ThaiPublica > คอลัมน์ > เศรษฐีนอนบ้าน ขอทานนอนคุก: ว่าด้วยกองทุนยุติธรรมในการเปลี่ยนผ่าน

เศรษฐีนอนบ้าน ขอทานนอนคุก: ว่าด้วยกองทุนยุติธรรมในการเปลี่ยนผ่าน

20 มิถุนายน 2012


ภัทชา ด้วงกลัด

“คุกมีไว้ขังคนจน” ประโยคนี้ถูกกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าเมื่อพูดถึงกระบวนการยุติธรรมไทย สะท้อนความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยที่ไม่ละเว้นแม้กระทั่งในเรื่องความยุติธรรม ในทางสถิติดูเหมือนคำกล่าวนี้จะเป็นจริงไม่ใช่น้อย ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการที่ถูกบอกกล่าวในเวทีสาธารณะ “คดีคนจน ว่าด้วยคนจนกับความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมไทย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2553 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ชี้ให้เห็นว่า ผู้ต้องขังราว 2.4 แสนคนในขณะนั้นเป็นคนจนเกือบทั้งหมด และประมาณ 5 หมื่นคน ถูกคุมขังก่อนศาลตัดสินคดี เนื่องจากยากจนไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว บ้างก็ถูกคุมขังแทนค่าปรับi พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ราวๆ 1 ใน 5 ของผู้ต้องขังยากจนเกินกว่าจะสามารถจ่ายเพื่ออิสรภาพของตนเองตามเงื่อนไขของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่ได้

จากข้อมูลคร่าวๆนี้ เราอาจะพูดได้ว่า ฐานะทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่จะกำหนดชะตากรรมของผู้ถูกต้องข้อหา โดยที่ยังไม่ต้องมีการพิสูจน์ว่ากระทำผิดจริงหรือไม่ด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม บนหลักการการประกันตัวตามประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบัน “หากนาย ก. ถูกตั้งข้อหาว่าชิงทรัพย์โดยมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี และในบัญชีเกณฑ์มาตรฐานกลางหลักประกันการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยกำหนดว่า ความผิดฐานชิงทรัพย์ให้ศาลเรียกหลักประกันจำนวน 150,000 บาท หากนาย ก. มีเงิน 150,000 บาท หรือมีหลักประกันตีราคาได้ 150,000 บาท นาย ก. นำเงินหรือหลักประกันมาวางศาล นาย ก. จะได้รับการประกันตัวและมีเสรีภาพระหว่างพิจารณาทันที ตรงกันข้าม หากนาย ก. ไม่มีเงินหรือหลักประกันจำนวนดังกล่าว นาย ก. จะถูกขังไว้ที่เรือนจำ ทั้งๆที่นาย ก. อาจไม่มีพฤติกรรมหลบหนี หรือ ก่อเหตุร้าย และทั้งๆ ที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยศาลยังไม่พิพากษาว่า นาย ก. เป็นผู้กระทำความผิด” จากตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นว่า คนจนมีโอกาสที่จะถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีอาญา มากกว่าคนรวยซึ่งสามารถหาเงินประกันมาวางและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในที่สุดii

เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ในโลก กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ของฟรี รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปรียบเปรยไว้ในการปาฐกถาเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมด้านกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2554 ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมีฐานคิดเดียวกับการขึ้นทางด่วน คือ “ผู้ใช้บริการเป็นผู้จ่าย” ภาระต้นทุนของกระบวนการยุติธรรมจึงตกอยู่กับใช้บริการ เช่นเดียวกับผู้ใช้ทางด่วนที่ต้องจ่ายค่าผ่านทาง

