ดัชนีความเชื่อมั่นปี 2568 ยกให้ไทยโดดเด่นด้านแรงงานมีทักษะและความสะดวกในการทำธุรกิจ พร้อมติดท็อป 5 ประเทศที่นักลงทุนมองบวกในกลุ่มตลาดเกิดใหม่
กรุงเทพฯ ประเทศไทย 24 เมษายน 2568 — Global Business Policy Council ของคาร์นีย์ (Kearney) บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำเชิงกลยุทธ์ ได้ประกาศผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ประจำปี 2568 (Foreign Direct Investment Confidence Index หรือ ดัชนี FDICI) ซึ่งเป็นผลสำรวจที่สะท้อนมุมมองของนักลงทุนต่อการไหลเวียนของการลงทุน FDI ในช่วงสามปีข้างหน้า ที่รวมถึงมุมมองของนักลงทุนต่อประเทศไทย
ดัชนี FDICI ประจำปี 2568 ซึ่ง Kearney ได้จัดทำขึ้นเป็นปีที่ 27 นี้ ได้สะท้อนมุมมองของนักลงทุนในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนที่สำคัญ แม้ได้มีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบและมีความสำคัญเกิดขึ้นหลังจากที่ทำการสำรวจในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ใจความสำคัญหลักที่พบจากการศึกษาครั้งนี้ยังคงนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องการที่นักลงทุนให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพของกระบวนการทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของประเทศ และศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
แปดตลาดจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ติด 25 อันดับแรกของโลกในปีนี้ ซึ่งเท่ากับจำนวนที่ติดอันดับเมื่อปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย ญี่ปุ่น (อันดับ 4), จีน (รวมฮ่องกง) (อันดับ 6), ออสเตรเลีย (อันดับ 10), เกาหลีใต้ (อันดับ 14), สิงคโปร์ (อันดับ 15), นิวซีแลนด์ (อันดับ 16), ไต้หวัน (อันดับ 23) และอินเดีย (อันดับ 24)
ผลการสำรวจดัชนี FDICI ของ Kearney พบว่านักลงทุนให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจของบางตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะที่ความท้าทายจากสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ซับซ้อนได้ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อมุมมองของนักลงทุนที่มีต่อตลาดอื่น ๆ

ประเทศไทยติดอันดับที่ 10 ในดัชนี FDICI ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่
การสำรวจดัชนี FDICI ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ได้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2566 เพื่อเน้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน FDI ในช่วงสามปีข้างหน้า โดยประเทศไทยได้อันดับที่ 10 จากกลุ่มตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด นักลงทุนจำนวนมากระบุว่าทักษะและความสามารถของแรงงานไทยเป็นเหตุผลหลักที่มีความน่าดึงดูดมากที่สุดสำหรับการลงทุนในประเทศไทย (34%) ตามมาด้วยเหตุผลด้านความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (24%) และทรัพยากรธรรมชาติ (24%) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นเหตุผลรองที่มีความน่าสนใจเท่ากัน
นายชาญชัย ถนัดค้าตระกูล กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของ Kearney กล่าวว่า “ประเทศไทยได้แสดงบทบาทเชิงรุกในการส่งเสริมการลงทุนและลดอุปสรรคในการดำเนินงานของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตามภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในการดึงดูดเงินลงทุน FDI จากหลายตลาด ทำให้ประเทศจำเป็นต้องเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเสริมความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะ และสร้างมาตรการดึงดูดการลงทุนที่ตรงจุดสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย”
นายชาญชัย กล่าวเสริมว่า “มาตรการภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรมรวมถึงยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันก็ล้วนต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านต้นทุนและข้อบังคับต่าง ๆ ที่มีความท้าทายอยู่แล้ว”
