ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องเล่าจากสาวไทยวันน้ำท่วมที่บริสเบน

เรื่องเล่าจากสาวไทยวันน้ำท่วมที่บริสเบน

24 ตุลาคม 2011


สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

หลายคนคงจำกันได้ว่า เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2553 ถึงมกราคม 2554 รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ประสบอุทกภัยร้ายแรงเป็นประวัติการณ์ กระทบเมืองเล็กเมืองใหญ่ถึง 70 เมือง กินพื้นที่ 75 % ของรัฐ ส่งผลเสียหายในเบื้องต้นมากกว่า 30,000 ล้านบาท แต่มีประชาชนเสียชีวิตเพียง 35 คน

ไม่อยากใช้คำว่า “เพียง” กับชีวิตมนุษย์ถึง 35 คนเลย แต่เมื่อเทียบกับระดับของภัยพิบัติ ก็ต้องถือว่าเป็นคนจำนวนค่อนข้างน้อย ในขณะที่น้ำท่วมบ้านเราปีนี้คร่าชีวิตคนไปมากกว่า 300 คนแล้ว

เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยว่าเขาจัดการรับมือกันอย่างไร สำหรับเดือนนี้ เจ้าของคอลัมน์จึงขออนุญาตนำบันทึกในเฟซบุ๊คของอดีตนักข่าวไทย คุณวลักษณ์กมล จ่างกมล ที่เขียนถึงประสบการณ์อุทกภัยในรัฐ ควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ในครั้งนั้นมาเล่าสู่กันฟัง

คุณวลักษณ์กมล กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่ที่เมืองบริสเบน เมืองหลวงรัฐควีนส์แลนด์ ทางตอนใต้ของลุ่มน้ำใกล้ชายฝั่งทะเล (เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ท้ายน้ำลุ่มเจ้าพระยา) เธออาศัยอยู่กับสามี คุณณรงค์ จ่างกมล และลูกชายอินดี้ จ่างกมล

………….

บันทึกวันน้ำท่วมที่บริสเบน
โดย วลักษณ์กมล จ่างกมล

น้ำท่วมบริสเบน
น้ำท่วมบริสเบน

โหมดเตือนภัยและตื่นตัว

“จะตกไปถึงหน้ายยยยยเนี่ยฝนออสสะเตเลีย…อยู่บ้านกันทู้กวันจนทั้งเหี่ยวและทั้งอืดแล้ว”
Facebook status on 09 January at 15:19

“ฝนตกต่อเนื่องมาหลายวันและจะตกยาวไปอีกอย่างน้อยเป็นสัปดาห์ที่ Brisbane และทุกพื้นที่ของรัฐ Queensland จนมีพื้นที่นอกเมืองและบริเวณพื้นที่รับน้ำ รวมทั้งพื้นที่ทางตอนกลางของรัฐ Queensland ขึ้นไป ประสบภัยน้ำท่วมกันไปหลายพื้นที่มายาวนานร่วมเดือน แม้ว่าระบบการจัดการและความช่วยเหลือที่นี่ค่อนข้างดี แต่ก็ยังเอาชนะธรรมชาติได้ยาก อาทิตย์นี้ชาวเมืองหลวงบริสเบนเริ่มเดือดร้อน เพราะน้ำเริ่มทะลักเข้ามาในเมืองบางจุด แม้ปัญหาจะยังไม่หนักหนาเท่านอกเมือง บ้านเราก็ไม่ยอมตกสมัยเช่นกัน”
Facebook status on 10 January at 09:19

ฉันเริ่มบ่นใน status เรื่องฝนตกและการเตือนภัยน้ำท่วมของรัฐ Queensland ตอนนั้นเริ่มมีเสียงถามไถ่ แสดงความห่วงใยจากครอบครัว และเพื่อน ๆ ทางเมืองไทยเกี่ยวกับน้ำท่วม เมื่อดูตามเหตุการณ์ในฤดูนี้เมื่อปีก่อน ๆ ฉันยังมั่นใจว่าบ้านเรายังปลอดภัยและไม่น่าจะท่วมจึงยังไม่มีความวิตกกังวลใด ๆ แค่รู้สึกลำบากและรำคาญกับเหตุการณ์ฝนตกทั้งวันทั้งคืน แถมยังเฉอะแฉะไปไหนไม่ได้มากกว่า ขณะเดียวกันทางการก็เริ่มมีการประกาศเตือนภัยอย่างถี่ยิบ แล้วก็เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงน่าตื่นตกใจและเป็นข่าวดังไปทั่วโลกขึ้นที่เมือง Toowoomba เพื่อนบ้านซึ่งห่างไกลออกไปประมาณ 100 กิโลเมตรทางตะวันตกของเมืองบริสเบนในบ่ายวันที่ 9 มกราคม ซึ่งระบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า in-land tsunami และมีคนจำนวน 7 คนได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตในวันนั้น สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วงและเริ่มเป็น talk of the group ในหมู่พวกเรานักเรียนไทยที่นี่ แต่ทุกคนยังไม่มีใครคิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ใกล้ตัวขนาดนี้…

