ThaiPublica > จับเท็จ: ประเด็น > รัฐประหาร ในมุมมองนายอานันท์

รัฐประหาร ในมุมมองนายอานันท์

21 กันยายน 2014


ซึ่งนายอานันท์ได้หยิบยกบทงานเขียนที่ชื่อว่า “The Democratic Coup d’état” ของ โอซาน โอ. วารอล (Ozan O. Varol) ศาสตราจารย์กฎหมายจากมหาวิทยาลัย ลูวิส แอนด์ คลาร์ก สหรัฐอเมริกา งานเขียนนี้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Harvard International Law Review ในปี 2555 ที่เขียนถึงรูปแบบการรัฐประหารปัจจุบันที่แตกต่างจากภาพความเข้าใจของคำอธิบายในอดีต ที่มักมองว่ารัฐประหารที่นำไปสู่ระบอบเผด็จการ มาเป็นส่วนหนึ่งในการตอบคำถามนายภิญโญ

 

โดยก่อนหน้าจะยกบทความขึ้นมาอธิบาย นาอานันท์ได้ให้ความเห็นว่า “เห็นใจ” ทหาร และเข้าใจกว่าการทำการรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นจากเหตุ “จำเป็น” ดังนั้นการนำงานเขียนทางวิชาการของ วารอล ขึ้นมาประกอบนั้นเสมือนเป็นการนำหลักฐานยกขึ้นให้เห็นว่าการรัฐประหารครั้งนี้เป็นการรัฐประหาร แบบ Democratic Coup d’état ซึ่งก็คือ "รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย" นั่นเอง

 

บริบท

เมื่อประเด็นการสนทนาในครั้งนี้ถูกเผยแพร่ออกมา ทำให้นักวิชากร นักคิด นักเขียนหลายท่านได้กลับไปพลิกดูงานเขียนของ วารอล ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ตามองค์ประกอบลักษณะการรัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย 7 ประการของวารอลแล้วนั้น อาจต้องตั้งคำถามใหม่ว่า รัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นี้นั้นเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่

 

จากงานเขียน “The Democratic Coup d’état”  ในตอนต้นของงานเขียนชิ้นนี้ วารอล ได้อธิบายไว้ถึงการรัฐประหารในสมัยใหม่ที่มีความแตกต่างจากกรอบคิดของนักวิชาการในอดีต โดยมองว่าการรัฐประหารในสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นมีหนทางอันนำไปสู่นำไปสู่การเลือกตั้ง นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย

 

ด้านบทความของ ศ.ดร.นิธี เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ชาวไทย เรื่องงานศพผิดวัดครั้งใหม่ (1) ในมิติชนออนไลน์ ประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2557ได้พยายามตีความการให้เหตุผลของนายอานันท์ ไว้ว่า

 

“ถ้าคุณอานันท์ได้อ่านอย่างละเอียดพอสมควร ก็หมายความว่า คุณอานันท์เชื่อตามที่กลุ่ม กปปส.อ้างว่า รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลเผด็จการ ไม่ได้รับการต้อนรับจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ปฏิเสธที่จะลงจากตำแหน่งแม้ได้ประกาศยุบสภาไปแล้ว…” 

 

และบทความของสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และกรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ เรื่อง ลักษณะของ "รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย" ในเว็บไซต์ Thaipublica และในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 กันยายน 2557 ได้ถอดความลักษณะของการรัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย มานำเสนอ และวิเคราะห์เทียบเคียงกับกรณีรัฐประหารครั้งล่าสุดของไทยไว้ดังนี้

 

ลักษณะของ “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” 7 ประการ ของวารอล

 

  • รัฐประหารที่เกิดขึ้นจะต้องมุ่งโค่นล้มระบอบเผด็จการ (totalitarian) หรือระบอบที่ผู้ปกครองใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ (authoritarian) ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้มีความหลากหลายทางการเมือง

