ThaiPublica > คนในข่าว > ยึด “ตำรวจ” รอวันปฏิวัติ? “วสิษฐ” เปิดโปงหลังม่านละคร “งูกินหาง”

ยึด “ตำรวจ” รอวันปฏิวัติ? “วสิษฐ” เปิดโปงหลังม่านละคร “งูกินหาง”

30 กันยายน 2011


พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร” อดีตรมช. มหาดไทย รองอธิบดีกรมตำรวจ หัวหน้านายตำรวจราชประจำราชสำนัก
พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร” อดีตรมช. มหาดไทย รองอธิบดีกรมตำรวจ หัวหน้านายตำรวจประจำราชสำนัก

“…รังแกข้าราชการประจำมันคือรังแกทั้งระบบ อย่าคิดว่าเปลี่ยนแค่หัวคนเดียว สักพักเดี๋ยวหางโผล่ พอถึงตอนหางคอยดูแล้วกันว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมว่ากินแถวกันทั้งหมด…”

โหมโรงตั้งแต่ต้นรัฐบาล “โคลนนิ่ง” ว่าจะมีการแต่งตั้ง “ญาตินายกฯ” นาม “พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์” รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ขึ้นเป็น “ประมุขสีกากี” คนใหม่

ส่ง “ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี ออกแขก-รำเบิกโรง-ร่ายสารพัดเหตุผลความจำเป็นในการโยก “พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี” ผบ.ตร. ออกจาก “กรมปทุมวัน” แล้วจับมาเสียบใส่ตำแหน่ง “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ” (สมช.)

จนเป็นเหตุให้ “ลูกหม้อสมช.” นาม “ถวิล เปลี่ยนศรี” กลายเป็น “ซี 11 รายแรก” ที่สังเวยอนาคตราชการให้กับการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจ

ในขณะที่การไล่-รื้อ-ล้างบาง “บิ๊กข้าราชการ” ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง คนดู-คนชมส่วนใหญ่ปักใจเชื่อว่า “ละครชีวิต” เรื่องนี้ถูกกำกับโดย “คนนอกประเทศ” ด้วยเป้าประสงค์บางประการ?

“พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร” อดีตรมช. มหาดไทย-รองอธิบดีกรมตำรวจ-หัวหน้านายตำรวจประจำราชสำนัก ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล 2 ชุดให้ทำหน้าที่ “ประธานกรรมการปฏิรูปตำรวจ” ใช้สายตาของ “ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์” จ้องมองไปที่โรงละครฉากใหญ่อย่างไร้ความหวัง และรู้สึกกังวลกับการบิดเบือน “หัวขบวน” ของกระบวนยุติธรรม

เขาเห็นภาพฝุ่นตลบ จากข้าราชการที่สมัครใจโตด้วย “ฝีตีน” มากกว่าอาศัย “ฝีมือ”

เห็นตำรวจยอมเป็น “ข้ารับใช้นักการเมือง” แทนที่จะรับบท “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”

จึงอดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่าว่า “หรือตำรวจดี จะมีแต่ในนิยาย?”

ไทยพับลิก้า : มองปรากฏการณ์ล้างบาง จัดทัพข้าราชการใหม่อย่างไร

ผมเห็นว่าเป็นปกติ แต่เป็นเรื่องน่าเสียใจที่มันกลายเป็นปกติ เพราะเหตุว่าข้าราชการประจำเป็นตัวยืน รัฐบาลจะเปลี่ยนกี่ชุดๆ ก็ตาม ข้าราชการประจำยังอยู่ จึงเป็นตัวประกันความต่อเนื่องของการบริหาร ดังนั้นเราจะเห็นว่าในบ้านเมืองที่… สมัยหนึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสเปลี่ยนรัฐบาลเร็วจนเป็นเรื่องน่าขบขัน แต่เขาเปลี่ยนแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะเหตุว่าข้าราชการยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน รัฐบาลฝรั่งเศสสมัยโน้น หรือแม้แต่สมัยนี้ เขาไม่ลงไปแตะข้าราชการประจำเลย การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นเรื่องข้างบน ใครจะมาใครจะไปก็เป็นเรื่องของคนๆ นั้น แต่ยุคปัจจุบัน สมัยของเรา นโยบายที่แถลงอย่างหนึ่ง เวลาปฏิบัติๆ อีกอย่างหนึ่ง บางทีไม่ย้อนกลับไปดูเลยว่าตัวแถลงอะไรไว้ แต่ที่น่าเสียใจ เป็นสัญญาณอันตรายของเราคือนโยบายก็แถลงกันไป พอมานั่งเป็นรัฐบาลคุมแต่ละกระทรวงแล้ว รัฐมนตรีแต่ละคนล้วงลึกไปถึงข้างล่าง ไปยุ่งกับตำแหน่งแห่งที่ ผมไม่ได้ยกเว้นรัฐบาลชุดไหน แม้กระทั่งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ผ่านมา ผมก็เห็นว่าทำแบบเดียวกัน ทีนี้จะให้ทำอย่างไร ปชป. ขึ้นมา ก็ต้องวกกลับไปดูรัฐบาลก่อนปชป. เป็นใคร มันกลายเป็นเหมือนกับเล่นชักเย่อกัน เดี๋ยวฝ่ายนั้นได้เปรียบ เดี๋ยวฝ่ายนี้ได้เปรียบ ถ้าหากปล่อยให้เรื่องนี้เป็นประเพณี เราจะมีข้าราชการประจำที่อ่อนแอมาก และคนที่ได้รับผลร้ายอันนี้ก็คือประชาชน ทุกวันนี้ข้าราชการประจำโดนหมด ไม่ว่าพลเรือน หรือตำรวจ

