ThaiPublica > คอลัมน์ > “ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ตอนที่ 3: สภาพสังคม-เศรษฐกินที่เปลี้ยนไป๋

“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” ตอนที่ 3: สภาพสังคม-เศรษฐกินที่เปลี้ยนไป๋

26 ธันวาคม 2013


“ข้อเสนอต่อประเทศไทย” โดย “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเขียนเป็นซีรีส์ 7 ตอนในเฟซบุ๊ก “Banyong Pongpanich”

ในตอน 2 ผมพยายามสรุปว่า ทำไมคนกลุ่มใหญ่ หรือก็คือรากหญ้า ถึงได้ชื่นชม “ระบอบทักษิณ” ทั้งเรื่องที่คุณทักษิณทำ และเรื่องที่เกิดเองโดยกระบวนการ หลายเรื่องก็เกี่ยวพันกัน เช่น โครงการ 30 บาทฯ ที่ทำให้คนจนลดห่วงเรื่องสุขภาพ ประกอบกับรายได้ดีขึ้น สามารถทุ่มทรัพยากรทั้งหลายไปให้กับการศึกษาบุตรธิดา คนจนชนบทส่งลูกหลานเข้าเรียนในเมือง เสร็จแล้วเยาวชนเหล่านี้ก็ไม่ค่อยจะยอมกลับบ้าน (อาจจะติดแสงสีเสียง หรือความสนุก ความสะดวกของเมือง) แต่แปรสภาพเป็น “คนจนเมือง”

เมื่อสองเดือนก่อน ผมได้ไปนั่งฟังการเสนองานวิจัยของโรเบิร์ต ทาวน์เซนด์ (Robert Townsend) แห่ง MIT (เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชนบท ที่มีชื่อเสียงมากของโลก มาทำวิจัยในชนบทไทยกว่า 15 ปี…แต่แปลกใจมาก ที่วันที่ผมไปฟังที่จุฬาฯ มีคนฟัง 10 กว่าคนเอง) ผลที่ได้ทำให้ผมแปลกใจ นั่นคือ เกษตรกรไทยมีรายได้ดีขึ้นมาตลอด มีทุนและความมั่งคั่งสะสมดีทีเดียว มีระบบการเงินแบบไม่เป็นทางการ (informal) ที่ค่อนข้างดี สรุปว่า ดีขึ้นตลอด เรียกได้ว่า “คนจนชนบท” แทบจะหมดไป

เรื่องนี้ ถ้าพิจารณาจากผลิตผลเกษตรที่เพิ่มขึ้นตลอดมา ราคาที่ดีขึ้น ทั้งราคาตลาดโลก ทั้งจากการแทรกแซงของรัฐ ขณะที่จำนวนแรงงานในภาคเกษตรที่คงที่ที่ 14.5 ล้านคนมาร่วม 15 ปี ย่อมแปลได้ว่าผลิตภาพดีขึ้น รายได้ดีขึ้น (นี่เป็นเพียงข้อสังเกตของผม อยากให้มีการวิจัยละเอียดเยอะๆครับ)

ทีนี้ แรงงานที่เพิ่มเกือบ 9 ล้านคน ในช่วง 15 ปีนี้ไปไหน ทำอะไร เป็นอยู่อย่างไร แถมมีแรงงานทะลักเข้าจากเพื่อนบ้านอีก (ประมาณว่ากว่า 4 ล้าน) คำตอบง่ายๆ คือ เข้าเมือง และส่วนใหญ่แปรสภาพเป็น “คนจนเมือง” นั่นคือ มาทำงานที่ไร้ทักษะ เช่น ก่อสร้าง พนักงานขาย งานบริการ ร้านอาหาร โรงแรม หรือโรงงานประเภททักษะต่ำ (labor intensive) และอีกจำนวนมากไปทำงานอิสระนอกระบบ เช่น แผงขายของ หาบเร่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ …ลองหลับตากลับไปนึกภาพกรุงเทพฯ เมื่อ 20 ปีก่อนดูสิครับ ถ้าอยากซื้อสินค้าแผงราคาถูก ก็ต้องบากบั่นไปซอยละลายทรัพย์ หลังแบงก์กรุงเทพ สีลม เท่านั้น หาบเร่แผงลอยก็มีจำกัด เทศกิจโผล่มาทีก็หอบแผงวิ่งหนีจ้าละหวั่น มาวันนี้ แหล่งแผงขายสินค้าราคาถูกมีเป็นพันแหล่ง หาบเร่มีมากกว่าเจ้าหน้าที่เทศกิจเป็นพันเท่า ถ้าจะจับหาบเร่ รับรองต้องขยายคุกอีก 10 เท่า

