ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ธุรกิจเพื่อสังคม SOUL≥SELL: FROM PASSION TO IMPACT ใช้ใจ…สานใจ สร้างกำไร…ให้สังคม

ธุรกิจเพื่อสังคม SOUL≥SELL: FROM PASSION TO IMPACT ใช้ใจ…สานใจ สร้างกำไร…ให้สังคม

21 มีนาคม 2012


ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรยิปซี ผู้พัฒนายาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีราคาถูก ช่วยชีวิตผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลก
ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรยิปซี ผู้พัฒนายาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีราคาถูก ช่วยชีวิตผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลก

“ความรู้สึกห่วงใยต่อเพื่อนมนุษย์และอยากเห็นสังคมดีขึ้น ทำให้สามารถทำงานมาได้จนถึงทุกวันนี้ ทุกคนบนโลกนี้มีสิทธิที่จะเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ แต่ถ้ามันไม่ยุติธรรม เราก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด แม้บางครั้งการต่อสู้นั้นจะทำให้เราเดือดร้อนบ้างก็ตาม การทำงานและใช้ชีวิตในทวีปแอฟริกามันยากลำบาก เหมือนต้องเดินเข้าไปในป่าที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ความเชื่อ เชื่อในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ มันทำให้เราก้าวผ่านความยากลำบากไปได้ ตอนนี้สิ่งที่หวังก็คือ สักวันหนึ่ง มนุษยชาติจะมีหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ไม่มีพรมแดน ไม่มีสีผิวเป็นตัวกั้นขวาง คนจะต้องรู้ว่า มีพี่น้องร่วมโลกจำนวนมากของเราที่กำลังจะตาย และหันกลับมาสนใจ มันไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจ แต่มันคือชีวิตของคน”

เป็นคำพูดของ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ก่อนลงจากเวทีในงานสัมนาด้านธุรกิจเพื่อสังคมในหัวข้อ “SOUL≥SELL: FROM PASSION TO IMPACT ใช้ใจ…สร้างกำไร…ให้สังคม” จัดโดยศูนย์วิสาหกิจแบบยั่งยืน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ หรือที่คนทั่วโลกรู้จักกันในชื่อ “เภสัชกรยิปซี” เป็นเภสัชกรชาวไทยผู้คิดค้นสูตรยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี ทำให้ผู้ติดเชื้อในไทยและอีกหลายล้านคนทั่วโลกสามารถเข้าถึงยาต้านเชื้อไวรัสได้ในราคาถูก แต่สิ่งที่ ดร.กฤษณาทำไม่ได้มีแค่นั้น

ระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ดร.กฤษณาใช้ชีวิตส่วนใหญ่เดินทางไปใน 16 ประเทศทั่วทวีปแอฟริกา เพื่อช่วยสร้างโรงงานและถ่ายทอดความรู้ สอนให้คนในทวีปแอฟริกาผลิตยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีและยารักษาโรคมาลาเรียได้ด้วยตัวเอง สามารถช่วยชีวิตชาวแอฟริกันได้หลายล้านคนในแต่ละปี จนทำให้ ดร.กฤษณาได้รับรางวัลยกย่องมากมาย และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก

แต่สิ่งที่ ดร.กฤษณาได้ย้ำในเวทีเสวนาครั้งนี้คือ “ไม่มีความภาคภูมิใจใด ยิ่งใหญ่ไปกว่าการได้ช่วยชีวิตคน”

นอกจาก ดร.กฤษณา ภายในงานยังเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของผู้นำ นักคิด และผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยได้เปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้ร่วมเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และถอดบทเรียน สู่ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจจะสร้างคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ธุรกิจเพื่อสังคม แตกต่างจากธุรกิจทั่วไปตรงที่ไม่ได้มีเป้าหมายที่กำไรสูงสุด แต่มีหมุดหมายที่จะแก้ไขทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น แม้โจทย์หลักของธุรกิจเพื่อสังคมจะเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าวิถีในการดำเนินงานของธุรกิจเพื่อสังคมจะต้องเหมือนกับองค์กรการกุศล หรือมูลนิธิที่มีรายได้หลักจากการรับบริจาคและขอทุนสนับสนุน

สิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจเพื่อสังคมและองค์กรมูลนิธิก็คือ ความสามารถในการหารายได้ หรือสร้างผลกำไรให้สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องพึ่งพาหรือขอเงินจากใคร

