ThaiPublica > เกาะกระแส > แรงงานทั่วโลกเดินขบวนประท้วงนโยบายทรัมป์

แรงงานทั่วโลกเดินขบวนประท้วงนโยบายทรัมป์

2 พฤษภาคม 2025


ผู้ประท้วงถือป้ายเรียกร้องให้ส่งตัว คิลมาร์ อาเบรโก การ์เซีย กลับสหรัฐฯ ในการประท้วงที่ลอสแอนเจลิสเมื่อวันพฤหัสบดี (1 พ.ค. 2568) ที่มาภาพ: https://edition.cnn.com/2025/05/01/us/50501-movement-anti-trump-protests

ผู้คนนับแสนคนในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก รวมตัวกันประท้วงในวันแรงงานเมื่อวันพฤหัสบดี เพื่อตอบโต้นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่มาตรการภาษีที่เข้มงวดซึ่งก่อให้เกิดความกังวลต่อความวุ่นวายทางเศรษฐกิจทั่วโลก ไปจนถึงการปราบปรามผู้อพยพของรัฐบาลของเขา และเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางในช่วง 100 วันแรกของการเข้ารับตำแหน่ง

ในสหรัฐฯ ผู้จัดงานได้กำหนดกรอบการประท้วงวันแรงงานสากลในปีนี้ว่า เป็นการตอบโต้ต่อสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นการโจมตีอย่างรุนแรงของรัฐบาลต่อการคุ้มครองแรงงาน ความคิดริเริ่มด้านความหลากหลาย และพนักงานของรัฐบาลกลาง ผู้ประท้วงยืนเรียงรายตามถนนในหลายเมือง ตั้งแต่เมืองนิวยอร์กไปจนถึงฟิลาเดลเฟียและลอสแอนเจลิส และจัดการชุมนุมที่คึกคักหน้าทำเนียบขาวในวอชิงตัน

ผู้คนจำนวนมากออกมารวมตัวกันตามท้องถนนในเมืองต่างๆ รวมถึงลอสแอนเจลิส นครนิวยอร์ก เดนเวอร์ ชิคาโก และวอชิงตัน ดี.ซี. เนื่องในวันแรงงานสากล เพื่อประท้วงสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าการทำร้ายผู้อพยพ คนงาน และนักศึกษาที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการพูด

สำนักข่าว AP รายงานว่า ในชิคาโก มีผู้คนหลายพันคนรวมตัวกันที่สวนสาธารณะฝั่งตะวันตก ก่อนจะเดินขบวนผ่านใจกลางเมืองไปยังริมทะเลสาบ บางคนตีกลองและเต้นรำ ในขณะที่บางคนตะโกนว่า “ไม่มีความยุติธรรมก็ไม่มีสันติภาพ!” ฝูงชนประกอบด้วยคนงานจากสหภาพแรงงาน ผู้สนับสนุนสิทธิผู้อพยพ นักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ และนักเรียนที่เรียกร้องให้มีเงินทุนสนับสนุนโรงเรียนของรัฐมากขึ้น

“เราต้องลุกขึ้นมาและต่อสู้กลับ” ลาทรินา บานส์ ผู้ช่วยพยาบาลที่ผ่านการรับรองวัย 48 ปี กล่าว พร้อมเสริมว่า ความกังวลเกี่ยวโปรแกรมประกันสุขภาพ Medicare และ Medicaid อาจได้รับผลกระทบภายใต้การบริหารของทรัมป์ ทำให้เธอออกมาประท้วงในการชุมนุมวันแรงงานเป็นครั้งแรก

ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางคนใช้ความตลกขบขันในการประท้วง โดยแสดงหุ่นเชิดทรัมป์ ลูกไก่เป่าลมทรัมป์ และปิญญาตา (piñata กล่องกระดาษอัด) ทรัมป์ที่มีรูปร่างเหมือนวัว

การประท้วงดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้ชื่อขบวนการ “50501” ซึ่งย่อมาจาก 50 protests, 50 states, 1 movement โดยระบุว่า ขบวนการนี้สนับสนุน “การต่อสู้เพื่อยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ และยุติการใช้อำนาจเกินขอบเขตของฝ่ายบริหาร” จากการรายงานของ CNN

