ThaiPublica > คนในข่าว > “กษิต ภิรมย์” จบฉาก 2 ปี เหตุ – ปัจจัยเบื้องหลังตามจับ“ทักษิณ ชินวัตร”

“กษิต ภิรมย์” จบฉาก 2 ปี เหตุ – ปัจจัยเบื้องหลังตามจับ“ทักษิณ ชินวัตร”

10 ธันวาคม 2011


สถานการณ์การเมืองกลับมาครุกรุ่นอีกครั้ง เมื่อ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เลือกที่จะผลักดันการช่วยเหลือ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังติดบ่วง “ผู้ร้ายหนีคดี” ในหลายช่องทาง

ทั้งเรื่องการ “ขอพระราชทานอภัยโทษ” และการ “นิรโทษกรรม”

ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศโดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ประกาศเตรียมคืน หนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต ให้กับพ.ต.ท.ทักษิณอีกหนทางหนึ่ง

จนทำให้กระแสการต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเริ่มก่อตัวและขยายวงกว้างอีกครั้ง

นี่ถือเป็น คำรบที่สอง ที่ก่อเกิดกระแสการต่อต้านรัฐบาลและพรรคการเมือง ในเครือข่ายพ.ต.ท.ทักษิณจากสาเหตุของ ความพยายามจะให้ความช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ

ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2551 โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรวมตัวชุมนุมขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ล้ม “สมัคร สุนทรเวช” และ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” เนื่องจากต้องสงสัยว่า เตรียมผลักดันการแก้ไข”รัฐธรรมนูญ 2550″ เพื่อเปิดทางให้พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศไทย

ระหว่างการต่อต้าน ความพยายามช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณครั้งก่อนกับครั้งนี้นั้น ถูกคั่นกลางด้วยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดครั้งหนึ่ง ในการจะลงมือจัดการกับพ.ต.ท.ทักษิณให้เด็ดขาดได้

นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

โดยเฉพาะเมื่อ “กษิต ภิรมย์” เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้น ถึงขั้นที่ว่ากันว่า “กษิต” คือความหวังของ”เครือพันธมิตรฯ” และ “คนเสื้อเหลือง” ในการติดตามเช็คบิลอดีตนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จ

แต่สุดท้ายระยะเวลา 2 ปีเต็ม ที่กษิตอยู่ในตำแหน่ง ( ธันวาคม 2551- พฤษภาคม 2554) กลับจบลงตรงที่พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถกลับมาโลดเล่นในฉากการเมืองไทยได้อีกครั้ง ในนามของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี

“กษิต ภิรมย์” สรุปบทเรียน 2 ปี กับภาระไล่ล่า “ทักษิณ” ให้สำนักข่าวไทยพับลิก้าฟังถึงอุปสรรค ปัญหาและช่องโหว่ ที่ทำให้เขา ไม่สามารถดำเนินการกับ “ผู้ร้ายหนีคดี” อย่างพ.ต.ท.ทักษิณได้สำเร็จ และสาเหตุที่ทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ มีโอกาสกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง หลังการเลือกตั้ง “3 กรกฎาคม 2554”

“ผมทำเต็มที่แล้วในขอบข่ายที่จำกัด รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ตอนนั้นได้มีการดำเนินการกับคุณทักษิณในหลายกรณี 1.เกี่ยวกับสถานะของคุณทักษิณ หลังจากมีคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปีคดีที่ดินย่านรัชดาภิเษก เราก็ได้แจ้งผ่านทั้งสถานฑูตต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทย และผ่านสถานฑูตไทยในต่างประเทศ แล้วก็ขอความร่วมมือกับมิตรประเทศ ทั้งที่มีและไม่มีข้อตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน”

ประเทศที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับส่งผู้ร้ายข้ามแดน มีขั้นตอนภายในของแต่ละประเทศ และเรามีขั้นตอนภายในของเรา ในอดีตเคยมีการทำมาแล้วในหลายกรณี แล้วก็มีการกระทำกันมาตลอดเวลา ทั้งที่ขอตัวมาได้และขอไม่ได้ แม้กระทั่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี ก็เคยขอผู้ร้ายข้ามแดนจากเราไป