หาบเร่แผงลอย ที่มาภาพ : http://board.postjung.com/data
หาบเร่แผงลอย ที่มาภาพ : http://board.postjung.com/data

สรุปง่ายๆ สังคมคนจนได้เปลี่ยนได้ย้ายจาก “จนชนบท” มาเป็น “จนเมือง” แต่พอจะอนุมานได้ว่า ความสัมพันธ์ยังใกล้ชิดกัน การเกื้อหนุนยังสูง (ก็เพิ่งเกิดใน generation นี้) เพียงแต่ค่อนข้างกลับข้าง จากการที่แต่ก่อนคนหนุ่มสาวเข้าเมือง หางานทำเพื่อหาเงิน ส่งกลับไปเจือจุนครอบครัวยากไร้ในชนบท เปลี่ยนเป็นคนหนุ่มสาวเข้าเมืองเพื่อการศึกษา เพื่อสร้างเพื่อหาโอกาสที่ดี (ที่คว้าไม่เจอเสียที) ในระหว่างนั้น ครอบครัวชนบทก็ช่วยลงทุนให้ ช่วยเกื้อหนุนส่วนที่ขาด (ซึ่งรวมไปถึงค่ามือถือ iPhone iPad เที่ยวเตร่ เหล้ายา ตลอดไปจนถึงยาบ้า)

ขณะเดียวกัน การพัฒนาด้านการศึกษาก็ล้มเหลว ไม่ตอบโจทย์ ลงทุนเข้ามาเรียนแสนแพง จบไปไม่ได้คุณภาพ ไม่มีผลิตภาพ ความฝันไปไม่ถึง (แต่อย่างน้อยก็เรียนรู้ที่จะเรียกร้องสิทธิ์ เรียนรู้ที่จะสร้างอำนาจต่อรองสาธารณะ)

ที่แย่กว่านั้น ถ้าไปดูค่าตอบแทน ซึ่งผมใช้ “ค่าแรงขั้นต่ำ” เป็นฐานหลักสำหรับคนจนเมือง เพราะถ้าต่ำเกิน ก็จะขาดแรงงาน ถ้าสูงเกิน พวกนอกระบบก็จะไหลเข้ามาล้นเกิน เกิดว่างงานมาก แต่นี่อัตราว่างงานต่ำ ถือได้ว่าสมดุลมาตลอด ถ้าจะหาปัญหาพื้นฐานจริงๆ ผมว่าเป็นเพราะเราไม่ได้มุ่งพัฒนาผลิตภาพซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาผลิตภาพรวม หรือ Total Factor Productivity (TFP) ของเราเพิ่มช้าและน้อยมาก ทำให้ถึงแม้รายได้จะเพิ่ม จึงไม่สามารถไหลลงสู่ชนรากหญ้าได้

ค่าแรงขั้นต่ำตลอด 14 ปีหลังวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ในอัตราแท้จริง (ปรับเงินเฟ้อ) กลับติดลบถึง 1.4% ขณะที่ GDP แท้จริงโตถึง 73% และ GDP ต่อหัวเพิ่ม 53% แล้วความเติบโตกับความมั่งคั่งมันหายไปไหนหมดล่ะ “คนจนเมือง” ถึงไม่ได้เลย

