ThaiPublica > คนในข่าว > “นริศ สถาผลเดชา” TMB Analytics วิเคราะห์ Big Data เอสเอ็มอี 900,000 ราย ทำธุรกิจแบบไม่คิดเผื่อจะโต

“นริศ สถาผลเดชา” TMB Analytics วิเคราะห์ Big Data เอสเอ็มอี 900,000 ราย ทำธุรกิจแบบไม่คิดเผื่อจะโต

26 มิถุนายน 2017


นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics

“เอสเอ็มอี” เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ถูกมองว่าได้รับการอุ้มชูอยู่ตลอดเวลา แล้วเม็ดเงินที่รัฐบาลใส่ลงไป ทำไมธุรกิจเอสเอ็มอียังคงวนเวียนในวัฏจักรเดิมๆ ไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

หากนับจำนวนเม็ดเงินที่รัฐบาลให้การช่วยเหลือในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาด้วยมาตรการต่างๆ มากมาย อาจจะเป็นแสนล้านบาท แต่เอสเอ็มอีก็ยังต้องการมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีสัญญาณขยายตัวที่ชัดเจน แต่ความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอียังมีปัญหาอยู่

ถามว่าวันนี้รัฐบาลรู้ไหมมีเอสเอ็มอีกี่ราย อยู่ที่ไหน ทำธุรกิจอะไรบ้าง ฐานะทางการเงินเป็นอย่างไร เขามีปัญหาอะไร เขาต้องการความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาล และทุกรายต้องการความช่วยเหลือเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร แล้วมาตรการของรัฐบาลช่วยแก้ที่รากของปัญหา หรือได้แค่รักษาอาการของเอสเอ็มอี ทั้งๆ ที่ในภาพรวมแล้วเอสเอ็มอีคิดเป็น 40% ของจีดีพีของไทย

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้พูดคุยกับ นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ซึ่งได้ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล Big Data ของเอสเอ็มอี ว่าแท้จริงแล้วเอสเอ็มอีไทยมีลักษณะอย่างไร อยู่ที่ไหน และมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ของประเทศไทยหรือไม่

“จริงๆ Big data ของเอสเอ็มอีที่ TMB ทำเพื่อวางกลยุทธ์ในแบงก์ ดูว่าโอกาสของลูกค้าอยู่ตรงไหน เราจะทำอย่างไรที่จะช่วยลูกค้าได้”

ด้วยคำว่า “เอสเอ็มอี” ของไทย ความหมายจะกว้างมากในแง่ขนาด แต่จากการสำรวจของ TMB Analytics เอสเอ็มอีขนาดเล็กส่วนใหญ่รายรับไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี นี่คือผู้เล่นส่วนใหญ่ของเอสเอ็มอี

“จากการสำรวจพบว่าเอสเอ็มอีมีประมาณ 900,000 ราย ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีประมาณ 350,000 ราย ที่เหลืออีกประมาณ 550,000 กว่าราย แค่จดทะเบียนพาณิชย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล อันนี้จึงเป็นปัญหาของประเทศ เพราะการที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หรือคนที่ทำนโยบายไม่สามารถติดตามได้เลยว่าคนพวกนี้เขาบริหารธุรกิจสำเร็จไหม อันนี้ไม่ต้องไปถึงว่าเขาต้องการอะไร หรือเราต้องทำอะไรให้เขา เพราะแค่เริ่มก็ไม่มีข้อมูลของ 550,000 รายแล้ว กลุ่มนี้ เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหาร ซึ่งมันเยอะมาก ไม่มีฐานข้อมูล จึงยากที่จะทำนโยบายเพื่อช่วยทำให้เอสเอ็มอีโตได้อย่างยั่งยืน นี่คือประเด็น”

หากดูรายได้รวมของเอสเอ็มอีตามรายรับของธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งประเทศ (900,000 ราย) มีประมาณ 10 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 43% ของรายได้รวมของธุรกิจทั่วประเทศ ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ๆ (ประมาณ 30,000 ราย) มีรายรับรวมประมาณ 13.3 ล้านล้านบาทต่อปี

ขณะที่ความสำคัญเอสเอ็มอีที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในแง่ของการจ้างงานมีสัดส่วนมากถึง 80% ของการจ้างแรงงานทั่วประเทศ หรือประมาณ 10.7 ล้านคน ซึ่งมีความสำคัญมากในการกระจายเม็ดเงินไปสู่เศรษฐกิจไทย โดยธุรกิจขนาดใหญ่มีรายรับสูงกว่าก็จริง แต่มีการใช้แรงงานน้อยกว่าประมาณ 2.6 ล้านคน คิดเป็น 20% ของการจ้างงานในธุรกิจทั่วประเทศ

“จำนวน 10.7 ล้านคน มีแรงงานพม่าด้วย ไทยด้วย กลุ่มนี้ไปกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนต่อ ฉะนั้น หากเอสเอ็มอีไปไม่รอด รายรับแรงงานก็ไม่มี ภาคครัวเรือนไม่สามารถโตได้อย่างยั่งยืน เศรษฐกิจอาจจะโตได้ 2-3% อย่างที่เห็น”

เอสเอ็มอีทำธุรกิจแบบไม่คิดเผื่อจะโต

จากข้อมูลเอสเอ็มอี 350,000 ราย ที่จดทะเบียนนิติบุคคล และจากการสำรวจของ TMB SMEs sentiment Index ซึ่งมีการสำรวจทุกไตรมาส จากการโทรศัพท์ไปคุยกับลูกค้า เราจะถามว่าตอนนี้เขากังวลอะไร เขาต้องการช่วยเหลือสนับสนุนอย่างไร