หรือในส่วนประเทศที่ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดน หากเป็นมิตรประเทศกันก็ช่วยเหลือกันได้ แต่ก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องบอกกับต่างประเทศว่าคุณทักษิณมีสถานะอย่างไร และเราต้องการเอาตัวคุณทักษิณกลับมาสู่กระบวนการยุติธรรม

ส่วนที่ 2.คืออำนาจสูงสุดในการนำตัวคุณทักษิณกลับประเทศไทย สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อรู้เบาะแสอะไร อย่างไร กระทรวงการต่างประเทศก็จะแจ้ง หรือหากสำนักงานอัยการสูงสุดรู้เอง ก็จะมีการแจ้งมายังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อจะย้ำไปยังประเทศนั้นๆ อย่างที่เราได้เคยทำกับยูเออี เพราะเรารู้ว่าคุณทักษิณ อยู่ที่ดูไบ

นอกจากนี้ด้วยสถานะของคุณทักษิณ ที่เป็นผู้ต้องหา แล้วก็หนีคุกตารางไป เราก็ได้ยกเลิกหนังสือเดินทางทางการทูต ซึ่งหนังสือเดินทางทางการทูตนั้นมันไม่ใช่สิทธิ แต่มันเป็นอภิสิทธิ์ที่รัฐบาลไทยได้ให้กับราชวงศ์ ให้กับผู้มีตำแหน่งรัฐมนตรี ผู้มีตำแหน่งทูตหรือบุคคลสำคัญเป็นกรณีๆ ไป ในเมื่อคุณทักษิณ มีสถานะเป็นผู้ร้ายแล้วหนีคดีแล้วก็ไม่คู่ควรที่จะได้รับสิทธิอันนี้ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราได้ยกเลิกหนังสือเดินทางของคุณทักษิณด้วย

ประเด็นก็คือการยกเลิกหนังสือเดินทางเป็นอำนาจทางการเมืองหรือไม่ ก็ต้องบอกเลยว่าไม่ใช่ เพราะมันเป็นเรื่องขั้นตอนราชการ ผู้ออกคำสั่งหรือจะยกเลิกก็ไม่ใช่หน้าที่ของ รมว.ต่างประเทศ เพราะจะทำโดยอธิบดีกรมการกงสุลหรือปลัดกระทรวง ตอนนั้นผมก็ไม่ได้เป็นคนเซ็นต์คำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางของคุณทักษิณ แต่แน่นอนว่านโยบายรัฐบาลคือต้องเอาคุณทักษิณกลับมาดำเนินคดี ถ้าจะเอาคุณทักษิณกลับมาตอนนั้นไม่ว่าจะโดยสมัครใจ หรือประเทศนั้นจะส่งตัวกลับมาให้ ก็จะมีการส่งเอกสารการเดินทางให้เป็นแบบวันเวย์ เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งก็เป็นหลักการสากล ดังนั้นถ้าจะบอกว่าคุณทักษิณกลับเมืองไทยไม่ได้เพราะไม่มีหนังสือเดินทางนั้นไม่จริง เพราะเราสามารถจะออกให้ได้ ถ้าประเทศนั้นๆ ส่งตัวมา

ไทยพับลิก้า : ถ้ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เด็ดขาดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปเลย วันนี้อาจจะไม่เป็นอย่างนี้

คำว่าเด็ดขาดคืออะไร ก็พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้ง ประชาชนไม่ชอบนโยบายประกันรายได้ ประชาชนเชื่อเรื่อง 300 บาทกับ 15,000 บาท เรื่องเครดิตการ์ด แล้วก็ยังเชื่อเรื่อง 30 บาทอยู่ แล้วก็อยากจะได้รถคันใหม่ อยากได้บ้านใหม่ ก็ช่วยไม่ได้นี่ครับ เราไปโกหกพกลมหรือสร้างวิมานในอากาศไม่ได้ ประชาชนบางส่วนเขาไม่เชื่อเราเอง

ไทยพับลิก้า : เกิดอะไรขึ้น กับ 2 รัฐบาล คือ รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสียเวลามากมายกับการจัดการกับพ.ต.ท.ทักษิณ แต่ไม่สามารถทำอะไรได้