ไทยพับลิก้า : รัฐบาลอ้างได้หรือไม่ว่าเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในฤดูแต่งตั้งโยกย้ายพอดี เลยกลายเป็นภารกิจแรกที่ต้องทำ

ไม่หรอกครับ มาตอนไหนก็ทำอย่างนี้ทั้งนั้นแหละครับ (หัวเราะเล็กๆ) มิหนำซ้ำถ้ามากลางฤดูก็ย้ายกลางฤดู เพราะคำว่าฤดูแต่งตั้ง ความจริงมันพูดเพื่อสะดวกมากกว่า ที่จริงจะย้ายข้าราชการประจำย้ายเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องรอฤดู

ไทยพับลิก้า : หากโฟกัสไปที่ตำแหน่งผบ.ตร. ก่อนพล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จะถูกโยกมาเป็นเลขาธิการสมช. มีการปูเรื่องบ่อนพนันและยาเสพติดกลางกรุง คิดว่าเป็นเหตุผลที่เหมาะสม และมีน้ำหนักเพียงพอต่อการสั่งย้ายหรือไม่

ความจริงจะยกอะไรขึ้นมาก็ได้ทั้งนั้น เพราะปัญหาตำรวจเนี่ย มันเรื้อรัง คาราคาซังกันอยู่อย่างนี้มานานแล้ว เรื่องบ่อนนี่ยกมาเมื่อไรก็ได้เมื่อนั้น เรื่องที่ยังไม่ได้ยกขึ้นมา แต่เวลานี้ยังมีอยู่คือเรื่องซ่องที่ถูกกฎหมาย

ไทยพับลิก้า : ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง การเปลี่ยนตัวผบ.ตร. ถือเป็นก้าวแรกในการปฏิรูปสตช. ได้หรือเปล่า

ไม่หรอกครับ ผมไม่เชื่อ เปลี่ยนแค่หัวโดยไม่ดูโครงสร้างทั้งโครง มันปฏิรูปไม่ได้อย่างเด็ดขาด… คุณวิเชียรเป็นคนดีนะ ผมรู้จักเขามานาน สมัยเขาเป็นนายตำรวจประจำราชสำนัก ผมยังอยู่ จะว่าไปแล้วก็คือเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ตั้งแต่นั้นมาคุณวิเชียรก็ไม่ได้ออกมาจากวังเลย จนกระทั่งได้เป็นรองผบ.ตร. ถ้าจะพูดถึงคนที่มีประวัติไม่ด่างพร้อย คุณวิเชียรก็เป็นคนหนึ่ง คือ… ดูแล้วมันน่าอ่อนใจนะ เพราะคนที่จะเป็นหลักเรื่องความเป็นธรรมในบ้านเมือง มันมองไม่ค่อยเห็น ดูแล้วมันค่อนข้างวังเวง และถ้าคนขนาดคุณวิเชียรโดนได้เนี่ย แล้วทำไมคนรองๆ ลงมา จะโดนไม่ได้ มันก็ไหวตัวกันหมด ผมถึงบอกไงว่ารังแกข้าราชการประจำมันคือรังแกทั้งระบบ อย่าคิดว่าเปลี่ยนแค่หัวคนเดียว สักพักเดี๋ยวหางโผล่ พอถึงตอนหางคอยดูแล้วกันว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมว่ากินแถวกันทั้งหมด

ไทยพับลิก้า : อาจารย์เคยพูดไว้ว่าเหตุที่การปฏิรูปสตช. ไม่สำเร็จ เป็นเพราะคน 2 กลุ่มคือ 1. นักการเมืองที่ต้องการใช้ตำรวจขยายฐานอำนาจให้ตัวเอง และ 2. ตัวตำรวจเอง วันนี้เมื่อคน 2 กลุ่มกลืนเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