“ภาพล่าสุดในไตรมาส 1/2560 เดิมความกังวลอยู่ที่กำลังซื้อ ตอนนี้กังวลน้อยลง แต่ที่กังวลมากขึ้นคือการบริหารจัดการเรื่องต้นทุน ซึ่งสอดคล้องกับราคาสินค้าเกษตรไม่ดีก่อนหน้านี้ ตอนนี้ราคาสินค้าเกษตรเริ่มกลับมาแล้ว ราคาน้ำมันเริ่มกลับมาเป็นปัจจัยด้านทุน จึงกังวลด้านต้นทุนขึ้นมา แต่ในการสำรวจถามว่าเขากังวลอะไร เขากังวลเรื่องกำลังซื้อ ผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้ มากกว่า นี่คือภาพปัจจุบัน”

หากเจาะลงไปยังธุรกิจเอสเอ็มอีโดยตรง โดยอาศัยข้อมูลงบการเงินของบริษัทเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนนิติบุคคล 350,000 บริษัท ย้อนหลังไปนับ 10 ปี เป็นข้อมูลนับหลายล้านรายการ โดยจะเน้นไปที่ 2 ตัวชี้วัดที่อาจจะช่วยสะท้อนถึงความยั่งยืนของธุรกิจเอสเอ็มอี ได้แก่ 1) อัตรากำไรสุทธิ หรือ Net Profit Margin ซึ่งสะท้อนความสามารถในการทำกำไร และ 2) อัตราส่วนหนี้ต่อทุน ซึ่งสะท้อนการเข้าถึงสินเชื่อของธุรกิจ เพื่อนำไปขยายกิจการให้เติบโตขึ้นไปตมาศักยภาพ มีเพียง 8% หรือประมาณ 30,000 บริษัทเท่านั้นที่จัดว่าเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีชั้นดี หรือ Cream SMEs ซึ่งมีการทำกำไรในระดับสูงติดต่อกันและมีการเข้าถึงสินเชื่อในระดับที่เหมาะสม ในจำนวนนี้ 17,000 บริษัทอยู่ในภาคการค้า, 9,500 บริษัทอยู่ในภาคการผลิต และมีเพียง 1,500 บริษัทที่อยู่ในภาคบริการ

ขณะที่หากดูการกระจายตัวของบริษัทเอสเอ็มอี กลับเห็นภาพที่สวนทางกัน โดยพบว่าในจำนวน 350,000 ราย ภาคบริการกลับมีจำนวนมากที่สุดในประเทศที่ประมาณ 136,000 บริษัท รองลงมาคือภาคการค้าที่มีอยู่ประมาณ 109,000 บริษัท และภาคการผลิตมีเพียง 88,000 บริษัท

“ภาพแบบนี้บอกอะไรเรา มันกำลังบอกว่าในเชิงบริษัทเอสเอ็มอี ภาคการค้าดี บริการไม่ดี อุตสาหกรรมพอไหว แต่ว่าการกระจายตัว บริษัทจำนวนเยอะที่สุดที่จดทะเบียนนิติบุคคลคือภาคบริการ ฉะนั้น ถามว่าเราจัดสรรหรือมีการกระจายทรัพยากรได้เหมาะสมหรือไม่ มันไม่เชิง แต่ถ้ามองจากแรงจูงใจของกำไร คือธุรกิจที่กำไรดีมากควรมีจำนวนมาก ดังนั้น การกระจายผลิตภาพมันกระจายที่ผิดอยู่ มี misallocation ของทรัพยากร เราควรจัดสรรทรัพยากรไปที่ที่มีผลตอบแทนสูงๆ เศรษฐกิจจะได้ประโยชน์มากที่สุด”

นอกจากนี้ข้อมูลที่ปรากฏชี้ว่า โครงสร้างเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจบางทีไม่ได้คิดแบบธุรกิจรายใหญ่ ยังมองการทำธุรกิจแบบเอสเอ็มอี ไม่ได้คิดเผื่อว่าจะโต โดยมุ่งเรื่องภาษี ค่าใช้จ่ายหักได้เท่าไหร่ ขอหักให้หมด มีหลายบัญชี โครงสร้างเอสเอ็มอีจะมีลักษณะมีบริษัทลูกหรือบริษัทหลักที่เขาถือหุ้น ทำการซื้อขายที่มีธุรกรรมจริงๆ และมีอีกบริษัทตั้งขึ้นมาเพื่อหักภาษี และทำให้ขาดทุนสุทธิ เรียกว่าบริษัทขยะ ไม่ใช่การดำเนินกิจการจริง

“ดังนั้น คุณภาพงบดุลที่ส่งกรมสรรพากรจะรายงานต้นทุนเยอะ หักค่าใช้จ่ายเยอะ กำไรสุทธิจะน้อย ยิ่งกำไรสุทธิน้อย หรือแต่งบัญชีออกมาเป็นแบบนี้ การมาขอสินเชื่อ หรือการเข้าหาแหล่งทุน หรือการจะทำให้บริษัทใหญ่ขึ้นไปอีกขั้น มันยาก เป็นปัญหาของผู้ประกอบการยังคิดไกลไม่พอที่จะเติบโต มันเลยมีบริษัทที่กำลังจะใหญ่ ยอดขายเป็น 1,000 ล้านบาท อยากจะเข้าตลาด MAI ต้องมานั่งปรับปรุงระบบบัญชี ไม่อย่างนั้นเข้าไม่ได้ หรือจะมาขอสินเชื่อเพื่อขยายโรงงานก็ขอไม่ได้ ต้องปรับแก้บัญชี ซึ่งแบงก์รู้ว่าลูกค้ารายงานไม่ตรง เราต้องดูว่าบัญชีจริงของคุณเป็นอย่างไร”