มันไม่ใช่เรื่องของการไปยิงคุณทักษิณให้ตายนี่ จะได้เด็ดขาด มันเป็นเรื่องที่เราต้องขอความร่วมมือกับต่างประเทศ แล้วก็มีหลายประเทศที่ตอนหลังเขามีความเห็นใจคุณทักษิณ เพราะคุณทักษิณ เขาถูกปฏิวัติมา ตรงนี้ต้องไปถาม พล.อ.สนธิ (พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน) สิว่าปฏิวัติทำไม มันต้องดูตรงนี้ด้วย การปฏิวัติเป็นเรื่องถอยหลังเข้าคลอง ฝรั่งมังค่าเขาเชื่อในกระบวนการประชาธิปไตย จะผิดจะถูกด้วยเหตุผลอันใดเขาก็คิดว่ามันต้องแก้ด้วยสันติวิธี ไม่ใช่เอารถถังออกมา (เงียบครู่หนึ่ง-คิด) ตอนนั้นเราอาจจะมีสงครามกลางเมือง เหลือง-แดงอาจจะตีกัน ทหารเลยเข้ามา แต่เป็นเรื่องของฝ่ายทหาร ที่เป็นผู้ปฏิวัติต้องมาชี้แจงสิ มันไม่ใช่หน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะต้องไปชี้แจงอะไรนี่”

ไทยพับลิก้า : สรุปบทเรียนหรือยังว่า มีปัญหาอะไร ที่ทำให้ไม่สามารถจัดการจับตัวพ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดีได้

ประเด็นปัญหาตลอดมา ที่ทำให้เราไม่ได้รับความร่วมมือ มี 2 สาเหตุด้วยกัน คือ 1. หลายๆประเทศ รวมทั้งอินเตอร์โพล (ตำรวจสากล)ด้วย ไม่ค่อยแน่ใจว่าคดีของคุณทักษิณเนี่ย มันมีนัยยะทางการเมืองหรือเปล่า เพราะคุณทักษิณ มีคดีอาญาที่ถูกตัดสินแล้ว และยังมีรออยู่อีกเป็นสิบๆ อัน ขณะเดียวกันคุณทักษิณก็เป็นบุคคลทางการเมืองแล้วก็ถูกปฏิวัติ…มันมีการปฏิวัติมาด้วย ก็เลยทำให้คุณทักษิณ มี 2 สถานะ คือ เป็นนักการเมืองที่ถูกปฏิวัติและมีคดีอาญา ก็เลยทำให้หลายๆประเทศไม่อยากจะส่งตัวมาให้ เพราะเดี๋ยวจะมีนัยยะทางการเมืองว่าเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของไทย หรือส่งคนที่มีปัญหาทางการเมือง มาเข้าสู่กระบวนการทางคดีอาญา ก็อาจจะทำให้เขายุ่งยากในภายหลัง หรืออาจจะมีกฎเกณฑ์ภายในของเขาว่าถ้าสถานะของคนๆนี้ หรือคนใดคนหนึ่งเช่นคุณทักษิณ ยังคลุมเครือ ก็ไม่อยากตัดสินใจ เพราะเกรงว่าจะผิดกฎหมายภายในของเขา

อันที่ 2 คือเขากลัวความคึกคักของหน่วยงานภายในของไทย โดยเฉพาะสำนักงานอัยการสูงสุดและตำรวจสันติบาล ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรตำรวจสากลด้วย ซึ่งควรจะคอยป้อนข้อมูลเรื่องคุณทักษิณให้เกิดความคึกคัก แต่เท่าที่ผ่านมา ดูไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควร ซึ่งนี่ก็ต้องพูดตรงไปตรงมา อันที่สองสำนักงานอัยการก็มาเล่นแง่เล่นมุม บอกว่าถ้าบอกว่าคุณทักษิณ อยู่ที่ดูไบ ก็ต้องเอาแอดเดรส (ที่อยู่) มาให้ด้วย อะไรต่างๆเหล่านี้ แม้จะมีคนบินไปพบคุณทักษิณได้เป็นแสนๆ คนในช่วงนั้น แต่เรื่องก็ยังค้างเติ่งอยู่อย่างนี้