ค่าประกันตัวและค่าปรับเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของต้นทุนที่ผู้ใช้บริการกระบวนการยุติธรรมจะต้องจ่าย ขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมล้วนมีราคาทั้งสิ้น นับตั้งแต่ค่าธรรมเนียมขึ้นศาลหากต้องการฟ้องคดี ค่าจ้างทนายความหากต้องการฟ้องหรือถูกฟ้องคดี ค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์พยานหลักฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจลายนิ้วมือ การตรวจดีเอ็นเอ ค่าใช้จ่ายรังวัดที่ดิน นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าที่พักและค่าเดินทางเมื่อมาทำคดี และยังมีค่าเสียโอกาส เช่น จากรายได้ที่สูญเสียไปในการขาดงานเพื่อดำเนินคดีความ ภาระต้นทุนต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยซึ่งมีความสามารถในการจ่ายเพื่อเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตามทางออกของคนจนก็มีไม่น้อยทั้งการหยิบยืม การกู้ การเช่าหลักทรัพย์มาค้ำประกัน แต่ล้วนมีต้นทุนสูงที่สูงทั้งสิ้น ในหลายกรณีคนจนจึงเลือกที่จะไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสียเลยแต่แรก เพรากลัวภาระค่าใช้จ่ายมากมายที่จะตามมา และกลับยอมให้สิทธิของตนเองถูกละเมิดไป

การให้ความช่วยเหลือแก่คนจน เพื่อให้มีโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคมจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือในรูปตัวเงิน ในหลายประเทศมีการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม หรือที่เรียกกันว่า “Legal aid” ในรูปแบบต่างๆ เช่น การให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรม เช่น ค่าประกันตัว ค่าทนายความ และในรูปแบบการจัดคลีนิกให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย เป็นต้น โดยพิจารณาให้ความช่วยเหลือจากรายได้และความจำเป็นของผู้ร้องขอ การให้ความช่วยเหลือในลักษณะ Legal aid มีในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ อเมริกา ฮ่องกง ออสเตรเลีย อินเดีย และอีกมากมาย

ในทางทฤษฎี Legal aid ถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดหาให้กับประชาชน โดยมีเหตุผลสนับสนุนแยกออกได้เป็น 2 แนวคิดหลัก หนึ่ง คือ แนวคิดอรรถประโยชน์ทางสังคม (Utilitarian proposition) มองการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมเป็นการจัดสวัสดิการสังคม ไม่ต่างกับการจัดสวัสดิการทางสังคมอื่นๆ เช่น การรักษาพยาบาล หรือการศึกษา และ สอง คือ การมองว่าสิิทธิในการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน (Theory of access right) รัฐต้องให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่บุคคลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจะไม่มีความหมายอันใดเลย หากบุคคลไม่สามาถใช้และเข้าถึงมันได้ ในทางสากล สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งครอบคลุมถึงสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ได้รับการยอมรับให้เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

สำหรับประเทศไทย การให้ความช่วยเหลือคนจนในกระบวนการยุติธรรมดูเหมือนว่าจะตั้งอยู่บนฐานสิทธิ สิทธิในการได้รับความช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรมได้ถูกรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 40 ในวรรคหนึ่ง ได้ระบุไว้ว่า “สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง” และวรรคห้า ระบุว่า “ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย และพยานในคดีอาญา มีสิทธิได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือที่จำเป็นและเหมาะสมจากรัฐ ส่วนค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

ในทางปฏิบัตินอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือด้านทนายความ และการให้คำปรึษาทางกฎหมายที่จัดโดยหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆ แล้ว ประเทศไทยมีกองทุนให้ความช่วยเหลือในรูปตัวเงินเพื่อใช้ในกระบวนการยุติธรรมแก่ผู้ที่มีความจำเป็น เรียกว่า “กองทุนยุติธรรม” ตั้งขึ้นในปี 2549 ภายใต้ระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2549 และมีการปรับปรุงในปี พ.ศ.2553 เพื่อขยายกรอบวัตถุประสงค์และภารกิจการให้ความช่วยเหลือ ปัจจุบันภารกิจของกองทุนดังกล่าวอยู่ภายใต้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ประชาชนเพื่อใช้จ่ายในการฟ้องร้อง การดำเนินคดีหรือการบังคับคดี การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนหรือได้รับความไม่เป็นธรรม มีการให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ค่าธรรมเนียมขึ้นศาล ค่าจ้างทนายความ ค่าประกันตัว ค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์พยานหลักฐาน และอื่นๆiii โดยมุ่งน้นให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจนและผู้ที่เชื่อว่าไม่ได้กระทำความผิด

