ThaiPublica > คนในข่าว > อาบู บักห์ดาดี “บิน ลาเดนคนใหม่”

อาบู บักห์ดาดี “บิน ลาเดนคนใหม่”

17 มิถุนายน 2014


อิสรนันท์

ตัวอย่างของสัจธรรมที่ว่า “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นคืนสนอง” ก็ย้อนกลับมาให้เห็นกับตาอีกครั้ง เมื่อจู่ๆ พลันปรากฏข่าวใหญ่ว่ากลุ่มติดอาวุธอิสลามที่มีหลายชื่อเรียกด้วยกัน อาทิ รัฐอิสลามแห่งอิรักและมหาซีเรีย (ไอเอสไอเอส) หรือกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและเลอแวนต์ (ไอเอสไอแอล) หรือกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและดินแดนตะวันออก หรือกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและอัล ชาม (ซึ่งหมายถึงซีเรีย) หรือกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและชาม นาชีด ซึ่งเป็นมูจาฮีดีนจากอิรักภายใต้ร่มธงของกลุ่มอัลไกดา สามารถบุกยึดเมืองใหญ่น้อยของอดีตแดนดินแห่งอาหรับราตรีได้ปานสายฟ้าแล่บไม่ว่าจะเป็นเมืองฟัลลูจาห์ เมืองใหญ่อันดับเจ็ดทางตะวันตกของอิรัก เมืองโมซุล เมืองใหญ่อันดับสอง เมืองทิกริต บ้านเกิดของอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน และกำลังบ่ายหน้าสู่กรุงแบกแดด ทำให้ประชาชนหลายแสนต้องหลบหนีออกไปจากเมือง ทำเอาเนียบขาวตะลึงงันไปทั่วเพราะมัวแต่ทำสงครามการเมืองในยูเครน จู่ๆ ก็ถูกตีตลบหลังในดินแดนที่ตัวเองเคยยาตราทัพใหญ่ยึดครองเป็นเมืองขึ้นยุคใหม่นานถึง 8 ปีก่อนจะถอนทหารคนสุดท้ายออกจากอิรักเมื่อปี 2554

การปรากฏตัวของกลุ่มไอเอสไอเอสเท่ากับตบหน้าแดนดินถิ่นอินทรีผยองอเมริกาเข้าฉาดใหญ่ เพราะเห็นได้ชัดว่าเป็นผลพวงจากความผิดพลาดของรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่เคยประกาศอย่างอหังการ์ว่าสงครามเป็นหนทางสร้างต้นแบบประชาธิปไตยในตะวันออกกลาง แต่แล้วสหรัฐฯ ก็ติดหล่มสงครามซ้ำสาม ตามรอยการติดหล่มสงครามในเวียดนามและอัฟกานิสถาน หนำซ้ำส่อเค้าว่าหล่มนี้จะลึกกว่าเก่าเสียอีก แต่เพื่อจะรักษาหน้าตัวเองไว้ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องปกป้องผลประโยชน์ทุกเม็ดของสหรัฐฯ ในอิรักแล้วยังต้องช่วยอุ้มชูรัฐบาลนูรี อัล มาลิกิ นายกรัฐมนตรีที่ตัวเองปั้นมากับมือ แต่การช่วยครั้งนี้เป็นการช่วยแบบคนขี้ขลาด โอบามาไม่กล้าส่งทหารภาคพื้นดินไปกวาดล้างโดยตรง แต่จะส่งโดรนหรือเครื่องบินไร้คนขับไปทิ้งระเบิดแทน ผสานกับการระดมยิงขีปนาวุธจากเรือบรรทุกเครื่องบินจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช ที่สามารถบรรทุกเครื่องบินรบได้หลายสิบลำ

ไอเอสไอเอสหรือไอเอสไอแอล เป็นกลุ่มติดอาวุธของอิสลามนิกายสุหนี่ มีเป้าหมายจะตั้งรัฐอิสลามที่ปกครองด้วยกฎหมายอิสลามขึ้นที่อิรักและซีเรีย ว่าไปแล้วกลุ่มนี้ก็เหมือนกับนกฟีนิกซ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางขี้เถ้าของสงครามที่สหรัฐฯ ยาตราทัพล้มรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน เมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว โดยในตอนแรกรู้จักกันในชื่อกลุ่มอัลไกดาแห่งอิรัก (เอคิวไอ) ซึ่งมีแต่แข็งแกร่งมากขึ้นตามลำดับช่วงที่ทหารมะกันเปิดฉากกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายครั้งใหญ่ระหว่างปี 2549-2550 ก่อนจะค่อยๆ ซาลงไป แต่หลังจากสหรัฐถอนทหารออกไป กลุ่มนี้ก็เริ่มปรากฏโฉมอีกครั้งหนึ่ง โดยเป้าหมายใหญ่ก็คือรัฐบาลมาลิกิที่เป็นมุสลิมชีอะฮ์ จากรายงานของสหประชาชาติระบุว่าศึก 2 นิกายเมื่อปีที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 8,000 คน ทำให้กลายเป็นปีที่นองเลือดมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