ปัญหาพวกนี้จริงๆ เกิดจากผู้ประกอบการต้องการประหยัดที่สุด หักค่าใช้จ่ายมากที่สุด ไม่ต้องจ่ายภาษีเยอะ แต่เวลาระบบแบงก์ดู เราไม่ได้ดูแค่รายบริษัท เรารู้ว่าใครถือหุ้นใคร เราดูว่ากรรมการบริหารถือหุ้นในบริษัทนี้กำไร แต่มาถือหุ้นอีกบริษัทหนึ่งที่ขาดทุนต่อเนื่อง แบงก์จะดูทั้งกรุ๊ป จะได้ประเมินความเสี่ยงที่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะในต่างประเทศ การที่เอสเอ็มอีก่อตัวเป็นฐานรากของระบบเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง อย่างในยุโรป เขาทำเหมือนกิจการใหญ่ๆ คิดแบบระบบ เขาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เยอะมาก แต่ของเรายังไม่คิด เหมือนไม่อยากจะโต

“จริงๆ นโยบายที่รัฐบาลพยายามทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่ คือการไม่เอาผิดเรื่องงบดุล เพื่อดึงเอสเอ็มอีเข้ามาในระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอย่างที่ TMB วิเคราะห์แล้วว่ามี 30,000 ราย ที่ดีจริงๆ มีกำไรต่อเนื่องกัน 3 ปี แม้ว่าจะหักค่าใช้จ่ายไปเยอะๆ แล้วยังมีกำไร ยังอยู่รอด หากเรามีการปรับโครงสร้างทั้งประเทศ ให้ทำงบดุลบัญชีเดียว ก็จะดีต่อทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ในการสนับสนุนว่าเอสเอ็มอีจะไปต่ออย่างไร อย่างน้อยทำให้ 350,000 ราย ถูกต้องก่อน แต่ตอนนี้มีแค่ 8% ที่ทำได้ต่อเนื่อง”

3 เด้ง ความเจ็บปวดของเอสเอ็มอี

จากภาพรวมเอสเอ็มอีที่มีกำไรต่อเนื่อง 3 ปี มีแค่ 8% และการกระจายตัวอยู่ตามภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคการค้า หากเจาะลึกจริงๆ แล้วความเจ็บปวดที่เอสเอ็มอีต้องเจอและทำให้เอสเอ็มอีเวียนว่ายตายเกิดอยู่เรื่อยๆ ไม่สามารถโตได้นั้น มี 3 L คือ

1. เข้าถึงสินเชื่อต่ำ (Lower Financial Access) ถ้าเราดูงบบริษัทของเอสเอ็มอีจำนวน 350,000 ราย เทียบกับบริษัทรายใหญ่ที่มีจำนวน 30,000 ราย (มีรายได้มากกว่า 50% ของรายรับของบริษัทต่อปี) แต่เอสเอ็มอี 350,000 ราย มีทั้งบริษัทที่ดีและไม่ดีรวมอยู่ตรงนี้ทั้งหมด กลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่อหรือแหล่งเงินทุนได้น้อยกว่าบริษัทรายใหญ่ที่มี 30,000 ราย ต่างกัน 3 เท่า ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) ของเอสเอ็มอีเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4 เท่า ถ้ามีทุน 100 เข้าถึงหนี้ได้ 40 บาท แต่บริษัทใหญ่มีทุน 100 บาท เข้าถึงหนี้ได้ 120 บาท

“พอเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงแหล่งทุน จึงเป็นหนึ่งในอุปสรรคของเอสเอ็มอี เมื่อเข้าไม่ถึงแหล่งทุนในการมาขยายกิจการ มาสร้างกำลังการผลิตไม่ได้”

2. หมุนเงินไม่ทัน (Longer Conversion Cycle) เอสเอ็มอียิ่งเล็กกำลังการต่อรองยิ่งต่ำกับยี่ปั๊วซาปั๊ว โดยเฉพาะการโดนดึงเทอมการค้านานๆ ตรงนี้กระทบสภาพคล่องของกิจการมาก ค่าเฉลี่ยบริษัทรายใหญ่ 40 วันเขาเปลี่ยนจากสินค้าเป็นเงินได้แล้ว สิ่งที่เราดูเรียกว่า Cash Conversion Cycle คือจำนวนวันที่มีสินค้าคงคลังบวกกับจำนวนวันที่ขายไปแล้วแต่ยังเก็บเงินไม่ได้ เป็นลูกหนี้การค้าอยู่ แล้วหักด้วยเจ้าหนี้การค้าของเขาที่ต้องจ่ายออกไป สรุปแล้วการเก็บเงินเป็นกี่วันต่อรอบ 1 การผลิตของเขาต่อหนึ่งชิ้น ผลที่ออกมาเฉลี่ย 60 วัน ถ้าไปดูบางอุตสาหกรรมที่แย่มาก อาจจะยาวนานไปถึง 90 วัน หากขายให้กับโมเดิร์นเทรด ไฮเปอร์เทรด เขายืดเทอมการค้าเป็น 3 เดือน ขณะที่เอสเอ็มอีเขาต้องการสภาพคล่อง