ในงานนี้ได้บอกเราว่า ไม่ต้องรอให้รวย ไม่ต้องรอให้มีชื่อเสียง ไม่ต้องรอให้เป็นด็อกเตอร์หรือเป็นนักวิชาการ ก็สามารถลุกขึ้นมาทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นสถาปนิก เป็นครู เป็นผู้ใช้แรงงาน หรือแม้กระทั่งเป็นพระ

พระสุบิน ปณีโต ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์
พระสุบิน ปณีโต ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์

พระสุบิน ปณีโต เป็นพระสงฆ์ผู้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ซึ่งเป็นกลุ่มการเงินของชุมชนที่สนับสนุนให้เกิดการออมของชาวบ้านที่เป็นสมาชิก ให้สมาชิกในกลุ่มกู้เงินไปใช้ในยามเดือดร้อน และรายได้ที่เกิดขึ้นนำกลับไปปันผล และเป็นสวัสดิการในยามเจ็บป่วยแก่สมาชิก ปัจจุบันกลุ่มนี้มีสมาชิกกว่า 60,000 คน ทั่วประเทศ และมีเงินหมุนเวียน 1,000 ล้านบาท

เมื่อเห็นจำนวนสมาชิกและจำนวนเงินหมุนเวียนอาจดูยิ่งใหญ่ แต่ใครจะรู้ว่า กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ เมื่อ 21 ปีก่อน กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เริ่มต้นด้วยสมาชิกเพียง 200 คน และจากธรรมะของพระพุทธเจ้า และการให้คำมั่นสัญญาระหว่างกันว่าจะประหยัด เลิกอบายมุข และช่วยกันออมเงินคนละประมาณ 100 บาทต่อเดือน จนในที่สุด ทุกคนก็มีวันนี้

“การทำให้สังคมดีขึ้น ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน หากสังคมมีปัญหา ชุมชนมีปัญหา วัดก็อยู่ไม่ได้ พระก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน” พระสุบินเชื่อแบบนั้น

นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศใกล้เคียงกับไทยอย่างกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ก็มีธุรกิจเพื่อสังคมเช่นกัน

ในปี 2001 เจเรมี ฮอกเกนสไตน์ ที่ปรึกษาธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางท่องเที่ยวมาถึงนครวัด ประเทศกัมพูชา สิ่งที่เขาเห็นคือปัญหาความยากจน ปัญหาการว่างงาน แม้แต่เด็กที่มีการศึกษาก็ยังไม่มีงานทำ เขาจึงคิดได้ว่าต้องทำอะไรสักอย่าง หลังจากรวมหัวกับเพื่อน สิ่งที่เจเรมีคิดออกก็คือ การหยิบโมเดลเอาท์ซอร์ส (outsource) ทางด้านไอทีของอินเดียมาใช้

เจเรมีกับเพื่อนได้จัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคมชื่อ ดิจิทัล ดิไวน์ ดาต้า หรือ ดีดีดี (Digital Divide Data – DDD) ทำหน้าที่ให้บริการฐานข้อมูล คีย์ข้อมูลจากกระดาษให้กลายเป็นไฟล์ดิจิทัล และให้บริการด้านไอทีอื่นๆ โดยมีพนักงานมาจากเด็กและเยาวชนที่ได้รับการศึกษาและฝึกฝนด้านไอทีโดยดีดีดีเอง

ปัจจุบัน ดีดีดีได้สร้างงานให้กับพนักงานกว่า 900 คน ใน 3 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว และเคนย่า โดยดีดีดีได้ช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้หลุดจากวงจรของความยากจน พนักงานของดีดีดีในกัมพูชามีรายได้สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของประเทศถึง 4 เท่า สามารถยกระดับชีวิตของพนักงานและครอบครัว ให้เข้าถึงการศึกษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ที่ผ่านมา ดีดีดีได้ให้บริการองค์กรธุรกิจชั้นนำของโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารรีดเดอร์ส ไดเจสท์, หนังสือพิมพ์ฮาร์วาด คริมสัน ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, ธนาคารโลก, หนังสือพิมพ์นิวยอร์กเดลี่ และอื่นๆ อีกมากมาย

จิมมี่ แฟม ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการของ KOTO International
จิมมี่ แฟม ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการของ KOTO International

“การแก้ไขปัญหาของธุรกิจเพื่อสังคมนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาอย่างฉาบฉวย หรือแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากเราเห็นคนอดอยาก สิ่งที่เราควรทำคือไม่ใช่เอาปลาไปให้เขา แต่เราต้องสอนเขาจับปลา” จิมมี่ แฟม ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการของ KOTO International พูดบนเวที