“คราวนี้มาถึงประเด็นที่ว่าผมหรือกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้แต่ทำตามหน้าที่เท่าที่เราจะทำได้ เราก็บอกไปทุกประเทศ บอกตำรวจ บอกตำรวจสากล บอกมิตรประเทศไปแล้ว ก็ได้แค่นั้น เราได้แจ้งไปที่ยูเออี ผมถึงกับส่งผู้ช่วยรัฐมนตรี ของผม คุณพนิช วิกิตเศรษฐ์ ไปยูเออี เพื่อจะขอความร่วมมือจากเขา ตัวผมเองก็ไปประเทศมอนเตเนโกร อะไรต่างๆเหล่านี้ ก็ได้บอกกับหลายประเทศ ผมเคยพูดกับทูตประจำสหประชาชาติของประเทศนิการากัวด้วยซ้ำ เพราะตอนนั้นมีข่าวว่าคุณทักษิณ จะได้รับหนังสือเดินทางของนิการากัว เพื่อจะบอกเขาว่าให้รับสถานะของคุณทักษิณเสียก่อน เพราะมันจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวจนทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศเสียหาย เราก็ได้บอกกับเขาไป แต่ผมก็ไม่ได้ตามล้างตามเช็ดเหมือนที่เสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทยกล่าวหาผม วันๆ หนึ่งที่ผมเป็น รมว.ต่างประเทศ มีงานที่ต้องทำอีกไม่รู้กี่ร้อยอย่าง เอกอัคราชทูตของเราทั่วโลกก็มีงานอื่นทำอีกร้อยแปดพันประการ การกล่าวหากันอย่างนั้นมันก็น่าอดสู”

ไทยพับลิก้า : ล่าสุดจากการที่ไม่มีใครจัดการกับพ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะผู้ร้ายหนีคดีได้ ทำให้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีโอกาสในการจะคืนหนังสือเดินทางที่เคยยกเลิกไปให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ

ถามว่ารัฐบาลมีหน้าที่จะต้องเอาคุณทักษิณ กลับมาสู่กระบวนการยุติธรรม หรือมีหน้าที่ที่จะออกหนังสือเดินทางให้คุณทักษิณ ได้โลดแล่นไปทั่วโลก โดยสามัญสำนึกก็ไม่ต้องหาคำตอบใช่ไหม…ในเมื่อรัฐบาลจงใจที่จะทำเช่นนั้น มันก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี คุณยิ่งลักษณ์ จะมาบอกว่าไม่รู้ไม่เห็น คงไม่ได้ ผมว่ามันเป็นการไม่พูดความจริง และคุณยิ่งลักษณ์ มักพูดแบบนี้ตั้งแต่วันที่รับตำแหน่ง พอมีเรื่องสำคัญๆก็จะบอกว่าไม่รู้… ครม.จะออกพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้คุณทักษิณ ก็บอกว่าไม่ได้เข้าประชุม ครม. ไม่ได้

“นี่ไม่ใช่เรื่องผู้หญิงหรือผู้ชาย เราเคยเห็น ผู้นำหญิงในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อิสราเอล ตอนนี้ก็มีผู้นำหญิงของอาร์เจนตินา บราซิล ซึ่งเมื่อทุกคนมารับตำแหน่งนี้ก็ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นวันนี้คุณยิ่งลักษณ์ต้องพูดให้ชัด ต้องไม่หลีกเลี่ยงประเด็นปัญหาและไม่คลุมเครือ ไม่ว่ารัฐมนตรีคนไหนไปทำอะไร ตัวเองก็ต้องรู้ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ยิ่งเป็นเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อหัวใจของคนไทย นายกรัฐมนตรีควรต้องรับผิดชอบ จะบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐมนตรี คงไม่ได้ ประเด็นสำคัญคือรัฐบาลมีหน้าที่เอาผู้ที่หนีคุกหนีตารางกลับมา หากไม่ทำเช่นนั้นก็ถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ ซ้ำสองยังจะไปออกหนังสือเดินทางให้อีก ก็เท่ากับส่งเสริมผู้ร้ายให้มีสถานะ ซึ่งเท่ากับเป็นการทำผิดซ้ำสอง อันที่สามคือรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการทำร้ายจิตใจประชาชนที่รักความยุติธรรมและเคารพในกระบวนการยุติธรรม”