“แม้จะเผชิญความท้าทายต่างๆ ประเทศไทยยังคงรักษาจุดแข็งที่สามารถดึงดูดนักลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน ทั้งในด้านบุคลากรที่มีศักยภาพ ความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยนโยบายเชิงรุกและมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสม ประเทศไทยจะสามารถปลดล็อกศักยภาพในการสร้างคุณค่าระยะยาว ท่ามกลางสภาพแวดล้อมโลกที่ผันผวนได้” นายชาญชัยกล่าวสรุป

เทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งหนุนตลาดเอเชียแปซิฟิกให้เติบโต
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพื้นฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ก้าวขึ้นจากอันดับ 7 สู่อันดับ 4 เป็นหนึ่งในตัวอย่างของตลาดในภูมิภาคที่มีความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ประกอบกับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่คึกคักและการปรับขึ้นค่าจ้างที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ในทำนองเดียวกัน เกาหลีใต้ได้แสดงผลงานที่โดดเด่นที่สุดเท่าที่เคยทำการสำรวจมา โดยขยับขึ้นจากอันดับที่ 20 มาอยู่อันดับที่ 14 โดย 41% ของนักลงทุนระบุว่าภาคเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเกาหลีใต้คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยฟื้นความเชื่อมั่น ขณะที่การลงทุนอย่างมีนัยสำคัญของรัฐบาลในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของผลการจัดอันดับในครั้งนี้
ผลการสำรวจยังพบว่านักลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 82% ได้วางแผนเพิ่มการลงทุน FDI ในช่วงสามปีข้างหน้า และ 50% มีมุมมองต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ในเชิงบวกมากกว่าปีที่ผ่านมา

ปัจจัยระดับภูมิภาคสร้างความกดดันต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น
ประมาณ 43% ของนักลงทุนที่ตอบแบบสอบถามจากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มองว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 14% จากปีที่ผ่านมา การคาดการณ์ที่สูงขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทั่วโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน และผลักดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงที่นักลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2568 อันดับที่สอง คือแนวโน้มการบังคับใช้กฎระเบียบทางธุรกิจที่เข้มงวดมากขึ้นในกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้ว โดยมีนักลงทุนถึง 36% ที่มีมุมมองในลักษณะนี้ โดยเพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อน ขณะที่ในอันดับสามมีสองประเด็นที่รับได้คะแนนเท่ากันที่ 28% ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น และสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น
ประเทศจีนได้ลดอันดับลงจากที่ 3 มาอยู่ในอันดับที่ 6 สะท้อนถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลาย และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ดี จีนยังคงมีความโดดเด่นในด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ดังที่เห็นได้จากการเปิดตัวของ DeepSeek AI ในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การที่ประเทศสิงคโปร์ได้ลดอันดับลงจากอันดับที่ 12 มาอยู่ที่อันดับที่ 15 และอินเดียลดอันดับลงจากที่ 18 มาอยู่ในอันดับที่ 24 สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนต่อความเสี่ยงด้านการค้า และความซับซ้อนของกฎระเบียบ
ประเทศไทยโดดเด่นในด้านความเชื่อมั่นเชิงบวกสุทธิของนักลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่
การสำรวจพบว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงอยู่ในระดับสูง แม้จะมีแรงกดดันจากหลายปัจจัยก็ตาม และตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงก็ใต้ยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ติดอันดับอยู่ใน 15 ประเทศแรกด้านความเชื่อมั่นเชิงบวกสุทธิของนักลงทุน (Net Investor Optimism) ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ประเทศไทยยังคงโดดเด่นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยรักษาอันดับที่ 5 ด้านความเชื่อมั่นเชิงบวกสุทธิของนักลงทุนในปี 2568
