ThaiPublica > เกาะกระแส > สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม กมธ. ยอมตัด มาตรา 10/1 ถอนตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นข้อสังเกต

สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม กมธ. ยอมตัด มาตรา 10/1 ถอนตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นข้อสังเกต

31 มีนาคม 2017


เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบผ่าน ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่) พ.ศ. ….
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่) พ.ศ. ….

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่) พ.ศ. …. ในวาระที่ 2-3 ด้วยคะแนนเสียง 227 ไม่เห็นชอบ 3 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญยอมตัดมาตรา 10/1 ว่าด้วยการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ออก และบันทึกไว้เป็นข้อสังเกตของร่างกฎหมายฉบับนี้ จากนั้นที่ประชุม สนช. และคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ร่วมกันกำหนดข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป โดยมีรายละเอียดดังนี้ คือ “ในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการเพิ่มระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจ้างบริการ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งการบริหารจัดการตามระบบที่เกิดขึ้นใหม่ทั้ง 2 ระบบนี้ จะมีความแตกต่างจากระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือระบบอื่นใดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการดำเนินการตามระบบที่เพิ่มขึ้นใหม่จะมีผลทำให้รัฐมีกรรมสิทธิ์ในการผลิตปิโตรเลียมไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด รัฐจึงควรจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมนั้นให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยเร็ว ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาภายใน 60 วัน ทั้งนี้เพื่อพิจารณาศึกษารายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปีต่อไป”

พล.อ. สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้มีทางเลือกในการนำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือระบบสัญญาจ้างบริการมาใช้ในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียม นอกเหนือไปจากระบบสัมปทานภายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อบริหารจัดการระบบแบ่งปันผลผลิตตามที่กำหนดในร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ ยืนยันคณะกรรมาธิการวิสามัญไม่มีแนวความคิดที่จะให้กรมการพลังงานทหารหรือนายทหารเข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติตามที่ปรากฏเป็นข่าว และยอมรับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านพลังงานจำนวนมาก ในร่างกฎหมายฉบับใหม่จึงกำหนดว่าจะจัดตั้งได้ก็ต่อเมื่อมีความพร้อม

ด้านนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ สมาชิก สนช. อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวอภิปรายถึงรูปแบบของบรรษัทแห่งชาติทั่วโลกว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมเพื่อเปิดทางเลือกให้รัฐบาลได้มีกลไกในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียม นอกจากระบบสัมปทานแล้ว ยังมีระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบสัญญาบริการ แต่ไม่ได้หมายความว่าระบบสัมปทานที่ใช้ในหลายประเทศไม่ดี ทุกสิ่งทุกอย่างมีทั้งข้อดีข้อเสีย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเทศและช่วงจังหวะเวลาที่แตกต่างกัน

นายประเสริฐกล่าวถึงการศึกษารูปแบบของ NOC ว่าจะมีลักษณะของการเป็นเจ้าของทรัพยากร, ผู้ให้สิทธิสัมปทาน, ผู้กำกับดูแล และนักลงทุน รูปแบบที่ 1 การบริหารจัดการทั้งหมดเป็นของรัฐ 100% ตั้งแต่ให้สัมปทาน กำกับดูแล และลงทุน เช่น ซาอุดีอาระเบีย เวเนซุเอลา มาเลเซีย เม็กซิโก แอลจีเรีย อินเดีย ก่อนการปฏิรูปจะใช้รูปแบบนี้ทุกขั้นตอนมีอำนาจเบ็ดเสร็จ

รูปแบบที่ 2 มีการแยกอำนาจการให้สัมปทานและการถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียม แต่การกำกับดูแลและการบริหารอยู่ที่ NOC เช่น เมียนมา

รูปแบบที่ 3 แยกอำนาจการกำกับและการให้สัมปทาน และการเป็นผู้ปฏิบัติ (Operator) ออกจากกัน แต่ภาครัฐยังเป็นผู้พิจารณาให้สัมปทานและกำหนดนโยบายในการกำกับดูแล เช่น อินโดนีเซีย ก่อนการปฏิรูป ส่วนแอลจีเรียหลังปฏิรูปก็มาอยู่ในระบบนี้