ไทยพับลิก้า : กระบวนการยกเลิกหนังสือเดินทางหรือการคืนหนังสือเดินทาง โดยปกติ เป็นอำนาจหน้าที่ของใคร

อันนี้มันสืบเนื่องมาจากที่ทางสำนักงานอัยการ ได้บอกเราว่าต้องไปเอาตัวคุณทักษิณมา…คือมันเป็นสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าต้องทำ ! แต่ถ้าจะคืนให้นี่มันผิดนะ … ผมคิดว่ามันผิดด้วยศีลธรรมและกฎหมายเลย เขาคงสั่งไปที่กรมการกงสุล อยู่ที่อธิบดี อยู่ปลัดกระทรวงว่ารัฐมนตรี สั่งมาแล้วจะทำหรือไม่ทำ

ไทยพับลิก้า : การพิจารณายกเลิกหรือคืนหนังสือเดินทางให้นี่เป็นหน้าที่ของใคร

กระบวนการออกหนังสือเดินทางมันเป็นเรื่องของข้าราชการประจำ รัฐมนตรีไม่ได้เป็นคนไปเซ็นต์หนังสือเดินทางนี่ …เขาคงสั่งไปที่ข้าราชการประจำ… ผมไม่ทราบว่าวันนี้ได้มีการออกหนังสือเดินทางให้คุณทักษิณไปหรือยัง เพราะได้ข่าวมาว่า รมว.ต่างประเทศคนปัจจุบัน เพิ่งเดินทางไปที่ยูเออี มาเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ก็เป็นข่าวว่าจะไปเจรจาเรื่องน้ำมัน แต่จะมีหนังสือเดินทางไปให้คุณทักษิณ ด้วยหรือเปล่า อันนี้ผมไม่ทราบ แต่คุณต้องพูดความจริงสิครับ..

..วันนี้เราอย่าไปผิดประเด็นว่ามันเป็นเรื่องกระบวนการ หรือคุณทักษิณจะมีหนังสือเดินทางหรือไม่ เพราะประเด็นสำคัญ ก็คือผมก็ได้เพียรพยายามเท่าที่ผมจะทำได้ ที่จะเอาคุณทักษิณ กลับมาดำเนินคดี ก็ดำเนินการหมด แล้วก็ร่วมมือกับตำรวจและอัยการสูงสุด ตามหน้าที่ที่จะเอาคนผิดกฎหมายกลับมารับโทษ แล้วคุณทักษิณก็ไม่ได้หลบๆ ซ่อนๆ เหมือนกำนันเป๊าะ (สมชาย คุณปลื้ม) คุณวัฒนา อัศวะเหม ที่เราไม่รู้ว่าอยู่ไหน แต่คุณทักษิณ ผงาดอยู่ในสังคมโลก บินว่อนไปหมด มีวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ มีโน่นนี่มาตลอดเวลา สนับสนุนเสื้อแดง สนับสนุนพรรคเพื่อไทย คุณทักษิณก็ไม่ได้หลบซ่อน

ไทยพับลิก้า : คุณสุรพงษ์ ก็ยกตัวอย่างกำนันเป๊าะ คุณวัฒนา หรือบางคนที่คดีร้ายแรงกว่าแล้วก็หนีคดีไป ก็ไม่ได้มีการยกเลิกหนังสือเดินทาง

ต้องถามเลยว่า กำนันเป๊าะ อยู่ที่ไหนล่ะ …นั่นเป็นประเด็นที่หนึ่ง แล้วสองก็ กำนันเป๊าะกับคุณวัฒนา มีหนังสือเดินทางหรือเปล่า … การไปต่างประเทศของคุณทักษิณนี่มันโจ่งแจ้ง เขาขึ้นเครื่องบินออกไปใช่ไหม วันนี้ผมยังไม่รู้เลยว่กำนันเป๊าะกับคุณวัฒนาอยู่ที่ไหน มีใครมาบอกผม แล้วผมก็ไม่ทราบว่าญาติพี่น้องเขามาล่งเล้งหรือเปล่าว่าหนังสือเดินทางเขาหมดอายุแล้ว คุณสุรพงษ์จะมาอ้างลอยๆ ไม่ได้ คุณต้องเอาข้อเท็จจริงมาดู

