ThaiPublica > เกาะกระแส > เบื้องลึกแบนหนัง “เชคสเปียร์ต้องตาย”

เบื้องลึกแบนหนัง “เชคสเปียร์ต้องตาย”

23 พฤษภาคม 2012


ที่มาภาพ: http://www.springnewstv.tv

ความเงียบงันของสังคมหลังจากภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” ถูกคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2555 สั่ง “แบน” ไม่อนุญาตให้ออกฉายเป็นการทั่วไป เป็นคำถามที่สื่อมวลชนนานาชาติตั้งข้อสงสัย กังขาต่อท่าทีของรัฐบาลและสิทธิเสรีภาพของคนไทย

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับทุนสร้างจำนวน 3 ล้านบาท จากโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้อนุมัติให้สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่สุดท้ายกลับเป็นผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมที่ไม่อนุญาตให้ออกฉายเป็นการทั่วไป เพราะมองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนความจริงของสังคมไทยเกินไป จนอาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคง

นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้ทำหนังสือที่ วธ.0204.1/12807 ถึงนางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม แจ้งผลการขออุทธรณ์คำสั่งณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 กรณีไม่อนุญาตให้เผยแพร่ภาพยนตร์ไทย เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” ในราชอาณาจักร

โดยอ้างถึงการที่ นายมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้าง และนางสาวสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้อำนวยการสร้าง ได้มีหนังสือลงวันที่ 17 เม.ย. 2555 ขออุทธรณ์ต่อประธานคณะกรรมการภาพยนต์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กรณีคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 พิจารณาเห็นว่า ภาพยนต์เรื่องนี้มีเนื้อหาก่อให้เกิดความแตกแยกสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลัษณ์ของประเภทภาพยนต์ พ.ศ.2552 ข้อ 7 (3) จึงมีมติ ไม่อนุญาต โดยจัดเป็นประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่งในราชอาณาจักร ตามมาตรา 26 (7) แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551

ในรายงานของนายสมชายยังระบุว่า คณะกรรมการภาพยนต์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาอุทธรณ์ ในวันที่ 11 พ.ค. 2555 และพิจารณาเห็นว่า เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” แม้จะดัดแปลงให้เป็นประเทศสมมติก็ตาม แต่ก็มีลักษณะที่สื่อความหมายให้เข้าใจว่าเป็นสังคมไทย และบางฉากยังมีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐละเกียรติภูมิของประเทศ

นอกจากนี้ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 ได้แจ้งให้ผู้อุทธรณ์พิจารณาแก้ไขเนื้อหาสาระบางส่วน ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ แต่ผู้อุทธรณ์แจ้งว่าเป็นการนำเสนอความจริงในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 จึงยืนยันไม่แก้ไข คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ จึงมีมติยกอุทธรณ์ ตามมาตรา 29 แห่งพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติกล่าวว่า ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2555 ที่มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีผู้โหวตให้ “แบน” ภาพยนตร์เรื่องนี้จำนวน 18 คน และเห็นควรให้ฉายได้ 4 คน งดออกเสียง 1 คน ที่ประชุมได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงเหตุผลสนับสนุนของแต่ละฝ่าย

ฝ่ายสนับสนุนเห็นว่า หากปล่อยให้มีการเผยแพร่ออกไป จะทำให้ความร้าวฉานของคนในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะหนังมีฉากที่อาจตีความเกี่่ยวกับกลุ่มต่อต้านทางการเมือง ดังนั้น แม้ว่าบอร์ดจะถูกโจมตีจากปัญญาชนในประเทศ แต่ก็ยังดีกว่าการปล่อยให้ฉายโดยไม่สามารถควบคุมได้

ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการแบนหนังเชคสเปียร์ต้องตาย เพราะมองในแง่ของศิลปะในการนำเสนอที่จะทำให้ภาพยนตร์ไทยพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง จึงอยากให้พิจารณาถึงเจตนาของผู้สร้างเป็นหลัก ซึ่งหากคณะกรรมการเห็นว่าเนื้อหาไม่เหมาะสมก็สามารถจัดเรทติ้งผู้ชมให้ต้องมีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไปได้ ไม่จำเป็นต้องปิดหูปิดตา ซึ่งคณะกรรมการฯ อาจถูกโจมตีจากสื่อต่างประเทศได้

