ThaiPublica > เกาะกระแส > 10 อันดับเรื่องร้องทุกข์ให้ “รัฐบาลประยุทธ์” ช่วยแก้มากสุด “หนี้-บ่อน-หวย” มาครบ – เผย 1 ปี ร้องทุกข์ 1.45 แสนเรื่อง

10 อันดับเรื่องร้องทุกข์ให้ “รัฐบาลประยุทธ์” ช่วยแก้มากสุด “หนี้-บ่อน-หวย” มาครบ – เผย 1 ปี ร้องทุกข์ 1.45 แสนเรื่อง

11 ธันวาคม 2015


1111เว็บไซต์
หน้าแรกของเว็บไซต์ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลเพื่อประชาชน www.1111.go.th

หลังจากที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดให้ประชาชนร้องเรียนเหตุเดือดร้อนต่างๆ ผ่าน “ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลเพื่อประชาชน” ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ใน 4 ช่องทางหลัก ได้แก่ สายด่วน 1111, เว็บไซต์ www.1111.go.th, ไปรษณีย์ ตู้ ปณ.1111 และจุดบริการประชาชน เพื่อที่จะได้นำเรื่องราวร้องทุกข์ดังกล่าวไปแก้ปัญหา

ผลปรากฏว่า ในปีงบประมาณ 2558 (ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 – เดือนกันยายน 2558) มีประชาชนใช้ช่องทางร้องเรียนถึงศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ฯ ผ่านสายด่วน 1111 มากที่สุด 1.8 แสนครั้ง เว็บไซต์ 2 หมื่นครั้ง ไปรษณีย์ 1.7 หมื่นครั้ง จุดบริการประชาชน 9 พันครั้ง และผ่าน คสช. กว่า 1 พันครั้ง

จากสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และเสนอความคิดเห็น ในปีงบประมาณ 2558 พบว่าประชาชนแจ้งเรื่องร้องทุกข์และเสนอความคิดเห็นต่อนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงของประเทศผ่านช่องทางต่างๆ ในประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

จำนวนเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งหมด มี 145,460 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้ว 130,470 เรื่อง คิดเป็น 91.07% และยังอยู่ระหว่างดำเนินการ 12,990 เรื่อง คิดเป็น 8.93%

โดยเรื่องราวที่มีการร้องทุกข์เข้ามา มากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่

  1. เหตุเดือดร้อนรำคาญ จำนวน 19,012 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 18,056 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 956 เรื่อง)
  2. หนี้สินนอกระบบ จำนวน 7,496 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 6,484 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 1,012 เรื่อง)
  3. ยาเสพติด จำนวน 6,949 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 6,836 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 113 เรื่อง)
  4. บ่อนการพนัน จำนวน 6,287 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 6,204 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 83 เรื่อง)
  5. ผลกระทบจากนโยบายและโครงการของรัฐ จำนวน 6,048 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 5,663 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 385 เรื่อง)
  6. ไฟฟ้า จำนวน 4,564 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 4,356 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 208 เรื่อง)
  7. กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องถิ่นทุจริต จำนวน 3,839 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 3,635 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 204 เรื่อง)
  8. ถนน จำนวน 3,340 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 3,048 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 292 เรื่อง)
  9. น้ำประปา จำนวน 2,737 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 2,559 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 178 เรื่อง)
  10. สลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 2,530 เรื่อง (ดำเนินการจนได้ข้อยุติทั้งสิ้น 2,433 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 97 เรื่อง)
1111ไปรษณีย์
การส่งไปรษณียบัตรมายังตู้ ปณ. 1111 ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการยื่นเรื่องราวร้องทุกข์

แหล่งข่าวจาก สปน. กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการหลังได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านทั้ง 4 ช่องดังกล่าว ก่อนอื่นจะดูก่อนว่าเรื่องราวร้องทุกข์ที่ยื่นเข้ามานั้น มีข้อมูลเพียงพอที่จะดำเนินการต่อหรือไม่ หากพบว่ามีไม่เพียงพอ เช่น เป็นเพียงบัตรสนเท่ห์ ก็ต้องพิจารณาว่าจะยุติเรื่อง หรือส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ต้องการข้อมูลที่ชัดเจนในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด เพราะอาจเป็นการกลั่นแกล้งหรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงได้