ผมไม่เห็นมันต่างกันเลย มันก็นักการเมืองกับตำรวจอยู่นั่นแหละ คนที่มีอำนาจจริงๆ ที่จะดลบันดาลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้คือนักการเมือง เพราะถ้ารัฐบาลปลงไม่ตกว่าจะทำตำรวจให้เป็นอะไร หรือรัฐบาลปลงตกว่าเอาตำรวจไว้เป็นเครื่องมือ มันก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะกฎหมายตำรวจฉบับนี้ที่เขียนมาตั้งแต่ปี 2547 เขียนเพื่อรวบอำนาจตำรวจไว้กับส่วนบน นายกฯ เป็นนายของตำรวจ ในประวัติศาสตร์ที่เคยปรากฏมา มีเพียงสมัยเดียวที่มีเหตุทำนองนี้เกิดขึ้น คือสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจได้ แล้วเป็นอธิบดีกรมตำรวจเสียเอง แต่เป็นแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ จึงตั้งพล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิรวงศ์ เป็นผู้ทำการแทน นายกฯ เป็นอธิบดี อย่างเดียวกันเลย

กฎหมายปี 2547 ทำแบบเดียวกัน มีอะไรที่ทำให้รู้สึกคล้ายๆ กับว่าจะมีการกระจายอำนาจ มีการวางแนวทางให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธร (ผบช.ภ.) ต่างๆ มีอำนาจ แต่ถ้าไปดูจริงๆ แล้วจะเห็นว่ามันยังไม่มี อาจกระจายอำนาจในทางบริหาร แต่ไม่ได้กระจายอำนาจงบประมาณลงไปด้วย ยังกระจุกอยู่ส่วนกลาง ดังนั้นจะเห็นว่าผบ.ตร. บางสมัยสามารถยักย้ายถ่ายเทเปลี่ยนแปลงงบประมาณได้ ยังไม่มีอำนาจแท้ ถ้ากระจายจริงๆ ต้องให้เขาไปหมด ทั้งคน ทั้งเงิน ต่อไปผบ.ตร. ควรจะเหมือนกับปลัดกระทรวง ส่วนผบช.ภ. ต่างๆ เทียบได้กับผู้ว่าฯ แต่เรายังไม่ทำอย่างนั้น เพราะนักการเมืองยังเห็นตำรวจเป็นขนมหวานอยู่ และถ้าสมมุติผบ.ตร. มีอำนาจทั้งประเทศเหมือนอย่างที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ นักการเมืองเพียงแต่ไปจับผบ.ตร. ไว้คนเดียว มันก็ได้แล้วทั้งประเทศ

ไทยพับลิก้า : เป็นเพราะตัวผบ.ตร. ยินดีเป็นตัวประกันของนักการเมืองด้วยหรือเปล่า

(ตอบสวนทันที) ก็มันโก้ดีไม่ใช่หรือครับ ถ้าเผื่อมีอำนาจมากๆ แบบนี้

ไทยพับลิก้า : ก่อนพล.ต.อ. วิเชียรจะถูกย้าย ได้เดินทางเข้าพบพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จนถูกมองว่าเป็นการต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ อาจารย์คิดว่ามี “อำนาจที่ 4” คอยขับเคลื่อนและคัดขัดง้างกับฝ่ายการเมืองหรือไม่

มันมีไม่ได้นี่ครับ ถ้ามีก็นอกรัฐธรรมนูญ ผมไม่อยากจะพูดว่ามีอำนาจที่ 4 ถ้ามีก็เป็นอำนาจที่ผิดกฎหมาย

ไทยพับลิก้า : เป็นไปได้หรือไม่ที่อำนาจที่ 4 ไม่มีในทางนิตินัย แต่ดำรงอยู่ในทางพฤตินัย

คือเราอย่าไปเทียบกับ 3 อำนาจในรัฐธรรมนูญเลย เวลานี้เราต้องพูดว่าเป็นเรื่องการเมือง และการเมืองไม่ได้แยแสว่าอำนาจบริหารจะกระเทือนอย่างไร มิหนำซ้ำยังท้าทายอำนาจตุลาการด้วย เพราะถ้าผมจำไม่ผิดเนี่ย ตัวคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกฯ) เคยพูดแสดงความลบหลู่ระบบยุติธรรมของไทย คือศาล

ไทยพับลิก้า : มาถึงยุคนี้คนบางส่วนเชื่อว่าคนแต่งตั้งผบ.ตร. คือพ.ต.ท. ทักษิณ ซึ่งหลบหนีคดีอยู่ คิดว่าจะส่งผลอย่างไรต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย

(หัวเราะในลำคอ) ถ้าหากคุณทักษิณเข้ามามีอิทธิพลเหนือการแต่งตั้งจริงๆ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับคุณทักษิณ มันจะไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น เพราะเหตุว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่คงลังเลใจ สมมุติทำอะไรตรงไปตรงมาเกินไป แล้วไปกระทบกระเทือนเขาเข้า ตัวเองก็จะเดือดร้อน นี่เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์เรา ไม่มีใครอยากให้ตัวเองเดือดร้อนหรอก คนที่กล้าหาญชาญชัยจริงๆ ที่ทำตามตัวหนังสือในกฎหมาย มันมีฮะในนิยายของผม แต่ในชีวิตจริง ยังหาไม่ได้ ดังนั้นนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าหากนักการเมืองเข้าไปมีอิทธิพลเหนือตำรวจ บวกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผมว่าคดีของคุณทักษิณจะไม่คืบหน้าไปเท่าที่ควร และยิ่งทำท่าเหมือนจะมีการนิรโทษกรรมขึ้นมา เจ้าหน้าที่ก็คงชะลอๆ ไว้ เผื่อเขานิรโทษจะได้ไม่ต้องเหนื่อย

ไทยพับลิก้า : ไม่ต้องทำคดีไปแล้วเสียเปล่า

ครับ

ไทยพับลิก้า : ภาพมันชัดเจนขึ้นหรือไม่ เมื่อน้องสาวได้เป็นนายกฯ และพี่เขยเป็นผบ.ตร.