KOTO International เป็นธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศเวียดนาม เกิดขึ้นหลังจากจิมมี่ได้พบกับเด็กข้างถนนในประเทศเวียดนาม สิ่งที่เด็กเหล่านั้นบอกกับเขาไม่ใช่ความต้องการเงินหรืออาหาร แต่เป็นความต้องการทักษะที่จะทำให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ จนนำไปสู่การก่อตั้ง KOTO ซึ่งเป็นตัวย่อจากแนวคิดว่า Know One, Teach One หรือ “รู้แล้วสานต่อ”

ระบบของ KOTO คือ การนำเด็กยากจนข้างถนนมาฝึกอาชีพและอบรมเพื่อไปทำงานในภัตตาคาร จากรุ่นสู่รุ่น เด็กที่จบไปแล้วก็จะกลับมาสอนรุ่นน้องต่อไปเรื่อยๆ โดยมีร้านอาหารของ KOTO ในเมืองใหญ่ๆ เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ และเป็นห้องครัวเลี้ยงปากท้องให้เด็กและธุรกิจสามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน

แต่อย่างที่เกริ่นไปว่า ธุรกิจเพื่อสังคมไม่ได้มีแต่มิติทางด้านสังคมเท่านั้น ในด้านสิ่งแวดล้อม ก็ยังมีธุรกิจเพื่อสังคมจำนวนมาก ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เว็บไซต์ GIGABASE คือตัวอย่าง

เว็บไซต์ www.gigabase.org
เว็บไซต์ www.gigabase.org

GIGA ย่อมาจาก Green Ideas Green Action เป็นเว็บไซต์แรกที่มีการจัดลำดับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างและตกแต่งภายในตามการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศจีน จุดเริ่มต้นของ GIGA เกิดจาก ไรอัน ดิค สถาปนิกหนุ่ม ที่ต้องไปทำงานออกแบบโรงแรมสีเขียวหรือโรงแรมที่สร้างโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในประเทศจีน

หลังจากการก่อสร้างโรงแรมสีเขียวแห่งนี้เสร็จสิ้น ไรอันต้องแปลกใจเมื่อได้พบกับอีเมล์จำนวนมาก ที่ส่งมาถามเขาถึงวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างและตกแต่งโรงแรมสีเขียวแห่งนี้ จนทำให้เขาตระหนักได้ว่า มีนักออกแบบที่ต้องการและห่วงใยสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่คนเหล่านี้ขาดก็คือ ข้อมูลในการออกแบบเกี่ยวกับวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ห่วงใยธรรมชาติ

สิ่งที่ไรอันทำคือ การกลับไปคุยกับเพื่อนที่คิดเหมือนกัน และร่วมกันสร้าง GIGA ขึ้น เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศจีน ในเว็บไซต์ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าถึงข้อมูลได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และมีการจัดอันดับ รีวิวผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง นักออกแบบ สามารถเลือกวัสดุและผลิตภัณฑ์สีเขียวที่เหมาะสมกับการก่อสร้าง จนทำให้ GIGA ก้าวขึ้นเป็นแถวหน้าในการให้คำปรึกษาด้านการออกแบบสีเขียวในที่สุด

ปัจจุบัน ตลาดการก่อสร้างสีเขียวของจีนกำลังเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากกลุ่มลูกค้าที่มีฐานจากสถาบันสอนการออกแบบในประเทศจีน ที่มีนักออกแบบจบเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละกว่า 590,000 คน ด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทำให้ GIGA สามารถหารายได้จากการเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเรื่องการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลที่ออกมาคือ GIGA กำลังเติบโตขึ้น คู่ไปกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง จากผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมจำนวนมากบนเวที

ที่ผ่านมา เราคงเห็นแล้วว่า การดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ ที่มุ่งหวังผลกำไรเป็นสำคัญ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือการทำลายสิ่งแวดล้อม

ในงานนี้ ผู้ร่วมงานหลายคนจึงถูกตั้งคำถามจากบนเวทีว่า ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะหันกลับมามองและให้ความสำคัญกับเพื่อนมนุษย์ ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพื่อตัวเราในวันนี้ แต่เพื่ออนาคตของลูกหลาน ถ้อยคำต่างๆ บนเวทีได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า การทำธุรกิจเพื่อสังคมไม่ใช่เรื่องยาก ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะพร้อม และมีใจเมื่อไหร่เท่านั้น