ThaiPublica > คอลัมน์ > Canned Dreams คนที่ไม่มีฝันไกล ใครไม่กล้าจะฝันกัน ขายถูกๆ เท่านั้นไม่เอาแพงเลย

Canned Dreams คนที่ไม่มีฝันไกล ใครไม่กล้าจะฝันกัน ขายถูกๆ เท่านั้นไม่เอาแพงเลย

19 พฤศจิกายน 2012


ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

‘เบื้องหลังอุตสาหกรรมผลิตอาหารระดับโลก’ เป็นประเด็นที่เคยถูกชำแหละอย่างจะแจ้งจนส่งผลสะเทือนต่อคนดูไม่น้อยมาแล้วใน Food, Inc. (2008) ซึ่งเปิดโปงองค์กรยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่ใช้อำนาจควบคุมธุรกิจอาหารด้วยจุดมุ่งหมายในการสร้างผลกำไรโดยแทบไม่ใส่ใจต่อคุณภาพชีวิตของทั้งคนงานและผู้บริโภค หนังสร้างความฮือฮาและคว้ารางวัลจากหลายเวที รวมถึงได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาสารคดียอดเยี่ยม

แต่ Canned Dreams (2012) ไม่ใช่ Food, Inc. มันไม่ได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งใหญ่ขนาดนั้น และแม้จะพูดธีมเดียวกัน ทว่านักวิจารณ์ก็ให้นิยามสารคดีเล็กๆ จากประเทศฟินแลนด์เรื่องนี้ว่า ‘มีความเป็นกวีกว่า’ และยิ่งกว่านั้นคือ ‘มีความเป็นมนุษย์กว่า’

ผู้กำกับหญิง คัตยา กอริลอฟฟ์ เริ่มหนังของเธอด้วยภาพกระป๋องอลูมิเนียมวิ่งเรียงรายบนสายพานโดยไร้คำอธิบาย จากนั้นตัดเข้าสู่บรรยากาศเหมืองในบราซิล ที่ซึ่งคนงานหญิงคนหนึ่งบอกเล่าชีวิตเสี่ยงอันตรายของการเป็นทั้งคนงานเหมืองและการเป็นแม่ของลูกสิบสองคนให้เราฟัง ตามด้วยความฝันที่อยากจะมีแฟนสาวกับเขาบ้างสักคนของชายหนุ่มขาพิการในฟาร์มเลี้ยงหมูที่เดนมาร์ก, ความรู้สึกผิดต่ออดีตอันผิดพลาดของชายชราขี้เหล้านักเชือดวัวในโปแลนด์, ชีวิตเรียบง่ายในความแร้นแค้นของเหล่าคุณป้าผู้ปลูกข้าวสาลีในยูเครน, หญิงสาวในโรงฆ่าหมูโรมาเนียที่ถูกแฟนหนุ่มซ้อมกลางถนนโทษฐานไม่ยอมยกเงินค่าทำแท้งของเธอให้เขาไปเล่นพนัน ไปจนถึงภาพพนักงานในกระบวนการตระเตรียมมะเขือเทศนับแสนนับล้านลูกในโรงงานที่โปรตุเกส, ฟาร์มไข่ในฝรั่งเศส และโรงงานน้ำมันมะกอกในอิตาลี

กอริลอฟฟ์ต้องการให้เราเห็นและฟังอะไร? ไม่ใช่เรื่องราวฉ้อฉลกลโกงของบรรษัทขนาดใหญ่หรือของผู้บริหารทรงอิทธิพลรายใดเลย ตรงกันข้าม เบื้องหลังการผลิตอาหารกระป๋อง –ที่ลงท้ายด้วยการไปโชว์ตัวหราบนชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ตหรู เฝ้ารอให้คนเมืองมาจับจ่ายไปบริโภคอย่างสะดวกและเป็นสุข- นั้น แอบแฝงชีวิตจริงของคนยากไร้ที่เดินทางเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมนี้ด้วยความฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า และสิ่งที่กอริลอฟฟ์ทำกับสารคดีของเธอก็คือ การบันทึกเสียงและเรื่องราวของพวกเขามาให้เราได้รับรู้ ‘ทีละคน’

วิธีการของหนังนั้นน่าสนใจมากทีเดียว แม้ว่ากันตามจริงแล้ว เรื่องเล่าถึงความยากเข็ญในชีวิตคนงานจะชวนให้รู้สึกหดหู่และถูกใส่เข้ามาโดยเน้นความดราม่าอย่างหนักมือเอาการ แต่ท่วงทำนองของหนังก็มิได้เป็นไปอย่างโฉ่งฉ่างยัดเยียด กอริลอฟฟ์เพียงเก็บภาพกระบวนการผลิตที่ดำเนินไปอย่างเป็นปกติในเหมือง ท้องทุ่ง ฟาร์ม โรงงาน สลับกับภาพวิถีชีวิตประจำวันของบุคคลที่เธอเลือกเล่าถึง สอดแทรกด้วยเสียงของพวกเขาแต่ละคนโดยปราศจากเสียงพากย์บรรยายขยายความหรือแม้แต่ภาพประเภทสัมภาษณ์หน้ากล้องแบบที่นิยมใช้กันในสารคดีทั่วไป (และในบางช่วง หนังก็ช็อคเราด้วยภาพในโรงฆ่าวัวฆ่าหมูซึ่งเผยขั้นตอนสังหารอย่างโจ่งแจ้งไม่บันยะบันยัง)

รูปแบบดังกล่าวนี้ถูกทำซ้ำไปทีละสถานที่ ทีละประเทศ ก่อนนำทั้งหมดมาจัดวางร้อยเรียงเป็นตอนสั้นๆ ต่อกันด้วยจังหวะนิ่งเรียบเนิบช้า ผลที่ได้จึงเป็นดังบทเพลงโศกเศร้าที่ขับขานถึงการมีอยู่ของชีวิตคนใช้แรงงานในหลากหลายถิ่นที่ ซึ่งต่างดิ้นรนแสวงหาโอกาสที่จะลืมตาอ้าปาก โอกาสที่จะสร้างครอบครัวสร้างอนาคตอันแข็งแกร่ง และโอกาสที่จะช่วยให้ “ลูกๆ ของฉันจะได้ไม่ต้องมาทำงานลำบากแบบนี้”

…แม้ในความจริง ความฝันของพวกเขาจะถูกบีบอัด แปรสภาพ และถูกกลืนหายไปทุกขณะในกระแสเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระดับโลกที่ปฏิบัติต่อพวกเขาเพียงในสถานะฟันเฟืองตัวหนึ่งหรือชิ้นส่วนเล็กๆ ของอาหารสำเร็จรูปกระป๋องหนึ่งก็ตามที

คลิกดูหนังตัวอย่างCanned Dreams