(ยิ้มมุมปาก) ความจริงไม่ต้องพูดก็ได้

พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร
พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร

ไทยพับลิก้า : คนในรัฐบาลระบุว่าต้องตั้งพล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผบ.ตร. ที่อาวุโสสูงสุดขึ้นเป็นผบ.ตร. เพื่อคืนความชอบธรรมหลังถูกดองมานาน เป็นเหตุผลที่พอฟังขึ้นหรือไม่

ย้อนกลับไปถามใหม่ได้ไหมครับว่าก่อนหน้าที่คุณเพรียวพันธ์จะขึ้นมาอาวุโสเนี่ย คุณข้ามใครขึ้นมา ข้ามขึ้นมากี่คน กี่หน ก่อนจะขึ้นมาเป็นรองผบ.ตร. กลับไปดูประวัติเขาละกัน ดังนั้นไอ้ความวิปริตนี้ ไม่ได้เพิ่งเริ่มตอนเกิดปัญหาเมื่อ 1-2 วันก่อน แต่ต้องดูที่แล้วมาว่าการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจได้ทำด้วยความชอบธรรมหรือเปล่า ตั้งแต่ต้นเลย คนที่วิ่งเต้นเข้าออก หาเจ้านาย หาผลประโยชน์ไปให้กันเนี่ย ได้ดีเป็นแถวเลย ผมถึงบอกว่าในที่สุดคนเลว (เน้นเสียง) ได้เข้ามานั่งเก้าอี้โต แต่ที่พูดนี่ ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นคนเลวนะครับ แต่ว่ารวมๆ ให้ฟังว่าคนไม่มีฝีมือ มีแต่ฝีเท้าเนี่ย วิ่งเข้าหา ติดตามบ้านเจ้านาย งานไม่ค่อยทำ กรมไม่ค่อยเข้า แต่วิ่งตามผู้บังคับบัญชา ได้ดีมากี่คนแล้ว และขณะนี้ดำรงตำแหน่งใหญ่ๆ กัน

ไทยพับลิก้า : ถ้าจะตัดวงจรอุบาทว์นี้จะต้องตัดจากตรงไหน เพราะถ้าสืบย้อนไปก็เป็นเด็กใครเด็กมันทั้งนั้น

ปฏิรูปกันมากี่หนแล้ว คุณสุรยุทธ์ (จุลานนท์ อดีตนายกฯ) มาตั้งผมให้ปฏิรูปตำรวจ คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ) มาตั้งผมให้ปฏิรูป ผมจะบอกให้ว่าช้าไปแล้ว ปฏิรูปตำรวจเนี่ย ตำรวจมันต้องปฏิวัติแล้ว

ไทยพับลิก้า : ปฏิวัติโดยใคร

ผมไม่ทราบ (หัวเราะในลำคอหึๆ) มัน… ภาพมันแย่ครับ ทุกวันนี้อาชญากรมันกำลังครองเมืองหรือเปล่า

ไทยพับลิก้า : มีความหวังกับการปฏิรูปตำรวจภายใต้การนำของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” แค่ไหน

ผมแก่แล้ว ผมไม่หวัง เพราะว่าผมอาจจะอยู่อีกไม่กี่ปีแล้ว ไม่รู้จะหวังทำไม ถ้าหวังแล้วสมหวังก็ดี ถ้าผิดหวังล่ะ ผมก็นั่งดูไปอย่างนี้ แต่ไม่ใช่จะนั่งงอมืองอตีนนะครับ ถ้าอะไรช่วยได้ พอมีประโยชน์กับบ้านกับเมืองก็จะทำ

ไทยพับลิก้า : รัฐบาลชุดนี้ก็มีตำรวจช่วยงานเยอะ อาทิ พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รมว. ยุติธรรม ฯลฯ น่าจะเข้าปัญหาของตำรวจหรือไม่