ขณะเดียวกัน กระทรวงวัฒนธรรมได้รายงานต่อคณะกรรมการฯ ด้วยว่า ในระหว่างการพิจารณาได้แจ้งให้ผู้สร้างตัดฉากที่ไม่สมควรหลายครั้ง โดยเฉพาะฉากที่เกี่ยวกับการทำร้ายคนไทยด้วยกัน ในเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาวันที่ 6 ต.ค. 2519 แต่ผู้สร้างยืนยันว่าไม่สามารถตัดฉากนี้ออกไปได้ เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อความเป็นศิลปะของภาพยนตร์ จุดนี้ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการยกเป็นเหตุผลในการสั่งแบนห้ามฉายครั้งนี้

“แต่เบื้องลึกจริงๆ แล้ว สิ่งที่คณะกรรมการภาพยนตร์กลัวมากก็คือ การโยงหนังเรื่องนี้กับสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง เพราะตัวละครสำคัญในเชคสเปรียร์ต้องตายที่ถูกระบุว่าเป็นผู้มักใหญ่ใฝ่สูงก็ถูกตีความว่าเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากปล่อยให้ฉายไปจะมีปัญหากับรัฐบาลแน่นอน” แหล่งข่าวระบุ

ไม่เพียงเท่านั้น คณะกรรมการฯ ฝ่ายที่มาจากการเมืองยังมองด้วยว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการ “วางยา” ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่อนุมัติโครงการนี้ให้เพราะบทภาพยนตร์จะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง สามารถโจมตีฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น หากปล่อยให้มีการฉายก็จะเป็นการซ้ำเติมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กำลังสร้างการปรองดองอยู่ในขณะนี้ รวมถึงอาจถูกตีความเกินเลยไปกว่านั้นได้

ปัจจุบัน กระทรวงวัฒนธรรมถือว่าอยู่ในโควตาการดูแลของพรรคพลังชล ซึ่งมีนายสนธยา คุณปลื้ม เป็นแกนนำอยู่ข้างหลัง โดยที่ผ่านมานายสนธยาค่อนข้างมีสัมพันธ์ที่ดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการหลายคนที่ได้รับซีดีไปชมก่อนเข้าร่วมประชุม ส่วนหนึ่งยอมรับว่าไม่สามารถดูหนังเรื่องนี้จนจบได้ เนื่องจากรับไม่ได้กับรูปแบบการนำเสนอที่ไม่เหมือนภาพยนตร์ทั่วไป และมองว่าแม้จะอนุญาตให้ฉายก็ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้อย่างแน่นอน เพราะคนที่ดูจะเป็นคนเฉพาะกลุ่มมาก

นายมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องดังกล่าว ได้ออกแถลงการณ์ถึงการแบนภาพยนตร์ดังกล่าวทันที โดยระบุว่า เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นว่า เราไม่สามารถพูดถึงเรื่องศีลธรรม ความโลภ ความบ้าอำนาจ ความมักใหญ่ใฝ่สูงอันไร้ขอบเขตกันได้อีกแล้วในประเทศไทย

“ผู้คนอยู่กันด้วยความกลัว ราวกับว่าอยู่ใต้แม็คเบ็ธในบทละครของเชคสเปียร์จริงๆ มันแปลกประหลาดมากที่องค์กรของกระทรวงวัฒนธรรมลุกขึ้นแบนหนังที่กระทรวงวัฒนธรรมเองเป็นผู้สนับสนุน”

นางสาวสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com

นางสาวสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์เชคสเปียร์ต้องตาย กล่าวว่า การที่คณะกรรมการฯ ใช้เหตุผลเรื่องเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 มาเป็นส่วนหนึ่งในการแบนหนังเรื่องนี้นั้นคิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะจริงๆ แล้วฉากนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายของสำนักข่าวเอพี ที่สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงที่เกิดความรุนแรงนั้นมีเด็กตัวเล็กๆยืนดูอยู่ และคนไทยด้วยกันยืนสูบบุหรี่มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่ในภาพยนตร์ก็มีภาพแสดงความรุนแรงเพียงเล็กน้อยเพื่อบอกว่าเกิดอะไรขึ้น แต่หัวใจสำคัญคือสะท้อนไปยังผู้ที่ดูเหตุการณ์นี้อยู่รอบๆ