เว็บไซต์ของขบวนการดังกล่าวระบุว่า “ทรัมป์และบรรดามหาเศรษฐีผู้แสวงหากำไร พยายามสร้างการแข่งขันเพื่อทำกำไร ทั้งจากค่าจ้าง สวัสดิการ และศักดิ์ศรี” “ในวันแรงงานปีนี้ เรากำลังต่อสู้กลับ เรากำลังเรียกร้องให้ประเทศให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่าทรัพย์สินของตนเอง ให้ความสำคัญกับโรงเรียนของรัฐมากกว่าผลกำไรของเอกชน มุ่งการดูแลสุขภาพมากกว่ากองทุนเฮดจ์ฟันด์ ให้ความสำคัญกับความเจริญรุ่งเรืองมากกว่าการเมืองตลาดเสรี”

การประท้วงวันแรงงานในลอสแอนเจลิส ที่มาภาพ: https://edition.cnn.com/2025/05/01/us/50501-movement-anti-trump-protests

หลากเรื่องคับอกคับใจนำมาสู่การประท้วงร่วมกัน

การประท้วงในวันแรงงานครั้งแรกของนิวยอร์กซิตีเมื่อวันพฤหัสบดี มีกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมกันโดยมีการตะโกนว่า “ปลดปล่อยปาเลสไตน์” มีป้ายเรียกร้องให้ปลดปล่อยมะห์มุด คาลิล บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่ถูกคุมขัง และป้ายเรียกร้องสิทธิแรงงานที่มีข้อความว่า “ทรัมป์ อย่าแตะต้องสหภาพแรงงานของเรา”

“ทรัมป์ทำให้คนจนและชนชั้นแรงงานลืมไปว่าใครคือศัตรูของเรา” ผู้จัดงานจากพรรคสังคมนิยมและการปลดปล่อย (Party for Socialism and Liberation) กล่าวกับฝูงชนจำนวนมากที่รวมตัวกันในยูเนียนสแควร์ของนิวยอร์กซิตี “ศัตรูของเราไม่ใช่นักศึกษาต่างชาติที่รวมตัวกันในมหาวิทยาลัย ศัตรูของเราไม่ใช่คนงานไร้เอกสารที่อุทิศตนเพื่อชุมชน จ่ายภาษี แต่ไม่สามารถรับบริการใดๆ ได้ ศัตรูของเราไม่ใช่คนงานที่ทำงานให้กับบริษัท”

“ระบบที่เหยียดผิว เหยียดเพศ ต่อต้านคนงาน เกลียดคนรักร่วมเพศ เกลียดคนต่างชาติ และเกลียดคนข้ามเพศต่างหาก คือศัตรูของเรา” ผู้จัดงานกล่าว ขณะที่ฝูงชนโห่ร้องตอบรับ

กลุ่มคนประมาณ 150 คนเดินขบวนจากยูเนียนสแควร์ไปยังอาคารสตีเฟน เอ. ชวาร์ซแมน (Stephen A. Schwarzman Building) ของหอสมุดสาธารณะนิวยอร์ก ซึ่งผู้ชุมนุมยังคงเดินขบวนบนบันไดทางเข้าด้านหน้า

ผู้ประท้วงตะโกนโห่ร้องและถือธงปาเลสไตน์และป้ายที่มีข้อความว่า “ประชาชนเรียกร้องให้หยุดการเนรเทศ” ผู้อภิปรายหลายคนพูดถึงการที่รัฐบาลมุ่งเป้าไปที่ผู้อพยพ และการที่สหรัฐฯ ให้เงินแก่อิสราเอลเพื่อจัดหาอาวุธและอุปกรณ์ทางทหาร ในขณะที่จำนวนพลเรือนเสียชีวิตในฉนวนกาซายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมวันแรงงานเพื่อเรียกร้องหลักนิติธรรมในนิวยอร์ก ที่มาภาพ: https://www.abc.net.au/news/2025-05-02/us-global-may-day-protests-against-donald-trump/105244034