แรกเริ่มเดิมที ผู้ก่อตั้งกลุ่มเอคิวไอก็คืออาบู มูซาบ อัล ซาร์กาวี ชาวอาหรับเชื้อสายจอร์แดน ซึ่งเริ่มโด่งดังเป็นที่รู้จักหลังจากสหรัฐฯ บุกอิรักเมื่อปี 2546 โดยซาร์กาวีเป็นผู้นำกองกำลังอาสาสมัครในเมืองเฮรัต อัฟกานิสถาน ก่อนจะหนีข้ามแดนมาที่ตอนเหนือของอิรัก แล้วเข้าร่วมกับกลุ่มอันซาร์ อัล อิสลาม หรือกลุ่มสหายร่วมรบแห่งอิสลาม ซึ่งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวเคิร์ดในอิรัก ก่อนหน้าจะบุกอิรัก สหรัฐฯ ได้รายงานต่อสหประชาชาติว่ากลุ่มเอคิวไอเป็นพวกเดียวกับกลุ่มอัลไกดา ของโอซามา บิน ลาเดน แต่จริงๆ แล้วซาร์กาวีเพิ่งจะประกาศว่ายอมรับฟังคำสั่งของผู้นำอัลไกดา เมื่อเดือนตุลาคม 2547 ในเดือนเดียวกันนั้น กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ​ได้ขึ้นบัญชีดำกลุ่มเอคิวไอว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย

จากรายงานของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศเมื่อปี 2554 ระบุว่าซาร์กาวีได้วางแผนบันได 4 ขั้นหมายพิชิตกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ ประกอบด้วยการโดดเดี่ยวทหารอเมริกัน โดยการพุ่งเป้าโจมตีฝ่ายพันธมิตร ยุยงให้ชาวอิรักเลิกร่วมมือ ด้วยการโจมตีระบบสาธารณูปโภคของรัฐบาลและข้าราชการเป็นรายบุคคล เสริมสร้างสมรรถภาพของตัวเองด้วยการโจมตีบริษัทรับช่วงการก่อสร้างที่เป็นพลเรือนและคนงาน สุดท้ายก็คือดึงทหารสหรัฐฯ ให้ติดหล่มสงครามกลางเมืองสุหนี่-ชีอะฮ์ด้วยการมุ่งโจมตีชีอะฮ์

ตอนแรกนักรบของเอคิวไอมาจากเครือข่ายของซาร์กาวีในปากีสถานและอัฟกานิสถาน แต่ภายหลังได้รวมตัวเข้ากับอาสาสมัครจากซีเรีย อิรัก และประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างนั้นบิน ลาเดน และไอย์มาน ซาวาห์รี ผู้นำหมายเลขสองเริ่มไม่สบายใจกรณีที่ซาร์กาวีมุ่งเปิดศึก 2 นิกายพร้อมกับแนะนำให้ยุติการโจมตีชีอะฮ์ แต่ซาร์กาวีไม่ฟังคำสั่งนั้่น อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนสำคัญของไอคิวไอมาถึงเมื่อซาร์กาวีเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐเมื่อปลายปี 2549 โดยอาบู ไอย์ยุบ อัล มัสรี ผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิดชาวอิยิปต์ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำเอคิวไอแทน และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นรัฐอิสลามแห่งอิรัก (ไอเอสไอ) ก่อนจะเติมว่าซีเรียในภายหลัง ต่อมาก็ได้ประกาศสนับสนุนอาบู บาคร์ อัล บักห์ดาดี ขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นที่สาม และก็กลายเป็นพยัคฆ์ติดปีกที่สามารถเขย่าทำเนียบขาวจนสั่นคลอน จนได้รับยกย่องว่าเป็นผู้นำญิฮัดที่โดดเด่นที่สุดในศตวรรษที่ 21 จนแทบทาบบารมีของโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มติดอาวุธอัลไกดา