คำตอบง่ายมากครับ ก็พวกเกษตรกรดีขึ้นบ้าง (ตามที่กล่าวแล้ว) ที่เหลือพวกเศรษฐี พวกอำมาตย์ พวกคนชั้นกลาง ได้รับไปแบ่งกัน รายได้ของลูกจ้างทักษะสูง เช่น ทำงานธนาคาร งานการตลาด งานคอมพิวเตอร์ ตลอดไปถึงข้าราชการ ครู มีอัตราเพิ่มที่ดีตลอดมา ส่วนที่เพิ่มมากสุดเป็นกำไรกิจการ (Corporate Profit) ที่เพิ่มถึง 254% (ส่วนนี้ตกเป็นของคนไม่กี่แสนคน ไม่ถึง 1% ของประชากร กับพวกต่างชาติที่มาลงทุน) ส่วนที่คนจนเมืองรู้สึกดีขึ้นบ้าง ก็เพราะได้เกื้อหนุนจากพ่อแม่ในภาคเกษตร และโครงการประชานิยมต่างๆ นี่แหละครับ

สภาพความเป็นมา การเปลี่ยนแปลง อันเริ่มจากการฟื้นตัวหลังวิกฤติ ผลจากรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคม ทั้งหมดนี้ ผมเคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” เมื่อ 22 มิ.ย. 2556 ไปดูรายละเอียดได้นะครับ

ความจริงการเปลี่ยนแปลงนี้ ผมคิดว่านักวิชาการ นักพัฒนาต่างๆ ก็หลงทางกันเยอะ พอพูดถึง “คนจน” ก็มุ่งไปที่ชนบท ที่เกษตรกรก่อน ช่วงปลายสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผมเคยถูกเรียกเข้าไประดมสมอง ก็เริ่มด้วยการพูดว่า จะแก้ปัญหาความยากจนชนบท ผมเลยเสนอบทวิเคราะห์ที่ว่า และขอให้กลับมาเน้นที่ “คนจนเมือง” ซึ่งถ้าพิจารณา “โครงการประชาภิวัฒน์” ปลายสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ จะเห็นว่ามุ่งตอบโจทย์คนจนเมือง แต่อย่างว่า รู้ช้า ทำได้ช้า ข้อจำกัดเยอะ เลยเข้าทำนอง “ช้าไปต๋อย” พอเลือกตั้งก็เลยแพ้ยับ พรรคเพื่อไทยระดมเสนอโครงการสร้างความหวัง แจกกระจาย เช่น ข้าวตันละหมื่นห้า ค่าแรงพุ่งพรวด ทำได้ไม่ได้ลุยไปก่อน เอาอำนาจมาให้ได้ ฉิบหายระยะยาวช่างมัน พอเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็เลยแพ้ยับ

เรื่องปัญหา “คนจนเมือง” ต่างจากปัญหา “คนจนชนบท” เยอะ โดยเฉพาะแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความรุนแรง ความแตกต่างทางชนชั้นสามารถนำไปสู่สงครามได้ง่าย ทฤษฎีการปฏิวัติชนชั้นของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ก็มีพื้นฐานมาจาก “คนจนเมือง” นี่แหละครับ จากการวิจัยปัญหาการจลาจลของ “คนดำ” ในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษ 1960 เช่น ในดีทรอยต์, พิตตส์เบิร์ก, ชิคาโก, นิวยอร์ก ต่างก็ระบุชัดว่า เรื่องตัวเลขความแตกต่างของรายได้ไม่ใช่ปัญหาเดียว แต่การมาอยู่ในเมือง มันมีแรงกดดันทางสังคมอื่นๆ ต้องถูกปฏิบัติสองมาตรฐาน ต้องเจอการดูถูกเหยียดหยาม เห็นความแตกต่างของโอกาสอย่างไม่เป็นธรรม ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นชนวนของความแตกหักทั้งนั้น

จะโดยบังเอิญ หรือโดยตั้งใจก็ตามแต่ นโยบายของพรรคไทยรักไทย ตลอดมาถึงพลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย รวมทั้งชั้นเชิงทางการเมือง ทางการประชาสัมพันธ์มวลชน ทำให้คนที่เคยรู้สึกว่าด้อยโอกาส ถูกดูถูกเหยียดหยาม มีความรู้สึกที่ดีขึ้น มีความหวัง ถึงแม้เศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้โลดแล่นมาก แต่คนจำนวนมากรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