ในการชุมนุมวันแรงงานครั้งที่สองอันคึกคักในนิวยอร์กซิตี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ กล่าวกับผู้เข้าร่วมหลายพันคน (จากการประเมินของทีมงาน CNN) ว่า “เมื่อพวกเขาเห็นพวกเรารวมตัวกันบนท้องถนน” นักการเมืองของวอชิงตันจะ “กลัวมาก”

โอคาซิโอ-คอร์เตซชี้ไปที่การชุมนุมขนาดใหญ่ของผู้คนที่มาชุมนุมวันแรงงานในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ และอ้างถึงวุฒิสมาชิกเบอร์นี แซนเดอรส์ ที่เข้าร่วมการชุมนุมกับผู้คนหลายพันคนในฟิลาเดลเฟีย

แซนเดอรส์ วุฒิสมาชิกจากเวอร์มอนต์ปราศรัยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ศาลากลางเมืองในฟิลาเดลเฟีย ร่วมกับสหภาพแรงงานและกลุ่มสิทธิผู้อพยพ ที่ออกมาประท้วงนโยบายและการตัดสินใจล่าสุดของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

“พี่น้องทั้งหลาย เราขอบอกพวกผู้มีอำนาจที่โลภมากเหล่านี้ว่าประเทศนี้เป็นของพวกเราทุกคน ไม่ใช่ชนชั้นเศรษฐีพันล้าน” แซนเดอรส์กล่าว

ผู้ประท้วงที่กำลังรอฟังคำปราศรัยของแซนเดอรส์บอกกับ CNN ว่าพวกเขากังวลใจ รวมถึงการเนรเทศคิลมาร์ อเบรโก การ์เซีย และคำขู่ของรัฐบาลต่อนักศึกษา เช่น รูเมย์ซา ออซเติร์ก นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยทัฟตส์ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองซึ่งสวมหน้ากากนำตัวไปตอนกลางวันแสกๆ

“ฉันเศร้าใจมาก” เคท โอเวอราท-สเป็ก กล่าวกับ CNN “ฉันออกมาประท้วงในช่วงการบริหารวาระแรกของเขา เช่นเดียวกับทุกสุดสัปดาห์ ว่ามีบางอย่างให้ประท้วง แต่ตอนนี้เราไม่ควรเป็นผู้ประท้วง เราควรเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย หลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ”

หลังจากการชุมนุมที่ฟิลาเดลเฟีย ผู้ประท้วง 70 คนถูกจับกุมในข้อหากีดขวางทางหลวง หลังจากเจ้าหน้าที่ออกคำเตือนหลายครั้งให้เคลียร์ถนน สำนักงานตำรวจฟิลาเดลเฟียกล่าวเมื่อคืนวันพฤหัสบดี ผู้ประท้วงได้รับแรงบันดาลใจจาก Montgomery Bus Boycott (การคว่ำบาตรรถประจำทางมอนต์โกเมอรีปี 1955 เป็นการรณรงค์ประท้วงทางการเมืองและสังคม เพื่อต่อต้านนโยบายการแบ่งแยกเชื้อชาติในระบบขนส่งสาธารณะของเมืองมอนต์โกเมอรี รัฐแอละแบมา) จาก March on Washington (การเดินขบวนครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 1963 ที่นำโดยมาร์ติน ลูเทอร์ คิง) และจากมาร์ติน ลูเทอร์ คิง และ Memphis Sanitation Workers’ Strike (การหยุดงานของคนงานสุขาภิบาลเมมฟิส ปี 1968) Philadelphia AFL-CIO (สภาสหภาพแรงงาน) แห่งเมืองฟิลาเดลเฟียระบุในข่าวประชาสัมพันธ์

