ThaiPublica > เกาะกระแส > “วารีพิโรธ” ตอกย้ำปี 2011 ที่สุดแห่งหายนภัยราคาแพง

“วารีพิโรธ” ตอกย้ำปี 2011 ที่สุดแห่งหายนภัยราคาแพง

22 ตุลาคม 2011


ที่มา : GEO Risks Research, NatCatSERVICE  Munich RE
ที่มา : GEO Risks Research, NatCatSERVICE Munich RE

ตลอดช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียเผชิญกับฤดูมรสุมและพายุลูกแล้วลูกเล่าที่ผลัดกันสำแดงอิทธิฤทธิ์อยู่เป็นระยะๆ ทั้งพายุความรุนแรงสูงอย่างไต้ฝุ่นและพายุระดับรองๆ ลงมา

ผลจากพายุพัดถล่มในฤดูมรสุมทำให้มีฝนตกจำนวนมากและเกิดภาวะน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังประสบกับ “วารีพิโรธ” ในขณะนี้อย่างไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรวมกันกว่า 500 คน เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านทั้งจีน ญี่ปุ่น และเอเชียใต้ ที่ต่างเผชิญกับหายนภัยจากธรรมชาติในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

ในส่วนของไทย สถานการณ์ล่าสุดยังต้องเฝ้าระวังมวลน้ำก้อนใหญ่ที่จะเคลื่อนสู่กรุงเทพฯ ขณะที่หลายจังหวัดโดยรอบไม่อาจต้านทานปริมาณน้ำมหาศาล ซึ่งมาจากอิทธิพลของพายุหลายลูกที่พัดผ่านและทำให้เกิดฝนตกอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไล่เรียงมาตั้งแต่พายุ “นกเต็น” ในช่วงรอยต่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ตามมาด้วย “ไห่ถาง” และ “เนสาต” ที่มาติดๆ กันเมื่อปลายเดือนกันยายน ต่อด้วย “นาลแก” ที่สำแดงเดชในช่วงต้นเดือนตุลาคม

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินในเบื้องต้นว่า ต้นทุนจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่นี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยประมาณ 1.5 แสนล้านบาท (ราว 4.9 พันล้านดอลลาร์) หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.3-1.5 % ของจีดีพี นี่เป็นการประเมินความเสียหายหลังนิคมอุตสาหกรรมโรจนะถูกน้ำท่วมหมด ยังไม่นับรวมความเสียหายที่เกิดกับนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จมน้ำไปแล้วเช่นกัน รวมถึงกรณีที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ก็จะยิ่งสร้างความเสียหายมากขึ้นอีก

ขณะที่นายกรัฐมนตรีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยอมรับว่างบประมาณที่จะต้องใช้ในฟื้นฟูประเทศน่าจะมากกว่า 1 แสนล้านบาท (3.3 พันล้านดอลลาร์) ไม่นับรวมรายจ่ายในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ

ไทยกำลังเผชิญกับ "วารีพิโรธ" ครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี
ไทยกำลังเผชิญกับ "วารีพิโรธ" ครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปี (ที่มาภาพ: http://news.sanook.com/gallery/show/1064899/244441)
วารีพิโรธที่เกิดขึ้นเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงฤดูมรสุม ดังรายงานฉบับล่าสุดของ “เอออน เบนฟิลด์” (Aon Benfield) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 รวบรวมข้อมูลภัยธรรมชาติทั่วโลกในช่วงเดือนกันยายน 2554 พบว่า ฝนที่ตกในฤดูมรสุมจนทำให้เกิดอุทกภัยและแผ่นดินถล่มในหลายพื้นที่ของเอเชีย ทั้งจีน ไทย อินเดีย ปากีสถาน กัมพูชา มีมูลค่าความเสียหายรวมกันหลายพันล้านดอลลาร์ ไม่นับรวมความสูญเสียในแง่ชีวิตผู้คน

อย่างกรณีอุทกภัยครั้งใหญ่ในไทยระหว่างปลายเดือนกรกฎาคม-กันยายน มีตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 3.24 หมื่นล้านบาท (1.1 พันล้านดอลลาร์) อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการประเมินก่อนหน้าที่มวลน้ำมหาศาลจะเข้าถล่มนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในช่วงต้นเดือนตุลาคม

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในกัมพูชาและเวียดนามก็เผชิญภัยธรรมชาติเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีรายงานความเสียหายที่ประเมินเป็นเม็ดเงินชัดเจน มีข้อมูลความเสียหายในแง่พื้นที่เพาะปลูกข้าว ซึ่งในส่วนของกัมพูชาเสียหายอย่างน้อย 271,000 เฮกตาร์ และเวียดนามมีนาข้าวจมใต้น้ำ 72,120 เฮกตาร์

กรณีน้ำท่วมในจีนที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายนหลังฝนตกหนักต่อเนื่องนานหลายสัปดาห์ ส่งผลตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 4.25 พันล้านดอลลาร์

ข้ามไปดูเหตุน้ำท่วมที่เอเชียใต้ กรณีปากีสถานที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม-กันยายน มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 356 ล้านดอลลาร์ สำหรับน้ำท่วม 2 รอบที่อินเดียในเดือนกันยายนมีมูลค่าความเสียหายรวมกัน 1 พันล้านดอลลาร์