3. อีกอันที่ทำให้เอสเอ็มอีลำบาก คือมีสินทรัพย์ถาวรหรือ Fixed Assets น้อย ถามว่าทำไมถึงสำคัญ กล่าวคือ การเติบโตของเอสเอ็มอีจะมีโมเดลการโตแบบหนึ่ง สตาร์ทอัปจะมีโมเดลการโตอีกแบบหนึ่ง ตอนนี้มีการพูดสตาร์ทอัปบ่อย พูดไปพูดมาจะกลายเป็นผสมๆ กันกับเอสเอ็มอี แต่จริงๆ สิ่งที่เรามองคือเอสเอ็มอีกับสตาร์ทอัปไม่เหมือนกัน มีความต้องการไม่เหมือนกัน ต้องแยกจากกันให้ชัด เพราะแต่ละประเภทมีความต้องการไม่เหมือนกัน ฉะนั้น โมเดลการเติบโตไม่เหมือนกัน

กรณีเอสเอ็มอี เขามีสินทรัพย์ถาวร ที่แบงก์เรียกว่า Core Assets คืออะไรที่เป็นหลักประกันได้ อย่างเช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร เอสเอ็มอีมีน้อยมาก ขณะที่ธุรกิจรายใหญ่จำนวน 30,000 ราย จะมี Core Assets ถึง 30% ของสินทรัพย์รวม แต่เอสเอ็มอีมีแค่ 20% แปลว่าช่องว่าง 10% ตรงนี้เอาไปเป็นหลักประกันไม่ได้ แล้วพอหลักประกันไม่พอ จะกลับไปเข้าสินเชื่อไม่ได้

“มันก็เป็นปัญหาไก่กับไข่ อันแรกเข้าไม่ถึงสินเชื่อ อันที่สองไม่มีหลักประกัน อันที่ 3 ขายของแต่ได้เงินช้า ไม่มีสภาพคล่องอีก โดนไป 3 เด้ง”

จริงๆ เรื่องของหลักประกันสินทรัพย์ถาวร ต้องชมรัฐบาล ทำกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ทำให้ลูกหนี้การค้าที่มีเทอมยาวๆ ที่ยังเก็บเงินไม่ได้ สามารถเอาลูกหนี้การค้า สินค้าคงคลัง เครื่องจักรบางตัว มาเป็นหลักประกันได้ มันจะทำให้การเข้าถึงสินเชื่อดีขึ้น

นี่คือปัญหา 3 ข้อที่เอสเอ็มอีปัจจุบันต้องเจอ

นายนริศ สถาผลเดชา

เอสเอ็มอีไม่ใช่ “Startup”

นอกจากนี้ เรายังแยกความแตกต่างระหว่างเอสเอ็มอีกับสตาร์ทอัปไม่ได้ เอสเอ็มอีเป็น traditional business ที่เป็นภาคการผลิต การค้า บริการ ภาพนี้มันจะชัดเจน แล้วต้องเติบโตด้วยเงินทุนและการเข้าถึงสินเชื่อ และต้องมีสินทรัพย์ถาวร คืออย่างน้อยต้องเช่าห้องแถวมาเย็บผ้าได้ หรืออย่างน้อยต้องมีที่ดินมาทำเล้าไก่ ฟาร์มไก่ คือต้องใช้สินทรัพย์ที่เป็น core asset แล้วเป็นกิจการที่โตไปในเชิงธุรกิจตามปกติ เป็นความต้องการเงินทุนแบบดั้งเดิม treditional financial need

ส่วนสตาร์ทอัปมันเป็นธุรกิจเติบโตบนไอเดียแนวคิด ไม่ต้องการสินทรัพย์ถาวร core asset แล้วโมเดลการเติบโตของสตาร์ทอัปไม่ได้โตด้วยหนี้ โตด้วยทุน โตด้วยการมีนักลงทุนมาร่วมทุน เช่น venture capital และเติบโตด้วยไอเดีย ไม่ต้องการสินทรัพย์ถาวรเยอะๆ

“แล้วการผลิตของสตาร์ทอัปไม่ใช่การผลิตที่ต้องการที่ดิน บ้าน โรงงาน ออฟฟิศเช่า ที่เหลือก็เอาไอเดีย คอมพิวเตอร์มา scale up การผลิต แต่เอสเอ็มอีจะบอกว่ามา scale up เล้าไก่ มันก็ทำไม่ได้ ไก่มันก็ต้องเลี้ยง ที่ดินก็มีจำกัด”

ดังนั้น ความต้องการต่างกันมาก ถามว่าสตาร์ทอัปต้องการแบงก์หรือไม่ จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ต้องการเป็นหนี้แบงก์เลย ดูโมเดลการโตของสตาร์ทอัปในต่างประเทศ เขาไม่เข้าหาแบงก์ แต่เข้าหานายทุน private equity ส่วนเอสเอ็มอีจะให้ไปหานายทุนแทนก็ไม่ใช่ โมเดลมันต่างกัน ฉะนั้น ความต้องการต่างกัน จึงควรได้รับนโยบายที่สนับสนุนเป้าหมายแตกต่างกันไปด้วย

เอสเอ็มอีอยู่ที่ไหน ทำอะไร

นอกจากนี้เอสเอ็มอีที่จดทะบียนนิติบุคคล 350,000 รายเหล่านี้ อยู่ที่ไหนของประเทศไทย

ปรากฏว่าการกระจายตัวของเอสเอ็มอีจำนวนมากที่สุดอยู่ที่ภาคบริการ จำนวน 136,000 ราย

จากภาพด้านล่างภาคบริการอยู่ตามหัวเมืองมาก(สีน้ำเงิน) มีความถี่ความหนาแน่น ภาพจะชัดว่าภาคบริการและภาคการค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ ฉะนั้น อีกมุมหนึ่งในการวางยุทธศาสตร์ของภาครัฐ ถ้าต้องการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคให้เติบโตไม่กระจุกตัวอยู่ที่การก่อสร้างและท่องเที่ยว รัฐบาลควรมาสนับสนุนภาคบริการและภาคการค้า เพราะตอนนี้จีดีพีไทยขับเคลื่อนจาก 2 ปัจจัย คือการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งก็คือผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้รับช่วงสัญญาซึ่งก็คือรายใหญ่รองลงมา เม็ดเงินการลงทุนไปไม่ถึงเอสเอ็มอี

