ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มหาวิทยาลัยนอกระบบ (5): สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

มหาวิทยาลัยนอกระบบ (5): สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

21 ธันวาคม 2012


สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2529 โดยพัฒนามาจากศูนย์ฝึกโทรคมนาคม นนทบุรี ในปี พ.ศ. 2503 สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งภายหลังจัดตั้งเป็นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ศูนย์นนทบุรี โดยรวมวิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ วิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี และวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ในปี พ.ศ. 2514 ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 ย้ายมาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ และเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตนนทบุรีลาดกระบัง

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2551 จึงเปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือออกนอกระบบ”

สถาบันนี้มีทั้งหมด 7 คณะ คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะครุอุตสาหกรรม คณะอุตสาหกรรมเกษตร และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ก็ยังมีวิทยาลัยนานาชาติที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2543 วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการข้อมูล ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2551 และในปี พ.ศ. 2553 ได้ก่อตั้งวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังและวิทยาลัยการบริหารและจัดการ

สำหรับวิทยาเขตชุมพรประกอบด้วย 2 คณะ คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีการเกษตร

ด้านจำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากการขยายตัวของคณะ สาขาวิชา และวิทยาเขต

ตั้งแต่ออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2551 ถึงปัจจุบัน สถาบันนี้มีนักศึกษาปริญญาตรีเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 คน

แม้จำนวนนักศึกษาจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ การ “ขึ้นค่าเทอม” ของมหาวิทยาลัย

โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ 1. เข้าศึกษาก่อนปีการศึกษา 2546 2. เข้าศึกษาระหว่างปีการศึกษา 2546-2549 และ 3. เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2550

สำหรับค่าเทอมของนักศึกษาที่เข้าเรียนก่อนปี พ.ศ. 2546 แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. เงินอุดหนุนคณะ ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่สุดที่ต้องจ่าย คณะละประมาณ 5,000 บาท 2. เงินบำรุงมหาวิทยาลัย เช่น ค่าห้องสมุด ค่าบริการอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ประมาณ 1,000 บาท

สุดท้าย คือ ค่าลงทะเบียนเรียน ราคาหน่วยกิตละ 100 บาท ซึ่งสามารถเรียนได้เทอมละ 18-21 หน่วยกิต

ต่อมาในปีการศึกษา 2546-2549 นักศึกษาที่เข้าเรียนในช่วงนี้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ นักศึกษาภาคปกติและนักศึกษาภาคพิเศษ

สำหรับภาคปกติจะเสียค่าเทอมเหมือนเดิมแต่แพงขึ้น คือ ค่าบำรุงมหาวิทยาลัยประมาณ 2,000 บาท และค่าลงทะเบียนหน่วยกิตละ 150 บาท

ส่วนภาคพิเศษจะเสียค่าเทอมแบบเหมาจ่าย ซึ่งแพงกว่าภาคปกติประมาณเท่าตัว

แต่สำหรับนักศึกษาที่เข้าเรียนในปีการศึกษา 2550 เป็นต้นมา จะจ่ายค่าเทอมแบบเหมาจ่ายทั้งหมด ไม่มีแบ่งภาคปกติหรือพิเศษใดๆ

ราคาเหมาจ่ายในแต่ละคณะแตกต่างกันตามทรัพยากรทางการศึกษาที่ใช้ โดยเริ่มต้นที่ราคา 14,000 บาทต่อเทอม และสูงสุดที่ 25,000 บาทต่อเทอม ส่วนกรณีเรียนในภาคฤดูร้อนเหมาจ่ายที่ 3,000 บาท

ด้านวิทยาลัยนานาชาติของสถาบันนี้มีราคาเหมาจ่ายที่ 67,000 บาท สำหรับค่าเทอมภาคฤดูร้อนเหมาจ่ายที่ 15,000 บาท

แม้ว่าค่าเทอมเหมาจ่ายราคาดังกล่าวจะไม่สูงขึ้นจากค่าเทอมแบบเดิมมากนัก แต่นักศึกษาบางคนก็ยังมองว่า “แพง” เกินกว่าที่เด็กทุกคนจะจ่ายค่าเรียนได้ สำหรับมหาวิทยาลัยรัฐที่เด็กทุกคนควรเข้าถึง

ค่าเทอมเหมาจ่ายนี้ยังไม่รวมค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ดังนั้น นักศึกษาต้องซื้อเองทั้งหมด เช่น หนังสือเรียน ซึ่งบางคนอาจได้รับต่อจากรุ่นพี่