“น้ำในแม่น้ำบริสเบนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเริ่มไหลบ่าเข้าสู่ถนนบางสายที่อยู่ริมแม่น้ำในวันนี้ ชุมชนที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำได้รับคำเตือนให้เคลื่อนย้ายข้าวของและเตรียมอพยพทุกเวลา ขณะที่เขื่อนใหญ่ที่ช่วยรับน้ำอยู่เหนือแม่น้ำบริสเบนก็มีปริมาณน้ำสูงขึ้นจนจะไม่สามารถรับน้ำได้แล้ว หากปริมาณฝนยังคงตกหนักเช่นนี้ไปอีก… แต่ไม่ต้องห่วงนะคะบ้านเราอยู่ห่างจากแม่น้ำบริสเบนพอสมควร และเป็นบ้านสองชั้น อย่างมากก็ท่วมสนาม หลังบ้าน และใต้ถุนบ้าน ส่วนของกินในตู้เย็นก็มีเพียบอยู่ได้อีกเป็นอาทิตย์ค่ะ”Facebook status on 11 January at 11:31

วันที่ 11 มกราคม สถานการณ์ตึงเครียดเริ่มขยายมาถึงเขตเมืองบริสเบน ผู้นำของรัฐและเทศบาลนครบริสเบนเริ่มประกาศมาตรการอพยพผู้คนที่อยู่เขตริมแม่น้ำบริสเบน เริ่มมีประกาศเตือนภัยถี่ยิบ และมีการพยากรณ์ปริมาณน้ำที่จะสูงขึ้นจากระดับน้ำทะเลเป็นระยะ ๆ วันนี้ฝนเริ่มจะหยุดตกบ้างแล้ว แต่ปริมาณน้ำที่ตกค้างมาจากฝนหนักต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงคริสต์มาสทำให้เขื่อน Wivenhoe Dam เขื่อนรับน้ำขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำบริสเบนตอนบนขึ้นไปนั้นเริ่มมีปริมาณน้ำมากเกินกว่าศักยภาพของเขื่อนจะรับได้ ทางการประกาศว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อน ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำบริสเบนมีระดับสูงกว่าจุดปลอดภัยและจะเป็นอันตรายต่อบ้านเรือนและอาคารต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำ

เมื่อสถานการณ์เริ่มดูท่าจะเลวร้ายมากขึ้น ฉันเริ่มสำรวจคลังอาหารของเรา เราเพิ่งชอปปิ้งเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ล็อตใหญ่มาเมื่อสองสามวันก่อน ยังพอมีสำหรับทำอาหารได้อีกอย่างน้อยสองอาทิตย์ ถึงแม้ไฟจะดับก็คิดว่าพอจะใช้ทักษะชีวิตสมัยเด็ก ๆ ที่บ้านไม่มีไฟฟ้าเพื่อเอาตัวรอดได้ …แต่เอ คิดอีกทีเตาถ่านก็ไม่มี เตาแก๊สก็ไม่มี แล้วจะเอาตัวรอดยังไง อ้อ…ยังมีเตาปิ้งบาร์บีคิวแบบใช้แก๊สอยู่ใต้ถุนบ้าน น่าจะพอถูไถ ผักสดและผลไม้พอมีแต่ไม่มาก แต่คิดว่าไม่เป็นไร แต่สิ่งสำคัญคืออาหารหลักของเรา ข้าวสารเหลือไม่มาก น่าจะหุงได้ซักแค่สองวัน แต่คิดอีกทีก็ไม่เป็นไร เรามีมาม่า เส้นหมี่ และบะหมี่อยู่จำนวนหนึ่งกินแทนข้าวได้