ดูเหมือนว่าเรากำลังมาถูกทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม เรามีกองทุนยุติธรรมซึ่งเป็นกลไกอย่างเป็นทางการรองรับช่วยเหลือคนยากจนอย่างเป็นระบบ แต่กลไกที่มีอยู่นี้จะสามารถให้ความช่วยเหลือและลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมได้จริงหรือไม่

ข้อมูลจากกองการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม แสดงให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา จำนวนคำร้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จากปี 2549 จำนวน 8 เรื่อง เพิ่มขึ้นเป็น 3,225 เรื่องในปี 2554 แต่มีเรื่องที่ได้รับความช่วยเหลือในแต่ละปีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนเรื่องที่ยื่นคำร้องทั้งหมด โดยสัดส่วนเรื่องที่กองทุนให้ความช่วยเหลือต่อจำนวนคำร้องในปี 2552 สูงที่สุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา คิดเป็น 44.95% จากนั้นลดลงมาเรื่อยๆเป็น 21.68% ในปี 2553 และ 12.81% ในปี 2554 ตามลำดับ

สถิติเหล่านี้บอกเราว่า ในทางปฏิบัติยังมีช่องว่างระหว่างความต้องของประชาชนผู้เดือดร้อน กับความสามารถในการให้ความช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรมอยู่มากทีเดียว ทั้งนี้ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความเห็นว่าการที่จำนวนผู้ยื่นคำร้องต่อกองทุนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มีสาเหตุมาจากการประชาสัมพันธ์กองทุนให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้นiv นอกจากนี้การขยายกรอบวัตถุประสงค์และภารกิจความช่วยเหลือของกองทุนในปี 2553 ยังมีผลให้ภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนสูงขึ้นด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้เคยให้ความเห็นไว้ว่า หลายๆ คำร้องเป็นคดีของผู้เสียหายเป็นกลุ่ม ซึ่งระเบียบกองทุนยุติธรรมปี 2553 ได้ให้สิทธิไว้ ทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น คดีเกี่ยวกับความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ศาลให้วางเงินประกัน 9 แสนบาทต่อคน โดยมีจำเลยถึง 500 คน งบประมาณของกองทุนยุติธรรมจึงไม่เพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือได้ v

ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิเคราะห์ว่า สาเหตุสำคัญที่กองทุนยุติธรรมไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมในระดับ (Scale) ใหญ่ได้ คือความจำกัดด้านงบประมาณ งบประมาณในการดำเนินงานกองทุนยุติธรรมส่วนใหญ่มาจากการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ที่ผ่านมาโดยปกติกองทุนยุติธรรมได้รับการจัดสรรงบประมาณจากเพียงปีละประมาณ 30 ล้านบาท งบประมาณที่กองทุนได้รับในแต่ละปียังมีความไม่แน่นอน ขึ้นกับว่ากระทรวงยุติธรรมและรัฐบาลจะเห็นความสำคัญ เสนอขอ และจัดสรรจากงบประมาณมาให้เท่าไหร่ ทั้งนี้เนื่องจากกองทุนมีสถานะรับรองเป็นเพียงระเบียบกระทรวง ไม่มีกฎหมายรองรับ จึงไม่มีงบประมาณประจำ