ขณะที่ภาคการผลิต จากภาพจะเห็นว่าภาคการผลิตจะตั้งอยู่ในเมืองที่เป็นเมืองหลักๆ คือเชียงราย เชียงใหม่ อีสเทิร์นซีบอร์ด สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ สงขลา เอสเอ็มอีกลุ่มนี้กระจายตัว(ดูภาพประกอบ)

ที่ผ่านมาในแง่มาตรการหรือนโยบายออกช่วยเอสเอ็มอีมีหลายมาตรการ จากข้อมูลเอสเอ็มอีที่เราเห็นอยู่ 350,000 ราย ที่เหลืออีก 550,000 เป็นเอสเอ็มอีที่ไม่ใช่บริษัท ไม่ได้อยู่บนเรดาร์เพราะไม่มีข้อมูล เราไม่รู้ว่าเขาขาดอะไร ล้มเพราอะไร ต้องการเงินทุนหรือไม่ หรือเข้าไม่ถึงเงินทุน หรือจริงๆ แหล่งเงินทุนไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องการคนมาแนะนำ หรือต้องการโครงสร้างพื้นฐาน หรือต้องการนโยบายมาสนับสนุน เรายังไม่มีคำตอบ สุดท้ายต้องกลับไปที่พื้นฐานว่าเอสเอ็มอีเขาคือใคร โตแบบไหน และต้องการอะไร

ไม่เช่นนั้นนโยบายที่ออกมาจะเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน ซึ่งก็เป็นเรื่องดี เพียงแต่ว่ามันเป็นยาแก้ปวด ไม่ใช่การแก้ปัญหา ไม่ใช่การรักษา แก้ปวดไปเรื่อยๆ อยู่ 3 ปีก็ตายอยู่ดี แบงก์เองก็ต้องทำความเข้าใจลูกค้ากลุ่มนี้อีกเยอะ แล้วกลุ่มนี้ 550,000 ราย พอเข้าถึงแหล่งเงินไม่ได้ ก็ไปเข้าถึงด้วยวิธีที่แย่กว่า เช่น

วิธีที่แย่น้อยที่สุด อยากได้เงินมาปรับปรุงกิจการ ด้วยการขอสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อมอร์ตเกจเอามาทำบ้าน จริงๆ เป็นการใช้เงินผิดประเภท แต่วิธีนี้ไม่กระทบความเสี่ยงของระบบมากนัก ยกเว้นเอาวงเงินเบิกเกินบัญชี (OD) ไปซื้อรถเบนซ์ อันนั้นมันก็ผิดประเภทจริงๆ แต่โดยทั่วไปถ้าเอสเอ็มอีงบดุลไม่แข็งแกร่ง กำไรไม่ต่อเนื่อง แล้วจะปรับปรุงกิจการอย่างไร อย่าง กิจการโรงแรมโฮสเทลเล็กๆ ก็อาจจะใช้วิธีการกู้ส่วนบุคคล กู้บ้าน เอาเงินมาปรับปรุงกิจการ

วิธีที่แย่ไปกว่านี้ บางคนหมุนเงินไม่ทันก็มาใช้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ดอกเบี้ย CPR 18% ตรงนี้ก็ยิ่งไปสร้างแรงกดดันให้เอสเอ็มอีอีก แต่เขาก็ไม่มีทางเลือก

วิธีแย่ยิ่งไปกว่านั้นอีกคือการกู้เงินนอกระบบ เจอดอกเบี้ยที่แพงมาก เอสเอ็มอีจึงต้องเวียนว่ายตายเกิดในวงจรนี้ ยิ่งเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้ ก็ยิ่งไปเข้าถึงแพงขึ้นเรื่อยๆ ผิดประเภทขึ้นเรื่อยๆ โดนตามเก็บหนี้

ที่ผ่านมารัฐบาลมีโครงการคลินิกแก้หนี้ เป็นโครงการร่วมมือกับธนาคาร แต่ว่าสินเชื่อส่วนบุคคลก้อนใหญ่อยู่ใน non-bank ตัวเลขประมาณ 180,000 ล้านบาท ขณะที่อยู่กับแบงก์ 160,000 ล้านบาท อันนี้ไม่นับเครดิตการ์ด ดังนั้น คลินิกแก้หนี้ควรต้องแก้หนี้ให้ครอบคลุมถึง non-bank

นี่คือความเจ็ปปวดที่เอสเอ็มอีต้องเจอ และต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวงจรนี้

พื้นที่ต่าง ความต้องการต่าง นโยบายต้องต่างกัน

ด้วยนโยบายที่จะนำไปใช้จะต้องมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และไม่สามารถเหมารวมว่าจะเป็นเศรษฐกิจภูมิภาคเหมือนกันทั้งหมดได้ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีจุดเด่นและความต้องการแตกต่างกันอย่างเฉพาะเจาะจง ทั้งนี้การวิเคราะห์เพื่อดูว่ารายได้ในอนาคตจะเติบโตมากน้อยแค่ไหน และงบการเงินมีสุขภาพแข็งแรงไหม มีกันชนจากกำไรขึ้นต้นดีไหม จากข้อมูลเอสเอ็มอี เราพบว่ามีเอสเอ็มอี 3 กลุ่ม กลุ่มที่มีศักยภาพ กลุ่มที่อยู่ตัวแล้ว และกลุ่มที่ต้องการช่วยเหลือ