ข้อนี้วารอลขยายความว่า “รัฐประหารใดๆ ก็ตามที่โค่นล้มรัฐบาลที่ไม่ใช่เผด็จการหรือไม่ได้ใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่ “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” ภายใต้กรอบคิดนี้ รัฐประหารหลายครั้งที่ผ่านมาถูกอ้างว่าทำเพื่อโค่นนักการเมืองที่ผู้นำคณะรัฐประหารมองว่าคอร์รัปชั่น ไร้ประสิทธิภาพ หรือสายตาสั้น รัฐประหารประเภทนี้อยู่นอกเหนือขอบข่ายของ “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” เพราะประชาชนสามารถปลดนักการเมืองแบบนี้เองได้ด้วยการไม่โหวตเลือกพวกเขาในการเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นจะต้องให้กองทัพเข้าแทรกแซง รัฐประหารจะเป็นประชาธิปไตยได้ก็เฉพาะแต่ในกรณีที่การเลือกตั้งไม่ใช่วิธีปลดนักการเมืองที่มีความหมาย เพราะผู้นำทางการเมืองคนนั้นไม่ยอมสละอำนาจ [ถึงแม้จะแพ้เลือกตั้ง]”

 

  • “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ออกมาต่อต้านผู้นำเผด็จการหรือผู้นำที่ใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จอย่างยาวนาน ปกติการต่อต้านนี้จะอยู่ในรูปของการลุกฮือขึ้นประท้วง พลเมืองอยากได้ประชาธิปไตย แต่ถูกกีดกันไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้ง

 

  •  แม้จะเผชิญกับเสียงต่อต้านจากประชาชนจำนวนมหาศาล ผู้นำเผด็จการยังไม่ยอมลงจากตำแหน่ง

 

  • “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” มักจะเกิดในประเทศที่บังคับให้พลเมืองต้องเกณฑ์ทหาร ส่งผลให้กองทัพเต็มไปด้วยสมาชิกของสังคม ไม่ใช่ทหารรับจ้าง กองทัพในแง่นี้อาจได้ชื่อว่าเป็นสถาบันแห่งเดียวที่ไม่คอร์รัปชั่นและไม่ถูกกระทบจากกลไกของรัฐซึ่งมีคอร์รัปชั่นซึมลึก

 

  • กองทัพขานรับเสียงเรียกร้องของประชาชน ทำรัฐประหารเพื่อโค่นระบอบเผด็จการ

 

  • กองทัพจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมภายในระยะเวลาไม่นาน ประกาศวันเลือกตั้งล่วงหน้าอย่างชัดเจนเพื่อสร้าง “ตลาดการเมือง” ขึ้นมาใหม่ อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลเฉพาะกาลว่า ตนมีบทบาทจำกัดและจะอยู่ในอำนาจเพียงชั่วคราวเท่านั้น

 

  • ภายหลังการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม กองทัพถ่ายโอนอำนาจให้กับผู้นำที่ชนะการเลือกตั้งโดยทันที ไม่ว่าผู้นำที่ประชาชนเลือกจะเป็นใคร ไม่ว่านโยบายจะสอดคล้องกับนโยบายของกองทัพหรือไม่ โดยกองทัพจะไม่พยายามแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงผลการเลือกตั้ง

 

“ผู้เขียนเห็นว่าจากลักษณะเจ็ดประการของ “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” ที่สรุปมาข้างต้นนั้น ชัดเจนว่ารัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. ไม่เข้าข่ายในกรอบคิดของวารอลเลย – ดูประการแรกกับประการที่สองก็ไม่เข้าแล้ว ประการที่สี่ยิ่งไม่เข้าใหญ่”

 

สรุป

ตามคำกล่าวของนายอานันท์ ที่ว่า “…รัฐประหารไม่ได้หมายความว่า “ทำลาย” ประชาธิปไตย… ต้องดูก่อนว่าทำไมถึงเกิดรัฐประหาร ถ้าเกิดเป็นรัฐประหารที่ต้องการปกป้องประชาธิปไตย ทำได้ หรือต้องการทำลายคนที่จะมาทำลายประชาธิปไตยก็ทำได้” เป็นการอ้างอิงเนื้อหาที่ถูกต้องตามงานเขียนของ วารอล

 

แต่เมื่อวิเคราะห์ตามบริบทของคำถามที่นายภิญโญตั้ง การให้เหตุผลจากงานเขียนของวารอลมาสนับสนุนว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้มีความเป็น “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” นั้น ค่อนข้างคลาดเคลื่อนจากลักษณะของ “รัฐประหารที่เป็นประชาธิปไตย” 7 ประการของวารอล ดังนั้นคำกล่าวของนายอานันท์ ในบริบทรัฐประหารปี 2535 และรัฐประหารปี 2557 เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับงานเขียนของวารอล และการวิเคราะห์งานของวารอลในบทความของ ศ.ดร.นิธิ และสฤณี คำกล่าวของนายอานันท์จึงจัดอยู่ในเกณฑ์ “ก้ำกึ่ง”

ป้ายคำ :