“สิ่งที่เราเห็นในวันนี้ ตั้งแต่ฝูงชนจำนวนมากที่มาชุมนุมกับเราที่ศาลากลาง ไปจนถึงผู้นำและนักเคลื่อนไหวกว่า 50 คนที่ถูกจับกุมพร้อมกับฉันเมื่อช่วงค่ำของวันนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนงานในฟิลาเดลเฟียจะไม่นิ่งเฉย เมื่อสิทธิของเราถูกเหล่ามหาเศรษฐีอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ และอีลอน มัสก์ริบไป” แดเนียล บาวเดอร์ ประธาน AFL-CIO ของฟิลาเดลเฟียกล่าว

ในส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ โอคาซิโอ-คอร์เตซ วิพากษ์วิจารณ์การตัดลดพนักงานของรัฐบาลกลางครั้งใหญ่ตั้งแต่เริ่มบริหารงานของทรัมป์ รวมถึงการปราบปรามการบังคับใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมือง

“เราเห็นพนักงานของรัฐบาลกลางของเราถูกเลิกจ้าง ถูกตัดลดในทุกด้าน” เธอกล่าวกับฝูงชน “เราเห็นบุคคลที่เรียกร้องให้หยุดยิงถูกจับกุม” เธอกล่าวโดยพาดพิงถึงผู้จัดงานประท้วงอย่างคาลิล

ขบวนการ 50501 ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็นการเคลื่อนไหวแบบ “กระจายตัว” โดยมีกิจกรรมที่จัดโดยอาสาสมัครอิสระ มีจุดเริ่มต้นมาจากฟอรัม Reddit ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 25 มกราคม ซึ่งก่อให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศที่นำโดยองค์กรภาคประชาชนหลังจากทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง การเคลื่อนไหวทางออนไลน์ที่เริ่มต้นขึ้นอย่างรวดเร็วได้ลุกลามไปสู่ท้องถนน โดยมีการประท้วงครั้งใหญ่เกิดขึ้นอย่างน้อย 4 ครั้งในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา

ก่อนการประท้วงวันแรงงาน การประท้วงครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน เมื่อฝูงชนเข้าร่วมการประท้วงมากกว่า 80 ครั้งในรัฐสภา ศาล และศาลากลางในหลายรัฐ เพื่อต่อต้านสิ่งที่ผู้จัดงานระบุว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงการเนรเทศโดยขาดกระบวนการตามกฎหมาย การยุบหน่วยงานของรัฐบาลกลาง และการคุกคามต่อการศึกษาระดับสูง

การประท้วงในชิคาโก ที่มาภาพ: https://www.npr.org/2025/04/30/nx-s1-5382560/may-day-protests-history-trump

ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ส่งตัวชายที่ถูกเนรเทศไปอย่างผิดกฎหมายกลับประเทศ

ในตัวเมืองลอสแอนเจลิส มีผู้คนจำนวนมากออกมาชุมนุมและตะโกนต่อต้านรัฐบาลทรัมป์ และสิ่งที่ผู้ปราศรัยบรรยายว่า เป็นความพยายามทำลายชุมชนคนผิวดำและผู้อพยพ

“ปรสิตตัวจริงของประเทศนี้คือเหล่ามหาเศรษฐีที่กำลังทำลายสถาบันต่างๆ ของประเทศ” อควิลินา โซริอาโน เวร์โซซา ผู้ก่อตั้งศูนย์คนงานชาวฟิลิปปินส์กล่าว

ฝูงชนตะโกนร้องกระหึ่ม “เมื่อฉันพูดว่าคนงาน คุณพูดว่าอำนาจ! เมื่อฉันพูดว่าผู้อพยพ คุณพูดว่าอำนาจ! เมื่อฉันพูดว่าสหภาพแรงงาน คุณพูดว่าใช่!”