ตอนค่ำมีการเตือนภัยว่าพรุ่งนี้ (วันที่ 12) น้ำในแม่น้ำบริสเบนจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึงประมาณ 4-5 เมตร และมีการเปรียบเทียบน้ำท่วมครั้งนี้กับน้ำท่วมในปี 1974 (พ.ศ.2517) ซึ่งเป็นครั้งที่ร้ายแรงในรอบประวัติศาสตร์ว่าคราวนี้จะร้ายแรงยิ่งกว่า รวมทั้งมีการประกาศว่าพรุ่งนี้เช้าจะมีการตัดกระแสไฟฟ้าในเขตเมืองบริสเบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่เริ่มมีน้ำเอ่อนอง ผู้คนทั้งเมืองเริ่มตื่นตระหนก ร้านขายของชำ Chinese Grocery หน้ามหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์มีนักเรียนไปต่อคิวซื้อของกินกักตุนกันยาวเหยียด รวมไปถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่เล็กเกือบทุกที่ ข้าวของทยอยหมดชั้นอย่างรวดเร็ว เพื่อนนักเรียนบางคนขึ้น status ใน facebook บอกว่าไปซื้อของกินที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตแต่ไม่มีของให้ซื้อต้องขับรถไปซื้ออีกสาขาหนึ่ง ซึ่งของก็แทบไม่มีแล้วเช่นกัน รถบนถนนทุกสายติดยาวเหยียด มหาวิทยาลัยและสถานที่ทำงานต่าง ๆ ประกาศปิดก่อนเวลาและแนะนำให้สมาชิกกลับบ้านในทันที เพื่อน ๆ ที่นี่เริ่มแชร์ข้อมูลและรูปภาพน้ำท่วมที่จุดนั้น จุดนี้ ตอนนี้น้ำเริ่มไล่เข้ามาจากจุดใกล้แม่น้ำและไล่เข้ามาเรื่อย ๆ ในเขตเมือง

ตอนกลางคืน สามีไปทำงานตามปกติ กลับมาบอกว่าถนนหลายสายที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตบ้านเราน้ำเริ่มท่วมและเริ่มมีการปิดถนนแล้ว หน้าโรงเรียนของอินดี้รวมทั้งสวนสาธารณะหลังโรงเรียนน้ำเริ่มท่วมเช่นกัน…แต่คืนนี้ไม่มีฝนลงมาซักหยด ทำให้ฉัน (และหลายคน) ยังแอบคิดว่าอาจจะเป็นการเตือนภัยแบบตื่นตูมไปมั้ยเนี่ย …แต่ก็เอาเหอะยังดีกว่าปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้รับรู้และเตรียมการอะไรเลย

…และพอวันรุ่งขึ้นเราถึงได้รู้ว่า การประกาศเตือนภัยที่จริงจัง แม่นยำ และมีมาตรการที่ทันท่วงทีนั้นมันก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลจริง ๆ

โหมดรับมือและจัดการภัย

วันที่ 12 มกราคม ฉันตื่นเช้าขึ้นมาแดดจ้า ฟ้าสีน้ำเงินแจ่มใส เมฆสีขาวก้อนสวย เดินลงมาดูใต้ถุนบ้านน้ำแห้งสนิท สนามหญ้าไม่มีร่องรอยน้ำขัง รู้สึกลันล้าในใจเป็นกำลัง แถมยังแอบนึกนินทาชาวฝรั่งออสซี่อยู่ในใจว่า แหมมันช่างเตือนภัยซะน่ากลัวจริง ๆ เห็นมะ ฝนก็หยุดแล้ว สถานการณ์ไม่น่าจะมีอะไรเลวร้ายอย่างที่คาดการณ์ซักนิด ไฟฟ้าบ้านเราก็ยังมาตามปกติ แต่ก็ทราบว่าในเขตพื้นที่อื่นมีน้ำท่วมขังบ้างแต่ฉันยังไม่ได้เปิดดูข่าวจากโทรทัศน์ว่าร้ายแรงซักเพียงไหน ฉันเปิดคอมพิวเตอร์อัพเดท status ใน facebook ซะหน่อย เผื่อใครหลายคนที่เมืองไทยเป็นห่วงอยู่

“เช้านี้ที่บ้านเราน้ำลดแล้ว มีแดดออกแต่เช้า ไฟฟ้าก็ยังมีอยู่ค่ะ แต่ในพื้นที่อื่นอีกหลายแห่ง และถนนหลายสายในเมืองบริสเบนระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น เพราะมีน้ำทะลักจากแม่น้ำบริสเบน แต่คาดว่าหากฝนหยุดตกสถานการณ์น่าจะคลี่คลายเร็วกว่าที่คาดการณ์ค่ะ”
Facebook status on 12 January at 07:56