“เท่าที่พบเรื่องราวร้องทุกข์ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของรัฐบาล ซึ่งหลายเรื่องเมื่อได้ชี้แจงทำความเข้าใจ ผู้ที่ยื่นคำร้องทุกข์ก็ไม่ติดใจจะดำเนินการต่อ เช่น กรณีไม่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงเงื่อนไขการได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ หลายคนก็พอใจและไม่ติดใจจะดำเนินการต่อ”

แหล่งข่าวยังกล่าวถึงเส้นทางของเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ ว่า เมื่อประชาชนยื่นคำร้องเข้ามา เจ้าหน้าที่จะบันทึกลงในระบบ หากพิจารณาแล้วมีข้อมูลเพียงพอที่จะดำเนินการต่อได้ ก็จะส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข เมื่อดำเนินการเสร็จก็จะแจ้งกลับมายังศูนย์ฯ รวมถึงแจ้งไปยังผู้ที่ยื่นคำร้องเข้ามาด้วย แต่หากดำเนินการล่าช้า ทางศูนย์ฯ ก็จะติดตามทวงถามไปว่ามีความคืบหน้าไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว

“แต่ไม่ใช่ว่าพอร้องทุกข์เข้ามาแล้ว หลายเรื่องจะได้ตามที่ต้องการ เพราะบางเรื่องนั้นเกินกว่าที่หน่วยงานราชการจะแก้ปัญหาได้ เช่น ขอให้ได้ที่ดินทำกินในที่ดินของรัฐ ขอให้ช่วยล้างหนี้สินนอกระบบ เป็นต้น”

แหล่งข่าวยังกล่าวว่า ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีการเพิ่งช่องทางให้ประชาชนได้ยื่นเรื่องราวร้องทุกข์อีกช่องทางหนึ่ง นั่นคือผ่าน mobile application ทำให้ศูนย์ฯ มีช่องทางในการร้องทุกข์รวมเป็น 5 ช่องทางแล้ว

ผู้สื่อข่าวได้ลองทดสอบร้องทุกข์ผ่านเว็บไซต์ www.1111.go.th พบว่าเมื่อเข้าไปในเมนู “ร้องเรียน/ร้องทุกข์” จะมีขั้นตอนในการยื่นคำร้องอยู่ 5 ขั้นตอน

  • ระบบจะบังคับให้ลงทะเบียน โดยใส่ชื่อ-นามสกุลจริง เลขที่บัตรประชาชน อีเมล รวมถึงรหัสผ่าน โดยจะมีการแจ้งยืนยันการลงทะเบียนผ่านอีเมลที่ให้ไว้
  • เมื่อลงทะเบียนเสร็จ และเข้าสู่ระบบ ระบบจะถามว่าเป็น “ผู้แจ้งเหตุ” หรือ “ผู้เดือดร้อน”
  • ขั้นต่อไป ระบบจะให้ใส่ “ข้อมูลผู้เดือดร้อน” อย่างละเอียด ทั้งชื่อ-นามสกุลจริง ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ (อย่างไรก็ตาม สามารถเลือกไม่ใส่ข้อมูลผู้เดือดร้อนได้)
  • จากนั้น กรอกรายละเอียด “ประเภทเรื่องร้องเรียน” โดยมีเมนูให้เลือกเบื้องต้น 7 เมนู ประกอบด้วย สังคมและสวัสดิการ เศรษฐกิจ การเมือง-การปกครอง กฎหมาย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การร้องเรียนกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ก่อนจะใส่รายละเอียดการร้องเรียน รวมถึงสถานที่เกิดเหตุและวันที่เกิดเหตุ
  • ท้ายสุด คลิก “ส่งเรื่อง” เข้าสู่ระบบ

ทั้งนี้ เมื่อส่งคำร้องเข้าไปแล้ว จะสามารถติดตามความคืบหน้าได้ผ่านเมนู “ติดตามเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์” โดยจะมีการระบุรหัสเรื่อง รายละเอียดของเรื่องทั้งหมด ไปจนถึงสรุปผลการพิจารณาเรื่อง