(หัวเราะในลำคอยาวนาน) เอาไปช่วยทำอะไรไม่ทราบ เวลานี้รัฐบาลไม่ได้ทำนี่ครับ คุณทักษิณช่วยทำให้รัฐบาล ช่วยตั้งคนนั้นคนนี้ที่คุณทักษิณเห็นว่าใช้ได้ ก็ช่วยตั้งเข้าไป ก็ขาเก่าทั้งนั้นที่โผล่ขึ้นมาเวลานี้ แม้กระทั่งพล.ต.ต. สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็กลับไปเป็นประธานบอร์ดกองสลากฯ โดยปกติผมควรจะพูดว่าผมหวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจเรื่องทำนองนี้ แล้วแก้ไข แต่ถ้ารัฐบาลเป็นรัฐบาลอย่างนี้ ใครอยู่เบื้องหลังรัฐบาล ผมนึกไม่ออกว่าเขาจะอยากทำไปทำไม นอกจากทำอย่างที่เขาเคยทำมาแล้ว คือยึดเอาไว้ให้อยู่ในกำมือ

ไทยพับลิก้า : อะไรทำให้นายตำรวจจำนวนหนึ่งยินดีอยู่ในกำมือของเขา และสมัครใจเป็น “มะเขือเทศ”

โอ้ว… ต้องไปถามเขา มาถามผมไม่ได้หรอก ในทัศนะของผม ตำรวจคือผู้รับใช้ประชาชน ไม่ใช่รับใช้บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ แต่ถ้าเขาสมัครใจจะไปรับใช้บุคคลเข้า ก็เป็นเรื่องของเขา แต่มันน่าเสียดาย ถ้าไปรับใช้ผลประโยชน์ส่วนบุคคลเข้า ไอ้ความเป็นตำรวจมันจะไม่มีความหมายอะไรเลย หน้าที่หลักของตำรวจคือการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่ถ้ายอมเป็นข้าของใครเป็นการเฉพาะ สมมุติว่าประโยชน์ของคนนั้นกระทบต่อประโยชน์ของประชาชน ตัวเองเป็นคนรับใช้เขาเสียแล้ว จะไปป้องกันประชาชนได้อย่างไร ตำรวจต้องไม่ยอมเป็นเครื่องมือของใคร แต่เมื่อยอมเสียแล้ว มันก็จบ

ไทยพับลิก้า : ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในการเร่งกระบวนการถวายฎีกาเพื่อขออภัยโทษให้พ.ต.ท. ทักษิณ และล้มคดีที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประเมินว่าปลายทางของเรื่องนี้จะจบอย่างไร

ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะไปถึงไหน แต่เวลานี้เขาลากเอา 2 เรื่องไปรวมเป็นเรื่องเดียวกัน ทีแรกเห็นว่าไม่ได้เป็นเรื่องล้างไพ่หรืออะไร ก่อนจะได้เป็นรัฐบาล คนในรัฐบาลพูดเองว่าจะเอาคุณทักษิณกลับมาให้ได้ ทีนี้คุณทักษิณจะกลับมาได้อย่างไร คนที่บอกจะเอามาให้ได้ ก็รู้ดีว่าอุปสรรคคืออะไร อุปสรรคคือโทษทางอาญาที่ศาลพิพากษาแล้วไม่ยอมรับโทษ อุปสรรคคือข้อหาอื่นๆ ที่ยังไม่ได้พิจารณา ซึ่งไม่ใช่ข้อหาเบาๆ นะ แต่ทั้งหมดนี้เป็นการขึ้นต้นกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการตุลาการขึ้นต้นแล้ว ถ้ามันจะจบก็ต้องมีการพิจารณาคดี ตอนแรกบอกจะอภัยโทษ แต่ต่อมามันไม่ได้ เพราะจะอภัยได้ต้องรับโทษเสียก่อน ก็เลยเปลี่ยนเป็นนิรโทษ ถ้าเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย เสนอเข้าสภา พิจารณาแล้วชนะโดยเสียงข้างมาก แน่นอนก็ต้องจบที่การนิรโทษ ถ้ากุมสภาได้

แต่ขณะเดียวกัน สมมุติมีการออกกฎหมายนี้ขึ้นมา มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้คุณทักษิณ ทำให้เขาไม่มีความผิดเลย เสมือนหนึ่งเป็นคนบริสุทธิ์ อะไรที่จะกระเทือนมาก กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาล ผู้ที่ขึ้นต้นก็คือตำรวจ อัยการ ศาล กฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมยังใช้อยู่ แต่เราออกกฎหมายอีกฉบับมาหักล้าง มาทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นศูนย์ ถามว่าแล้วต่อไปนี้อะไรจะเป็นหลักประกันความยุติธรรมในบ้านเมือง ใครทำอะไรมา มาถึงยึดอำนาจทางการเมืองได้ปั๊บ แล้วสภาก็ยกมือๆ เราจะเอาอย่างนั้นหรือเปล่า เผด็จการโดยรัฐสภามันมีมาแล้วมีมาอีกในบ้านในเมือง และนอกบ้านนอกเมือง มีได้ ทำได้ และถ้ามันเป็นเผด็จการขึ้นมา ผลกระทบมันจะเหมือนกับเผด็จการอย่างอื่นทั้งหมด ซึ่งคนจะทนไม่ได้ เมื่อเป็นเผด็จการโดยรัฐธรรมนูญขึ้นมา ถามว่าแล้วบ้านเมืองจะทนต่อไปได้อีกนานเท่าไร