ในกรณีที่หนังสือเรียนราคาสูงมาก หากนักศึกษาคนไหนไม่สามารถซื้อได้ ก็จะต้องถ่ายเอกสารหรือยืมเพื่อน

ประเด็นต่อมา คือ การดำเนินการของสำนักทะเบียนและประมวลผลที่ล่าช้าและไม่อำนวยความสะดวกแก่นักศึกษา เช่น เว็บไซต์มักขัดข้องในช่วงลงทะเบียนเรียน เจ้าหน้าที่ทำงานล่าช้า ฯลฯ

ขัดกับหลักของมหาวิทยาลัยนอกระบบที่อ้างว่าจะส่งผลให้การดำเนินงานต่างๆ คล่องตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ เรื่องรายวิชาก็มีปัญหา ทั้งไม่เพียงพอกับความต้องการของนักศึกษาเพราะเปิดรับผู้เรียนน้อยราย ทำให้นักศึกษาบางคนเสียโอกาสเรียนวิชาที่อยากเรียน และบางรายวิชาที่มีนักศึกษาเข้าเรียนน้อยก็มักจะถูกยกเลิกไป

เป็นความลำบากให้นักศึกษาต้องไปหาวิชาอื่นเรียนแทน

ด้วยจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้น แม้ไม่มากนักแต่ก็พบกับปัญหา “ขาดแคลนห้องเรียน” ทำให้บางคณะต้องไปเรียนที่อาคารเรียนรวม ทั้งๆ ที่ควรเรียนที่ตึกคณะของตัวเอง

บางครั้งมีการเรียนการสอนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์และนอกเวลาราชการด้วย เนื่องจากอาจารย์ประจำของคณะไม่เพียงพอ ทางสถาบันฯ จึงต้องจ้างอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอื่นมาสอนประจำในบางรายวิชา ซึ่งอาจารย์พิเศษเหล่านี้จะมีเวลาว่างมาสอนในวันราชการหลัง 17.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น ส่งผลให้นักศึกษาไม่มีวันหยุดที่แน่นอน บางเทอมมีเรียนตลอดทั้ง 7 วัน

ด้านอาจารย์ประจำของสถาบันฯ ในคณะต่างๆ นั้นก็มีจำนวนไม่น้อย ซึ่งน่าจะเพียงพอกับจำนวนนักศึกษาที่มี เพียงแต่ในบางรายวิชาไม่มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญวิชานั้นๆ

เพราะจากสัดส่วนของนักศึกษาต่ออาจารย์ประจำที่สถาบันฯ นั้นยังไม่ถือว่าสูง

ด้านสวัสดิการต่างๆ ในสถาบันฯ หลังจากออกนอกระบบ นักศึกษาแทบจะ “ไม่ได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้นเลย” ยังคงไม่เพียงพอและอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาเหมือนเดิม หรือเป็นบริการที่นักศึกษาต้องจ่ายเงินเพิ่ม

เช่น รถบริการรับ-ส่ง ไปตามคณะต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยยังคงไม่มี ทั้งๆ ที่การเดินทางระหว่างตึกหรืออาคารภายในสถาบันฯ นั้นไกลเกินกว่าจะเดินได้ มีเพียงรถสองแถวที่รับส่งภายในและนอกสถาบันเท่านั้น ซึ่งติดป้ายว่า “รถสถาบันฯ” แต่นักศึกษาจะต้องจ่ายค่าโดยสารเอง ราคา 5 บาท ซึ่งไม่ต่างจากรถสองแถวอีกกลุ่มหนึ่งที่รับส่งภายในและนอกสถาบันเช่นกัน แต่ไม่มีป้าย “รถสถาบัน” ที่เก็บค่าโดยสาร 7-8 บาท

แม้ว่าราคารถค่าโดยสาร “รถสถาบันฯ” จะถูกกว่า แต่นักศึกษาก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่ชอบธรรม เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่จะพักอยู่หอภายนอกสถาบันฯ มากกว่าหอพักใน ดังนั้น รถโดยสารบริการฟรีจึงเป็นเรื่องจำเป็น

สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของสถาบันฯ ก็ไม่เพียงพอ เพราะมีนายแพทย์ประจำการเพียงคนเดียว และนักศึกษาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “นายแพทย์ตรวจรักษาไม่ละเอียดพอ รวมถึงยาปฏิชีวนะต่างๆ”

นักศึกษารายหนึ่งที่เปิดร้านขายยามีความเห็นว่า เป็นยาราคาถูก มีส่วนผสมของตัวยาน้อย ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่ดีพอ