รูปแบบที่ 4 รัฐไม่จำเป็นต้องถือหุ้น NOC ทั้งหมด แต่อาจจะถือบางส่วน และส่วนใหญ่นำหุ้นไปขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น ปิโตรนาสของบราซิล สแตทออยล์ของนอร์เวย์ ก๊าซพรอมของรัสเซีย ปตท.สผ. ของไทย ปิโตรไชน่าของจีน เป็นต้น

“ข้อดีของรูปแบบที่ 1, 2 และ 3 คือสามารถบริหารได้เต็มที่ ผลประโยชน์เป็นของรัฐ 100% แต่ข้อเสีย คือขาดความคล่องตัว ขาดประสิทธิภาพ ขาดเงินทุน ขาดการพัฒนาเทคโนโลยี ขาดความโปร่งใสหรือธรรมาภิบาล เพราะการกำกับดูแลและการปฏิบัติรวมอยู่ด้วยกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่มีบางประเทศล้มเหลว เช่น เวเนซุเอลา เม็กซิโก ส่วนปิโตรนาสของมาเลเซีย เป็น NOC ที่รัฐบาลถือหุ้น 100% รายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี ทำทุกอย่างตั้งแต่กำกับดูแล การให้สัมปทาน ไปจนถึงเป็นผู้ผลิต และเป็นเจ้าของทรัพยากรของประเทศ แต่สิ่งที่ปิโตรนาสพยายามลดความไม่คล่องตัว คือ การนำธุรกิจท่อและธุรกิจค้าปลีกน้ำมันไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นใช้วิธีร่วมทุนกับบริษัทข้ามชาติ ดังนั้น แนวโน้มของ NOC ทั่วโลกกำลังเคลื่อนจากรูปแบบที่ 1, 2, 3 มาสู่รูปแบบที่ 4 ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทน้ำมันชั้นนำของโลกมีขนาดที่ใหญ่และมีแหล่งทุนเพียงพอที่จะออกไปหาแหล่งพลังงานมาใช้ในประเทศได้”

ด้านนายเจน นำชัยศิริ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้นำมาตรา 10/1 ว่าด้วยการจัดตั้ง NOC ซึ่งมีข้อความแค่ 3 บรรทัด มาใส่ไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ควรจะแยกออกเป็นข้อสังเกตของ สนช. เพื่อยกร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับ เพราะเท่าที่ตนเคยศึกษา พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรหลายฉบับ ส่วนใหญ่จะมีการกำหนดโครงสร้างองค์กร อำนาจหน้าที่ หลักการ และวัตถุประสงค์ เอาไว้อย่างชัดเจน แต่ข้อความในมาตรา 10/1 มีแค่ 3 บรรทัด จึงเป็นที่มาของข้อถกเถียง คิดกันไปจนถึงขั้นที่ว่าจะมีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาผูกขาดทรัพยากรปิโตรเลียม ดึงบริษัทจดทะเบียนออกจากตลาดหลักทรัพย์ และส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ดังนั้นผมจึงไม่สามารถที่จะปล่อยความไม่ชัดเจนดังกล่าวออกมาเป็นกฎหมายได้

“เท่าที่อ่านข้อความในมาตรา 10 สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมของหน่วยงานรัฐที่จะมาดูแลระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างบริการ จึงจำเป็นต้องตั้ง NOC ขึ้นมา สาเหตุที่ไม่พร้อมเพราะที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ระบบสัมปทานมาโดยตลอด ซึ่งระบบสัมปทานคือการโอนความเสี่ยงไปให้ผู้ลงทุน รัฐบาลไม่มีความเสี่ยง ผลตอบแทนก็ต้องต่ำเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าอยากได้ผลตอบแทนสูงขึ้น ก็ต้องลงทุนลงแรงมากขึ้น ถามว่าวันนี้ภาครัฐสามารถลงทุนลงแรงมากว่าเดิมได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยทำ การบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมมีทางเลือกเดียวคือให้สัมปทาน ยกความเสี่ยงไปให้ผู้ลงทุน แต่วันนี้มีทางเลือกใหม่แล้ว ก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องไปศึกษาหารูปแบบองค์กรที่มีความเหมาะสม มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี ทัดเทียมบริษัทข้ามชาติทั้งหลาย ไม่ให้เอาเปรียบประเทศไทย เมื่อศึกษาเสร็จเรียบร้อย ผมคิดว่าควรจะยกร่างกฎหมายจัดตั้ง NOC ออกมาอีกต่างหาก” นายเจนกล่าว