การที่เรามาสำคัญว่าได้รับเลือกตั้งโดยเสียงข้างมาก เข้ามายึดอำนาจได้ ยึดสภาได้ เพราะฉะนั้นจึงยึดบ้านเมืองได้ทั้งบ้านเมือง ถูกหรือเปล่า แล้วคนที่เขาไม่ได้เลือกคุณมีเท่าไร คนที่เขาไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แต่ว่ามีกำลัง มีปาก มีท้องเหมือนกันเนี่ย อีกเท่าไร ผมคิดว่าเราต้องรอบคอบกว่านี้ ไม่เช่นนั้นความหายนะมันจะชัดขึ้นๆ

ไทยพับลิก้า : เป็นเพราะฝ่ายพ.ต.ท. ทักษิณมีบทเรียนจากยุครัฐบาลพรรคพลังประชาชน (พปช.) หรือเปล่า ที่มัวแต่รีๆ รอๆ ไม่ได้ลงมือทำตามเจตนาแท้จริง พอกลับมามีอำนาจในรัฐบาลพท. จึงเร่งเครื่องทุกเรื่อง

ไม่ใช่ อย่าไปดูที่รัฐบาลพปช. ต้องดูที่รัฐบาลไทยรักไทย (ทรท.) มันตั้งต้นไว้แล้ว แต่ว่าคราวนี้โดยนายกฯ อีกคน โดยพรรคอีกพรรคหนึ่ง

ไทยพับลิก้า : แต่สมัยรัฐบาลทรท. ปัญหาไม่ได้ซับซ้อนเท่าตอนนี้

แต่วิธีการมันออกมาชัด ไอ้การยึดตำแหน่งต่างๆ การยึดสภา ตอนนั้นบังเอิญเป็นรัฐบาลผสม แต่เดี๋ยวนี้รัฐบาลพรรคเดียว สบายมาก

ไทยพับลิก้า : หากย้อนดูจุดตั้งต้นในปี 2544 และการเดินต่อในปี 2554 มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร

ผมว่า 2 ครั้งนี่ไม่ได้ต่างกันเท่าไรหรอก เพื่อประโยชน์ของคนๆ เดียว ของคนกลุ่มเดียว คุณจะอ้างอะไรก็ว่ากันไป แต่อย่าไปเหมาว่าเพราะเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ระบบยุติธรรมของเราจึงเป็นอย่างนี้ เพราะระบบยุติธรรมของเราไม่ได้กระทบเนื่องจากการรัฐประหาร รัฐบาลเปลี่ยน แต่ศาลไม่ได้เปลี่ยน อัยการไม่ได้เปลี่ยน ตำรวจนี่โดนนักการเมืองเปลี่ยนนะ ไม่เช่นนั้นตำรวจก็ยังเป็นตำรวจอยู่นั่นเอง คือเครื่องมือของกระบวนการยุติธรรมยังเป็นเครื่องมือเดิม ดังนั้นไม่ว่าจะมีรัฐประหารปี 2549 หรือไม่มี เขาก็ทำหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว และถ้าจะโทษว่าศาลไม่ให้ความเป็นธรรม ศาลไม่ยุติธรรม แล้วไอ้ที่ศาลยกฟ้อง หรือศาลปล่อยใครต่อใครไป หรือแม้กระทั่งตอนนี้ที่ศาลให้ใครต่อไปใครไหนมาไหนได้ล่ะ ศาลยังทำหน้าที่อยู่ ผมคิดว่าเรายังเชื่อถือศาลของเราได้อยู่ แต่เพราะเหตุความผันผวนทางการเมืองที่ทำให้เราคลางแคลงใจ ตกลงศาลจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรือเปล่า แล้วใครทำให้เรารู้สึกว่าศาลรู้สึกจะป้อแป้ พท. ใช่หรือเปล่า เสื้อแดงใช่หรือเปล่าที่ไปล้อมศาลนั้นศาลนี้ ใครทำให้รู้สึกว่าศาลอ่อน

ไทยพับลิก้า : หากปล่อยให้ความคลางแคลงใจคงอยู่และขยายวง สังคมไทยจะเหลือสถาบันอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว และตัดสินความถูกต้องชอบธรรม

ก็นั่นแหละ สิ่งที่ถามเป็นคำตอบ ถ้าทำกันอย่างนี้มากเข้าๆ ความเลื่อมใสในสถาบันจะคลอนแคลน และก็เป็นเจตนาของใครหรือเปล่า ผมไม่ทราบ

ไทยพับลิก้า : เจตนาเพื่อ…?

