากันว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดในประวัติศาสตร์วงการฟุตบอล โดยใช้ขวดพลาสติกร่วม 13 ล้านใบนำมารีไซเคิลเพื่อผลิตเสื้อฟุตบอลดังกล่าว

เทรนด์ต่อมา แรงฮิตเรื่องอาหารจากฟาร์มใกล้บ้านจะลามไปถึงสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นเทรนด์ใหญ่ในสหรัฐที่ตลาดอาหารสัตว์มีมูลค่าถึง 1.95 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยบรรดาเจ้าของจะพากันซื้อเนื้อสัตว์จากฟาร์มออร์กานิกและร้านในท้องถิ่นมากขึ้น

เป๊ปซี่กับไอเดียขวดเป็นมิตรต่อโลก
เป๊ปซี่กับไอเดียขวดเป็นมิตรต่อโลก (ที่มาภาพ: http://www.greenerpackage.com/sites/default/files/Green_Bottle.jpg)

อีกหนึ่งเทรนด์ คือ บรรจุภัณฑ์ที่สุดแสนจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นโครงการ PlantBottle ของค่าย “โคคา-โคลา” ที่วัตถุดิบราว 30 % ในการผลิตขวดมาจากพืช เช่นเดียวกับ “เป๊ปซี่” ที่มาพร้อมกับขวดที่ผลิตจากพืชผักทั้งหมด ทั้งเปลือกส้ม เปลือกถั่ว เศษมันฝรั่ง และของเหลือใช้จากธุรกิจอาหารของบริษัท

หรือกรณีของ “พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล” (พีแอนด์จี) ที่เปิดตัวสินค้ามีดโกนหนวด Fusion ProGlide Power Razor แบรนด์ “ยิลเลตต์” ที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับธรรมชาติ โดยลดการใช้พลาสติกลง 79% วัสดุส่วนใหญ่มาจากไม้ไผ่ เห็ด ซึ่งแนวคิดนี้จะช่วยลดการใช้แพคเกจที่สิ้นเปลืองลง

เมื่อแบรนด์ต่างนำเสนอสินค้าสีเขียวกันมากมาย จึงเป็นที่มาของเทรนด์สุดท้าย อีโคเกินพิกัด ในปีนี้ผู้คนจะคิดมากขึ้นในเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำฟาร์มในเมือง อุดหนุนร้านค้าเนื้อในท้องถิ่น และกิจกรรมต่างๆ ที่จะบูมเทรนด์นี้ให้แรงต่อเนื่องไป