แต่อัพเดทสเตตัสไปได้ซักพัก เปิดดูความเคลื่อนไหวของเพื่อน ๆ นักเรียนที่นี่ใน facebook กบและครอบครัวซึ่งเช่าที่พักอยู่ย่าน Taringa อัพโหลดรูปน้ำท่วมถนนหน้าที่พักสูงจนเกือบท่วมหลังคารถ ส่วนครอบครัวแหม่มและกอล์ฟซึ่งอยู่แถว St.Lucia ใกล้ ๆ กับมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ก็อัพโหลดรูปและระบุว่าขณะนี้ถนนในที่ต่ำทุกสายน้ำท่วมสูงมากแล้ว ไม่สามารถออกไปไหนได้เพราะถนนถูกตัดขาดเนื่องจากน้ำท่วมเกือบทั้งหมด แต่บ้านแหม่มและกอล์ฟเป็นอพาร์ทเม้นท์อยู่บนเนินสูงจึงไม่ท่วม เห็นภาพร้าน Chinese grocery ที่นักเรียนร่วมร้อยต่างฝ่าฟันเข้าคิวกันซื้ออาหารเมื่อวาน ปรากฏว่าวันนี้ก็มีน้ำท่วมสู่งเกือบสองเมตร

ดูแล้วสถานการณ์ไม่น่าจะดี เลยชวนอินดี้ออกไปเดินที่ Haig Road ถนนหลักหน้าบ้าน ซึ่งเป็นเส้นทางที่อินดี้เดินไปโรงเรียนทุกวัน เดินออกถนนเลี้ยวซ้าย ห่างจากบ้านออกไปแค่สองร้อยเมตร พบว่าถนนถูกตัดขาดเรียบร้อย น้ำท่วมสูงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของป้ายรถเมล์ ถนนช่วงกว่าสองร้อยเมตรตรงนั้นกลายเป็นบึงน้ำไป ในขณะที่บ้านเรือนในซอยแถบนั้นมีน้ำท่วมสูงขึ้นถึงชั้นสองเรียบร้อยแล้ว ประชาชนเริ่มอพยพขนข้าวของออกจากบ้าน โดยใช้เรือยางเป็นพาหนะ ครอบครัวของ William เพื่อนอินดี้ซึ่งมีบ้านอยูต้นซอยแถบนั้นก็เตรียมอพยพและขนย้ายข้าวของหนีน้ำ ทั้งที่บ้านเขาน้ำยังไม่ได้เข้าบ้าน ท่วมแค่ถนนหน้าบ้านเท่านั้น แต่แม่ William บอกว่า Just in case…

ฉันเริ่มใจไม่ดีชวนอินดี้เดินกลับบ้าน พอเปิดประตูรั้วเข้าบ้าน คุณลุงคุณป้าข้างบ้านเดินผ่านมาแวะเข้ามาทักทาย ฉันถามว่าสถานการณ์น่าจะโอเคมั้ย ทั้งสองคนบอกทันทีว่า “I don’t think so เธอต้องเก็บข้าวของข้างล่างขึ้นบนบ้าน และอาจจะต้องเตรียมหาที่พักสำรองไว้เลยนะ เพราะตอนบ่ายนี้น้ำจะขึ้นแน่นอน คาดว่าน่าจะขึ้นถึงเกือบ ๆ ชั้นบน และพอตอนเช้าก็จะขึ้นจากเดิมอีกเมตรนึง” อ้าวววว…ฟังแล้วอึ้งไปเลย นี่เป็นโทษของการที่เช้า ๆ ไม่ได้เปิดทีวีดูข่าว ปล่อยให้อินดี้ครองทีวีดูการ์ตูนตั้งแต่ตื่นนอน