ที่มาภาพ : http://i.telegraph.co.uk/multimedia/archive/02788/Abu_Bakr_al-Baghda_2788160b.jpg
ที่มาภาพ : http://i.telegraph.co.uk/multimedia/archive/02788/Abu_Bakr_al-Baghda_2788160b.jpg

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์และการ์เดียนได้เอ่ยถึงประวัติตอนหนึ่งของอาบู บาคร์ อัล บักห์ดาดี อัล กูราชิ อัล ฮุสเซนี อันเป็นชื่อจัดตั้งของอาบู ดูอา อิบรอฮิม บิน อาวัด บิน อิบรอฮิม อัล บาดรี อาร์-ราดาวี อัล ฮุสเซนนี อัส ซามาราอี ซึ่งสหรัฐฯ​เชื่อว่ากบดานอยู่ในซีเรียว่าเกิดในครอบครัวเคร่งศาสนาในเมืองซามาราในอิรักเมื่อปี 2514 โดยสืบเชื้อสายโดยตรงมาจากศาสดาโมฮัมหมัด จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก รวดเดียวที่ศูนย์ศึกษาอิสลาม (กวีและประวัติศาสตร์อิสลาม) ที่มหาวิทยาลัยแบกแดด จากนั้นได้ยึดอาชีพเดียวกับลุงและพี่น้องที่เป็นชายนั่นก็คือเป็นนักวิชาการควบคู่ไปกับการเป็นครูสอนศาสนาที่เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมและกฎหมายอิสลาม ตอนที่สหรัฐฯ บุกยึดอิรักเมื่อปี 2546 อาบู บักห์ดาดี ก็ถูกลากไปเป็นพลพรรคกลุ่มอัลไกดาแห่งอิรัก ใต้การนำของอาบู มูซาบ อัล ซาร์กาวี ผลงานแรกก็คือขโมยเครื่องบินรบต่างชาติมาที่อิรัก จากนั้นก็เป็นหนึ่งในนักวางแผนยุทธศาสตร์สำคัญโดยเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการทำสงครามทุกรูปแบบทั้งสงครามในเมืองและสงครามกองโจร กระทั่งได้เป็น “อามีร์” แห่งราวา ซึ่งอยู่ติดชายแดนซีเรีย และได้เริ่มตั้งศาลศาสนาขึ้น จนมีชื่อลือเลื่องในเรื่องความโหดเหี้ยมว่าใครก็ตามที่ต้องสงสัยว่าช่วยเหลือทหารอเมริกันก็จะถูกประหารชีวิตกลางที่สาธารณะ

อย่างไรก็ดี อาบู บักห์ดาดี ถูกทหารอเมริกันจับกุมเมื่อปี 2548 และกลายเป็นนักโทษที่ค่ายบัคคา ค่ายใหญ่สุดที่ตั้งอยู่กลางทะเลทรายเป็นเวลาถึง 4 ปี ภายในแคมป์บัคคา เป็นที่กักขังนักโทษมากถึง 26,000 คน ในจำนวนนี้หลายคนเป็นพวกหัวรุนแรงหรือผู้นำกลุ่มต่างๆ ที่ต่อต้านทหารอเมริกัน นักโทษส่วนใหญ่ต่างให้การว่าเป็นแคมป์ที่โหดมาก แต่เนื่องจากนักโทษมาจากที่ต่างๆ และส่วนใหญ่ล้วนแต่ผ่านสมรภูมิรบมาอย่างดุเดือด

ท้ายสุด แคมป์บัคคาก็กลายเป็นสถาบันฝึกสอนการก่อการร้ายอย่างลับๆ ที่บริหารโดยนักโทษหัวรุนแรง ต่อมา สหรัฐฯ มีแผนจะทยอยปิดค่ายขังนักโทษ โดยทยอยปล่อยนักโทษทีละพันคนในทุกๆ เดือนจนปิดค่ายในเดือนกันยายน 2552 นักโทษบางคนจะถูกฟ้องตามกระบวนการยุติธรรมอิรัก แต่ส่วนใหญ่ปล่อยตัวโดยไม่มีการฟ้องร้องใดๆ ในจำนวนนี้รวมไปถึงอาบู บักห์ดาดี ด้วย ซึ่งเปลี่ยนไปนิยมความรุนแรงมากขึ้น