“พอกันทีกับการโจมตีที่ไร้เหตุผลต่อพี่น้องของเรา ที่เดินทางมาประเทศนี้เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า” คาร์เมน โรเบิร์ต รองประธาน SEIU Local 2015 ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในแคลิฟอร์เนีย และเป็นตัวแทนของคนงานที่เป็นผู้ช่วยบริบาลดูแลผู้สูงอายุกว่าครึ่งล้านคนกล่าว

“เราขอเลือกความสามัคคีมากกว่าความแตกแยก” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่า “Sí, se puede” ซึ่งเป็นภาษาสเปนแปลว่า “ใช่ มันทำได้” ซึ่งเป็นการเห็นด้วยกับเสียงร้องปลุกระดมของขบวนการแรงงานฟาร์มที่นำโดย ซีซาร์ อี. ชาเวซ ซึ่งต่อสู้เพื่อค่าจ้างที่เป็นธรรม การปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม และสภาพการทำงานที่ปลอดภัยกว่าสำหรับแรงงานฟาร์มในแคลิฟอร์เนีย ผ่านการเดินขบวนที่ไม่ใช้ความรุนแรง การคว่ำบาตร และการอดอาหาร

ฝูงชนที่มีลักษณะคล้ายกันเดินขบวนไปตามถนนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเป็นสถานที่ที่ภรรยาของอาร์เบรโก การ์เซีย ชายชาวแมริแลนด์ ซึ่งถูกเนรเทศไปยังเอลซัลวาดอร์อย่างไม่ยุติธรรมเมื่อเดือนที่แล้ว ได้พูดคุยกับผู้ประท้วง

“สามีของฉันถูกกักขังอย่างผิดกฎหมาย ลักพาตัว และหายตัวไป ถูกโยนทิ้งให้ตายในเรือนจำที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งในเอลซัลวาดอร์ โดยไม่มีกระบวนการทางกฎหมายที่เหมาะสมเพราะความผิดพลาด” เจนนิเฟอร์ วาสเกซ ซูรา กล่าว ขณะที่ฝูงชนตอบสนองด้วยการตะโกนว่า “น่าละอาย”

“ความเจ็บปวดนี้ไม่อาจบรรยายได้ ลูกๆ ของฉัน… ถูกทิ้งให้ใช้ชีวิตอยู่โดยปราศจากพ่อ และพวกเขาคิดถึงพ่อมากกว่าสิ่งอื่นใด” เธอกล่าวเสริม “หยุดเล่นเกมการเมืองกับชีวิตของสามีฉันได้แล้ว”

ในย่านใจกลางเมืองลอสแอนเจลิส ผู้ประท้วงหลายพันคนเดินขบวนพร้อมชูป้ายที่มีข้อความว่า “ผู้อพยพทำให้ประเทศอเมริกายิ่งใหญ่ Immigrants make America great” “การอพยพเป็นสิ่งที่สวยงาม” และ “ไม่ใช่เวลาที่จะเงียบ” โดยมีวงดนตรีบรรเลงและโบกธง ทำให้การชุมนุมครั้งนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการเฉลิมฉลอง

“เรากำลังต่อสู้กับเหล่ามหาเศรษฐีและนักการเมืองที่พยายามแบ่งแยกเราด้วยความกลัวและคำโกหก” เอพริล เวอร์เรตต์ ประธานสหภาพแรงงานระหว่างประเทศซึ่งเป็นตัวแทนของคนงานกว่า 2 ล้านคนกล่าว

ผู้ปราศรัยหลายคนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการเลือกตั้งปกป้องสิทธิของคนงานและผู้อพยพ โดยมีสโลแกนว่า “หนึ่งการฝ่าฟัน หนึ่งการต่อสู้ — คนงานสามัคคีกัน One Struggle, One Fight — Workers Unite” งานนี้จัดโดยกลุ่ม Los Angeles May Day Coalition ซึ่งร่วมด้วยสหภาพแรงงานและกลุ่มต่างๆ ในชุมชน

ผู้ประท้วงต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ที่มาภาพ: https://www.abc.net.au/news/2025-05-02/us-global-may-day-protests-against-donald-trump/105244034

ในเมืองแอตแลนตา ผู้คนหลายร้อยคนมารวมตัวกันที่สวนสาธารณะใจกลางเมืองซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอาคารรัฐสภา ฝูงชนดังกล่าวรวมถึงพนักงานที่เกษียณอายุแล้วของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาด้วย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกามีสำนักงานใหญ่ในเมืองแอตแลนตา และคาดว่าจะต้องสูญเสียพนักงานประมาณ 2,400 คนเนื่องจากการเลิกจ้างของรัฐบาลทรัมป์