ฉันเดินหันรีหันขวาง เดินไปหลังบ้านเห็นผ้าตากอยู่ในร่มอีกหลายสิบตัว แดดก็ดีขนาดนี้ เอ๊…ถ้าฉันจะรื้อผ้าไปตากคนแถวนี้จะว่าฉันบ้ามั้ย เพราะคนอื่นเขากำลังขนของหนีน้ำท่วมกันอยู่ รี ๆ รอ ๆ อยู่ไม่นาน ญาติ ๆ ของคุณยายบ้านติดกันกำลังเก็บข้าวของให้คุณยายอยู่หลังบ้านรีบถามทันทีว่า “เธอเก็บของหรือยัง น้ำกำลังมาแล้วนะ” พร้อมชี้ให้ดูในสนามหลังบ้าน เออแฮะ ฉันเพิ่งสังเกตว่าน้ำค่อย ๆ ไหลเอ่อเข้ามาจริง ๆ ด้วย “เธอรู้มั้ยเมื่อปี 1974 น่ะน้ำขึ้นถึงนี้เลยนะ” แล้วก็ชี้ให้ดูที่ระดับสูงสุดของเสาบ้านซึ่งสูงกว่าสองเมตร “และคราวนี้เขาคาดการณ์ว่าน้ำจะขึ้นมากกว่านี้อีกนะ” …เอาเข้าไป กะเหรี่ยงอย่างเราเริ่มอินกับข้อมูลและตื่นเต้นพร้อมตื่นกลัวหน่อย ๆ ว่าแล้วก็ขึ้นบ้านเปิดเว็บไซต์ดูข้อมูลและแผนที่เขตเสี่ยงภัยน้ำท่วม บ้านเราเป็นหนึ่งในสามหลังสุดท้ายของต้นถนนสายนี้ที่อยู่ในพื้นที่ระบายสีฟ้าซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่เป็นไปได้สูงว่าน้ำอาจท่วมถึง

เกือบ ๆ สิบโมงเช้า เปิดทีวีดูข่าว หลายช่องรายงานน้ำท่วมอย่างเดียวทั้งวัน รายงานภาพเหตุการณ์ตามพื้นที่ต่าง ๆ ประกาศเตือนภัย สลับกับการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบในการแก้ปัญหา จำนวนคนตายเฉพาะที่ Toowoomba เพิ่มขึ้นเป็นสิบคน และมีคนหายอีกกว่าเจ็ดสิบคน กลายเป็นเหตุการณ์วิกฤติชั่วข้ามคืน บ้านเราปรึกษาหารือกัน หลังจากเพื่อนบ้านที่เดินมาดูบ้านเราคนแล้วคนเล่า คอยบอกเล่าเตือนภัย หลายคนบอกว่าจะขนของเมื่อไหร่บอกเดี๋ยวมาช่วยขน พ่อแม่เพื่อนของอินดี้ที่บ้านอยู่ถัดบนเนินสูงขึ้นไปจากบ้านเราเดินมาดูน้ำแล้วแวะมาถามข่าวคราว รีบย้ำแล้วย้ำอีกว่าหากเราต้องอพยพและไม่มีที่ปลอดภัยจะไปให้รีบโทรหาเขาทันที บ้านเขายินดีต้องรับตลอดเวลา โอ…ช่างซาบซึ้งใจจริง ๆ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านในซอยเดียวกันหลาย ๆ คน ที่บอกให้ไปเคาะประตูบ้านได้ตลอดเวลาหากต้องการความช่วยเหลือ

“ตอนนี้กำลังขนของใต้ถุนบ้านขึ้นชั้นสอง เพราะมีการเตือนว่าน้ำกำลังจะขึ้น และจะขึ้นสูงสุดประมาณ 1.5 เมตร ตอนบ่ายสามวันนี้ ท่าจะจริง เพราะน้ำในสนามหลังบ้านกำลังค่อยขึ้นสูงอย่างเห็นได้ชัด…หวังว่าจะไม่สูงขึ้นมาถึงบนบ้านชั้นสอง รอดูสถานการณ์อยู่อย่างระมัดระวัง เตรียมทำกับข้าวไว้ล่วงหน้า เผื่อน้ำขึ้นแล้วเขาตัดไฟ”
Facebook status on 12 January at 10:31

“ขอบคุณเพื่อน ๆ พี่ ๆ และน้อง ๆ ทุกคน ทั้งที่เมืองไทยและที่นี่ ที่คอยติดตามถามข่าวคราวเรื่องน้ำท่วมมาตลอดค่ะ ณ ตอนนี้เวลาบ่ายโมงของบริสเบน บ้านเรายังปลอดภัยอยู่ แต่น้ำเริ่มสูงขึ้นตลอดเวลา ตอนนี้ท่วมมาถึงบันไดขั้นที่สองของหลังบ้านและเข้าในบริเวณใต้ถุนบ้านสูงประมาณครึ่งเมตรแล้ว ได้แต่ภาวนาว่าจะไม่ขึ้นถึงบริเวณชั้นสองค่ะ”
Facebook status on 12 January at 12:56