แล้วใครเป็นผู้เสียหายล่ะครับ…

ไม่มีอะไรหล่นลงมาจากฟ้า ถ้ามีคนได้ย่อมมีคนเสีย

ความจริงช่วงรัฐบาลทักษิณ 5 ปี เศรษฐกิจเติบโตในอัตราเฉลี่ยแค่ 5.1% ไม่ได้ดีอะไรมาก แต่อย่างที่ผมบอก เศรษฐีก็ดีขึ้น ข้าราชการก็ดีขึ้น คนระดับกลางที่ทำงานใช้ทักษะก็ดีขึ้น เกษตรกรก็ดีขึ้น รากหญ้าแม้ยังไม่ดีมากแต่ก็รู้สึกว่าดีขึ้น (จากของแจกของแถม)

พวกที่เลวลง ก็คงเป็นพวกที่ทำงานในบางแห่งที่ไม่ได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลง พวกนักธุรกิจที่ไม่ได้ปรับปรุง TFP ทำให้แข่งขันได้ยากขึ้น พวกนักธุรกิจที่เข้าไม่ถึงอำนาจพรรคพวกนิยม หรือแทงผิดข้าง ข้าราชการที่ไม่ถูกนับเป็นพวก เลยถูกรังแก และพวกกลุ่มใหญ่ที่กินบุญเก่า กินดอกเบี้ย กินบำนาญ ซึ่งดันเจอดอกเบี้ยต่ำ ผลตอบแทนแท้จริงติดลบมานาน พวกนี้เป็นพวกที่เสียโดยตรง แต่ในที่สุดก็จะถูกสมทบด้วยพวกที่แท้จริงแล้ว ไม่ได้รับผลเสียทางเศรษฐกิจ แต่ทนกับความบิดเบือน ความมั่ว ความคดโกงไม่มีที่สิ้นสุด ไร้หลักการไม่ได้ ออกมารวมกันเป็น “มวลมหาประชาชน” ในปัจจุบัน ซึ่งผมจะค่อยๆ วิเคราะห์ในตอนต่อๆ ไป

ความจริงถ้าไม่มีปฏิวัติ 2549 นโยบายแบบเดิมก็จะถึงทางตันเองอยู่แล้ว สุดท้ายต้องหันไปเพิ่ม TFP ในระยะยาวให้ได้เท่านั้นเป็นคำตอบสุดท้าย น่าเสียดายที่เราเกิดการแตกแยกรุนแรงเสียก่อน 7 ปีที่ผ่านมาจึงแทบไม่มีการปรับปรุงเรื่องนี้เท่าไหร่ (เกือบทศวรรษแล้วนะครับที่หายไป)

ตอนที่แล้วผมเกริ่นว่า ตอนนี้จะอธิบายถึงข้อผิด ข้อพลาด ข้อไม่ดีของ “ระบอบทักษิณ” คงต้องยกไปตอนหน้าอีกแล้ว เพราะผมตั้งใจจะอธิบายทุกเรื่องอย่างละเอียดที่สุดในบทความชุดนี้ เรียกว่าเอาความรู้ทั้งชีวิตเกี่ยวกับสังคมมาเรียบเรียงไว้ให้หมด ถึงแม้ว่าอาจจะไม่สามารถช่วยเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เป็นอยู่ได้ทัน แต่เชื่อเถอะครับ ไม่ว่าใครจะชนะศึกในรอบนี้ ปัญหายังไม่มีทางจบหรอกครับ ผมได้แต่หวังว่าในอนาคต จะมีคนเข้าใจปัญหาทุกอย่าง ร่วมกันสร้างสรรค์ทางออกที่ยั่งยืนถาวร

อย่างที่บอกแหละครับ ผมไม่ใช่ปราชญ์ ไม่ใช่นักคิด ไม่ใช่นักวิชาการ เป็นแค่คนธรรมดาที่รักสังคม รักชาติ รักเพื่อนมนุษย์ ความรู้ ความเห็น ย่อมไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนไปทั้งหมด หวังว่าถ้าเป็นประโยชน์บ้างก็จะภูมิใจแล้วครับ

อ่านตอนต่อไป