“เราต้องการยืนหยัดเพื่อเพื่อนร่วมงานทุกคน ที่ถูกเลิกจ้างหรือถูกไล่ออกโดยไม่มีเหตุผลที่แท้จริง” เดบลินา ดัตตา ผู้ทำงานด้านการสร้างภูมิคุ้มกันทั่วโลกก่อนจะเกษียณอายุในปี 2023 กล่าว “เราต้องการส่งเสียงออกมาจริงๆ ว่าหากไม่มีศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สิ่งเลวร้ายจะเกิดขึ้น”

รัฐบาลทรัมป์ได้ใช้มาตรการพิเศษในการปราบปรามผู้อพยพ โดยกดดันสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรอย่างแข็งขันให้เร่งจับกุมผู้อพยพ และเร่งแผนการเนรเทศจำนวนมาก การปราบปรามล่าสุดนี้รวมถึงการเนรเทศอาเบรโก การ์เซียอย่างไม่ถูกต้อง เมื่อวันอังคาร ทรัมป์ยอมรับว่าสามารถให้การ์เซียกลับประเทศได้ แต่ปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น

เดเลีย คาตาลินา รามิเรซ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นลูกสาวของผู้อพยพชาวกัวเตมาลา ได้พูดคุยกับผู้ประท้วงในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เช่นกัน

“เราเข้าใจว่าประธานาธิบดีคนนี้ต้องการแบ่งแยกเรา เขาต้องการให้เราเป็นศัตรูกัน” รามิเรซกล่าว

“แต่ลองมองไปรอบๆ สิเพื่อนๆ พวกเราเป็นคนผิวดำ พวกเราเป็นคนผิวสี พวกเราเป็นคนเอเชีย พวกเราเป็นคนอาหรับ พวกเราเป็นมุสลิม พวกเราเป็นคนยิว พวกเราเป็นคนผิวขาว พวกเราเป็นชนชั้นแรงงาน และพวกเราเป็นสมาชิกสภาคองเกรสที่บอกว่า ‘พอแล้ว’”

รามิเรซชี้ว่าการระดมคนและการกระทำต่างๆ เช่น การประท้วงวันเมย์เดย์เป็น “สิ่งเดียวที่จะหยุดยั้งลัทธิฟาสซิสต์ได้”

“นี่คือสิ่งที่การต่อต้านควรเป็น” เธอกล่าว “พวกเขาจะพยายามมากที่สุดเพื่อแบ่งแยกพวกเราต่อไป แต่นี่เป็นช่วงเวลาที่ไม่สำคัญว่าคุณจะมาจากโคลอมเบีย จาเมกา เวเนซุเอลา โปแลนด์ กัวเตมาลา เปอร์โตริโก เม็กซิโก ไม่ว่าคุณจะมาจากอัฟกานิสถานหรือกาซา พวกเราก็มารวมกันตอนนี้”

ผู้ประท้วงรวมตัวกันที่ Lafayette Park ระหว่างการประท้วงวันแรงงานในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยมีทำเนียบขาวอยู่ด้านหลัง ที่มาภาพ: https://www.npr.org/2025/04/30/nx-s1-5382560/may-day-protests-history-trump

ประท้วงในยุโรปมุ่งเป้าไปที่นโยบายการค้าและการขึ้นมาของกลุ่มขวาจัด

ผู้นำสหภาพแรงงานฝรั่งเศสประณามการ “เปลี่ยนการเมืองโลกให้กลายเป็นระบบทรัมป์ (Trumpization)” โดยกล่าวว่าการชุมนุมทั่วประเทศเกิดจากความโกรธแค้นต่อกองทัพสหรัฐฯ และอิทธิพลทางการค้าในยุโรป ฌอง-ลุค เมล็องชง ผู้นำฝ่ายซ้ายจัดกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าผลักดันยุโรปไปสู่ความขัดแย้งและการกดขี่ทางเศรษฐกิจ