เอ่อ… มีใครพูดถึงเรื่องการสถาปนารัฐไทยใหม่ใช่ไหมครับ ที่จริงถ้าคิดจะสถาปนารัฐใหม่ ระบอบใหม่ขึ้นมา ทางที่ตรงที่สุดคือต้องทำลายของเก่า ไอ้ที่เรียกว่าการปฏิวัติเนี่ย ต้องทำอย่างนั้น ไม่ใช่รัฐประหาร หรือการปฏิรูป ถ้าจะปฏิวัติมันต้องทำลายของเก่าทั้งหมด อย่านึกว่าไม่มีคนคิดนะ เพราะความคิดที่จะทำลายระบอบเก่ามีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว คนเหล่านั้นอยู่ที่ไหนกันบ้างล่ะครับ ลองไล่เรียงกันดูสิ อยู่ในคณะรัฐบาลก็มีไม่ใช่หรือ

ไทยพับลิก้า : บางส่วนก็อยู่บนเวทีพันธมิตร

ก็นั่นแหละครับ ก็มีอยู่ทั้งนั้นแหละครับ จะเอาตรงไหนก็ได้ ที่อยู่บนเวทีพันธมิตรมีกี่คน และอยู่บนเวทีเพื่อไทย มีกี่คน… ผมคิดว่าไอ้ที่มีใครรำพันขึ้นมาว่าอยากจะมีรัฐไทยใหม่ เราควรศึกษาให้ดีว่าเขาเพียงแต่เพ้อขึ้นมา หรือเขากำลังทำอะไรจริงๆ

องครักษ์พิทักษ์ ม.112

ข้อเสนอให้ทบทวน-แก้ไข “มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา” ว่าด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกโยนขึ้นมาหยั่งกระแสคนในสังคม

ผลปรากฏว่า…

ฝ่ายหนึ่ง ออกตัวสนับสนุนให้ “ยกเลิก” โดยยกเหตุผลเพื่อความงอกงามของประชาธิปไตย และเพื่อหยุดใช้เป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ด้วยการยัดข้อหา “ไม่จงรักภักดี” ให้ฝ่ายตรงข้าม

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ต่อต้านเต็มกำลัง โดยยืนยันความจำเป็นในการ “คงอยู่” ของกฎหมายดังกล่าว และเรียกร้องให้เพิ่มดีกรีการใช้บังคับอย่างเคร่งครัด เพื่อปกป้อง “สถาบันหลักของชาติ”

“พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร” หนึ่งในแนวร่วมต่อต้านการโละมาตรา 112 มองว่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ เป็นเพราะไม่เข้าใจว่าการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย

“ในอังกฤษ ถ้าใครไปด่าควีน (พระราชินี) เขา มันกลายเป็นความผิดส่วนบุคคล ด้วยเหตุว่ามันไม่มีข้อบัญญัตินี้อยู่ในกฎหมายอาญา แต่บ้านเราถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์กับความมั่นคงของรัฐคืออันเดียวกัน เรามาของเราอย่างนี้ตั้งแต่โบราณ ดังนั้นต้องคงอันนี้เอาไว้เพื่อไม่ให้มีใครลบหลู่ หรือทำลายในสิ่งที่ท้ายที่สุดคือความมั่นคงของรัฐ คนที่คิดจะแก้เรื่องนี้ เขาคิดจะแก้ให้กลายเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ซึ่งในบ้านอื่นเมืองอื่นทำได้สบายมาก เพราะคนเขาไม่ค่อยสนใจเท่าไร แต่ของเรามันคนละเรื่องกัน พระมหากษัตริย์ไทยกับกษัตริย์ต่างประเทศ เทียบเคียงกันไม่ได้”

“ครูบาอาจารย์ที่ไปเรียนเมืองนอกมา อาจจะเติบโตแบบฝรั่ง เลยไปมองดูว่าพระเจ้าแผ่นดินเราเหมือนของฝรั่ง มันไม่ใช่ ถ้าจะแก้มาตรา 112 อย่ามาพูดเฉพาะในมหาวิทยาลัย หรือพูดเฉพาะคนไม่กี่คน ต้องไปถามคนไทยทั้งประเทศดู เขาจะยอมหรือเปล่า”

สำหรับ “คนหัวทอง” สถาบันคงอยู่ในแง่ “สัญลักษณ์”

หรือแม้แต่ “คนหัวดำ-คนไทย” สถาบันก็ถูกทำให้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ไปมากแล้ว

“พระมหากษัตริย์ที่เป็นอย่างทุกวันนี้ได้ ก็เพราะรัฐธรรมนูญให้เป็น เขียนรัฐธรรมนูญมาเมื่อไร ก็มีพระเจ้าแผ่นดินอยู่ตรงนั้น ใครอยากจะเลิกพระมหากษัตริย์ไม่รู้ เขียนรัฐธรรมนูญเลย เขียนอย่าให้มีพระมหากษัตริย์ก็จบ แต่นี่รัฐธรรมนูญเขียนให้มีพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญบังคับ จำกัดเอาไว้ด้วยว่าพระราชอำนาจมีอะไรบ้าง เป็นพระเจ้าแผ่นดินไทยไม่ใช่สบายนะ การทำอะไรๆ ต้องคอยแหงนหน้าดูรัฐธรรมนูญอยู่เรื่อย ถ้ารัฐธรรมนูญห้ามก็คือทำไม่ได้ ที่คนไทยทั้งเมืองบูชาท่านอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะเหตุว่าท่านทำในสิ่งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม แต่อย่างอื่นที่รัฐธรรมนูญบังคับไว้ ท่านทำไมได้เลย อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล นอกจากนี้ท่านทำไม่ได้เลย” พล.ต.อ. วสิษฐกล่าว