ประมาณสิบโมงกว่า หลังบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในระดับต่ำสุด น้ำเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด จากแค่ตาตุ่มเป็นหน้าแข้ง จากหน้าแข้งเป็นหัวเข่า ภายในเวลาประมาณสองชั่วโมงน้ำขึ้นสูงมาจนถึงบันไดขั้นที่สอง ขั้นที่สามของหลังบ้าน ซึ่งสูงประมาณ 70-80 ซม. ประมาณเที่ยงกว่า ๆ สนามหญ้าที่ใช้ตากผ้าหลังบ้าน สนามข้างบ้าน และใต้ถุนบ้านน้ำเข้าเต็มหมดแล้ว หลังจากโพสต์สเตตัสนี้ไปบนเฟสบุ๊ก เพื่อน ๆ หลายคนเริ่มตื่นเต้นและเป็นกังวลไปกับเราด้วย น้องนัทเพื่อนนักเรียนที่นี่ก็บอกให้อพยพไปอยู่ที่บ้านเขาซึ่งไม่มีปัญหาน้ำท่วม ขณะที่ตู่เพื่อนนักเรียนที่อยู่บ้านเดียวกันบอกว่าน้องนักเรียนอีกคนคือ ต้อม ซึ่งอยู่ Keperra ไกลไปจากบ้านเราซัก 20 นาที ก็บอกให้ย้ายไปพักที่บ้านเขาก่อน แต่ ณ ขณะนั้น ฉันยังไม่คิดว่าเราต้องย้ายไปนอนที่อื่นและไม่ได้เตรียมใจไว้เลย เพราะคิดว่าถึงจะท่วมแต่น่าจะท่วมเฉพาะใต้ถุน เราก็น่าจะอยู่บนบ้านได้ ขณะที่ในทีวีกำลังรายงานสถานการณ์น้ำที่กำลังจะเพิ่มระดับขึ้นในตอนบ่ายอย่างต่อเนื่อง และระบุว่าสถานการณ์จะแย่ที่สุดในตอนตีสี่ของวันรุ่งขึ้น นั่นหมายความว่าแม้ในบ่ายวันนี้น้ำอาจจะยังสูงไม่ถึงชั้นสองของบ้าน แต่ในตอนเช้ามืดก็ไม่อาจรับประกันได้ เพราะจากการคาดการณ์ระบุว่าน้ำจะเพิ่มระดับสูงขึ้นอีก 1 เมตร ความสูงจากพื้นใต้ถุนบ้านถึงชั้นบนบ้านเราประมาณ 2 เมตร แล้วถ้ามันสูงขึ้นถึงขนาดที่เขาคาดการณ์แล้วบ้านเราจะเหลือเหรอ เพื่อนบ้านบางคนบอกว่าเป็นไปได้ว่าจะขึ้นถึงหลังคาบ้าน โอววววว…ไม่นะ

เราเก็บของใช้และสมบัติทั้งหลายที่คิดว่ายังมีค่าอยู่จากใต้ถุนบ้าน รวมทั้งข้าวของที่น้อง ๆ นักเรียนมาฝากไว้ ขึ้นบนบ้านได้จนหมด ข้าวของใหญ่ ๆ ที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เก็บไว้ข้างล่างก็ย้ายออกไปหน้าบ้าน เตรียมขนย้ายไปฝากไว้ที่ที่ทำการสมาคมแห่งหนึ่งที่อยู่หน้าบ้านฝั่งตรงข้ามบ้านเรา ซึ่งมีพื้นที่โล่งกว้างพอจะวางข้าวของได้ ฉันไปดูลู่ทางพบว่าด้านหลังที่ทำการสมาคมมีก๊อกน้ำ และพื้นที่โล่งที่เป็นลานคอนกรีต ฉันยังบอกกับสามีว่าถ้ามันแย่จริง ๆ แล้วเราไปไหนไม่ได้ เรามานอนกันตรงนี้ก็ได้นะ 🙂 เพราะในขณะนั้น ด้วยความเกรงใจฉันจึงไม่คิดว่าฉันจะสามารถไปเคาะประตูเพื่อนบ้านคนใด ๆ ที่เขามาเสนอไว้ล่วงหน้าได้แน่ ๆ ทั้ง ๆ ที่ก็เรียนรู้ได้ว่าความช่วยเหลือที่ได้รับการเสนอนั้นเต็มไปด้วยความจริงจัง จากประสบการณ์หลายอย่างที่พบทำให้รู้ว่าหากคนที่นี่เขาบอกว่าได้ หรือจะช่วย นั่นคือสิ่งที่เขาคิดและทำได้อย่างที่พูดจริง ๆ ไม่ได้พูดไปตามมารยาทใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ความเกรงใจและไม่อยากรบกวนนี่ก็เป็นนิสัยที่ติดหนึบของคนไทยอย่างเราจริง ๆ