“หากชาวอเมริกาเหนือไม่ต้องการสินค้าของเราอีกต่อไป เราก็สามารถขายให้คนอื่นได้” เขากล่าว

ในเยอรมนี ผู้นำสหภาพแรงงานเตือนว่า วันทำงานที่ขยายออกไปและความรู้สึกต่อต้านผู้อพยพที่เพิ่มมากขึ้น กำลังทำลายการคุ้มครองแรงงาน ในเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้คนหลายพันคนเดินขบวนหลังป้ายประท้วงประณามลัทธิฟาสซิสต์และสงคราม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้ที่กว้างขึ้นต่อการลุกลามของการเมืองฝ่ายขวาจัดทั่วโลก

ในสเปน ผู้คนหลายพันคนเดินขบวนในมาดริด บาร์เซโลนา และเมืองอื่นๆ โดยมีข้อเรียกร้องตั้งแต่ให้วันทำงานแต่ละสัปดาห์น้อยลงไปจนถึงการตอบสนองต่อไฟฟ้าดับครั้งประวัติศาสตร์ ที่ทำให้คาบสมุทรไอบีเรียไม่มีไฟฟ้าใช้เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ชื่อของทรัมป์ยังปรากฏออกมาด้วย

“โลกเปลี่ยนไปเล็กน้อยหลังการมาถึงของทรัมป์” อันเฆล โลเปซ วัย 56 ปี คนงานจากมาดริดกล่าว “การมาถึงของกลุ่มขวาจัดในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ระดับโลก”

การชุมนุมวันแรงงานในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันพฤหัสบดี (1 พ.ค. 2568) ที่มาภาพ: https://apnews.com/article/may-day-workers-labor-unions-rallies-marches-trump-46de8196d7f01d7458c3d77ccd5e0e54

การประท้วงในเอเชียมาจากความกังวลต่อเศรษฐกิจจากนโยบายทรัมป์

ประธานาธิบดีไต้หวัน ไหล ชิงเต๋อ กล่าวถึงภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ ขณะที่เขากำลังส่งเสริมแพ็กเกจทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่มุ่งหวังจะเสริมสร้างงานและอุตสาหกรรม ส่วนในฟิลิปปินส์ มง ปาลาติโน ผู้นำการประท้วงเตือนว่า “สงครามภาษีศุลกากรและนโยบายของทรัมป์” คุกคามอุตสาหกรรมในท้องถิ่นและแหล่งทำกินของประชาชน

สมาชิกสหภาพแรงงานราว 2,500 คนเดินขบวนจากสำนักงานประธานาธิบดีไต้หวันในไทเป โดยเตือนว่าภาษีศุลกากรของทรัมป์อาจส่งผลให้มีการเลิกจ้าง

“นี่คือเหตุผลที่เราหวังว่ารัฐบาลจะเสนอแผนเพื่อปกป้องสิทธิของคนงานได้” คาร์ลอส หว่อง ผู้นำสหภาพแรงงานกล่าว

ในมะนิลา คนงานชาวฟิลิปปินส์หลายพันคนชุมนุมใกล้ทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งตำรวจปิดกั้นทางเข้าด้วยเครื่องกีดขวาง ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างและปกป้องงานในท้องถิ่นและธุรกิจขนาดเล็กให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

ในจาการ์ตา ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ของอินโดนีเซีย กล่าวปราศรัยต่อฝูงชนที่โห่ร้องแสดงความยินดีที่สวนสาธารณะอนุสรณ์สถานแห่งชาติว่า “รัฐบาลที่ผมนำอยู่จะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อขจัดความยากจนจากอินโดนีเซีย”

สมาชิกสมาพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลีรวมตัวกันเข้าร่วมการชุมนุมในวันแรงงานที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม 2568 ที่มาภาพ: https://apnews.com/article/may-day-workers-labor-unions-rallies-marches-trump-46de8196d7f01d7458c3d77ccd5e0e54

