ThaiPublica > เกาะกระแส > “สนามบินดอนเมือง – กองทัพอากาศ” จมบาดาล ความขัดแย้งแต่ในอดีต – เซ่นด้วยเก้าอี้ “ผบ.ทอ.”

“สนามบินดอนเมือง – กองทัพอากาศ” จมบาดาล ความขัดแย้งแต่ในอดีต – เซ่นด้วยเก้าอี้ “ผบ.ทอ.”

9 พฤศจิกายน 2011


น้ำท่วมสนามบินดอนเมือง ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2011/10/25/images/news_img_415690_1.jpg
น้ำท่วมสนามบินดอนเมือง ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2011/10/25/images/news_img_415690_1.jpg

“สนามบินดอนเมือง – กองทัพอากาศ” จมใต้บาดาล ทำให้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ เกิดอะไรขึ้น ?

เหตุใดสนามบินดอนเมืองที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้เป็นที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุกภัย(ศปภ.) รวมถึงอีกฝั่งเป็นตั้งของกองบัญชาการกองทัพอากาศ (บก.ทอ.) โดยที่มีกองบิน 6 เป็นยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงรักษาอธิปไตยของประเทศไทย ไม่สามารถป้องกันต่อมวลน้ำที่ไหลทะลักเข้าสู่ทุ่งดอนเมืองได้ มีอันต้องเป็นไปจมอยู่ใต้บาดาล

สาเหตุที่สำคัญมาจากปริมาณมวลน้ำที่ไหลเข้ามายังพื้นที่ดอนเมืองอย่างมหาศาล ถึงแม้กองทัพจะส่งกำลังพล พร้อมยุทโธปกรณ์ ทหารช่าง ลงพื้นสร้างคันดิน หรือวางกระสอบทรายสกัดมวลน้ำที่ไหลผ่านนิคมนวนคร คูคลอง หรือประตูระบายน้ำ แต่ก็ไม่สามารถจะป้องกันได้ ทำได้แค่ชะลอน้ำที่จะเข้าโจมตี “เมืองหลวง” ประเทศไทยเท่านั้น

นอกจากนี้ ศปภ.ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำผิดพลาด เนื่องจากช่วงแรกของการตั้งคณะทำงาน ศปภ. ซึ่งหากดูตัวบุคคลในทีมงานไม่มีประสบการณ์การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ แม้มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะอดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่เคยผ่านสมรภูมิแก้ปัญหาภัยพิบัติ แต่ก็กลายเป็นผู้ปลอดประสบการณ์ตามฉายาในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค

นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันว่าทีมที่ปรึกษาและคุมการทำงานให้นายกรัฐมนตรี คือบุคคลที่มาจากบ้านเลขที่ 111 เป็นหลัก ซึ่งไม่มีประสบการณ์เช่นเดียวกัน งานนี้จึงเรียกได้ว่า การตั้งทีมงานและการประเมินสถานการณ์น้ำผิดพลาด! หรือ ออกแนวประมาท! ก็ว่าได้

อีกทั้งความร่วมมือการทำงานคนละขั้วของรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มาจากต่างพรรคการเมืองจึงมีการเล่นเกมการเมืองเกิดขึ้น โดยแต่ละคนต่างมีเป้าหมายทางการเมืองต่างกัน จนทำให้การแก้ไขปัญหาไม่เป็นเอกภาพ ก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าได้

แต่ที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นการทำงานและการให้ความร่วมมือป้องกันพื้นที่สนามบินดอนเมืองของ “ศปภ. – ทอ.” มีปัญหา เนื่องจากพื้นที่สนามบินทหารอยู่ฝั่งตะวันออก แต่ท่าอากาศยานดอนเมือง หรือที่ตั้ง ศปภ. อยู่ฝั่งตะวันตก โดยมีเทอร์มินอล คลังสินค้า แท๊กซี่เวย์ รันเวย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ดังนั้น มาตรการการดูแลรักษาแนวรั้วป้องกันน้ำระหว่าง ทอท.กับ ทอ.จึงไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“แผนรับมือปริมาณน้ำของ ทอ. ได้สร้างแนวคันกั้นน้ำและวางกระสอบ เพื่อรับมือเป็นอย่างดี แต่น้ำที่ทะลักจากเมืองเอกพุ่งเข้ามา ศปภ. ทางถนนวิภาวดี อยู่ในความรับผิดชอบของการท่าฯ ดังนั้นเมื่อแนวกระสอบของทางท่าอากาศยานดอนเมืองเริ่มพัง อีกทั้งเครื่องสูบน้ำการท่าฯมีปัญหาขัดข้อง ทำให้น้ำไหลผ่านเข้ามาด้านนี้และขยายพื้นที่จนเข้ามาในเขตสนามบินของทหาร ส่งผลให้กองบัญชาการกองทัพอากาศจม” แหล่งข่าวระดับสูง ทอ.ระบุ

พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th/content/images/1107/21/yy10.jpg
พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th/content/images/1107/21/yy10.jpg

เมื่อ ศปภ.ป้องกันไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีกู้สนามบินดอนเมืองให้ได้โดยเร็ว เพราะเรื่องนี้ถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทย บวกแรงกดดันปริศนาจี้รัฐบาล ทำให้ “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่ากรกระทรวงกลาโหม ออกใบสั่งให้ “บิ๊กเฟื่อง” พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เร่งกู้สนามบินดอนเมืองให้เสร็จก่อนวันศุกร์ที่ 4 พ.ย.2554 ที่ผ่านมา หากไม่สามารถทำให้เสร็จได้ตามวันดังกล่าวก็ต้องขอให้ทำคำชี้แจงมาด้วย ว่าจะทำเสร็จเมื่อไหร่

ทำให้มีเสียง พล.อ.อ.อิทธพร ต้องตัดพ้อดังๆ ว่า “พื้นที่เทอร์มินอล คลังสินค้า แท๊กซี่เวย์ รันเวย์ และการดูแลระบบน้ำในสนามบิน เป็นการดูแลของบริษัทท่าอากาศยาน ซึ่งคงต้องร่วมกันดูแลว่า จะสูบน้ำอย่างไร หน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบต้องมาช่วยกันเพราะพื้นที่ที่เสียหายไม่ใช่ความรับผิดชอบของทอ.เพียงอย่างเดียว”

“ศปภ. หรือรัฐบาลเขาก็พูดให้ดูดีต่อสาธารณะในการกู้สนามบินดอนเมืองให้ได้ภายในวันที่ 4 พ.ย.หรือเร็วที่สุด แต่ความเป็นจริงแล้วทำไม่ได้หรอก เพราะปริมาณน้ำทั้งในเขตรอบรั้วสนามบินเองหรือในพื้นที่ด้านนอกยังมีปริมาณน้ำที่มาก ถึงจะเร่งสูบน้ำออกไปจากสนามบิน น้ำก็ยังไม่ไปไหนอยู่ดี อาจทำให้ชุมชนที่อยู่รอบสนามบินเดือดร้อนด้วยซ้ำ” แหล่งข่าวระดับสูง ทอ.กล่าว

อย่างไรก็ตาม การทำงานกู้สนามบินดอนเมือง อาจไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะรัฐบาลส่ง 2 นายทหาร (ตท.10) “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ดูแลภาพรวม รวมถึง “บิ๊กเมธ” พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี ประธานกรรมการ ทอท. เจ้าของสถานที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นเพื่อนรัก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีอดีตที่ไม่กินเส้นกับ “ผบ.ทอ.” คนนี้ โดยเฉพาะ “พล.อ.อ.สุกำพล” ที่มีบาดแผลเจ็บลึก เพราะหากไม่มีปฏิวัติรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เก้าอี้ “ผบ.ทอ.” ตัวนี้คงมาอยู่ในกำมือ ไม่ตกไปอยู่กับ “พล.อ.อ.อิทธพร” อย่างแน่นอน

ดังนั้น โปรเจ๊คกู้สนามบินดอนเมือง จึงกลายเป็นศึกเกาเหลา “สายเลือดลูกทัพฟ้า” แท้ๆ อาจถึงขั้นคุยกันไม่รู้เรื่อง หรือดีไม่ดีอาจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สนามบินดอนเมืองจมบาดาลตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ ?

ว่ากันว่า งานนี้อาจไม่ใช่แค่การกู้ดอนเมืองเพียงอย่างเดียว อาจมีเกมการเมืองสอดไส้แถมมาด้วย เพราะมีเสียงจากบรรดา “บิ๊กทัพฟ้า” วิพากษ์วิจารณ์ และเริ่มเป็นห่วงอนาคต “พล.อ.อ.อิทธพร” เพราะเริ่มมีข่าวหนาหูว่า “ศปภ.-รัฐบาล” มีคิวสาวไส้ถามหาผู้รับผิดชอบที่ทำ “สนามบินดอนเมือง” ต้องจมสู่บาดาล

ดังนั้น หากผืนแผ่นดินทุ่งดอนเมืองปราศจากน้ำท่วมขังเมื่อไร อาจมีภัยมาเยือน “แม่ทัพฟ้า” คนนี้ ด้วยข้อหาบกพร่องต่อหน้าที่!!!…