ไทยพับลิก้า : ภาพในอดีตออกมาว่านายกษิต มาเป็น รมว.ต่างประเทศ เพื่อจัดการกับทักษิณ

มันไม่ใช่อะไรเลย … ผมกับคุณทักษิณ ก็เป็นศัตรูทางการเมืองกัน ต้องพูดกันอย่างนั้น เรายืนคนละฟากทางการเมือง ผมอยู่ในตำแหน่งนี้ ผมก็ต้องทำตามหน้าที่ หน้าที่ของผมหรือข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรือสำนักงานอัยการ ก็มีหน้าที่เอาคุณทักษิณ กลับมาสู่กระบวนการยุติธรรม มันก็เป็นหน้าที่ ผมก็ทำตามหน้าที่เท่านั้นเอง ผมไม่ได้ไปตามล้างตามเช็ดคุณทักษิณ …เรื่องขี้ปะติ๋วแบบนี้เสียเวลาผม ผมมีอย่างอื่นทำตั้งเยอะแยะ จะมาพูดอะไรกันบ้าๆบอๆ ว่าผมไปตามล้างตามเช็ดคุณทักษิณ คุณทักษิณ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นนักเรียนทุนหลวง คุณทักษิณ ต้องรู้หน้าที่สิ…ลูกผู้ชายนี่ !”

ไทยพับลิก้า : มองว่าทำไมถึงมีความพยายามเร่งช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ในช่วงนี้

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ก็ลองฟังที่คุณพี่ชาย..คุณพี่ชายก็บอกเองนี่ว่า ตัวเองเป็นคนสั่ง น้องเป็นคนทำ …โคลนนิ่งกันมาไม่ใช่หรือ

ที่ผ่านมาเขาก็เร่งตลอดเวลา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เอาคุณสมัคร (สมัคร สุนทรเวช) มา คุณสมัครก็ไป เอาคุณสมชาย (สมชาย วงศ์สวัสดิ์) มา คุณสมชายก็ไป ตอนนี้ก็น้องสาว ทั้งสามคนก็ทำอยู่เรื่องเดียวนี่ … พันธมิตรฯ ถึงได้ออกมาประท้วงไง

ไทยพับลิก้า : ในฐานะอดีต รมว.ต่างประเทศ คิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องการพาสปอร์ตไปเพื่ออะไร

ก็แค่อยากจะเอาชนะสิ่งที่เกิดขึ้น แต่คุณทำผิดเนี่ยจะลบล้างความผิดด้วยอำนาจทางการเมือง หรือด้วยเสียงข้างมาก หรือถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องเลือกตั้งสิครับ มันไม่ใช่ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยคุณได้รับเสียงข้างมากเพื่อมาบริหารประเทศเพื่อ 65 ล้านคน แล้วเขาก็ไม่ได้เลือกคุณเข้ามา เพื่อจะเอาคุณทักษิณกลับประเทศไทย โดยไม่กลับมาสู่กระบวนการยุติธรรม ถ้าเกิดคุณทักษิณยังไม่เลิก แล้วเพื่อไทยก็ไม่ได้ทำงานเพื่อประชาชน บ้านเมืองก็วายวอด พวกผมก็ค้าน พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เห็นด้วย ประชาชนอีกตั้งเยอะตั้งแยะก็ไม่เห็นด้วย เพราะมันไม่ถูกต้อง คุณจะมาทำความไม่ถูกต้องให้ถูกต้องไม่ได้ คุณทักษิณถูกพิพากษาให้จำคุก 2 ปี ก็ต้องกลับมาติดคุก ถ้าไม่อยากกลับมาติดคุก คุณทักษิณก็ต้องอยู่ดูไบ จนกว่าชีวิตจะหาไม่ … ผมคิดว่าถ้าหลังจากนี้คุณทักษิณ ยังไม่เลิกเรื่องนี้ สังคมไทยก็ปรองดองไม่ได้

ไทยพับลิก้า : กระทรวงการต่างประเทศ มีสิทธิ์ที่จะพิจารณาคืนหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ไหม