ก่อนตั้งคำถามแรงๆ กลับมาที่ฝ่ายจุดพลุแก้มาตรา 112 ว่า “ต้องดูเจตนาว่าอยากแก้ทำไม แก้เพื่อจะได้ด่ากันโดยไม่ติดคุกงั้นหรือ ถ้าแก้เป็นบุคคลธรรมดา เวลาไปด่าเข้า ก็โดนกฎหมายธรรมดา เหมือนที่ฟ้องหมิ่นประมาทกันทั่วบ้านทั่วเมือง ขณะนี้เสียอีกที่เวลาไปด่าท่าน ท่านไม่รู้จะฟ้องอย่างไร เพราะมันเป็นความผิดต่อรัฐ ไม่ใช่ต่อท่าน”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในระยะหลังมานี้ “เส้นแบ่ง” ระหว่าง “สถาบัน-สามัญชน” เปลี่ยนแปลงไปมาก จากเคยมีระบบเซนเซอร์ตัวเอง ไม่พูดจาพาดพิง-ก้าวล่วง กลายเป็นตั้งเวที-โพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์ วิพากษ์วิจารณ์ “เจ้า” อย่างโจ๋งครึ่ม

ทำให้สมมุติฐานผุดขึ้นในหัว “อดีตนายตำรวจประจำราชสำนัก” ที่ขอทำหน้าที่ “องครักษ์พิทักษ์ มาตรา 112” ว่า “มันมีใคร คณะไหน คนไหนหรือเปล่า จงใจให้ความผูกพันที่คนเคยมีต่อพระมหากษัตริย์เสื่อมคลายลง”

ขณะที่สมมุติฐานของฝ่ายไล่รื้อมาตรา 112 ออกมาตรงกันข้าม โดยมองว่าเป็นผลดีต่อสถาบันมากกว่า หากได้เห็น-ได้ยิน-ได้ฟังบางเรื่อง เพราะอาจทำให้ง่ายต่อการปรับตัว

“เมื่อมันเป็นกฎหมาย ก็ต้องแก้กฎหมาย ทีนี้ผู้ที่อยากจะแก้ก็ต้องคิดต่อไปด้วยว่าถ้าจะทำอย่างนี้ ตกลงพระมหากษัตริย์ซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ต่อความมั่นคงของบ้านของเมือง จะให้อยู่ในฐานะอะไร ยังไม่ทันแก้เลย ก็ล่อกันนัวแล้ว”

เหตุที่สถาบันถูกวิจารณ์ เป็นเพราะสามัญชนที่อยู่ในราชสำนักออกมาสื่อสารไม่ครบหรือเปล่า?

พล.ต.อ. วสิษฐบอกว่า “ไอ้นั่นมันเรื่องธรรมดาครับ เพราะข้าราชการที่อยู่ในราชสำนัก ก็คนธรรมดา เราๆ ท่านๆ แต่มันอยู่ที่คนฟังด้วย คือถ้าหลงเชื่อง่ายๆ จะเป็นที่ไหน ไม่ต้องพูดถึงในรั้วในวังหรอก แม้กระทั่งในคณะรัฐบาล ถ้าหลงเชื่อง่ายๆ ว่าคนนี้พูดได้ คนนั้นพูดไม่ได้ มันก็วิปริตไปด้วยกันทั้งนั้นแหละ ดังนั้นมันขึ้นอยู่กับว่าเราจะยอมรับแค่ไหน เราจะยอมเชื่อง่ายแค่ไหน ความจริงชาวพุทธ เอาหลักพระพุทธเจ้ามาใช้บ้างก็ดี อย่าหลงเชื่ออะไรกันง่ายๆ มากก็ดี”

ในวัน-เวลา-พ.ศ. นี้ ถึงเวลาที่ชนชั้นนำต้องปรับตัวหรือยัง?

เขาแย้งว่า “ถ้าใช้คำว่าปรับตัว ก็รู้สึกเหมือนกับว่าเดิมทีมันไม่ดี ความจริงชนชั้นนำที่ไม่จำเป็นต้องปรับก็มี ขึ้นชื่อว่าหัวหน้าแล้ว ถ้ารู้จักยึดความถูกต้อง ยึดศีลธรรมเป็นบรรทัดฐาน เราคงจะอยู่กันได้ด้วยความสบายใจกว่านี้ แต่เวลานี้คนที่อยู่ในระดับหัวหน้าทิ้งศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแปลว่าอะไร ถ้าถือศีลให้ครบ 5 ข้อ ผมว่าเป็นอะไรก็ได้ ทำอะไรก็สำเร็จทั้งนั้น”