น่าสังเกตว่า เดือนกันยายนเป็นเดือนที่พายุหมุนเขตร้อนแสดงฤทธิ์เดชมาก อย่างเช่นไต้ฝุ่นเนสาตที่พัดถล่มฟิลิปปินส์ จีน และเวียดนาม สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจรวมกัน 1.39 พันล้านดอลลาร์ โดยฟิลิปปินส์เสียหาย 200 ล้านดอลลาร์ จีนสูญเสียทางเศรษฐกิจ 1.19 พันล้านดอลลาร์ และเวียดนามได้รับผลกระทบ 2.4 ล้านดอลลาร์

พายุ “โรคี” และ “ตาลัส” ที่โจมตีญี่ปุ่นในเดือนเดียวกันนี้ มีมูลค่าความสูญเสียอยู่ที่ 250 ล้านดอลลาร์ และ 300 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ

ในเดือนเดียวกันนี้ อีกซีกโลกหนึ่งก็เผชิญกับพายุโซนร้อน “ลี” ที่พัดถล่มแถบชายฝั่งหลุยส์เซียนาของสหรัฐก่อนฟาดงวงฟาดงาไปตามแถบตะวันออกเฉียงเหนือ ยังผลให้มีฝนตกและน้ำท่วมที่สร้างความสูญเสียกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ไม่นับรวมไฟป่าในเท็กซัสที่เผาผลาญเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านดอลลาร์

ส่วนที่ยุโรป พายุเฮอร์ริเคน “คาเทีย” พัดถล่มอังกฤษในเดือนกันยายน สร้างความเสียหายราว 158 ล้านดอลลาร์

ขณะที่หายนภัยธรรมชาติในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมปีนี้ เหตุการณ์ที่เป็นไฮไลต์หนีไม่พ้นธรณีวิปโยคและสึนามิที่ถล่มแดนซามูไรเมื่อเดือนมีนาคม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตร่วม 16,000 คน และสร้างความเสียหายมหาศาล 1.98-3.09 แสนล้านดอลลาร์ อีกเหตุการณ์ยักษ์ คือ เหตุแผ่นดินไหวที่นิวซีแลนด์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่เขย่าเศรษฐกิจแดนกีวี 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์

ท็อป 5 ภัยพิบัติครั้งใหญ่ในปี 2011
ท็อป 5 ภัยพิบัติครั้งใหญ่ในปี 2011

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นชุกในช่วงโค้งสุดท้ายของปียังตอกย้ำว่า ปี 2011 เป็นปีแห่งหายนภัยที่มีราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังทำลายสถิติเดิมหลายรายการ

ข้อมูลจาก “มิวนิก รี” บริษัทนายหน้าประกันภัยต่อ (Reinsurance) ที่รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้พบว่า ภัยพิบัติจากธรรมชาติระดับรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนส่งผลให้ปี 2554 กลายเป็นปีแห่งความสูญเสียที่มีราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์

มิวนิก รี ประเมินว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากภัยธรรมชาติในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าถึง 2.65 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่าความสูญเสียจากหายนภัยตลอดทั้ง 12 เดือนในปี 2548 ที่เคยครองสถิติปีแห่งภัยพิบัติที่มีมูลค่าความสูญเสีย 2.20 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลพวงจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาที่ทำลายล้างเศรษฐกิจพญาอินทรีไปราว 1.25 แสนล้านดอลลาร์

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ปี 2554 เป็นปีที่แห่งหายนะจากธรรมชาติ เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมได้สั่นสะเทือนเศรษฐกิจของมหาอำนาจแห่งเอเชียรายนี้อย่างรุนแรงถึง 2.1 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งยังทำสถิติในแง่ความสูญเสียชีวิตผู้คนด้วย

อีกหนึ่งภัยธรรมชาติในปีนี้ที่มีราคาแพงรองลงมา คือ แผ่นดินไหวที่นิวซีแลนด์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์ พายุในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ (7.5 พันล้านดอลลาร์) และเหตุการณ์น้ำท่วมในออสเตรเลีย (7.3 พันล้านดอลลาร์)

นอกจากนี้ ตัวเลขความเสียหายในครึ่งแรกของปีนี้ยังมากกว่ามูลค่าความสูญเสียเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยปกติความสูญเสียจากภัยธรรมชาติในช่วงครึ่งปีแรกจะน้อยกว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นฤดูเฮอร์ริเคนในแอตแลนติกเหนือและไต้ฝุ่นในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ ภัยธรรมชาติทั่วโลกที่สร้างความเสียหายในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวน 355 ครั้ง

“บ๊อบ ฮาร์ตวิก” หัวหน้าสถาบันข้อมูลประกัน ให้ความเห็นว่า ปี 2554 เป็นอีกปีที่ทำสถิติใหม่ เรากำลังเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ด้านการเงินและเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภัยธรรมชาติ

หายนภัยธรรมชาติที่มีมูลค่าความเสียหายมากสุดเมื่อวัดในแง่ประกันภัย
หายนภัยธรรมชาติที่มีมูลค่าความเสียหายมากสุดเมื่อวัดในแง่ประกันภัย