ไม่ได้ครับ (ตอบสวนทันที-เสียงสูง) เพราะว่าจุดเริ่มต้นก็คือคุณทักษิณเป็นคนหนีคุก หนีตารางจะไปคืนให้ได้อย่างไร ผมถึงได้พูดตั้งแต่แรกว่าสถานะของคุณทักษิณคืออะไร คุณทักษิณไม่ใช่แค่อดีตนายกรัฐมนตรีนะ คุณทักษิณเป็นคนหนีคุกหนีตาราง เพราะฉะนั้นคุณทักษิณก็ไม่มีสิทธิโดยปริยาย

การมีหนังสือเดินทางทางการทูต มันเป็นอภิสิทธิ์ หรือการจะมีหนังสือเดินทางธรรมดา ที่คนไทยต้องมี คุณทักษิณจะมีก็ได้ แต่คุณทักษิณ สวมหมวก 2 ใบคืออดีตนายกรัฐมนตรีกับคนหนีคุก หนีตารางแล้ว แล้วคุณสุรพงษ์เลือกอันไหนละครับ…สำหรับผมเลือกอย่างเดียวไม่ได้ ผมก็ต้องเลือก 2 อย่าง แล้วอันไหนมาก่อนละครับ ความเป็นอดีตหรือปัจจุบัน ที่เป็นผู้หนีคุก หนีตาราง คุณสุรพงษ์ต้องเอาความถูกต้องมาคิดสิครับ

ผมพูดตลอดว่าประเด็นสำคัญ มันอยู่ที่ว่าสถานะของคุณทักษิณ ในแง่ของกฎหมายไทยคืออะไร ถ้าเป็นผู้หนีคุกหนีตารางแล้วหน้าที่ของรัฐบาลคือต้องไปเอาทักษิณกลับมา ดังนั้นคุณยิ่งลักษณ์ คุณสุรพงษ์ กระทรวงการต่างประเทศและ รัฐบาล ต้องนิยามสถานะของคุณทักษิณให้ชัดเจนกว่านี้

ปากคำ “กษิต” พันธมิตรฯ ไม่ใช่ “พ่อ”

ในการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขับไล่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลพรรคพลังประชาชนปี 2551

นับเป็นการประกาศชื่อ “กษิต ภิรมย์” อดีตเอกอัคราชทูตไทยในหลายประเทศ ต่อการเมืองไทยเป็นครั้งแรก

โดยเฉพาะวลี “อาหารดี ดนตรีไพเราะ” ที่เขาพูดไว้ เมื่อครั้งเข้าร่วมชุมนุมบุก ยึด ปิด ล้อม “สนามบินสุวรรณภูมิ” ทำให้ เขาเป็นอีกตัวละคร ที่สังคมจดจำได้เป็นอย่างดี

และเป็นคำพูดที่แสดงให้เห็นว่า “กษิต” และ “พันธมิตรฯ นั้นแนบแน่นกันมากแค่ไหน

แต่ใครจะนึกว่า เมื่อ “กษิต” เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากจบเหตุการณ์ยึดสนามบินสุวรรณภูมิได้ไม่นาน

ชื่อของ “กษิต” จะกลายเป็น “ฝ่ายตรงข้าม” อันดับต้นๆ ของเพื่อนมิตร “เสื้อสีเหลือง”

“ผมตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมกับพันธมิตรฯ เพราะผมต่อต้านเรื่องการคอรัปชั่น และการใช้อำนาจมิชอบ ของคุณทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ซึ่งเป็นจุดร่วมเดียวกัน” กษิต เปิดฉากเล่าความหลังเมื่อครั้งยังชื่นมื่นกับมวลชน

เขายืนยันย้ำแล้วย้ำอีกว่า “เขา” กับ “พันธมิตรฯ” และ “ประชาธิปัตย์” กับ “ม็อบ” นั้น เป็นเพียงแค่แนวร่วมในการต่อสู้ กับ “พ.ต.ท.ทักษิณ” และไม่ใช่แนวร่วมทางด้านการเมือง

“พรรคประชาธิปัตย์ ต่อสู้กับ คุณทักษิณในสภาผู้แทนราษฎร พันธมิตรฯ ก็สู้กับคุณทักษิณ นอกสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นประเด็นเดียวกัน คือการทุจริตคอรัปชั่น เท่านั้น…

…ผมไปขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ก็เป็นแค่แนวร่วมที่มีอุดมการณ์ร่วมเท่านั้น ไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่เคยไปประชุมแกนนำกับเขาสักครั้งเลย แน่นอนว่าผมอาจจะสนิทสนมพอสมควรกับแกนนำ เพราะอยู่กันมา 6-7 เดือน แต่ตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ มันไม่ใช่เรื่องอัตโนมัติ ไม่ใช่เรื่องโควตา ข่าวที่ออกมาคิดเอง…เออเอง กันทั้งนั้น” กษิตยืนยัน

เขาบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์เลือกเขามาเป็น รมว.ต่างประเทศ ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นเพราะความรู้ ความเชี่ยวชาญเรื่องการต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่ รัฐบาลอภิสิทธิ์ มีภาระกิจสำคัญ คือการเป็นประธานอาเซียนรออยู่ข้างหน้า จึงจำเป็นต้องใช้คนมีความรู้ด้านเทคนิค อย่างเขา

“บุคลากรที่พรรคมีในขณะนั้น อย่าง มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็มาไม่ได้ เพราะตอนนั้นไปเป็นผู้ว่า กทม. แล้ว เมื่อพรรคบวก ลบ คูณ หารแล้ว ผมอาจจะมีภาษีดีกว่าคนอื่นนิดหน่อย … เรื่องต่างประเทศ ผมก็ค่อยข้างจะกว้างนะ ในเมืองไทยผมก็พอตัว ซึ่งมันน่าจะเป็นเรื่องฝีไม้ลายมือในการทำงานมากกว่าเรื่องโควตาพันธมิตรฯ บ้าบอ อะไรนั่นแน่นอน” เขาย้ำอีกครั้ง

เขาเล่าย้อนไปว่า ในช่วงที่พันธมิตรฯชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น แน่นอนว่า คนในพรรคประชาธิปัตย์เป็นใจไปด้วย เพราะวันนั้นพันธมิตรฯ ทำเรื่องที่ถูกต้อง แต่เมื่อพันธมิตรฯ มาบอกว่าจะให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไปรบกับเขมร ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ก็เป็นธรรมดาที่ไม่มีใครเอาด้วย

“มาให้รัฐบาลไปรบกับเขมร เรื่องอย่างนั้น แล้วก็มาหาว่าผมขายชาติ ผมก็บอกว่าเขาคลั่งชาติ ก็หาเรื่องด่าทอผมกันมาอย่างสม่ำเสมอ” กษิตเล่ายาว

นั่นเป็นฉากตอนที่ ทำให้ “พันธมิตรฯ” ประกาศ แตกหักกับ “กษิต” ในช่วงที่ไทยเริ่มมีปัญหาความสัมพันธ์กับกัมพูชา กรณีพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหาร

“ตอนที่ผมอยู่บนเวทีพันธมิตรฯ ผมทำอะไร เมื่อแกนนำพันธมิตรฯไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ ผมไม่เห็นด้วย เพราะผมเห็นว่าพันธมิตรฯ เป็นกระบวนการทางการเมืองภาคประชาชน ไม่ใช่พรรคการเมือง…

…พอเขาตั้งเป็นพรรคการเมือง นโยบายของเขาแทนที่จะทำตามชื่อพรรค คือเป็นพรรคการเมืองใหม่ จนกระทั่งวันนี้ผมยังไม่เคยเห็นการเมืองใหม่เลย ผมเห็นอยู่เรื่องเดียวว่า จะต้องรบกับเขมร ผมก็ต้องบอกอย่างนี้ว่า คุณๆทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่ พ่อผมเนี่ย … จะมาสั่งให้ผมไปรบกับเขมรเนี่ย ผมเป็น รมว.ต่างประเทศ เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับเขมร เพื่อช่วยกันจรรโลงและสร้างอาเซียน ผมไม่มีหน้าที่ไปรบกับเขมร แล้วผมก็ไม่เห็นด้วย ดังนั้นถ้าจะมาคาดหวังในสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยและไม่ถูกต้องเนี่ย เป็นความคาดหวังที่ไม่ถูกต้อง” กษิตย้ำเหตุผล ในจุดยืนของตัวเองอีกครั้ง

ซึ่งก็เป็นเหตุผล ที่แสลงใจ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” มาตลอด !