ประสบการณ์ในต่างประเทศสะท้อนให้เห็นว่า การพึ่งพางบประมาณส่วนใหญ่จากภาครัฐมีความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยง ไม่ว่าเศรษฐกิจของประเทศนั้นจะใหญ่แค่ไหน งบประมาณในการบริหารประเทศก็มีอยู่จำกัด การใช้เงินงบประมาณเพื่อการใดการหนึ่งย่อมมีค่าเสียโอกาสในการนำเงินจำนวนนั้นไปใช้ในนโยบายอื่นๆ ซึ่งอาจจะมีความสำคัญไม่แพ้กัน ในอังกฤษ ประเทศซึ่งมีกฎหมาย Legal Aid and Advice Act ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 และมีงบประมาณสำหรับ Legal aid มากที่สุดในโลก กว่าประมาณ 2 พันล้านปอนด์ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี เมื่อปลายปีที่ผ่านมารัฐบาลอังกฤษได้ออกนโยบายตัดงบประมาณ Legal aid ลงกว่า 350 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 17,500 ล้านบาทต่อปี เนื่องด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ ความพยายามดังกล่าวได้ถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย และยังอยู่ในระหว่างการถกเถียงหาข้อสรุป โดยฝ่ายที่คัดค้านเกรงว่าการตัดงบประมาณในครั้งนี้ จะกระทบต่อสถานการณ์การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนจนและผู้ด้อยโอกาสในประเทศ

เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดและความไม่แน่นอนด้านงบประมาณ ดร.ปกป้องได้เสนอแนวทางในการปฏิรูปกองทุนยุติธรรมไว้ 2 ด้าน คือ การเพิ่มรายได้ และการลดรายจ่ายของกองทุน

ในส่วนของการเพิ่มรายได้ นอกเหนือจากการรับงบประมาณจากรัฐบาล กองทุนควรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากช่องทางที่สอดคล้องกับภาระการจ่ายเงิน โดยยึดหลักความเป็นปึกแผ่นของสังคม (Solidarity) ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น เพิ่มรายได้จากค่าขึ้นศาลบางส่วนที่ศาลหักจากค่าขึ้นศาลของคนมีฐานะดี มาใช้เป็นค่าขึ้นศาลและค่าธรรมเนียมให้แก่คนยากจน เพิ่มรายได้จากการหักค่าจ้างทนายความของคนมีฐานะดีบางมาส่วน เข้ากองทุนเพื่อเป็นค่าทนายความแก่คนยากจน โดยเรียกเก็บเป็นค่าธรรมเนียมทนายความประจำปีผ่านสภาทนายความ และสุดท้าย เพิ่มรายได้จากเงินที่ศาลริบหลักประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนี เพื่อนำมาพิจารณาช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่มีเงินประกันตัว และคาดว่าไม่ใช่ผู้กระทำผิด

ในส่วนของการลดรายจ่าย ดร.ปกป้องเสนอแนวทางในการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นของกองทุน เช่น การนำเงินไปเป็นหลักประกันให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่คาดว่าไม่ใช่ผู้กระทำความผิด ซึ่งสามารถลดรายจ่ายในส่วนนี้ได้หากมีการปรับปรุงแนวคิดในการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องเรียกหลักประกัน แต่ใช้การพิจารณาจากพฤติการณ์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นสำคัญแทน ในขณะที่ทางกระทรวงยุติธรรมได้มีการเสนอให้ใช้ตัวกองทุนยุติธรรมเองเป็นตัวค้ำประกันต่อศาล โดยใช้หนังสือรับรองจากกองทุนเป็นหลักประกันชั่วคราวแทนการวางเงินประกัน ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้หารือถึงข้อเสนอนี้กับศาลยุติธรรมแล้ว