คำเตือนทั้งจากรายงานข่าวทางโทรทัศน์ให้ผู้คนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงเคลื่อนย้ายข้าวของและอพยพตนเองออกจากบ้านที่พักอาศัยไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งความกระตือรือร้นของเพื่อนบ้านคนแล้วคนเล่าที่เฝ้าวนเวียนมาบอกให้เราเก็บของใช้ที่จำเป็นไปไว้หลังรถเพื่อพร้อมจะย้ายตัวเองออกจากบ้านไปได้ทุกเวลา ทำให้ฉันต้องจัดกระเป๋าเดินทาง เตรียมเสื้อผ้า เครื่องใช้สำหรับสองวัน และเอกสารสำคัญส่วนตัวต่าง ๆ ทั้งพาสปอร์ต เอกสารเช่าบ้าน เอกสารส่วนตัวจากเมืองไทย แถมฉันยังไม่ลืมที่จะพกเอาใบรายงานผลการเรียนอินดี้ทั้งสามสี่ชุดไปด้วย แหะ แหะ กลัวหายไปกับน้ำแล้วลูกไม่มีหลักฐานเข้าเรียนที่เมืองไทย รวมทั้งหอบหิ้วเอกสารการแพทย์ จดหมายนัดหมายหมอ และฟิล์มอัลตร้าซาวด์เจ้าตัวเล็กในท้องที่เพิ่งได้มาไปด้วย แห แหะ อันนี้กลัวหายแล้วต้องโทรศัพท์ไปเจรจานัดหมายใหม่อย่างยากเย็น อีกทั้งกลัวต้องไปเสียตังค์ค่าอัลตร้าซาวด์อีกรอบด้วย

“ไฟฟ้าถูกตัดเมื่อชั่วโมงที่แล้ว เรากำลังจะอพยพไปอยู่กับต้อมที่ Keparra”
Facebook status on 12 January at 15:11

ประมาณบ่ายสาม สัญญาณความวิกฤติของเหตุการณ์และพื้นที่เริ่มขึ้นเมื่อกระแสไฟฟ้าถูกตัด นี่เป็นอีกมาตรการของทางการที่นี่ที่ฉันชื่นชม ฉันไม่เคยได้ยินข่าวคนถูกไฟดูดตายเพราะน้ำท่วมบ้านเลย (อย่างน้อยก็ในครั้งนี้) เมื่อข้อมูลในพื้นที่ซึ่งมีระบบการเฝ้าระวังเป็นอย่างดีระบุว่าน้ำท่วมถึงระดับที่อาจเป็นอันตราย สิ่งที่ทางการทำเป็นลำดับแรกคือการตัดกระแสไฟฟ้า (และจะไม่ปล่อยไฟจนกว่าจะแน่ใจว่าระบบไฟได้ถูกตรวจสอบว่าปลอดภัย) แม้ว่าในพื้นที่บริเวณนั้นจะมีบ้านที่ไม่ได้ถูกน้ำท่วมแต่หากระบบการจ่ายไฟอยู่ในข่ายเดียวกันก็จะต้องยอมถูกตัดไฟ และดูเหมือนคนที่นี่จะเข้าใจและตระหนักถึงความปลอดภัยนี้เป็นอย่างดี ไม่มีบ้านไหนบ่นเรื่องบ้านฉันน้ำไม่ท่วมทำไมถูกตัดไฟ นี่คือสิ่งที่ฉันรู้สึกว่าเป็น “สำนึกสาธารณะ” อย่างหนึ่ง ชุมชนหรือสังคมที่เข้มแข็งและพัฒนา ไม่ใช่แค่เพียงพึ่งตนเองได้แต่ต้องมีสำนึกร่วมกับส่วนรวม แม้ว่านั่นจะไม่ใช่ปัญหาหรือเรื่องราวโดยตรงของตนเองก็ตาม