“เจตนารมณ์ของฉาก 6 ต.ค. 2519 ในภาพยนตร์เรื่องนี้คือต้องการให้คนในชาติเกิดสติ ไม่ถูกปั่นหัว หลอกใช้ให้กระหายเลือด และเราไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 ได้พิจารณาแล้ว มีกรรมการ 3 ท่านใน 7 ท่านที่เห็นว่าไม่ควรเซ็นเซอร์” นางสาวสมานรัชฎ์กล่าว

ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการได้มีการแจ้งว่า ให้ทางผู้ผลิตภาพยนตร์เชคสเปียร์ต้องตายไปตัดฉากความรุนแรงดังกล่าว แต่ทางผู้ผลิตยืนยันว่าไม่สามารถตัดได้ อีกทั้งยังไม่มีอะไรการันตีว่า หากมีการตัดทอนฉากที่มีความสำคัญแล้วภาพยนตร์จะได้เข้าฉายจริงหรือไม่

นางสาวสมานรัชฎ์กล่าวว่า หลังจากนี้คงจะเดินหน้าเรียกร้องตามสิทธิเสรีภาพ โดยทีมงานอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะร้องไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือทางกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาด้วยหรือไม่ ขณะเดียวกันคงจะมีการฟ้องร้องไปยังศาลปกครองด้วย แต่ต้องการทำให้เอกสารข้อมูลแน่นหนาสมบูรณ์ที่สุดก่อน

ย้อนดูจุดเริ่มต้น ก่อนถึงจุดจบเชคสเปียร์

ภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) ดัดแปลงจากบทละครโศกนาฏกรรม “แม็คเบ็ธ” ของ “วิลเลียม เชกสเปียร์” นักประพันธ์ระดับโลก ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบละครซ้อนละคร ดำเนินเรื่องควบคู่กันไป มีเหตุการณ์สองส่วนคือ ละครเวทีและโลกภายนอกในเหตุการณ์ร่วมสมัย

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับงบประมาณจากองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง จำนวน 3 ล้านบาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เนื่องจากมีการเรียกร้องว่างบประมาณจำนวนหลายร้อยล้านบาท ตกอยู่กับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ของ “ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล” ทำให้ “เจ้ย-อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ผู้กำกับหนังนอกกระแส และ มานิต ศรีวานิชภูมิ โปรดิวเซอร์เชคสเปียร์ต้องตาย ได้ร่วมกันเป็นหัวหอก ออกมาเรียกร้องเพื่อให้แบ่งงบประมาณให้กับหนังเล็กๆ ด้วย

สุดท้าย ภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตายจึงได้รับงบประมาณ “ก้อนสุดท้าย” จากกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ และมีกำหนดออกฉายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2555

หนังเรื่องนี้มีตัวละครนำชื่อ “เมฆเด็ด” (Mekhdeth) เป็นขุนนางที่ล้มอำนาจกษัตริย์ และสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ เมฆเด็ดลุ่มหลงในอำนาจ เกิดหวาดระแวงว่าจะถูกล้มล้าง จนต้องฆ่าใครต่อใครเพื่อจะได้อยู่ในอำนาจต่อไป เรื่องราวทั้งหมดเล่าผ่านมุมมองของตัวละครที่ชื่อว่า “บุญรอด”

ภาพยนตร์มีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีการนำฟุตเทจภาพความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 มาใช้ด้วย จึงถูกนำมาโยงกับปัญหาความไม่สงบในบ้านเมืองและตีความว่าผู้มักใหญ่ใฝ่สูงในเรื่องคืออดีตผู้นำประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ระหว่างการพิจารณาข้ออุทธรณ์ของผู้สร้าง ทางเจ้าหน้าที่กองเซ็นเซอร์ยังมีการตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับฉาก เสื้อผ้า และอัญมณีที่ใช้ในภาพยนตร์ ว่าเกี่ยวกับกับเรื่องจริงในสังคมไทยหรือไม่ รวมทั้งยังมีการสอบถามถึงแนวคิดของผู้สร้าง เกี่ยวกับการปกครองของประเทศด้วย

สุดท้ายด้วยเหตุผลมากมายร้อยแปด นำมาซึ่งความเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติสั่ง “ห้ามฉายอย่างเด็ดขาด” เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2555