เมื่อได้รับอิสรภาพแล้ว ชื่อเสียงของอาบู บักห์ดาดีก็ยิ่งโด่งดังมากขึ้นจากการนำนักรบสุหนี่มุ่งโจมตีทหารอเมริกันและศัตรูต่างนิกายด้วยระเบิดพลีชีพ ลักพาตัว และฆาตกรรม กระทั่งได้รับการสนับสนุนจากอัล มัสรี ให้ขึ้นมาเป็นอามีร์รุ่นที่สามของไอเอสไอ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553 ขณะที่มีอายุ 39 ปีเท่านั้น แต่อาบู บักห์ดาดี ก็ยังไม่ยอมรับตำแหน่งในทันที โดยขอเวลาพิสูจน์ตัวเองก่อนจนกระทั่งคิดว่ามีค่าคู่ควรพอที่จะรับตำแหน่งแล้ว จึงค่อยยอมก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุด ต่อมาในปี 2555 กลุ่มอัลไกดาแห่งอิรักได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นไอเอสไอเอสหรือไอเอสไอแอล สะท้อนถึงความทะเยอทะยานที่จะขยายแนวรบข้ามพรมแดนไปยังซีเรีย เพื่อท้าทายรัฐบาลบาซาร์ อัสซาด แต่แล้วก็เกิดขัดแย้งอย่างหนักถึงขั้นแตกหักกับผู้นำอัลไกดาเมื่อกลางปี 2556 จึงฉีกตัวเองมาตั้่งกลุ่มใหม่ของตัวเองชื่อกลุ่มจามัต จาอิช อาห์ลี ซุนนาห์ วา อัล จามัต ปฏิบัติการในพื้นที่แถบเมืองซามารา ดิยาลา และแบกแดด รวมทั้งยังเป็นประธานคณะกรรมการศาสนาแห่งจามัต นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการก่อตั้งและสนับสนุนมัจลิส ชูรา อัล มูจาฮีดีน และกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักในฐานะสมาชิกของอัล ชูรา และหลังจากต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันเป็นเวลา 8 เดือน กลุ่มอัลไกดาได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดกับไอเอสไอเอสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557

เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำไอเอสไอเอส อาบู บักห์ดาดี ได้พลิกกลยุทธ์ใหม่ คือ ในขณะที่ไอย์มาน ซาวาห์รี เป็นผู้นำอัลไกดาต่อจากบิน ลาเดน มานานราว 10 ปีแล้วแต่กลับไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน นานๆ ครั้งจึงจะมีแถลงการณ์และวิดิโอทางออนไลน์จากที่กบดานตามรอยตะเข็บชายแดนอัฟกานิสถาน-ปากีสถาน ผิดกับอาบู บักห์ดาดี ที่เปิดตัวอย่างเปิดเผยในช่วงจังหวะที่เหมาะสมที่สุดนั่นก็คือ

ขณะที่กำลังเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในซีเรียและขณะที่เกิดสุญญากาศในอิรักหลังทหารอเมริกันคนสุดท้ายเดินทางออกจากประเทศนี้ ระหว่างนั้นไอเอสไอเอสได้ระดมอาสาสมัครจำนวนมากพร้อมทั้งตะลุยยึดเมืองต่างๆ รวมทั้งฆ่าคนอย่างไร้ความปราณีตลอดแนวรบในอิรักและซีเรีย สามารถยึดอาวุธจำนวนมากที่สหรัฐฯ ทิ้งไว้ให้กับหน่วยรักษาความมั่นคงของอิรัก จากนั้นก็ตั้งตัวเองเป็นอามีร์แห่งไอเอสไอเอสและเริ่มบดบังรัศมีของซาวาห์รีหรืออีกนัยหนึ่งอัลไกดาจนแทบไม่เหลือรัศมีใดๆ

แดเนียล เคอร์เซอร์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอิสราเอลและอียิปต์ ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำศูนย์ศึกษานโยบายตะวันออกกลางอัล ชาม (ซีเรีย) ให้ความเห็นว่าปฏิบัติการของไอเอสไอเอสครั้งนี้กำลังคุกคามเสถียรภาพทั่วตะวันออกกลาง