เมื่อบ้านเราถูกตัดไฟ เราปรึกษาหารือกัน และตัดสินใจที่จะออกจากบ้านไปอยู่กับต้อมที่ Keperra หลังจากเช็คเส้นทางแล้วเห็นว่าสามารถขับรถไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีเส้นทางที่ถูกน้ำท่วม หอบหิ้วข้าวปลาอาหารที่ทำเตรียมไว้ รวมทั้งขนมปัง ไข่ และของสดบางอย่างไปด้วย เพื่อที่จะไม่ต้องไปรบกวนต้อมมากไปกว่าที่นอน อาบน้ำ และพักผ่อน

“กลับมาเช็คบ้านอีกรอบหลังจากผ่านไป 2 ชม. พบว่าน้ำขึ้นมาถึงรั้วหน้าบ้านแล้ว การคาดการณ์ระบุว่าคืนนี้จะขึ้นสูงอีก 1 เมตร ซึ่งจะขึ้นสูงถึงบันไดขั้นสุดท้ายก่อนขึ้นชัั้นสอง หวังว่าความจริงจะไม่แย่ไปกว่าการคาดการณ์”
Facebook status on 12 January at 19:27

เมื่อได้เข้าที่พักที่บ้านต้อมเรียบร้อย ด้วยความเป็นห่วงบ้าน และยังมีข้าวของชั้นบนอีกหลายอย่างที่ยังอยู่บนพื้น ซึ่งหากน้ำท่วมถึงพื้นชั้นบนจริง ๆ ก็คงแย่ เลยกลับมาบ้านกันอีกรอบ พบว่าน้ำสูงขึ้นกว่าเดิมมาก และมีใครซักคนที่ใจดีหรืออาจเป็นหน่วยงานของรัฐมาวางกระสอบทรายกั้นไว้ให้ทั้งที่ประตูหน้าบ้านและหลังบ้าน เราเดินลุยน้ำเข้าบ้าน ก่อนขึ้นบันไดหน้าบ้านน้ำสูงในระดับเกินเข่าของฉัน น้ำสูงขึ้นถึงบันไดขั้นที่สอง เราขึ้นไปจัดของบนบ้านกันอีกรอบ รื้อลิ้นชักเอกสารอีกส่วนที่เหลือ ขึ้นไว้บนหลังตู้เสื้อผ้า รื้อเสื้อผ้าที่อยู่ที่พื้นตู้ขึ้นชั้นสูง และด้วยความห่วงโซฟาก็ได้ต้อมช่วยเอาเก้าอี้สอดเข้าใต้โซฟาเพื่อหนุนในสูงขึ้น เผื่อว่าน้ำขึ้นอย่างน้อยก็เพิ่มโอกาสในการรอดของโซฟาได้มากขึ้น

เวลาสิบกว่าชั่วโมงของวันนี้ช่างแสนยาวนาน เกิดเรื่องราวมากมายจนจำไม่หวาดไม่ไหว และบันทึกได้เพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวทั้งวันเท่านั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่ฉันได้เรียนรู้ในวันนี้ คือ คุณค่าของความเป็นชุมชน คุณค่าของสิ่งที่เรียกสำนึกสาธารณะ ที่ทำให้คนในชุมชนเป็นอันหนึ่งอันเดียว และมีเป้าหมายเดียวกันในการร่วมกันพาทุกคนให้รอดพ้นวิกฤติให้ได้ โดยไม่มีใครตักตวงผลประโยชน์หรือหาโอกาสเอาเปรียบจากคนที่เดือดร้อน (เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายที่เราไปกอง ๆ ไว้ในลานเปิดโล่งของสมาคมฝั่งตรงข้ามบ้าน ไม่มีหายแม้แต่ชิ้นเดียว) สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ คุณค่าของข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแม่นยำในยามที่สังคมอยู่ในภาวะวิกฤติ ข้อมูลจะต้องถูกนำเสนออย่างกว้างขวาง และเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม หน่วยงานรัฐต้องนำเสนอข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันข่าวลือข่าวลวงที่จะซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก ที่สำคัญข้อมูลต้องมีความน่าเชื่อถือและมีหลักฐานรองรับ เพื่อให้คนในสังคมเห็นภาพการคาดการณ์อย่างมีเหตุและผล

นั่นคือ…มุมบวกของวิกฤติที่ฉันได้เห็น และตั้งใจจะทำตามเมื่อได้กลับไปอยู่ในชุมชนของเราที่เมืองไทย

วลักษณ์กมล จ่างกมล
วันที่ 26 มกราคม 2554