จากนั้น ประธานที่ประชุมได้ให้ผู้อภิปรายรายอื่นๆ แสดงความเห็น ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการนำข้อความในมาตรา 10/1 มาอยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะไม่มีความชัดเจน นายสมชาย แสวงการ วิป สนช. จึงเสนอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ ตัดมาตรา 10/1 ออกไปใส่ไว้เป็นข้อสังเกต ขณะที่ พล.อ. สกนธ์ เกรงว่า หากนำข้อความในมาตรา 10/1 ไปเขียนไว้เป็นข้อสังเกตและแนวคิดในการจัดตั้ง NOC จะไม่นำไปสู่การศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ส่วน พล.อ. สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมายืนยันต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญว่ากระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังพร้อมที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงเสนอให้ที่ประชุมร่วมกันยกร่างข้อสังเกต และทำหนังสือถึงรัฐบาล ให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นศึกษารูปแบบและโครงสร้างของ NOC ภายใน 60 วัน และทำการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หรือ อย่างน้อยก่อนที่จะมีเปิดประมูลการปิโตรเลียมรอบใหม่จากนั้นคณะกรรมาธิการจึงยอมตัดมาตรา 10/1 ออก เพื่อให้กระบวนการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้เดินหน้าต่อไป

เวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่ศาลแพ่งนำหมายศาลติดประกาศหน้าประตูทางเข้า-ออก หน้าอาคารรัฐสภา

สำหรับบรรยายกาศในช่วงเช้า มีเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่มีนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เป็นแกนนำ มาชุมนุมบริเวณด้านหน้ารัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ต่อนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. และนายสมชาย แสวงการ วิป สนช. โดยขอให้นำร่างกฎหมายฉบับนี้กลับไปแปรญัตติแก้ไขใหม่ตามข้อเสนอของ คปพ. 4 ข้อ คือ 1. ก่อนที่จะมีการประมูลผลิตปิโตรเลียมในระบบแบ่งปันผลผลิตหรือการจ้างผลิต ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้แล้วเสร็จเสียก่อน เพื่อดำเนินการบริหารและขายปิโตรเลียมในส่วนของรัฐให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม 2. ขอให้ระบุให้ชัดเจนในระบบแบ่งปันผลผลิตว่า ให้ใช้วิธีการประมูลแข่งขันการเสนอส่วนแบ่งปิโตรเลียมให้แก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ ในขณะที่ระบบการจ้างผลิตให้ใช้วิธีการประมูลแข่งขันค่าจ้างขั้นต่ำสุดเป็นเกณฑ์ 3. แก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ให้สอดคล้องกับรายงานผลการพิจารณาศึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ 4. ให้มีมาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งทางตรงและทางอ้อมของข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

จากนั้นนายปานเทพได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ากลุ่มผู้ชุมนุมกำลังทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ นายปานเทพจึงนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยเคลื่อนขบวนไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

จากนั้นในเวลา 18.30 น. มีเจ้าหน้าที่ศาลแพ่งนำหมายจากศาลแพ่ง 8 ฉบับมาติดประกาศที่หน้าประตูทางเข้า-ออก อาคารรัฐสภา ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิตไปยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้ดำเนินคดีกับแกนนำ คปพ. 10 คน ข้อหาละเมิด พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ โดยศาลแพ่งนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 3 เมษายน 2560 เวลา 09.30 น. ทั้งนี้ แกนนำทั้ง 10 คนประกอบด้วย นายหาญยิ่ง รัตนทุมมาพร เป็นผู้จัดการชุมนุมที่ 1, นายสรรพฤทธิ์ สันต์ทัศน์ธาร ผู้จัดการชุมนุมที่ 2, นายกมล ตันธนะศิริวงศ์ ผู้จัดการชุมนุมที่ 3, นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ผู้จัดการชุมนุมที่ 4, นางบุษมาศ รักสนาม ผู้จัดการชุมนุมที่ 5, พล.อ. กิตติศักดิ์ รัตนประเสริฐ ผู้จัดการชุมนุมที่ 6, นางบุญถิ่น ศิริธรรม ผู้จัดการชุมนุมที่ 7, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้จัดการชุมนุมที่ 8, พ.ท. พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ผู้จัดการชุมนุมที่ 9 และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้จัดการชุมนุมที่ 10