การประท้วงต่อเนื่องขณะที่คะแนนนิยมของทรัมป์ลดลง

การประท้วงเมื่อวันพฤหัสบดีเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกับกลุ่ม May Day Strong กลอเรียนน์ ซาเฮย์ ผู้ก่อตั้งร่วมและผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัลของ Political Revolution PAC กล่าวกับ CNN

“เราจะไม่นิ่งเฉยในขณะที่รัฐบาลชุดนี้ลักพาตัวเพื่อนบ้านของเรา เหยียบย่ำสิทธิของเรา จำคุกผู้พิพากษา ทำร้ายผู้คนในชุมชนที่ถูกละเลยของเรา และทำให้โครงการ Project 2025 ที่ชั่วร้ายกลายเป็นความจริง เมื่อรัฐบาลโจมตีคนเพียงคนเดียว ก็โจมตีชาวอเมริกันทุกคน” ซาเฮย์กล่าว

การประท้วงมีขึ้นสองวันหลังจากที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งครบ 100 วัน ในช่วงเวลาสั้นๆ นั้น เขาได้ดำเนินการเพื่อโค่นล้มระเบียบโลกด้วยการกำหนดภาษีศุลกากรที่คุกคามการค้าโลก รื้อรัฐบาลภายใต้การตัดงบประมาณอย่างลวกๆ ของกรมประสิทธิภาพรัฐบาล (Department of Government Efficiency) ยกเลิกการคุ้มครองบุคคลข้ามเพศ และใช้อำนาจบริหารอย่างไม่สนใจการตรวจสอบและถ่วงดุล

คะแนนนิยมของทรัมป์อยู่ที่ 41% ซึ่งต่ำที่สุดสำหรับประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ ใน 100 วันแรก นับตั้งแต่อย่างน้อยถึงสมัยของดไวต์ ไอเซนฮาวร์ เมื่อกว่าหกทศวรรษก่อน รวมถึงวาระแรกของทรัมป์เองด้วย ตามผลสำรวจของ CNN ที่ดำเนินการโดย SSRS คะแนนนิยมในการจัดการงานในตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ลดลง 4 จุดตั้งแต่เดือนมีนาคม และลดลง 7 จุดเมื่อเทียบกับช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ มีเพียง 22% เท่านั้นที่บอกว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งในการจัดการงานของทรัมป์ ซึ่งถือเป็นระดับต่ำใหม่ และอีกเกือบสองเท่าที่บอกว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง (45%)

ในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรก ประชาชนจำนวนมากต่างออกมาประท้วงทันทีในรูปแบบของการเดินขบวนสตรีหลังวันเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมกราคม 2017 ครั้งที่สองนี้ การประท้วงดำเนินไปอย่างช้าๆ ไปสู่ระดับที่สำคัญเมื่อไม่นานนี้เอง

การประท้วง “Hands Off” เมื่อวันที่ 5 เมษายน มีเป้าหมายไปที่ทั้งทรัมป์และมหาเศรษฐีอีลอน มัสก์ เพื่อตอบโต้ต่อสิ่งที่ผู้จัดงานเรียกว่า “การเข้ายึดครองอย่างเป็นปฏิปักษ์” และการโจมตีสิทธิและเสรีภาพของชาวอเมริกัน

มีผู้คนเกือบ 600,000 คนลงทะเบียนเข้าร่วมงานดังกล่าว ซึ่งบางงานจัดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ เช่น ลอนดอนและปารีส ตามรายงานของ Indivisible ซึ่งเป็นองค์กรที่นำขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว

จากนั้นในวันที่ 19 เมษายน การประท้วง 50501 ก็ได้รวมตัวกันทั่วสหรัฐอเมริกาเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยหนึ่งในความกังวลหลักของการประท้วงครั้งนั้นคืออาเบรโก การ์เซีย

การประท้วง “Tesla Takedown” หลายร้อยครั้งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป เนื่องจากนักเคลื่อนไหวต่อต้านความพยายามของมัสก์ ที่จะลดจำนวนพนักงานและงบประมาณของรัฐบาลกลางผ่าน DOGE มากขึ้น