1) กลุ่ม Potential ที่มีศักยภาพในการเติบโต พบว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน ธุรกิจการท่องเที่ยว ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้แก่ เอสเอ็มอีที่อยู่ในจังหวัดจันทบุรี ตาก เชียงราย บึงกาฬ โดยหากได้รับแรงจูงใจในการขยายลงทุน เช่น สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ก็จะสามารถผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้อีก

กลุ่มที่มีศักยภาพดี คือ จากรายงานงบดุลของเขา มองเห็นว่ารายได้ในอนาคตจะเติบโตมากน้อยแค่ไหน แล้วงบดุลมีสุขภาพแข็งแรงไหม มีกันชนจากกำไรขึ้นต้นดีไหม จากภาพกลุ่มที่เป็นสีเขียวคือมีศักยภาพ คือรายได้โตเร็วมากปีละ 10-20% แต่งบดุล กำไรขั้นต้นอาจจะไม่ดีนัก เพราะธุรกิจเริ่มตั้งไข่ อันแรกที่มาคือยอดขาย รายได้จะโตเยอะ

หลังจากธุรกิจเริ่มอยู่ตัว ต่อไปก็จะเริ่มควบคุมต้นทุน แล้วกำไรสุทธิจะดีขึ้น กันชนของงบดุลก็จะเข้มแข็งขึ้นมา เริ่มมีความยั่งยืน ดังนั้น กลุ่มแรกรายได้ดี ยังตั้งไข่ แต่ว่ามีศักยภาพ กลุ่มนี้ (สีเขียวในภาพ) หลักๆ จะอยู่ตามการค้าชายแดน

“อันนี้เราค่อนข้างแปลกใจ เราไม่คิดว่าข้อมูลรายบริษัทมันจะบอกภาพที่ตรงกับภาพใหญ่ได้ เขียวๆ คือด่านตรวจคนเข้าเมือง มีตราด หนองคาย อรัญประเทศ สะเดา แล้วตัวเลขการค้าขายชายแดนทั้งที่อยู่บนโต๊ะและใต้โต๊ะ จริงๆ มีเม็ดเงินอยู่เยอะมาก ทำให้เศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดชายแดนไปได้ดี ทำให้ธุรกิจแข็งแรง อย่างจังหวัดชายแดนเราคิดว่าสิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่ธุรกิจอุตสาหกรรมที่ต้องทำธุรกิจ 4.0 แบบหุ่นยนต์ แต่มันคือการค้าขาย เขาต้องการแรงจูงใจด้านการลงทุนและสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำอย่างไรให้ระบบการขนส่งดีขึ้น

ต้องบอกว่าสินค้าไทยในอินโดไชน่าเป็นสินค้าอันดับ 1 ในความต้องการ CLMV เขาไม่เชื่อในสินค้าจีน ถ้าบอกว่าเมดอินไทยแลนด์นี่คือคุณภาพ พอคุยกับบริษัทใหญ่ๆ ยอดขาย 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่ทำด้านอาหารหรือพวกสาขาอาหาร เขาจะชอบไปตั้งโรงงานที่ CLMV มาก เพราะสามารถปั๊มแบรนด์เขาเลย เป็นแบรนด์ไทย อย่างน้ำผลไม้ชบา เมื่อก่อนเขาทำให้การบินไทย ตอนนี้เลิกมาทำขายใน CLMV ฉะนั้น เรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคใน CLMV เราเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ถ้ามาเลเซีย เรานำเข้าจากมาเลมากกว่า

ส่วนที่ 2 กลุ่ม Matured ที่มีผลการดำเนินงานดีต่อเนื่อง พบว่าเป็นเอสเอ็มอีที่อยู่ในจังหวัดใหญ่ซึ่งมีประชากรมาก ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน หรือการเป็นฮับของอุตสาหกรรม ฮับของโลจิสติกส์ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์หรือการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ แม้เป็นกลุ่มที่ไม่น่าเป็นห่วง แต่ถ้ากลุ่มนี้สามารถยกระดับการพัฒนาก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้หรือพัฒนาผลิตภาพการผลิต จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อีกมาก และสามารถช่วยเหลือธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดซัพพลายเชนให้ดีขึ้นตาม ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้แก่ เอสเอ็มอีที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง อุดรธานี สงขลา

จากภาพคือส่วนที่เป็นสีฟ้า เป็นกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีความแข็งแกร่งอยู่ตัวแล้ว คืออาจจะทำการผลิต บริการ หรือการค้าปลีกส่ง จะอยู่ตามหัวเมืองเยอะ ตรงนี้ควรจะได้รับการพัฒนา อย่างอุตสาหกรรม 4.0 จริงๆ มันไม่ควรบอกว่าทั้งประเทศ แต่ต้องบอกว่าจังหวัดไหน คุณคือใคร คุณต้องการอะไร

“จะเห็นได้ว่าจังหวัดใหญ่ๆ ที่อยู่ในกลุ่มนี้จะเป็นผู้ประกอบการการผลิตและระบบการขนส่ง เป็นฮับการส่งออก พวกนี้งบดุลจะแข็งแกร่งพอสมควร”

3. กลุ่ม Challenged ที่กำลังเผชิญกับกับดักการเติบโต พบว่าเป็นธุรกิจทางการเกษตร และมักเป็นกิจการที่อยู่ในจังหวัดเล็ก ประชากรน้อย เป็นเมืองทางผ่าน ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้แก่ เอสเอ็มอีที่อยู่ในจังหวัดสกลนคร ร้อยเอ็ด ปัจจัยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของกลุ่มนี้คงต้องใช้การพัฒนาธุรกิจทั้งห่วงโซ่การผลิตจากกลุ่มจังหวัดเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ

“กลุ่มนี้จากภาพคือสีส้มสีแดง อาจจะต้องการช่วยเหลือที่ตรงจุดกว่านี้ ต้องการการช่วยเหลือจากรัฐบาลตรงๆ คือ อย่างเรื่องการให้ซอฟต์โลน ต้องให้แบบเจาะจงเป้าหมาย ตามจุดในกลุ่มจังหวัด กลุ่มอุตสาหกรรม

“การช่วยเหลือตรงนี้จริงๆ หากเราดูระบบของจีน PBOC: People Bank of Chaina ธนาคารกลางของจีน เขาสั่งทุกเดือนเลยว่าปล่อยอะไร ปล่อยตรงไหน เพราะนโยบายนั้นอาจจะเหมาะกับบางธุรกิจที่ต้องการจริงๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่อาจจะไม่ใช่บอกว่าจะให้ซอฟต์โลน 3.5% แล้วให้ทั้งประเทศ แล้วบอกว่าแบงก์นี้ให้ 30,000 ล้านบาท อีกแบงก์ได้ไป 30,000 ล้านบาท ส่วนแบงก์เล็กหน่อยอาจจะ 10,000 ล้านบาท สุดท้ายไม่รู้ว่าให้คนที่ต้องการจริงหรือไม่ แล้ววงเงินเอสเอ็มอีจะเป็นวงเงินเบิกเกินบัญชี จะติดตามการใช้วงเงินยาก เราไม่ได้บอกว่าผู้ประกอบการจะใช้ผิดวงเงิน แต่ถ้าไปเจอผู้ประกอบการที่เป็นมะนาวไม่ดี ใช้ผิดวงเงิน สินเชื่อที่ให้ไม่ได้ตอบโจทย์การเพิ่มประสิทธิภาพหรือผลิตภาพของเศรษฐกิจไทย”

นี่คือสิ่งที่เราแกะข้อมูลออกมาจาก 350,000 ราย ย้อนไป 10 ปี ข้อมูลที่ได้สื่อให้เห็นถึงอะไรบางอย่าง ว่าการให้ความช่วยเหลือ มีจุดต้องการความช่วยเหลือหรือนโยบายที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

แต่อย่างไรก็ตาม นี่คือข้อมูลเบื้องต้นที่วิเคราะห์เอสเอ็มอี เราก็ยังไม่เข้าใจเอสเอ็มอีจริงๆ เพราะเราไม่เข้าใจว่าเขาต้องการอะไร แต่เราเข้าใจว่าจากการประกอบกิจการ เขาควรจะได้รับนโยบายแบบไหน ปัจจุบันการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเป็นลักษณะ top-down เพราะยังไม่ได้ไปถามเขาว่าเขาต้องการนโยบายแบบนี้หรือไม่ และนโยบายก็ต้องแตกต่างกันด้วย อย่างแค่คนละจังหวัดที่ติดกัน ความต้องการก็ไม่เหมือนกันแล้ว เช่น ศรีสะเกษไม่เหมือนอำนาจเจริญ แต่ว่าเม็ดเงินที่ให้ซอฟต์โลนแพกเกจเดียวกัน

“แบงก์เองในการให้ซอฟต์โลน การกระจายสาขา อาจจะปฏิบัติเหมือนกัน เหมือนเป็นโซนเดียวกัน มันไม่ใช่แค่รัฐบาลแต่เอกชนเองก็ต้องกลับมาทบทวนด้วยว่าการทำธุรกิจแบบนี้มันใช่หรือไม่ เพราะอำนาจเจริญ ศรีสะเกษ หากอยู่โซนเดียวกัน RM จะไปหาลูกค้าด้วยแพกเกจเดียวกัน ทรีตเขาเหมือนๆ กัน ซึ่งมันไม่ใช่”

หากเจาะลึกไปในระดับจังหวัด(ดูภาพด้านบน)จะพบอีกว่า ภาคบริการและการค้าจะกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เทียบกับภาคการผลิตที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองที่เป็นเมืองหลักๆ คือกรุงเทพฯ เชียงราย เชียงใหม่ มาบตาพุด สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ สงขลา ดังนั้น หากรัฐบาลอยากจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคให้เติบโตด้วย นโยบายต้องไม่กระจุกตัวอยู่ที่การก่อสร้างตามนโยบายการเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในบริษัทรายใหญ่และการท่องเที่ยวตามหัวเมืองบางแห่ง เป็น 2 แรงขับเคลื่อนจีดีพีหลักของประเทศในระยะหลัง แต่ควรมาสนับสนุนบริการและการค้าในระดับภูมิภาคด้วยให้เม็ดเงินลงไปถึงเอสเอ็มอีเหล่านี้

3 Megatrends โอกาสหรืออุปสรรคเอสเอ็มอีไทย

นายนริศ สถาผลเดชา

สำหรับ 3 เมกะเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งหมด รวมไปถึงประเทศไทยและเศรษฐกิจไทย จะต้องเผชิญและหาทางรับมือในอนาคต ได้แก่

1) Digital Economy รวมไปถึง e-Commerce และ e-Payment โดยปัจจุบันประเทศไทยยังใช้เงินสดในการทำธุรกรรมกว่า 70% ของธุรกรรมทั้งหมด ขณะที่ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ใช้เพียง 20-30% เท่านั้น และหากเจาะลงไปยัง e-Commerce จะพบว่าเป็นเม็ดเงิน 2 ล้านล้านบาท กว่า 60% กลับอยู่ในการซื้อขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ

“เวลาพูดเรื่อง e-Commerce คนมักจะนึกถึงซื้อขายใน Facebook ซื้อขายในลาซาดา แต่จริงๆ เป็นธุรกิจกับธุรกิจอย่าง SCG คือออนไลน์หมด ไม่ต้องมาจ่ายเงินสด ไม่รับ ก็ตัดๆ บัญชี ตัดๆ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ต่อไปคือครึ่งปีหลังจะมี request to pay บนพร้อมเพย์ ใช้ส่ง จ่าย เคลียร์บิล จ่ายภาษี คือวางบิลแล้วจ่ายเลยแบบ real-time คนจ่ายเงินแล้วได้เลย ไม่ต้องรอส่งคนเอา invoice ไปให้ ปัจจุบันยังเป็นแบบนั้นอยู่ แล้วยอดตรงนี้มันมีเยอะอยู่แล้ว” นายนริศกล่าว

2) การเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค หรือ Regionalization ครอบคลุมตั้งแต่การค้าชายแดนจนถึงการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวคิดเป็น 15% ของจีดีพีไทย ดังนั้นประเด็นคือจะสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาคเราอย่างไร เราต้องไม่มองว่ากลุ่มประเทศ CLMV เป็นแค่ที่ขายของ แต่ต้องมอง CLMV อยู่ในซัพพลายเชนของเรา คือเข้าไปหาทรัพยากร หาแรงงานที่ถูกกว่า วัตถุดิบที่ถูกกว่า ตลาดที่แข่งขันน้อยกว่า ฉะนั้นจริงๆ ตรงนี้ไม่ใช่แค่ฐานการส่งออก แต่ควรจะเป็นฐานการลงทุน เพื่อที่เราจะได้บรรลุเรื่องการเชื่อมโยงในภูมิภาคและเป็นผู้นำในภูมิภาค

3) ตกขบวน Global Supply Chains โดยหากดูการลงทุนของเอกชนจะพบว่าติดลบมาตลอด 3 ปี ซึ่งปัญหาของประเทศไทยไปไกลยิ่งกว่าการลงทุนหายไป แต่อีกด้านหนึ่งประเทศไทยกำลังตกขบวนสายพานการผลิตโลก หรือ Global Supply Chains และไม่สามารถผลิตสินค้าที่โลกต้องการได้

“การลงทุนเอกชนไทยแบ่งเป็น 2 ด้าน ก่อสร้าง คิดเป็น 20% ของเม็ดเงิน และเครื่องจักรอีก 80% ถ้าดูเม็ดเงินเริ่มต้นจากปี 2014 เป็น 100 บาท แล้วเทียบดัชนีออกมาจนถึงปี 2017 การลงทุนโดยรวมไม่โต แทบจะนิ่งๆ ไม่เติบโตเลย แต่การก่อสร้างเติบโตไปที่ 120 แล้วที่แย่คือการลงทุนในเครื่องจักร ซึ่งเป็นสัดส่วน 80% ติดลบ และเม็ดเงินน้อยกว่าปี 2014 อันนี้หมายความว่าอะไร… หมายความว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรม ไม่ได้อัปเกรดสายพานการผลิต ไม่ได้เปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตมาแล้ว3-4 ปีเป็นอย่างน้อยอาจจะแค่การบำรุงรักษา แค่พยุงๆ ไป แล้วถามว่าสายพานการผลิตไทยทั้งประเทศจะกลับมาผลิตได้อีกครั้ง สินค้าจะยังส่งออกได้หรือไม่ ผมไม่คิดว่าปัจจุบันผู้บริโภคของโลกใช้ของเมื่อ 3 ปีที่แล้ว คือเรากำลังตกรถไฟเร็วมากเลย”

เมื่อเทียบกับเวียดนามที่ทำเหมือนที่ไทยเคยทำ คือไปเชิญชวนให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอีสเทิร์นซีบอร์ด สร้างอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ปัจจุบันไทยกำลังหยุดทำ แต่เวียดนามหันไปทำกับเกาหลีใต้ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมากับ Samsung และ LG ขณะที่ไทยผลิต Harddisk เวียดนามผลิตชิ้นส่วน Smartphone และ Tablet คำถามคือสิ่งที่เราทำ อาจจะขายไม่ค่อยได้แล้วในปัจจุบัน

“สิ่งเหล่านี้ทำให้3 ปีที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกไม่ติดลบเลย โตตลอด แต่ 3 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกติดลบตลอด เราก็บอกว่าเศรษฐกิจโลกไม่ดี เราบอกว่าไต้หวัน เกาหลีใต้ ส่งออกติดลบก็เหมือนกันเลย แต่ดูเวียดนามเติบโตทุกปี เพราะเขาเปิดประเภทสินค้าใหม่ๆ ใน HS Code ใหม่ๆ ผลิตส่งออกสินค้าใหม่ๆ แต่ของไทย 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าดู HS Code ที่เราส่งออกไปได้ทั้งประเทศ สินค้าใหม่ๆ เรามีน้อยมาก เราส่งออกด้วยสูตรเดิมๆ ฉะนั้นคือเราเกือบจะตกหรือตกไปแล้วกับ Global Supply Chains แล้วกำลังการผลิตที่เหลืออยู่ประมาณ 35% แม้จะกลับมาผลิตได้ คำถามคือจะส่งออกได้หรือไม่”

อย่างไรก็ตามแนวโน้มของธุรกิจเอสเอ็มอีที่น่าจะประสบความสำเร็จในอนาคต จากข้อมูลของงบการเงินที่แข็งแกร่งและความสอดคล้องกับไปเทรนด์ของโลกอนาคต มองว่าภาคการเกษตรจะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเคมีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือการแพทย์ เช่น ท่อยางหรือถุงมือยาง เป็นต้น(ดูข้อมูลเพิ่มเติม)