ดูข้อมูลรายงานดัชนี FDICI ฉบับก่อนหน้านี้ได้ที่ลิงก์ www.kearney.com/foreign-direct-investment-confidence-index
เกี่ยวกับดัชนี FDICI ของ Kearney ประจำปี 2568
ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของ Kearney (Kearney FDI Confidence Index® หรือ ดัชนี FDICI) เป็นผลสำรวจประจำปีที่รวบรวมความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงจากทั่วโลก เพื่อจัดอันดับตลาดที่มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากที่สุดในช่วงสามปีข้างหน้า ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลการลงทุน FDI โดยทั่วไปมักเป็นการมองข้อมูลย้อนหลัง แต่ดัชนี FDICI นี้นำเสนอมุมมองที่แตกต่าง ด้วยการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดที่นักลงทุนมีแผนจะเข้าไปลงทุนในอนาคต นับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนี FDICI ครั้งแรกในปี 2541 ตลาดที่ติดอันดับในดัชนีมักสอดคล้องกับประเทศปลายทางที่มีการลงทุน FDI สูงจริงในเวลาต่อมา
Kearney FDI Confidence Index® ประจำปี 2568 นี้ได้จัดทำขึ้นจากข้อมูลปฐมภูมิจากแบบสำรวจที่เป็นลิขสิทธิ์ของ Kearney โดยเฉพาะ ซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำระดับโลกจำนวน 536 ราย โดยการสำรวจได้จัดทำขึ้นในเดือนมกราคมปี 2568 กลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูง (C-Level) ผู้บริหารระดับภูมิภาค และผู้นำองค์กร ทั้งนี้ บริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจทั้งหมดมีรายได้ประจำปีไม่ต่ำกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ใน 30 ประเทศ และครอบคลุมการดำเนินธุรกิจในทุกภาคส่วน ซึ่งสัดส่วนของผู้ตอบแบบสำรวจแบ่งเป็นบริษัทในภาคบริการ 53% ภาคอุตสาหกรรม 35% และภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ 12%
ดัชนี FDICI คำนวณมาจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของคำตอบที่แบ่งเป็นระดับสูง ปานกลาง และต่ำ โดยพิจารณาจากแนวโน้มการลงทุนโดยตรงในตลาดเป้าหมายในช่วงสามปีข้างหน้า ทั้งนี้ จากข้อมูลของ UNCTAD พบว่าตลาดที่นำมาศึกษาในการสำรวจครั้งนี้มีมูลค่าการลงทุน FDI คิดเป็น 97% ของเงินลงทุนที่ไหลเข้าทั่วโลกในปี 2566
ดัชนีนี้คำนวณจากข้อมูลของบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในการคำนวณค่าดัชนีของสหรัฐอเมริกา จะไม่นำข้อมูลจากนักลงทุนที่มีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ มาร่วมคำนวณ โดยค่าดัชนีที่สูงขึ้นสะท้อนถึงความน่าดึงดูดในการลงทุนที่มากขึ้น
ข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งหมดในรายงานฉบับนี้อ้างอิงจากการประมาณการและการคาดการณ์ล่าสุดจาก Oxford Economics เว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ยังมีแหล่งข้อมูลอ้างอิงอื่น ๆ ได้แก่ หน่วยงานที่ส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ธนาคารกลาง กระทรวงการคลังและการค้าต่าง ๆ สำนักข่าวที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแหล่งข้อมูลหลักอื่น ๆ
เกี่ยวกับ Kearney
คาร์นีย์ (Kearney) เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2469 และได้รับความไว้วางใจจากบริษัทชั้นนำใน Fortune Global 500 มากกว่าสามในสี่ และเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลทั่วโลก ด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุมกว่า 40 ประเทศ บุคลากรของเราคือหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนองค์กร Kearney ยึดหลักการทำงานที่มุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกเป็นสำคัญ พร้อมรับมือกับความท้าทายที่ซับซ้อนด้วยแนวคิดที่สร้างสรรค์ และความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน เราพร้อมอยู่เคียงข้างคุณเพื่อสร้างคุณค่า ผลลัพธ์ และการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
สามารถเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Kearney ได้ที่เว็บไซต์ www.kearney.comwww.kearney.com