จนถึงขณะนี้ แม้กระทั่งหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ อย่างซีไอเอก็ยังไม่สามารถสืบทราบได้ว่าไอเอสไอเอสมีกำลังมากน้อยแค่ไหนกันแน่ ขณะที่ไอเอสไอเอสเองได้พยายามระดมคนจากทั่วทุกสารทิศ ผ่านการประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้ออกนิตยสารชวนเชื่อฉบับภาษาอังกฤษสองฉบับ นอกเหนือจากปล่อยคลิปวิดีโอเป็นภาษาอังกฤษ หรือทำซับไตเติลภาษาอังกฤษ จนมีนักรบญิฮัดหลั่งไหลไปร่วมรบกับไอเอสไอเอสมากขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มกำลังจากเดิมที่คาดว่ามีอยู่ราว 7,000-8,000 คน เป็นราว 12,000 คน ในจำนวนนี้มีอาสาสมัครจากตะวันตก อาทิ จากอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และแคบคอเคซัส ราว 3,000 คน ส่วนใหญ่ได้ฝากความหวังอันสูงส่งไว้กับอาบู บักห์ดาดี ว่าจะสามารถสานต่อแผนการของบิน ลาเดน ที่จะตั้งรัฐอิสลามอันยิ่งใหญ่ขึ้น

ที่มาภาพ : http://article.wn.com/view/2013/06/16/AlQaedas_Iraq_head_Abu_Bakr_alBaghdadi_defiant_over_Syria_bi/
ที่มาภาพ : http://article.wn.com/view/2013/06/16/AlQaedas_Iraq_head_Abu_Bakr_alBaghdadi_defiant_over_Syria_bi/

สำหรับทุนก่อการนั้น เชื่อว่าส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากจอร์แดน ซีเรีย และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งให้ทุนสนับสนุนก้อนใหญ่ แต่ทุนใหญ่สุดมาจากการการลักลอบค้าของเถื่อน การเรียกค่าคุ้มครองและอาชญากรรมอื่นๆ ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เฉพาะการเรียกค่าคุ้มครองจากบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง คาดว่าได้มากถึงเดือนละ 8 ล้านดอลลาร์ ด้านที่ปรึกษาการเงินของยูเรเซีย กรุ๊ป ในสหรัฐฯ เผยว่าไอเอสไอเอสอาจจะปล้นธนาคารต่างๆ ในเมืองโมซุลแล้วนำเงินทุนสำรองมาใช้ ส่วนกำลังพลเพิ่มเติมก็มาจากนักโทษราว 2,500 คนที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในท้องถิ่น

ว่ากันว่าความสำเร็จของอาบู บักห์ดาดี ส่วนหนึ่งมาจากการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดของซาร์กาวีที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับผู้นำชนเผ่าหรือผู้นำท้องถิ่น เหตุนี้เมื่อยึดเมืองต่างๆ ได้อย่างเมืองฟัลลูจาห์ แทนที่จะรีบร้อนปักธงดำแสดงถึงชัยชนะ อาบู บักห์ดาดี จะไปพบปะขอความเห็นจากผู้นำท้องถิ่นก่อน จึงได้รับการสนับสนุนด้วยดี และเพื่อจะซื้อใจมวลชนชาวสุหนี่ ทุกครั้งที่ยึดเมืองได้ ไอเอสไอเอสก็จะตั้งโครงการสวัสดิการสังคม มีการแจกจ่ายอาหารและเชื้อเพลิงที่จำเป็นแก่ชาวเมือง นอกเหนือจากตั้งสถานพยาบาลคอยดูแลคนเจ็บป่วย เหนืออื่นใดจะมีกิจกรรมสำหรับเด็กๆ ด้วย มีการแจกของเล่นและจัดวันแห่งความสนุกสนานสำหรับเด็กในช่วงถือศีลอดรอมฎอน ด้วยการแจกอาหารหนักมื้อเย็น ไม่นับรวมถึงการให้บริการรถยนต์โดยสารและโรงเรียนสำหรับเด็กๆ

แต่ในสายตาของสหรัฐฯ และประชาคมโลกผ่านการโฆษณาชวนเชื่อของสื่อตะวันตก ภาพลักษณ์ของอาบู บักห์ดาบี ก็คือภาพของผู้นำกระหายเลือด เลือดเย็น พร้อมเข่นฆ่าสังหารผูัที่ถูกจัดว่าเป็นศัตรูอย่างไร้ความปราณี สหรัฐจึงขึ้นบัญชีดำว่าเป็นผู้ก่อการร้ายที่ต้องการตัวมากที่สุด ขณะที่หนังสือพิมพ์เลอมงด์ของฝรั่งเศสได้ให้ฉายาว่าเป็น “บิน ลาเดน คนใหม่” ส่วนนิตยสารไทมส์กล่าวว่า “เป็นตัวอันตรายมากที่สุดในโลก”

ป้ายคำ :