นอกเหนือจากการแก้ปัญหาด้านงบประมาณแล้ว เพื่อให้กองทุนยุติธรรมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำสองมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมได้จริง ยังมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกองทุนยุติธรรมในด้านอื่นๆ อีก เช่น การจัดตั้งกองทุนยุติธรรมให้เป็นนิติบุคคลโดยมีพระราชบัญญัติรองรับ เพื่อให้กองทุนมีอำนาจตามกฎหมายในการรับช่วงสิทธิของประชาชนเพื่อไปไล่เบี้ยต้นเหตุแห่งความเสียหายที่แท้จริง, การขยายภารกิจกองทุนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น, เปิดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนจากหลายภาคส่วนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และ เชื่อมโยงกองทุนเข้ากับยุติธรรมชุมชนเพื่อให้ประชาชนในวงกว้างสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กองทุนยุติธรรมเป็นเพียงตัวช่วยให้คนจนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะสามารถปฏิรูปกองทุนให้มีงบประมาณมากมายมหาศาลและมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้นแค่ไหน แต่หากรากฐานของปัญหาอยู่ที่ตัวกระบวนการยุติธรรมเอง ไม่ว่าจะเป็นกลไกที่มองข้ามความเป็นจริงของความเหลื่อมล้ำในสังคม ความล่าช้าของกระบวนการในขั้นตอนต่างๆ ความซ้ำซ้อนของหน่วยงาน ระบบอุปถัมภ์ และการทุจริตคอรัปชั่น หากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขไปด้วย ภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนยุติธรรมก็คงมีมากมายไม่มีที่สิ้นสุด และปัญหาของคนจนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมก็คงไม่มีวันหมดสิ้นไป

เช่นเดียวกับข้อสรุปหนึ่งที่ได้จากข้อถกเถียงการตัดงบประมาณ Legal Aid ในประเทศอังกฤษขณะนี้ สิ่งที่ต้องทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม คือการทำให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ และการเคารพต่อสิทธิของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม

หมายเหตุ

i ที่มา http://www.rsu-cyberu.com/law/news_detail.php?bn_id=3384

ii ปกป้อง ศรีสนิท. “การปฏิรูปกองทุนยุติธรรม”. รายงานเสนอต่อคณะทำงานวิชาการเพื่อการปฏิรูป. 2554

iii ระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2553 ข้อ 6 ระบุการสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายกองทุนยุติธรรมไว้ดังนี้

1.สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายในการวางเงินประกันการปล่อยตัวชั่วคราว

2.สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความว่าความในคดีอาญา คดีแพ่ง คดีปกครอง หรือการบังคับคดี

3.สนับสนุนหรือค่าใช้จ่ายในการชำระค่าธรรมเนียมขึ้นศาลและค่าธรรมเนียมอื่นๆในคดีแพ่ง และคดีปกครอง

4.สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่านในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการพิสูจน์ ค่าใช้จ่านเกี่ยวกับค่าวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมเอกสาร ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินเผชิญสืบของศาล ค่าใช้จ่ายในการสอบแนวเขตรังวัดที่ดิน หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศหรือทางดาวเทียม และการอ่าน แผล ตีความ และวิเคราะห์ภาพถ่ายดังกล่าว

5.สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นของผู้ขอรับการสนับสนุน ได้แก่ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าที่พัก ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็นและเหมาะสมตามวัตถุประสงค์กองทุน

6.สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือให้ได้รับความปลอดภัยจากการก่ออาชญากรรมหรือการป้องกันการถูกปองร้ายเพราะได้เข้าช่วยเหลือภารกิจของเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชน

7.สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญา การการะทำโดยมิชอบทางปกครอง หรือการกรพทละเมิดในลักษณะที่มีผลกระทบต่อประชาชนหรือกลุ่มบุคคลตั้งแต่สิบรายขึ้นไปหรืออาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

8.สนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

iv ที่มา http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255310140012&tb=N255310&news_headline=สรุปข่าวภาค%2007.00%20น.%20วันพฤหัสบดีที่%2014%20ตุลาคม%202553

v แสดงความเห็นในการประชุมระดมความคิดเห็นในการปฏิรูปกองทุนยุติธรรม คณะทำงานเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2554 ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)